ชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัย Kutupalong ชายแดนบังกลาเทศกว่า 15,000 คนรวมตัวกันเรียกร้องขอความยุติธรรมให้แก่ชาวโรฮิงญาทั่วโลก ในวาระครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ที่กองทัพพม่าใช้กองกำลังเข้าปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันเดียวกันนี้เมื่อปีก่อน ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องอพยพหนีภัยความรุนแรงเข้าไปหลบอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศบังกลาเทศและประเทศใกล้เคียง
ชาวโรฮิงญาร่วมชุมนุมกันอย่างสงบในบริเวณค่ายผู้ลี้ภัย ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่พักพิงอาศัยสำหรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คนที่อพยพจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตนในพม่าเข้ามายังบังกลาเทศ โดยกลุ่มผู้ประท้วงที่บางคนสวมป้ายผ้าเขียนข้อความ เช่น "ช่วยเหลือชาวโรฮิงญา" พร้อมกับโบกธงที่อยู่ในมือ ร่วมกันตะโกนร้องขอความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีป้ายข้อความขนาดใหญ่เขียนว่า "ไม่เอาแล้ว: วันรำลึกล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา" และ "25 สิงหาคม-วันทมิฬ"
#Rohingya women demanding justice for the slaughter which started on 25 August 2017. This protest in Lombashia, Kutupalong. #Genocide pic.twitter.com/fNIGxFDDml
— Shafiur Rahman (@shafiur) August 25, 2018
ด้าน Medecins Sans Frontieres (MSF) หรือองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน ออกมายืนยันว่ามีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตกว่า 7,000 ราย ในช่วงเดือนแรกหลังภารกิจทางทหารของกองทัพพม่าเริ่มขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของบรรดาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่พบว่า ชาวโรฮิงญาถูกสังหาร ข่มขืน และเผาทำลายชุมชน โดยนำไปสู่การกดดันจากนานาชาติต่อทางการพม่าว่าเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ขณะที่กองกำลังติดอาวุธ Arakan Rohingya Salvation Army (ARSA) ออกแถลงการณ์ในวาระครบ 1 ปีการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ โดยมุ่งเป้าประณามไปยังรัฐบาลพม่าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และโจมตีไปยังคำกล่าวก่อนหน้านี้ของนางอองซาน ซู จี ที่ปรึกษาของรัฐบาลพม่า ที่อ้างสาเหตุความรุนแรงมาจากกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่รัฐยะไข่ ซึ่งหากรัฐบาลพม่าไม่สามารถแก้ปัญหากลุ่มเหล่านี้ได้ พื้นที่ก็จะไม่มีวันสงบ
ที่มาข่าวและภาพประกอบ: TRT World, 25/8/2018
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ