‘เชื้อดื้อยา’ ทำคนไทยตายปีละกว่า 3 หมื่น ลามถึงสัตว์-สิ่งแวดล้อมแล้ว

ทีมข่าว TCIJ : 25 ก.พ. 2561 | อ่านแล้ว 13417 ครั้ง

โลกก้าวสู่ ‘ยุคหลังยาต้านจุลชีพ’ เชื้อดื้อยาคร่าชีวิตประชากรโลกกว่า 7 แสนคนต่อปี คาดภายในปี 2593 เสียชีวิตสูงถึง 10 ล้านคน ผลกระทบทางเศรษฐกิจ 3.5 พันล้านล้านบาท สถานการณ์ไทยพบมีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาปีละมากกว่า 100,000 ราย เสียชีวิตกว่า 30,000 ราย และสูญเสียทรัพยากรจากการติดเชื้อดื้อยามากกว่า 40,000 ล้านบาท หรือมากกว่า 0.6% ของ GDP ประเทศ ล่าสุดคุกคามถึงสัตว์และสิ่งแวดล้อมแล้ว ที่มาภาพประกอบ: activistpost.com

'ยาต้านจุลชีพ' (Antimicrobial drugs) คือยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และรา ทั้งที่ได้จากสิ่งมีชีวิตหรือจากการสังเคราะห์  โดยวิวัฒนาการทางการแพทย์ได้คิดค้นยาต้านจุลชีพขนานแรก ๆ ได้เมื่อประมาณเกือบ 80 ปีก่อน ในครั้งนั้นยาต้านจุลชีพถึงกับได้รับการขนานนามว่าเป็น 'ยาปาฏิหาริย์' เนื่องจากยานี้ทำให้มนุษย์จำนวนมากรอดตายจากการติดเชื้อ องค์การวิชาชีพหลายแห่งเคยประกาศว่ามนุษย์จะควบคุมโรคติดเชื้อได้ และโรคติดเชื้อจะไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกต่อไป แต่กระนั้นก็มีการบันทึกไว้ว่าก่อนที่ยาต้านจุลชีพตัวแรกอย่าง'เพนิซิลลิน' (Penicillin) จะวางตลาดในปี 2485 ก็เริ่มพบเชื้อดื้อยาเพนิซิลลินในห้องทดลองแล้ว ซึ่งตามประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะผลิตยาต้านจุลชีพตัวใหม่ออกมากี่ชนิด เชื้อก็สามารถจะดื้อยาได้ภายในเวลาไม่กี่ปีหลังจากยาออกวางตลาด การค้นพบและผลิตยาต้านจุลชีพขนานใหม่อย่างต่อเนื่องในระยะ 40-50 ปี ที่ผ่านมาจนมียาต้านจุลชีพหลาย 10 กลุ่ม มากกว่า 100 ขนาน ซึ่งยาต้านจุลชีพขนานใหม่เริ่มมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536 ในทางกลับกันพบว่าการดื้อยาต้านจุลชีพของเชื้อโรคกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีเชื้อโรคหลายชนิดที่ดื้อยาต้านจุลชีพทุกขนาน อาจจะกล่าวได้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ ‘ยุคหลังยาต้านจุลชีพ’ (Post-Antibiotic Era) ซึ่งมนุษย์จะป่วยและตายจากโรคติดเชื้ออีกครั้งเพราะไม่มียารักษาเช่นเดียวกับ‘ยุคก่อนมียาต้านจุลชีพ’ (Pre-Antibiotic Era) [1] [2] [3]

ภัยคุกคามสำคัญทางสาธารณสุข ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ระบุว่า ‘เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ’ (Antimicrobial Resistance) คือการที่เชื้อแบคทีเรียที่เคยไวต่อยาปฏิชีวนะมาก่อนเกิดการกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา โดยเมื่อเชื้อดังกล่าวสัมผัสกับยาปฏิชีวนะแล้ว ยาไม่สามารถยับยั้งหรือทำลายเชื้อแบคทีเรียนั้นได้เหมือนเดิม ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะทำได้ยาก ต้องใช้ยาร่วมกันหลายขนาน เกิดค่าใช้จ่ายสูง เกิดพิษและผลข้างเคียงมาก โดยที่การค้นคว้าวิจัยยาปฏิชีวนะตัวใหม่เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยานั้นไม่เพียงพอและไม่ทันต่อความต้องการ ข้อมูลจากรายงานเรื่อง The Review on Antimicrobial Resistance (AMR) ปี 2557 ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) ได้คร่าชีวิตประชากรโลกในแต่ละปีสูงถึง 7 แสนคน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา คาดว่าใน 2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอาจจะสูงถึง 10 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท ส่วนในไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพปีละมากกว่า 100,000 ราย โดยผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมากกว่า 30,000 ราย และสูญเสียทรัพยากรจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมากกว่า 40,000 ล้านบาทหรือมากกว่าร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยตัวอย่างข้อมูลการติดเชื้อของผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราชปี 2552 พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียที่สำคัญประมาณ 90,000 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้นรวม 1.3 ล้านวัน และมีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียเสียชีวิตถึง 38,000 ราย เลยทีเดียว [4] [5]

พบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จ่ายยาต้านแบคทีเรียมากสุด

ปี 2556 มีจำนวนใบสั่งยาที่มียาต้านแบคทีเรียคิดเป็นร้อยละ 19 ของใบสั่งยาที่จ่ายให้ผู้ป่วยนอกทั้งหมด ซึ่ง Amoxycillin เป็นยาที่มีสัดส่วนการจ่ายมากที่สุด ร้อยละ 50 ที่มาภาพประกอบ: hfocus.org

ในงานวิจัย 'การเฝ้าระวังการบริโภคยาต้านจุลชีพของประเทศไทย: รากฐานเพื่อการควบคุมเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ' โดยคณะวิจัยและพัฒนาระบบติดตามการบริโภคยาต้านจุลชีพของประเทศไทย ระบุว่าสถานการณ์การใช้ยาต้านจุลชีพของประเทศไทยเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง จากข้อมูลมูลค่าการผลิตและนำเข้ายาของประเทศไทย พบว่าการบริโภคยาฆ่าเชื้อ (anti-infective drug) มีมูลค่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในปี 2553 โดยมีมูลค่าสูงถึง 26,642 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.18 ของมูลค่ายาทุกชนิด (ราคาผู้ผลิต)

นอกจากนี้จากข้อมูลจาก ‘แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564’ โดยคณะกรรมการประสานและบูรณาการงานดื้อยาต้านจุลชีพ ระบุว่าการใช้ยาต้านจุลชีพที่เพิ่มขึ้นและการใช้อย่างไม่เหมาะสมทั้งในการแพทย์ การสาธารณสุข การสัตวแพทย์ และการเกษตร เป็นปัจจัยกระตุ้นให้แบคทีเรียดื้อยาเร็วขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ยาต้านจุลชีพเป็นกลุ่มยาที่มีมูลค่าการผลิต และนำเข้าสูงที่สุดติดต่อกันตั้งแต่ พ.ศ. 2543 โดยใน พ.ศ. 2552 มูลค่า การผลิตและนำเข้ายาต้านจุลชีพที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) สูงถึงประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามากกว่ายาโรคหัวใจและหลอดเลือด ยาระบบประสาทส่วน กลาง และยารักษามะเร็ง ซึ่งมีมูลค่าการผลิตและนำเข้าประมาณ 9.2, 9.0 และ 7.9 พันล้านบาท ตามลำดับ

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือการจ่ายยาต้านจุลชีพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) โดยเฉพาะ ‘ยาต้านแบคทีเรีย’ อันเป็นยาต้านจุลชีพที่ในประเทศพัฒนาแล้วจะมีความเข้มงวดในการจ่ายยา (อ่านเพิ่มเติมในล้อมกรอบ ‘ความสำคัญของระบบติดตามการบริโภคยาต้านจุลชีพ’) พบว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยงานที่จ่ายต้านแบคทีเรียเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

จากงานวิจัย 'ปริมาณและมูลค่าการสั่งยาต้านแบคทีเรียแก่ผู้ป่วยนอกในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' โดย ภญ. นพคุณ ธรรมธัชอารี และคณะ ที่ได้ทำการศึกษาจากฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แบ่งเป็นข้อมูลราคาเฉลี่ยของยาต้านแบคทีเรียทุกชนิด แยกตามรูปแบบการบริหารยา (ชนิดกิน ฉีด และอื่น ๆ ) จากศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ (DMSIC) เพื่อใช้คำนวณมูลค่ารวมของยาที่จ่ายไป และข้อมูลปริมาณยาบางรายการที่อาจเกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิด ที่บริษัทยาผลิตและนำเข้า คิดเป็น DDD รวมและ DDD ต่อประชากร ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 31 ธ.ค. 2556  ซึ่งการศึกษานี้ครอบคลุมสถานพยาบาลทุกประเภทที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 11,270 แห่ง ในช่วง ต.ค. 2555 – ก.ย. 2556  พบข้อค้นพบที่น่าสนใจว่าการจ่ายยาต้านแบคทีเรียในแผนกผู้ป่วยนอกปี 2556 รวมคิดเป็น 117.3 ล้าน DDD หรือมีค่าเฉลี่ยระหว่าง 7.1 DDD ต่อ 1,000 ประชากรต่อวัน จำนวนใบสั่งยาที่มียาต้านแบคทีเรียคิดเป็นร้อยละ 19 ของใบสั่งยาที่จ่ายให้ผู้ป่วยนอกทั้งหมด ซึ่ง Amoxycillin เป็นยาที่มีสัดส่วนการจ่ายมากที่สุด (ร้อยละ 50) คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น  215 ล้านบาท โดยเป็นการสั่งจ่ายจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มากที่สุด (ร้อยละ 52) จังหวัดที่มีการสั่งจ่ายยาต้านแบคทีเรียรูปแบบรับประทานในปริมาณสูงได้แก่ แม่ฮ่องสอน พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม และพัทลุง

ซึ่งสถิติการจ่ายยาต้านจุลชีพของ รพ.สต. ที่สูงมากนี้ ทำให้โครงการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย ได้ออก 'คู่มือการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล' เพื่อเป็นมาตรการส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบแก่ให้ รพ.สต. ที่มีจำนวนเกือบ 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ

ความสำคัญของระบบติดตามการบริโภคยาต้านจุลชีพ

ในประเทศพัฒนาแล้วการจ่ายยาต้านจุลชีพจะต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น แต่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทย ประชาชนสามารถซื้อยาต้านจุลชีพจากร้านขายยาได้โดยไม่ต้องอาศัยใบสั่งยาจากแพทย์ ที่มาภาพประกอบ: torange.biz (CC0)

ในงานวิจัย 'การเฝ้าระวังการบริโภคยาต้านจุลชีพของประเทศไทย: รากฐานเพื่อการควบคุมเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ' โดยคณะวิจัยและพัฒนาระบบติดตามการบริโภคยาต้านจุลชีพของประเทศไทย ระบุว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วการจ่ายยาต้านจุลชีพจะต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น (prescription only medicine) และมีระบบติดตามการกระจายยาผ่านระบบสารสนเทศ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทย ประชาชนสามารถซื้อยาต้านจุลชีพจากร้านขายยาได้โดยไม่ต้องอาศัยใบสั่งยาจากแพทย์ อีกทั้งไม่มีระบบติดตามการกระจายยาต้านจุลชีพที่มุ่งใช้กับมนุษย์เท่านั้น ทำให้เกิดการกระจายของยาต้านจุลชีพไปสู่ฟาร์มปศุสัตว์และการประมง ในภูมิภาคยุโรป แต่ละประเทศมีระบบการติดตามการบริโภคยาต้านจุลชีพในระดับ ประเทศของตนเอง และมีเครือข่ายเฝ้าระวังการบริโภคยาต้านจุลชีพภูมิภาคยุโรป (European Surveillance of Antimicrobial Consumption Network: ESAC-Net) ตั้งแต่ปี  2544 เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการบริโภคยาต้านจุลชีพในภาพรวมของภูมิภาค ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปและประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area countries) จำนวน 30 ประเทศ มีการสะท้อนข้อมูลย้อนกลับไปยังแต่ละประเทศ

ในนอร์เวย์ ได้เริ่มการพัฒนาข้อมูลการบริโภคยาต้านจุลชีพเมื่อปี 2545 โดยใช้ข้อมูลจากรายงานการขายยาของผู้ประกอบการ (มีข้อบังคับทางกฎหมายให้ผู้ประกอบการรายงานการขายมายังหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ) ร่วมกับข้อมูลการสั่งจ่ายยา ส่วนในสวีเดนมีหน่วยงานที่จัดทำรายงานประจำปีที่มีข้อมูลการบริโภคยาต้านจุลชีพเปรียบเทียบในแต่ละปี โดยข้อมูลที่ได้มาจากฐานข้อมูลของการสั่งจ่ายยาโดยเภสัชกรจากร้านขายยาทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาระบบติดตามการดื้อยาต้านจุลชีพร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ตั้งแต่ปี 2544 ทั้งนี้กฎหมายของทั้งสองประเทศได้จัดให้ยาต้านจุลชีพเป็นยาที่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งใช้ยา

ในฝรั่งเศส ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพในมนุษย์ โดยมีความสอดคล้องกับปริมาณการบริโภคยาต้านจุลชีพ จากข้อมูลในปี 2543 ระบุว่าฝรั่งเศสมีอัตราการบริโภคยาต้านจุลชีพในมนุษย์สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ข้อเท็จจริงนี้ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อลดการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายให้ลดลงร้อยละ 25 ภายในระยะเวลา 5 ปี (2545-2550) แต่สามารถประสบผลสำเร็จเกินเป้าหมายคือลดการใช้ยาต้านจุลชีพลงได้ร้อยละ 26.5 ในปี 2550 ในขณะที่เนเธอร์แลนด์มีอัตราการบริโภคยาต้านจุลชีพในมนุษย์อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ข้อมูลปี 2550 กลับพบว่ามีอัตราการบริโภคยาต้านจุลชีพในภาคปศุสัตว์สูงที่สุดของกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมมือกับกระทรวงเกษตรกำหนดเป้าหมายลดการใช้ยาต้านจุลชีพในภาคปศุสัตว์ลงร้อยละ 20 ภายใน 1 ปีและลดลงร้อยละ 50 ภายใน 3 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จในการดำเนินการมากกว่าเป้าหมายเช่นกัน โดยสามารถลดการบริโภคยาต้านจุลชีพในภาคปศุสัตว์ได้ถึงร้อยละ 56 ภายในปี 2555

 

ยุค 'เชื้อดื้อยา'หมดทางรักษา ลุกลามถึง'สัตว์-สิ่งแวดล้อม' แล้ว

จากการสำรวจคุณภาพน้ำของแม่น้ำบางปะกง ปี 2557-2559 พบสารปนเปื้อนในแม่น้ำจากผลิตภัณฑ์ยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด โดยปนเปื้อนมาจากน้ำเสียในชุมชน โรงพยาบาล และฟาร์มเลี้ยงหมู ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื้อต่อยาต้านแบคทีเรีย ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเป็นวิกฤตร่วมของประเทศและของโลก เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียสามารถแพร่กระจายอย่างไร้พรมแดนทั่วโลก อีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายระหว่างคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ได้อีกด้วย

จากเวทีประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ‘ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา’ เมื่อเดือน พ.ย. 2560 มีการรายงานสถานการณ์โลกว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ โดย นพ.ริชาร์ด บราวน์ จากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย หนึ่งในผู้แทนจากหน่วยงานระดับโลกที่มาร่วมนำเสนอปัญหาเชื้อดื้อยาในระดับมหภาคชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นภัยคุกคามการแพทย์สมัยใหม่ เนื่องจากเชื้อโรคมีความต้านทานยาปฏิชีวนะสูง รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อดื้อยายังไม่ดีพอ การพบการกระจายของเชื้อดื้อยาในสัตว์จากการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการผลิตอาหารสัตว์ ตลอดจนการสะสมปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดังนั้นปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพจึงไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในคน แต่ยังมีผลกระทบเชื่อมโยงกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมด้วย

ดร.วาลิกา เศวตโยธิน ตัวแทนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) สะท้อนวิกฤตเสี่ยงเชื้อดื้อยาในภาคสิ่งแวดล้อมว่า จากการศึกษาเรื่องการปนเปื้อนของสารกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาในแม่น้ำบางปะกง ปี 2557-2559 โดยศูนย์วิจัยและอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ตรวจวัดคุณภาพน้ำใน 25 แหล่งน้ำ พบสารปนเปื้อนในแม่น้ำจากผลิตภัณฑ์ยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด ได้แก่ กลุ่มยาไซโปรฟลอกซาซิน นอร์ฟลอกซาซิน และเททราซัยคลีน โดยปนเปื้อนมาจากน้ำเสียในชุมชน โรงพยาบาล ฟาร์มเลี้ยงหมู แม้ว่าผลการศึกษายังไม่อาจบอกได้ว่าความเข้มข้นของสารจากยาปฏิชีวนะที่ปนเปื้อนในน้ำนั้นจะส่งผลทางสุขภาพมากน้อยเพียงใด สะท้อนว่าถ้าเมืองไทยยังขาดการจัดการน้ำทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นสาเหตุทำให้มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะลงสู่แม่น้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม/สิ่งมีชีวิตในน้ำ และคนใช้น้ำตามมา

ส่วนในภาคปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ คุณภาพยา อาหารสัตว์และวัคซีนเพื่อให้สัตว์ปลอดโรค ในกระบวนการควบคุม ป้องกันเชื้อดื้อยา และสารตกค้าง ยังเป็นประเด็นสำคัญของไทยที่ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นการเฉพาะ ทั้งในเรื่องการดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพยาปฏิชีวนะที่จำหน่ายในท้องตลาด เช่น ยาเร่งการเจริญเติบโตสัตว์ทุกชนิด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคและการส่งออกสินค้าทางการเกษตรของไทย

ภญ.ดร.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าแม้ว่าที่ผ่านมาเราจะมีการเฝ้าระวัง ควบคุมปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ แต่ก็ยังพบปัญหาในเชิงระบบ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ประเทศไทยไม่มีนโยบายระดับประเทศ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรับผิดชอบด้านสาธารณสุข ยา ปศุสัตว์ เกษตร ประมง ห้องปฏิบัติการ ทำหน้าที่ในลักษณะต่างคนต่างทำ 2.การขาดความตระหนักรู้ ประชาชนไม่เห็นความสำคัญของปัญหาหรือไม่รู้จักเชื้อดื้อยาหรือยาปฏิชีวนะว่าคืออะไร 3.การวิจัยระบบติดตามและประเมินผล (M&E) ที่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนอย่างเพียงพอ ดังนั้นการตั้งคำถามวิจัย เช่น ปัญหาการใช้ยาต้านจุลชีพในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยปัจจุบันมีอัตราเท่าไหร่ หรือมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจำนวนมากน้อยเพียงใดจึงมีความสำคัญ เพื่อที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลในการลดอัตราการติดเชื้อดื้อยาต่อไป

 

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] คู่มือการควบคุมและป้องกันแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาล (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 30/1/2561)
[2] ยาปฏิชีวนะ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 30/1/2561)
[3] กลุ่มยาต้านจุลชีพ (Antimicrobials) (mutualselfcare.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 03/1/2561)
[4] จับตายุค “เชื้อดื้อยา” หมดทางรักษา – คุกคามถึง คน สัตว์ สิ่งแวดล้อม 25 หน่วยงาน เดินหน้าแผนชาติ 60-64 สวรส. ร่วมหนุนวิจัย ลดใช้ยา ลดป่วย-ตาย พร้อมพัฒนาระบบ (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 15/12/2560)
[5] งานวิจัย 'ปริมาณและมูลค่าการสั่งยาต้านแบคทีเรียแก่ผู้ป่วยนอกในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' (ภญ. นพคุณ ธรรมธัชอารี และคณะ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 30/1/2561)

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: โรคติดเชื้อของผู้ป่วยที่มารับบริการที่ รพ.สต.

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: