8 จังหวัดภาคตะวันออกใช้น้ำรวม 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี 3 จังหวัด EEC สัดส่วนกว่าครึ่ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2287 ครั้ง

8 จังหวัดภาคตะวันออกใช้น้ำรวม 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี 3 จังหวัด EEC สัดส่วนกว่าครึ่ง

ข้อมูลจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ระบุภาคตะวันออกมี 8 จังหวัด 4 ลุ่มน้ำ มีความต้องการใช้น้ำรวมเกือบ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ใน 3 กิจกรรม คือ เพื่ออุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการเกษตร ในส่วนของ 3 จังหวัดตามแผน EEC ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีความต้องการใช้น้ำ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมาว่า นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ จ.ระยอง ตรวจสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ.วังจันทร์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านแหล่งน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (EEC) โดยนายทินกร สุทิน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ รายงานข้อมูลว่า ภาคตะวันออกมี 8 จังหวัด 4 ลุ่มน้ำ มีความต้องการใช้น้ำรวมเกือบ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ใน 3 กิจกรรม คือ เพื่ออุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการเกษตร ในส่วนของ 3 จังหวัดตามแผน EEC ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีความต้องการใช้น้ำใน 3 กิจกรรมดังกล่าวเพียง 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่านั้น

นายสมเกียรติ กล่าวว่าจากข้อมูลดังกล่าว แม้สถานการณ์น้ำในปัจจุบันมีเพียงพอถึงระยะเวลา 10 ปี แต่เนื่องจากการเติบโตของอีอีซี อาจกระทบต่อการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และแหล่งน้ำที่มีอยู่ ดังนั้นอีก 10 ปีถัดไปจะต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มหรืออาจสร้างอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเพิ่มอีกในช่วง 2 ปีนี้เช่น ที่จังหวัดชลบุรีต้องนำน้ำมาจากลุ่มน้ำบางปะกง และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต จังหวัดฉะเชิงเทราประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงจากจังหวัดระยองอีก 70 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ จะต้องมีการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำในตัวจังหวัดเองให้มีความเพียงพอยิ่งขึ้น ซึ่งได้วางแผนพัฒนาในช่วงเวลา 10 ปี ไว้เรียบร้อยแล้ว และการพัฒนาศักยภาพของน้ำบาดาลที่มีมากกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อเตรียมรองรับการเติบโตของชุมชนในเวลา 20 ปี ที่อยู่นอกเหนือแผนการใช้น้ำปัจจุบันอีก 200- 300 ล้านลูกบาศก์เมตร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: