จับตา: การค้าน้ำตาลในตลาดโลก

ทีมข่าว TCIJ : 24 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 4363 ครั้ง


ในปี 2559 ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกมีประมาณ 175 ล้านตัน (ในรูปน้ำตาลทรายดิบ) มีประเทศผู้ผลิตสำคัญ คือ บราซิล (สัดส่วน 22.9% ของผลผลิตน้ำตาลโลก) ตามด้วยอินเดีย (12.8%) สหภาพยุโรป (9.7%) ไทย (5.9%) จีน (5.6%) ที่มาภาพประกอบ: The Dollar Business

ข้อมูลจากรายงาน ‘แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-63 อุตสาหกรรมน้ำตาล’ โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประจำวันที่ 4 เม.ย. 2561 ระบุว่า ‘น้ำตาล’ เป็นสารความหวานจากพืชที่มีความต้องการสูงทั่วโลก ทั้งเพื่อบริโภคโดยตรงและเป็นสารปรุงแต่งรสในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากนม (อาทิ นม เนย โยเกิร์ต) ขนมหวาน และเบเกอรี่ ในปี 2559 การใช้น้ำตาลมีสัดส่วนสูงกว่า 80% ของการบริโภคผลิตภัณฑ์ให้ความหวานทุกประเภททั่วโลกที่เหลือเป็นการบริโภคสารความหวานอื่น อาทิน้ำตาลเทียม (High Intensity Sweetener: HIS)ซึ่งเป็นสารให้ความหวานที่ถูกสังเคราะห์ทางเคมีและ น้ำเชื่อมฟรุคโตสเข้มข้นสูง (High Fructose Corn Syrup: HFCS)ซึ่งแปรรูปจากแป้งข้าวโพด เป็นต้น

จากข้อมูลการผลิตน้ำตาลในโลกพบว่า ผลิตจากอ้อยสัดส่วน 85% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมดมีแหล่งผลิตในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร อาทิ บราซิล และประเทศในเอเชียแปซิฟิก ที่เหลือเป็นน้ำตาลที่ผลิตจากหัวบีท (Beet root) มีแหล่งผลิตสำคัญในยุโรป และพื้นที่บางส่วนในสหรัฐฯ แคนาดา และจีน ทั้งนี้ ในปี 2559 ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกมีประมาณ 175 ล้านตัน (ในรูปน้ำตาลทรายดิบ) มีประเทศผู้ผลิตสำคัญ คือ บราซิล (สัดส่วน 22.9% ของผลผลิตน้ำตาลโลก) ตามด้วยอินเดีย (12.8%) สหภาพยุโรป (9.7%) ไทย (5.9%) จีน (5.6%)

ปริมาณการค้าน้ำตาลในตลาดโลกมีประมาณ 55-60 ล้านตัน (ในรูปน้ำตาลทรายดิบ) หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลก โดยปริมาณการค้าในแต่ละปีขึ้นอยู่กับนโยบายการผลิตและส่งออกน้ำตาลของประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาล และความต้องการนำเข้าของประเทศที่ไม่สามารถผลิตน้ำตาลได้เองหรือมีผลผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภค ด้วยเหตุนี้การค้าน้ำตาลระหว่างประเทศจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยกำหนดทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกทั้งนี้ ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลที่มีสถานะเป็นผู้ส่งออกสุทธิที่สำคัญ ได้แก่ บราซิล มีส่วนแบ่งการส่งออกน้ำตาลในตลาดโลก 48.7% รองลงมา คือ ไทย (13.8%) และออสเตรเลีย (6.9%) ขณะที่ประเทศที่มีสถานะเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลสุทธิที่สำคัญ คือ จีน อินโดนีเซีย EU และ สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังขึ้นอยู่กับภาวะตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่มีการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าอย่างแพร่หลาย ตลาดล่วงหน้าที่สำคัญและเป็นตลาดอ้างอิงราคาน้ำตาลในตลาดโลกในปัจจุบัน อาทิ Intercontinental Exchange (ICE), Brazilian Mercantile and Futures Exchange (BF&M), Kansai Commodities Exchange (KEX), Multi Commodity Exchange (MCX)และNational Commodities and Derivatives Exchange (NCDEX) เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลในไทยถือได้ว่ามีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกเนื่องจากต้นทุนอ้อยในการผลิตน้ำตาลของไทยอยู่ในระดับไม่สูงนักที่ 13.6 เซนต์/ปอนด์ (มีเพียงบราซิลที่มีต้นทุนอ้อยต่ำกว่าอยู่ที่ 11.2 เซนต์/ปอนด์) อีกทั้งไทยยังได้เปรียบจากการมีทำเลที่ตั้งอยู่ในเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความต้องการนำเข้าสูง (การนำเข้าน้ำตาลของประเทศในเอเชียขยายตัวเฉลี่ย 6.3%ต่อปีในปี 2550-2559 สูงกว่าการนำเข้าน้ำตาลทั่วโลกที่ขยายตัวเพียง 3.3%ต่อปี) ทำให้ไทยได้เปรียบเรื่องระยะทางและมีต้นทุนขนส่งต่ำกว่า โดยเฉพาะในการส่งออกไปจีน (ส่วนใหญ่ไทยส่งออกไปยังพม่าและกัมพูชาเพื่อส่งออกต่อไปยังจีน) อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการนำเข้าน้ำตาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: