'ทีมรณรงค์ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก' รณรงค์ออนไลน์ผ่าน change.org ร้องเรียนธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ช่วยเลือกขายของกินที่ไม่เอาเปรียบคนผลิต ต้นทางสินค้าต้องเป็นธรรมต่อแรงงานและเกษตรกรรายย่อย ที่มาภาพ: change.org
26 ธ.ค. 2561 ผู้ใช้เว็บ change.org ชื่อ นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ และทีมรณรงค์ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ 'ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ช่วยเลือกขายของกินที่ไม่เอาเปรียบคนผลิต' ร้องเรียนธุรกิจค้าปลีกในไทย โดยระบุว่า
เรื่องราวแบบนี้ ใครๆ ก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราคงไม่อยากมีส่วนร่วมในการทรมาณมนุษย์ด้วยกัน
ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนด้านอาหารและวัฒนธรรม การค้นคว้าวิจัยต่างๆ ได้เปิดประตูให้ดิฉันเห็นว่าความหมายและคุณค่าของอาหารเปลี่ยนไปมาก จากการทำอาหารในครัวกินกันที่บ้านกลายเป็นกระบวนการผลิตบนระบบสายพานขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานคนมากมาย คนเหล่านี้ แม้จะไม่ใช่คนในครัวเดียวกันที่บ้านเรา แต่ก็เป็นคนเหมือนกับเรา
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ใหญ่เกินกว่าเรื่องสูตรอาหารอร่อยน่าทาน หรือแม้แต่เรื่องอาหารในฐานะเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และอื่นๆ ที่ผู้สอนด้านอาหารอย่างดิฉันก็ว่าลากลึกมาไกลกว่าครัวมากแล้ว
อาหารในยุคนี้เดินทางจากแหล่งผลิตสู่สังคมเมือง โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นคนเลือกซื้อจากผู้ผลิตรายย่อย แล้วเอามาวางขายต่อเพื่อทำกำไรจากผู้บริโภคอย่างเราอีกที พูดง่ายๆ ก็คือ เรามีซูเปอร์มาร์เก็ตเป็น “พ่อค้าคนกลาง”
เมื่อซูเปอร์ฯ เป็นพ่อค้าคนกลาง แล้วผู้บริโภคอย่างดิฉันคือคนซื้ออาหารในซูเปอร์ฯ มันทำให้ดิฉันต้องมองบทบาทของตัวเองอีกครั้ง และมองให้ทั่วกว่าแค่ความคุ้มค่าของอาหารที่ซื้อ
เช่น เวลาที่อ่านรายงานเจอว่าผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ต้องอยู่ในไลน์การผลิตเปียกๆ หนาวๆ แกะกุ้งติดต่อกัน 12 ชั่วโมง ไม่มีเวลาเข้า-ออกงานที่แน่นอน ไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำจนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และได้ค่าแรงน้อยกว่าผู้ชาย มันทำให้สงสัยว่า อาหารทะเลในตู้แช่ที่กำลังจะจ่ายเงินซื้อที่ซูเปอร์ฯ มาจากเพื่อนมนุษย์ที่โดนทารุณกรรมรึเปล่า
“ความคุ้มค่า” กลายเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งขึ้นมากสำหรับผู้บริโภคอย่างดิฉัน เพราะต้องมองไปที่ “คนต้นทาง” ที่อยู่ในกระบวนการผลิต ว่าได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมหรือเปล่า เราคงไม่อยากให้การจับจ่ายใช้สอยของเรากลายเป็น “ปลายทาง” ที่ย้อนกลับไปสร้างความทุกข์ของใครที่อยู่ “ต้นทาง” อย่างที่เราเองก็ไม่ได้ตั้งใจ
ในฐานะผู้บริโภค เราทุกคนต้องการอาหารดี ปลอดภัย และไม่อยากมองข้ามชีวิตผู้คนบนเส้นทางการผลิตอาหาร ว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ชีวิตเสี่ยงอันตรายเพราะการผลิตอาหารให้เราหรือไม่
ผลจากการประเมินนโยบายสาธารณะของห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในบ้านเรา 8 แห่ง โดยงานรณรงค์ “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ด้านความเป็นธรรมต่อแรงงานและเกษตรกรรายย่อย การปฏิบัติต่อผู้หญิงในที่ทำงาน ฯลฯ พบว่า คะแนนเต็ม 93 ทุกห้างได้คะแนนเฉลี่ย 2.4 หมายความว่ายังมีช่องให้ซูเปอร์ฯ พัฒนาได้อีก
หลังจากที่ทราบคะแนน บางห้างตื่นตัวและพยายามปรับปรุง เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าของที่ซื้อไม่ได้มาจากการทำร้ายใคร ทำให้ดิฉันมีความหวังขึ้นมาว่าซูเปอร์ฯ ไทยทำได้
เหมือนที่ซูเปอร์ฯ ในเดนมาร์คประกาศเลิกขายไวน์ที่ผลิตจากแอฟริกาใต้ เพราะมีรายงานว่าคนงานรับจ้างชาวแอฟริกามีชีวิตอย่างยากลำบาก รายได้ต่ำ และมีเบื้องหลังการใช้สารเคมีในไร่ (*สารคดีเรื่อง Bitter Grapes—Slavery in the Vineyards พ.ศ. 2559) ซึ่งจุดประกายให้บริษัทผู้ผลิตปรับปรุง
ดิฉันคิดว่าซูเปอร์ฯ ในฐานะพ่อค้าคนกลาง มีบทบาทและอำนาจอย่างมากในการช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้นทางการผลิต และดิฉันในฐานะคนซื้ออาหารในซูเปอร์ฯ ก็มีบทบาทและพลังในการผลักดันให้ซูเปอร์จัดการปัญหาต่างๆ เหล่านี้เช่นกัน
ดิฉันขอเป็นหนึ่งเสียงของผู้บริโภคที่เรียกร้องให้เครือข่ายธุรกิจที่ทรงพลังอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตไทยทุกเจ้า ช่วยยืนยันว่าได้เลือกอาหารดีๆ ที่ไม่เอาเปรียบคนผลิต หรือ “คนต้นทาง” ทุกคน ทั้งเกษตรกร ชาวประมง และแรงงานในโรงงาน
เราคนซื้อคนกิน ไม่อยากต้องกังวลถึงที่มาของอาหารที่กำลังจะซื้อ อยากรู้สึกสบายใจทุกครั้งที่เดินเข้าซูเปอร์ฯ และมั่นใจว่าเงินที่จ่ายไปไม่ได้เอาไปใช้ทำร้ายใครในวงจรการผลิตแบบไม่รู้ตัว
แต่เสียงของดิฉันคนเดียวคงดังไม่พอ ช่วยกันนะคะ ลงชื่อสนับสนุนให้ซูเปอร์ฯ ใช้อำนาจต่อรองที่มีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และฟังเสียงผู้บริโภค เราช่วยกันส่งเสียงให้ดัง เชื่อว่าซูเปอร์ฯ จะได้ยิน และเริ่มขยับแน่นอน เพราะเท่ากับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อบริษัท พัฒนาธุรกิจของตัวเอง เดี๋ยวนี้คู่แข่งมากมาย และผู้บริโภคทุกวันนี้ก็ฉลาดเลือก ช่วยกันทุกฝ่าย ทุกคนมีแต่ได้กับได้ค่ะ
อย่าปล่อยให้เงินของพวกเราที่ใช้จับจ่ายด้วยความเพลิดเพลินเอร็ดอร่อย สะดวกสบาย ต้องกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการทำร้ายเพื่อนมนุษย์เลยค่ะ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ