'โรคเนื้อเน่า' จากสารเคมีเกษตร หนองบัวลำภูจังหวัดเดียว สูงพันกว่าราย

ดลวรรฒ สุนสุข ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ: 25 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 22647 ครั้ง

งานวิจัยท้องถิ่น จ.หนองบัวลำภู พบใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชเกินอัตราแนะนำ 4-8 เท่า ทั้งจังหวัดใช้ ‘พาราควอต’ 8 แสนลิตรต่อปี การเจ็บป่วยในพื้นที่สัมพันธ์กับปริมาณการใช้สารเคมี ต้นเหตุหลักเพราะภาครัฐหนุนปลูกพืชเชิงเดี่ยว-จัดโซนนิ่ง เกษตรขาดความรู้การใช้สารเคมีและการป้องกัน ทำชุมชนเกิดข้อขัดแย้ง กรณีเด็กในศูนย์เลี้ยงเด็กเจ็บป่วยจากการฉีดสารเคมีในไร่อ้อยใกล้เคียง พบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าระหว่างปี 2556-2560 สะสมสูงถึง 1,065 ราย ด้านนักวิจัย ม.มหิดล ศึกษาพบ ‘พาราควอต’ ในเซรั่มสายสะดือทารกและขี้เทาเด็กอ่อนหลายจังหวัด ที่มาภาพประกอบ: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายส่งเสริมวิจัยท้องถิ่น จ.หนองบัวลำภู ร่วมกับนักวิจัยท้องถิ่น ได้ทำการวิจัยในพื้นที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เนื่องจากเห็นผลกระทบด้านสุขภาพตัวเลขการเจ็บป่วยสูงและพบการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในการทำเกษตรกรรมเกินอัตรากำหนด 4-8 เท่า โดยคาดการว่าในพื้นที่ อ.สุวรรณคูหา มีการใช้ ‘พาราควอต’ มากกว่า 3 แสนลิตรต่อปี ส่วนทั้ง จ.หนองบัวลำภู  มีการใช้มากกว่า 8 แสนลิตรต่อปีเลยทีเดียว

'โรคเนื้อเน่า’ ภัยเงียบที่มากับสารเคมี?  

จ.หนองบัวลำภู มีผู้ป่วย ‘โรคเนื้อเน่า’ (Necrotizing fasciitis) เฉพาะโรงพยาบาล จ.หนองบัวลำภู นับตั้งแต่ปี 2553 มีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่าปีละ 120 คน และเกือบร้อยละ10 ของผู้ป่วยจะพิการและเสียชีวิต สถิติทั้งจังหวัดมีผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าสะสมระหว่างปี 2556-2560 จำนวน 1,065 คน  และพบผู้ป่วยโรคผิวหนังมากสุดช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามักมีการสัมผัสกับน้ำในลำน้ำ นาข้าว หรืออ่างเก็บน้ำเป็นเวลานาน หลายรายมีบาดแผลในบริเวณแขน ขา จากการทำงานและไปล้างตัวในแหล่งน้ำที่รองรับสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมเกษตรกรใช้สารเคมีในห้วงเวลาดังกล่าว จากสถิติของการรักษาโรคพบว่าผู้ป่วยหลายรายต้องถูกตัดอวัยวะขาหรือแขนเพื่อรักษาชีวิตไว้ โดยทางแพทย์ได้วินิจฉัยถึงการเป็นโรคที่มาจากแบคทีเรียเป็นสาเหตุหลัก ซึ่งอยู่ในกลุ่มของแบคทีเรียชนิดไม่ใช้อากาศ เช่น Bacteroides fragilis, Clostidium, Pepto Streptococcus และแบคทีเรียชนิดใช้อากาศ เช่น E.Coli, Enterobacter, Klebsiella, Proteus, non- group A streptococcus  ซึ่งรวมถึงแบคทีเรีย Aeromonas hydrophila ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ แบคทีเรียเหล่านี้มักพบในแหล่งน้ำจืด

ข้อมูลจาก ‘โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชนประเด็นสารเคมีเกษตร’ โดยณรงฤทธิ์ จันทรนาหว้าและคณะ ที่ได้ทำการศึกษาในพื้นที่ ต.นาดี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู พบว่าการเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์กับปริมาณการใช้สารเคมี โดยหมู่บ้านที่ใช้สารเคมีในปริมาณมากจะมีจำนวนผู้ป่วยทุกประเภทหรือได้รับผลกระทบมาก เช่น หมู่ที่ 13 มีการใช้สารเคมี 7,372 ลิตร มีจำนวนผู้ป่วยทุกชนิดสูงถึง 272 ราย เทียบกับหมู่บ้านที่ใช้ปริมาณสารเคมีจำนวนน้อย หมู่ที่ 7 ใช้สารเคมีจำนวน 1,510 ลิตร มีจำนวนผู้ป่วยเพียง 88 คน  

ต่อมา สำนักงานสาธารณสุข จ.หนองบัวลำภู จึงได้ติดต่อให้ รศ. ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิจัย สกว. จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการวิจัยเพื่อหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่ และความสัมพันธ์ของสารเคมีเหล่านี้กับการเกิดโรคเนื้อเน่า พบว่าจากการใช้สารพารา ควอตจำนวนมากเกินอัตราของเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้มีโอกาสของเกิดการตกค้างของสารเคมีในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำในพื้นที่มีระดับความเข้มข้นที่สูงจนก่อให้เกิดอันตรายได้ ผลการวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมโดยคณะนักวิจัยได้ยืนยันว่า ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมทั้ง ดิน, ตะกอนดิน, ลำน้ำ และอ่างเก็บน้ำ ที่นำมาตรวจสอบนั้นมีการตกค้างของสารเคมีพาราควอตในทุกตัวอย่าง และอยู่ในระดับความเข้มข้นที่สูง ในขณะที่มีการตรวจพบสารเคมีทางการเกษตรชนิดอื่น ๆ ในปริมาณต่ำมาก จึงมีแนวโน้มว่าแหล่งน้ำทั้งอ่างเก็บน้ำและลำน้ำในพื้นที่มีทั้งสารเคมีพาราควอตและเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้ต้องมีงานวิจัยทางการแพทย์ระบุถึงความเชื่อมโยงของปัจจัยในการเกิดโรคทั้งสองส่วนต่อไป [1]

ภาครัฐนำเข้าพืชเชิงเดี่ยว-จัดโซนนิ่ง ขัดแย้งกับจังหวัดขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์

ดร.ภาสกร บัวศรี ผู้ประสานงานและนักวิจัย สกว. จ.หนองบัวลำภู ได้ระบุว่า “ส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหา คือการที่ภาครัฐส่งเสริมการปลูกพืชไร่  จัดโซนนิ่งพื้นที่ทำเกษตร ไล่มาตั้งแต่การเข้ามาของยางพารา มันสำปะหลัง พืชไร่อื่น ๆ จนมาถึงอ้อย แน่นอนว่าการมาของพืชไร่มาพร้อมกับทุนการเกษตรขนาดใหญ่และสารเคมี จากผลวิจัยท้องถิ่นพบว่ามีการใช้สารเคมีเกินอัตรากำหนดถึง 4-8 เท่า และพบพฤติกรรมการใช้สารเคมีหลากหลายชนิดในเวลาเดียวกัน สะท้อนถึงความรู้ของเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้สารเคมี ว่าไม่มีความเข้าใจ ถ้าภาครัฐจะสนับสนุนพืชไร่ควรให้ความรู้และการใช้อย่างปลอดภัยให้กับเกษตรกรควบคู่ไปด้วย”

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตร จ.หนองบัวลำภู และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าในปี 2559 จังหวัดหนองบัวลำภู มีพื้นที่ปลูกอ้อย 524,539 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 1,499,608 ไร่  เมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพียง 96,920 ไร่

“อีกสวนหนึ่งมาจากนโยบายจัดโซนนิ่ง ทำให้ภาครัฐควบคุมกำหนดทิศทางของเกษตรกรได้ง่าย มีการส่งเสริมการทำพืชไร่ต่าง ๆ รวมไปถึงอ้อยที่ใช้สารกำจัดวัชพืชจำนวนมาก สวนทางกับนโยบายของจังหวัดที่กำลังจะผลักดันเกษตรอินทรีย์ คำถามคือมีคนทำเกษตรอินทรีย์และข้างแปลงมีคนปลูกอ้อยใช้สารกำจัดวัชพืช แล้วแปลงนั้นยังจะเป็นเกษตรอินทรีย์อยู่ไหม มันเดินสวนทางกับนโยบายท้องถิ่นเลย”  

วิจัยท้องถิ่นชี้ ‘สารกำจัดวัชพืช’ ส่งผลร้ายมากกว่าแค่เรื่องสุขภาพ

จากข้อมูลของโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชนประเด็นสารเคมีเกษตร ได้ระบุถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีใน ต.นาดี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู พบว่านอกจากผลกระทบเรื่องสุขภาพแล้วยังก่อให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ อย่างในด้านสังคมเคยมีข้อพิพาทในชุมชนอีกด้วย เช่น ไร่ที่อยู่ติดกันเคยไปมาหาสู่สนิทสนมกัน เมื่อใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชทำให้ทะเลาะกันและไม่คบกัน ชาวบ้านเคยย้ายบ้านหนีจากพื้นที่ทำไร้อ้อยเพราะสารกำจัดวัชพืชส่งกลิ่นเหม็นจนทนไม่ได้

อีกหนึ่งกรณี ศูนย์การศึกษาเด็กเล็กเทศบาล ต.นาด่าน ได้รับผลกระทบจากการฉีดสารเคมีกำจัดวัชพืชในไร่อ้อยที่อยู่บริเวณใกล้เคียงทำให้ไม่ สามารถทำการเรียนการสอนต่อได้ตามปกติ เกิดการเจ็บป่วยของครูพี่เลี้ยงและเด็กจำนวน 22 คน ทำให้ผู้ปกครองไม่พอใจ มีการฟ้องร้องและปรับ เงินกับเจ้าของไร่อ้อย

ในด้านสิ่งแวดล้อม จากความเห็นของคนในชุมชนพบว่าแหล่งน้ำมีจำนวนสัตว์น้ำลดน้อยลงมากและพืชน้ำอย่างสาหร่ายก็ลดลงมากเช่นกัน  ส่วน สภาพอากาศเมื่อถึงฤดูฉีดสารเคมีจะมีกลิ่นเหม็นฉุน ละอองสารเคมีฟุ้งกระจายไปในอากาศ ทำให้เกิดอาการแสบตา, แสบจมูก และคอแห้ง ส่วนน้ำฝนที่เคยใช้บริโภคอุปโภคได้ ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่กล้าดื่มน้ำฝนเหมือนเช่นเคย ต้องซื้อน้ำเพื่อบริโภคในครัวเรือนส่งผลให้รายจ่ายเพิ่มมากขึ้นด้วย

'พาราควอต’ ส่งต่อถึงทารกกับอนาคตที่เลือกไม่ได้?

วงเสวนาในเวทีสมัชชาสุขภาพเจาะประเด็น ครั้งที่ 1/2561 พาราควอต : 'ฆ่าหญ้า' VS 'คร่าสุขภาพ' คนไทย ที่มาภาพ: สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เมื่อวันที 21 มี.ค. 2561 ในวงเสวนาในเวทีสมัชชาสุขภาพเจาะประเด็น ครั้งที่ 1/2561 พาราควอต : 'ฆ่าหญ้า' VS 'คร่าสุขภาพ' คนไทย ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดผลวิจัย ‘การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแม่และทารก’ ที่ได้เก็บข้อมูลโรงพยาบาลในปี 2555-2556 พื้นที่ จ.อำนาจเจริญ, นครสวรรค์,กาญจนบุรี พบสาร ‘พาราควอตและไกลโฟเสต’ ปนเปื้อนในในซีรั่มแม่และทารก รวมไปถึงขี้เทาจากเด็ก ระดับพาราควอตในซีรั่มจากมารดา 78 คน พบสารพาราควอต 13 คน  และตรวจระดับพาราควอตในซีรั่มสายสะดือจากเด็กทารก 69 คน พบสารพาราควอต ถึง14 คน

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังชี้ว่าการตรวจพาราควอตในซีรั่มมารดา พบว่าปัจจัยเสี่ยงมาจากมารดาประกอบอาชีพเกษตร หากมีการขุดดินในพื้นที่การ เกษตรในช่วงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงในการพบพาราควอตมากกว่ามารดาที่ไม่ได้ทำกิจกรรมดังกล่าวถึง 6 เท่า ขณะเดียวกันมารดาที่ทำงานในพื้นที่การเกษตรช่วง 6-9 เดือนของการตั้งครรภ์ มีโอกาสที่จะตรวจพบพาราควอตมากถึง 5.4 เท่า

ส่วนผลการตรวจขี้เทาจากเด็กแรกเกิดกลุ่มตัวอย่าง 53 คน พบการตกค้างพาราควอต 29 คน มีค่าสูงสุดถึง 635.5 นาโนกรัม/กรัม ในขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีการศึกษาขี้เทาของทารก 70 คน ตรวจพบ 2 คน มีปริมาณพาราควอต เป็น 106 และ 46 นาโนกรัมต่อกรัม เมือเปรียบเทียบกันแล้วพบว่าในประเทศไทยมีค่าที่สูงมาก

อีกข้อสังเกตหนึ่งในงานวิจัย พบค่าสารตกค้างในเด็กมากกว่ามารดาทั้งซีรั่มและขี้เทา อาจเป็นไปได้ว่าเด็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันหรือระบบการขจัดสารพิษ นอกจากนี้ยังพบว่ามารดาที่ไม่ได้ทำเกษตรมีค่าตกค้างในขี้เทาเด็กมากกว่ามารดาที่ทำเกษตร เป็นที่ชวนคิดว่าเกิดจากอะไร อาจเป็นไปได้ว่าคนทั่วไปมีการปนเปื้อนในรูปแบบอื่น เช่น มีญาติเป็นเกษตรกรก็จะมีค่าที่สูง อีกนัยยะหนึ่งแสดงว่าสารพิษปนเปื้อนมีอยู่ทุกที่ นอกจากนี้ยังตรวจพบสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (คลอร์ไพริฟอส) อยู่ในน้ำนมแม่อีกด้วย

“ความมืดที่มองไม่เห็นคือ พิษสะสมจากการสัมผัสสารเคมีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก และการบริโภคอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่นมะเร็ง เบาหวาน พาร์กินสัน อัมพฤกษ์ โรคผิวหนังต่าง ๆ สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสารเคมีและมลพิษ ที่แม้แต่เด็กแรกเกิดที่เพิ่งลืมตาดูโลก ก็ต้องได้รับความเสี่ยงที่ตัวเองไม่ได้ก่อ” ศ.ดร.พรพิมล กล่าว

 

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
[1] พบเกษตรกรหนองบัวลำภูใช้พาราควอตเข้มข้น-คาดนำเข้ากว่า 8 แสนลิตร/ปี พ่อเมืองสั่งเร่งหาสาเหตุ (สำนักข่าวอิศรา, 17 ธ.ค. 2560)

อ่านเพิ่มเติม
จับตา ไทม์ไลน์ ‘แบน’ หรือ ‘ไม่แบน’ สารเคมี ‘พาราควอต-คอลร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต’
อลหม่านสารพิษ 'พาราควอต' เมื่อ 'สุขภาพ vs ต้นทุนผลผลิตเกษตร'

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: