เผย 5 เขื่อน กฟผ.ทำโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำได้ แต่อีก 6 เขื่อนยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 3600 ครั้ง

เผย 5 เขื่อน กฟผ.ทำโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำได้ แต่อีก 6 เขื่อนยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่

เผยโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ใน 11 เขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ จะมีเพียง 5 เขื่อนคือ 'เขื่อนทุ่งนา-สิรินธร-สิริกิติ์-วชิราลงกรณ์-ศรีนครินทร์' กำลังการผลิตรวม 435 เมกะวัตต์ เท่านั้นที่ไม่มีปัญหาในเรื่องพื้นที่ ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2561 Energy News Center รายงานอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยถึงโครงการแผนลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ของ กฟผ. จำนวน 11 เขื่อนที่มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,000 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับทราบในการประชุมไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมาว่าจะมีจำนวนเพียง 5 เขื่อน กำลังการผลิตรวม 435 เมกะวัตต์เท่านั้น ที่ กฟผ.จะสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีปัญหาในเรื่องของพื้นที่ ประกอบด้วย 1. เขื่อนทุ่งนา จ.กาญจนบุรี จำนวน 4 เมกะวัตต์ โดยการผลิต 0.5 เมกะวัตต์ จะเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับ บริษัท SCG เคมิคอลส์ (EGAT-SCG Collaboration Project)

2.เขื่อนสิรินธร จ. อุบลราชธานี กำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นการต่อยอดผลการวิจัยและพัฒนา และใช้ระบบเชื่อมต่อที่มีอยู่เดิมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเฟสแรกจะดำเนินการก่อน 45 เมกะวัตต์ใช้พื้นที่ 450 ไร่ คาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 89.53 ล้านหน่วยต่อปี

3.เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีแผนจะดำเนินการโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ 4.เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี มีแผนจะดำเนินการโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และ 5.เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มีแผนจะดำเนินการโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดกำลังการผลิต 135 เมกะวัตต์

สำหรับเขื่อนที่มีศักยภาพแต่ยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่อีก 6 เขื่อน ประกอบด้วย 1. เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีแผนที่จะดำเนินการโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ โดยยังมีปัญหาเรื่องร่องน้ำลึก 2. เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีแผนที่จะดำเนินการโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ แต่ติดปัญหาพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A และลุ่มน้ำ 1B 3.เขื่อนบางลาง จ.ยะลา มีแผนที่จะดำเนินการโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ แต่ติดปัญหาเป็นพื้นที่ป่าอุทยาน 4.เขื่อนอุบลรัตน์ มีแผนที่จะดำเนินการโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ แต่ติดปัญหาเป็นพื้นที่ป่าอุทยานและป่าสงวน 5.เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร มีแผนที่จะดำเนินการโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ แต่ติดปัญหาเป็นพื้นที่ป่าอุทยานและ 6.เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี มีแผนที่จะดำเนินการโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ แต่ติดปัญหาเป็นพื้นที่ป่าอุทยาน

แหล่งข่าวระบุว่าโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำของ กฟผ.จะดำเนินการภายใต้รูปแบบ Hybrid Firm ซึ่งจะมีข้อดีในการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่เป็นการแย่งพื้นที่เกษตรกรรม และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงจากการอยู่ใกล้ผิวน้ำ

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นเรื่องของต้นทุนการผลิตของโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ที่สูงกว่าการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มบนพื้นดิน ที่อาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าไม่ได้ต่ำมากอย่างที่คิด รวมทั้งความเสถียรของระบบ ในช่วงเวลากลางคืนที่โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำไม่สามารถที่จะผลิตไฟฟ้าได้ และจะมีการผลิตน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อนมาทดแทน เนื่องจาก กฟผ.ไม่ได้มีอำนาจในการพิจารณาปล่อยน้ำจากเขื่อนแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นการทำงานร่วมกันในรูปของคณะกรรมการ ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องระบบชลประทานและเรื่องเกษตรกรรมด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: