กลุ่มผู้หญิงกังวลต่อความตกลง RCEP และผลกระทบต่อสิทธิประชาชน

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 1914 ครั้ง

กลุ่มผู้หญิงกังวลต่อความตกลง RCEP และผลกระทบต่อสิทธิประชาชน

กลุ่มภาคประชาสังคมเรื่องสิทธิผู้หญิงจากในภูมิภาค ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มเกษตรกร คนงาน กลุ่มรณรงค์สิทธิในที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มชนพื้นเมือง แสดงความกังวลต่อความตกลง RCEP ที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิประชาชน

กลุ่มภาคประชาสังคมเรื่องสิทธิผู้หญิงจากในภูมิภาค ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มเกษตรกร คนงาน กลุ่มรณรงค์สิทธิในที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มชนพื้นเมือง ได้เข้าร่วมในการประชุมปรึกษาหารือของภาคประชาสังคมเป็นเวลา 1.5 ชั่วโมง ในระหว่างการเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) รอบที่ 23 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยเป็นการประชุมที่ประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ จากอาเซียน และพันธมิตรหลักทางการค้าหกประเทศได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ก่อนหน้านี้องค์กรภาคประชาสังคมได้รับแจ้งว่าจะมีเวลามากกว่านี้ในการแสดงข้อกังวล แต่ต่อมาได้รับแจ้งว่าจะมีเวลาพูดน้อยลง

“สิทธิมนุษยชน และความเกี่ยวข้องและการมีส่วนร่วมของประชาชน มีคุณค่าเพียงเท่านี้หรือ? องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน สมาชิกรัฐสภา และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ แทบเข้าถึงการเจรจาเหล่านี้ไม่ได้เลย ซึ่งอันที่จริงก็เป็นกระบวนการที่ขาดความโปร่งใสอยู่แล้ว” Dinda Nuurannisaa Yura, จากองค์กร Solidaritas Perempuan ประเทศอินโดนีเซียกล่าว “ความตกลง RCEP ส่งผลกระทบกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และผ่านการเจรจาโดยประชาชนไม่มีส่วนรู้เห็น สำหรับรัฐบาลหลายประเทศที่เข้าร่วมการเจรจา ความตกลง RCEP อาจเป็นแค่เรื่องของต้นทุนและกำไร เรื่องของการค้าการขาย หรือเรื่องของสถิติและตัวเลข แต่สำหรับผู้หญิงและชุมชนชายขอบจำนวนมาก มันเป็นเรื่องระหว่างความเป็นและความตาย

“การเปิดเสรีทางการค้าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการกดค่าแรงผู้หญิงเพื่อแปรเป็นกำไรสูงสุดของบรรษัท การแปรรูปให้เป็นของเอกชนและการลดบริการสาธารณะ ส่งผลให้ผู้หญิงต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อหาบริการเหล่านี้ หรือทำให้ผู้หญิงมีภาระเพิ่มเป็นสองเท่าส่งผลให้เกิดโลกที่มีความเหลื่อมล้ำมหาที่ซึ่งผู้ชายมหาเศรษฐีแปดคนมีทรัพย์สินเท่ากับประชากรอีกครึ่งหนึ่งของโลกรวมกัน ซึ่งหลายคนเป็นผู้หญิง” Joms Salvador องค์กร Gabriela National Alliance of Women ประเทศฟิลิปปินส์กล่าว

แม้รัฐบาลยอมรับว่ามีความไม่เท่าเทียมเช่นนี้อยู่จริง และโลกาภิวัตน์ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนห่างกันมากยิ่งขึ้น ทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว แต่พวกเขาบอกว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางนี้ได้ “หากรัฐบาลของเรารู้อยู่แล้วว่าระบบที่เป็นอยู่ใช้ไม่ได้ผล ทำไมเราถึงยอมให้เราอยู่กันแบบนี้ต่อไป?” Joms Salvador กล่าว

คาดว่าความตกลง RCEP จะมีเนื้อหาครอบคลุมข้อบทเกี่ยวกับการลงทุน หรือที่เรียกว่า “การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน” (investor state dispute settlement - ISDS) ซึ่งที่ผ่านมาได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในบรรดาประเทศในความตกลง RCEP และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก “ISDS เปิดโอกาสให้บรรษัทต่างชาติสามารถฟ้องรัฐบาลซึ่งพยายามควบคุมกำกับการดำเนินงานของบรรษัท ไม่ว่าจะ เพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมก็ดี เพื่อให้บริการสาธารณะก็ดี เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนก็ดี หรือเพื่อใช้มาตรการที่ให้สิทธิพิเศษกับผู้หญิง ต้องถือว่าเป็นบรรษัทาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตย” ปรานม สมวงศ์ ตัวแทน Protection International Thailand กล่าว

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังมีโอกาสประชุมร่วมกับคณะเจรจาของรัฐต่างหาก โดยไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจากับหน่วยงานธุรกิจเหล่านี้ ในการเจรจารอบที่ผ่านมาหน่วยงานธุรกิจมักได้รับเวลาในการเสนอความเห็นมากกว่าองค์กรภาคประชาสังคมเสมอ บางครั้งมีโอกาสพูดเต็มวัน

Misun Woo ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคของสมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเซียแปซิฟิก (Asia Pacific Forum on Women, Law and Development - APWLD) กล่าวเสริมว่า

“เราผู้หญิงในฐานะประชาชนคืออำนาจอธิปไตยของชาติ เราต้องร้ว่า RCEP คืออะไร ว่ามันคือข้อตกลงการค้าเสรีที่คำนึงถึงข้อตกลงของความต้องการของประชาชน หรือมีไว้เพื่อเอื้อประโยชน์ของบรรษัท การเจรจาที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่าเป็นอย่างหลังมากกว่า เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและมีแต่รัฐบาลและบรรษัทที่ได้ข้อมูลเท่านั้น”

“เราต้องยุติความไม่ตรงไปตรงมานี้ ผู้หญิงคือหัวใจของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้าน WTO หรือองค์การการค้าโลก เราจะใช้พลังของประชาชนนี้เพื่อหยุดการเจรจา RCEP เพื่อกำหนดชีวิตและอนาคตของตนเอง

กลุ่มผู้หญิงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความตกลง RCEP ซึ่งใช้แนวทางการพัฒนาที่บ่อนเซาะชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ความตกลงการค้าเสรีและนโยบายการเปิดเสรี การแปรรูปเป็นของเอกชนและโลกาภิวัตน์เหล่านี้ ต่างส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ด้านล่างทางเศรษฐกิจและโดยเฉพาะผู้หญิง เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการความร่วมมือระหว่างประเทศและภราดรภาพ เป็นการค้าที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

เกี่ยวกับความตกลง RCEP

ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นความตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับพันธมิตรการค้าหกประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เรามีเอกสารทั้งที่เป็นภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของความตกลง RCEP ที่มีต่อผู้หญิง และโปรดดูวีดิโอรณรงค์ที่เน้นให้เห็นข้อกังวลเกี่ยวกับการเอาสิทธิมนุษยชนแลกกับการค้า

เกี่ยวกับ APWLD

สมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเซียแปซิฟิก (Asia Pacific Forum on Women, Law and Development - APWLD) เป็นเครือข่ายชั้นนำขององค์กรสตรีนิยมและนักกิจกรรมระดับรากหญ้าในเอเชียแปซิฟิก เรามีองค์กรสมาชิกกว่า 230 แห่ง ประกอบด้วยผู้หญิงที่หลากหลายจาก 27 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ในช่วง 31 ปีที่ผ่านมา APWLD ทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและความยุติธรรมของการพัฒนา เราเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่ของรัฐบาลและไม่แสวงหากำไร และมีสถานะเป็นที่ปรึกษากับคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ apwld.ngo Twitter:@apwld Instagram:apwld

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: