8 เดือนรัฐจ่าย 'ร้านธงฟ้าประชารัฐ' กว่า 3 หมื่นล้าน บริษัทใหญ่ตบเท้าป้อนสินค้า

ทีมข่าว TCIJ : 26 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 27454 ครั้ง

กระทรวงการคลังสรุปการใช้สิทธิ์และการจ่ายเงินให้แก่หน่วยงานหรือร้านค้าที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระหว่าง 1 ต.ค. 2560 - 11 มิ.ย. 2561 รวม 30,716.44 ล้านบาท จ่ายให้เฉพาะ 'ร้านธงฟ้าประชารัฐ' 30,443.71 ล้านบาท ตั้งเป้าร้านค้าเข้าร่วมโครงการมากกว่า 100,000 ราย ทั้ง ‘ร้านอาหาร’ จนถึง ‘รถเร่ขายของชำ’ - ณ เดือน ส.ค. 2561 จากสินค้าร่วมโครงการ 567 รายการ มีสินค้า ‘สหพัฒนพิบูล-ยูนิลีเวอร์-ซีพี’ รวมเกือบร้อยรายการ อย่างไรก็ตาม - พบยังมีการร้องเรียนร้านธงฟ้าฯ ทำผิดหลักเกณฑ์อยู่ต่อเนื่อง ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวไทย

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 เห็นชอบหลักการโครงการนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบด้วยวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเท่าที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด แบ่งเป็น

  • วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี และวงเงิน 300 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี
  • วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 45 บาท/คน/3 เดือน
  • วงเงินค่าโดยสารรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบบ e-Ticket/รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาท/คน/เดือน วงเงินค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 500 บาท/คน/เดือน และ วงเงินค่าโดยสารรถไฟ จำนวน 500 บาท/คน/เดือน

งบประมาณรวมที่ใช้ดำเนินการตามแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการนี้ให้ดำเนินการภายในวงเงิน 46,000 ล้านบาท [1]

ต่อมาในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 มีการอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ถึงวันทำการสุดท้ายของเดือน มี.ค. 2561 จำนวน 290,593,246 บาท เพื่อให้กรมบัญชีกลางใช้ในการดำเนินโครงการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ [2] และในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561 มีการอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ถึงวันทำการสุดท้ายของเดือน มี.ค. 2561 จำนวน 257,531,600 บาท เพื่อให้กรมบัญชีกลางใช้ในการดำเนินการวางเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิสก์ (Electronic Data Capture หรือเครื่อง EDC) ภายใต้โครงการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560  เพิ่มเติมอีก 20,000 เครื่อง (ร้านธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 10,000 เครื่อง และร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 10,000 เครื่อง) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ [3]

ต.ค.60-.มิ.ย.61 รัฐจ่ายเฉพาะ 'ร้านธงฟ้าประชารัฐ' 30,443.71 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 กระทรวงการคลังได้ รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต่อ ครม.โดยระบุถึงการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและปัญหาอุปสรรค ประจำปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 - 11 มิ.ย. 2561 สรุปได้ว่า ในการผลิตและการแจกจ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิ จากจำนวนผู้มีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด 11.47 ล้านราย ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2560 - 11 มิ.ย. 2561 มีผู้มีสิทธิมารับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว 11.06 ล้านราย (ร้อยละ 96) การวางเครื่อง EDC จากเป้าหมายที่กำหนดจะวางเครื่อง EDC ณ จุดจำหน่ายสินค้าและบริการของหน่วยงานหรือร้านค้าที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 45,655 เครื่อง ณ วันที่ 11 มิ.ย. 2561 วางเครื่องแล้ว 30,460 เครื่อง (ร้อยละ 66) โดยการจ่ายเงินให้แก่หน่วยงานหรือร้านค้าที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 - 11 มิ.ย. 2561 จ่ายเงินแล้วรวม 30,716.44 ล้านบาท แยกเป็นจ่ายให้ร้านธงฟ้าประชารัฐ 30,443.71 ล้านบาท ร้านก๊าซหุงต้ม 36.01 ล้านบาท รถ บขส. 80.80 ล้านบาท และรถไฟ 155.92 ล้านบาท

ส่วนการใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถไฟฟ้า ได้พัฒนาระบบเพื่อรองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) (Version 2.0) และกำหนดให้ผู้มีสิทธินำบัตรมา Reinitialize ที่สถานีรถไฟฟ้าได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2561 เพื่อให้สามารถเริ่มใช้บัตรชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2561 รวมทั้งจะขยายการให้บริการให้สามารถใช้ได้กับระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์และรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นไป แต่ในส่วนนี้ยังไม่มีข้อมูลมานำเสนอ

หวังร้านค้าเข้าร่วมมากกว่า 100,000 ราย ทั้ง ‘ร้านอาหาร’ ยัน ‘รถเร่ขายของชำ’

กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าจะรับสมัครร้านค้าเข้าร่วมโครงการ ‘ร้านธงฟ้าประชารัฐ’ ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย ซึ่งรวมถึงรถเร่ขายของชำด้วย ที่มาภาพ: Springnews

เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2561 กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีร้านค้ารายย่อยสมัครเข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐแล้วกว่า 15,000 ราย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้จัดส่งรายชื่อร้านค้าที่ผ่านคุณสมบัติล็อตแรก 5,000 ราย ไปให้กรมบัญชีกลางอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการแล้ว และจะทยอยส่งอีกวันละประมาณ 3,000-5,000 ราย จากนั้นเมื่อกรมบัญชีกลางอนุมัติ ก็จะส่งให้ธนาคารกรุงไทยนำเข้าระบบและคาดว่าตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2561 เป็นต้นไป ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการและได้รับการอนุมัติจะสามารถรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อชำระค่าสินค้าได้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าจะรับสมัครร้านค้าเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 100,000 ราย โดยเบื้องต้นกำหนดร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการแยกเป็นร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จประมาณ 20,000 ร้าน, ร้านค้าในตลาดสด เช่น ขายเนื้อหมู ไก่ ปลา ไข่ไก่ 30,000 ร้าน, ร้านค้าใน ‘ตลาดต้องชม’ 3,000 ร้าน, ร้านค้าในตลาดกลางผักและผลไม้ 2,000 ร้าน และร้านขายผลิตภัณฑ์ชุมชน-รถเร่ 2,000 คัน ส่วนที่เหลือจะเป็นร้านค้ารายย่อย, ร้านขายของชำ และร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป [4]

'กรุงไทย' ให้กู้ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

นอกจากนี้ธนาคารกรุงไทยยังให้สิทธิ์ร้านค้าที่เข้าโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ สามารถขอสินเชื่อโดยวงเงินกู้แบบกำหนดระยะเวลา โดยให้กู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะค้ำประกันเต็มวงเงินแทนการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน พร้อมให้วงเงินหมุนเวียน 3 เท่าของยอดขายต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ MRR ปัจจุบันอยู่ที่ 7.120% ต่อปี นอกจากนี้ หากผ่อนชำระหนี้เดือนที่ 1-12 เป็นปกติ โดยไม่มีประวัติผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือผ่อนชำระหนี้ล่าช้า ธนาคารจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1% ต่อปี ตั้งแต่เดือนที่ 13 เป็นต้นไป สำหรับคุณสมบัติในการขอสินเชื่อเพียงเป็นผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงิน EDC ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล มีประสบการณ์ในธุรกิจมาแล้ว 2 ปี [5]

ทุนคาราบาว' กับ 'ร้านธงฟ้าประชารัฐ'


ที่มาภาพ: MRG Online

เมื่อเดือน ต.ค. 2560 'กิตตินันท์ นาคทอง' เขียนบทความลงใน MRG Online อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างโมเดิร์นเ เทรด สัญชาติไทยอย่าง 'ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส' (มีต้นกำเนิดจากพื้นที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี) ของ 'บริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด' ที่ประกาศว่าทุกสาขารับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กับ 'คาราบาวกรุ๊ป' เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม 'คาราบาวแดง' โดยระบุว่าบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยนายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งคาราบาวกรุ๊ป ได้ซื้อกิจการ 'ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558

อ่านเพิ่มเติม: “ทุนคาราบาว” กับ “ร้านธงฟ้าประชารัฐ” (กิตตินันท์ นาคทอง, MRG Online, 8 ต.ค. 2561)

 

บริษัทใหญ่ตบเท้านำสินค้าเข้าโครงการ รัฐจีบป้อนสินค้าถาวร

กรมการค้าภายในอัพเดท รายชื่อตัวแทนจำหน่ายสินค้าโครงการธงฟ้าประชารัฐสำหรับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ (ณ 5 ก.ค. 2561) โดยมีรายชื่อบริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศเป็นตัวแทนจำหน่ายด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด, บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซีพี คอนซูเมอร์โพรดักส์ จำกัด เป็นต้น

จากข้อมูล รายการสินค้าที่จะนำเข้าร่วมโครงการจำนวน 65 สินค้า 567 รายการ (อัพเดทข้อมูลเมื่อ 3 ส.ค. 2561) พบว่าบริษัท 3 แห่งที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ อย่างบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท ซีพี คอนซูเมอร์โพรดักส์ จำกัด มีสินค้าเข้าร่วมโครงการ 39 รายการ, 48 รายการ และ 10 รายการ ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อเดือน พ.ค. 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะพัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่กำลังจะมีถึง 40,000 แห่งทั่วประเทศให้เป็นร้านค้าที่ขายสินค้าราคาถูก หรือดิสเคาน์ช็อปให้กับคนไทยอย่างถาวร โดยมีการหารือกับผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ไปแล้วซึ่งได้ตอบรับที่จะผลิตสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดป้อนให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และกำลังจะนัดหารือกับบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ภายในเดือน พ.ค. 2561 นี้ มั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือเช่นเดียวกัน ส่วนผู้ผลิตรายอื่นหากสนใจก็สามารถที่จะมาเข้าร่วมได้

“ตอนนี้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ถือว่าเป็นร้านค้าสำหรับคนจนไปแล้ว เพราะมีสินค้าราคาถูกมาให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 11 ล้านคนได้เข้าไปซื้อสินค้า ซึ่งผมกำลังจะปรับโฉมร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเป็นร้านดิสเคาน์ช็อปที่ขายสินค้าราคาถูกให้กับคนไทยทุกคน โดยจะจัดให้มีมุมสินค้าธงฟ้าอยู่ในทุกร้าน ซึ่งมุมธงฟ้านี้ จะมีสินค้าที่ประสานจากผู้ผลิตจัดส่งมาให้ และมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป คนมีบัตรหรือไม่มีบัตรก็มาซื้อได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพได้อย่างถาวร” นายสนธิรัตน์กล่าว [6]

จากการสืบค้นในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 20 ส.ค. 2561) พบว่าในปี 2560 บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 32,071,672,453.68 บาท กำไรสุทธิ 1,444,073,966.81 บาท, บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด มีรายได้รวม 39,713,371,632.00 บาท กำไรสุทธิ 1,239,412,616.00 บาท และบริษัท ซีพี คอนซูเมอร์โพรดักส์ จำกัด มีรายได้รวม 3,130,274,401.00 บาท กำไรสุทธิ 41,691,077.00 บาท

พบร้านธงฟ้าประชารัฐทำผิดหลักเกณฑ์ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 8 เดือน (ต.ค. 2560 - พ.ค. 2561) ใน รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังคงพบปัญหาร้านธงฟ้าประชารัฐทำผิดหลักเกณฑ์ซึ่งสำนักงานคลังจังหวัดได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพิกถอนการเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ และกรมบัญชีกลางได้สั่งการให้สำนักงานคลังจังหวัดเรียกคืนเครื่อง EDC จากเจ้าของร้าน และจะไม่ให้วางเครื่อง EDC ของโครงการในร้านค้าเหล่านี้ ตัวอย่าง เช่น ร้านธงฟ้าประชารัฐแห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย อ้างว่าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ร้านธงฟ้าประชารัฐแห่งหนึ่งใน จ.อำนาจเจริญ ขายสินค้าให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยยึดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้และนำบัตรของผู้มีสิทธิไปรูดที่ร้านธงฟ้าประชารัฐที่เป็นร้านค้าส่งแห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร เป็นต้น

ตัวอย่างเพิ่มเติม : ร้านธงฟ้าประชารัฐที่ทำผิดหลักเกณฑ์

ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 ที่เริ่มโครงการฯ มีกระแสข่าวร้านธงฟ้าประชารัฐทำผิดหลักเกณฑ์มาอย่างเนื่อง ตัวอย่างเช่น

ต.ค. 2560 อธิบดีกรมบัญชีกลางยอมรับว่ามีปัญหาการทุจริต โดยพบร้านค้าในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งยังไม่ได้ติดตั้งเครื่อง EDC แต่มีการติดป้ายหน้าร้านว่าพร้อมรับบัตรสวัสดิการ โดยให้มารับสินค้าออกไปใช้ก่อนได้ในวงเงิน 200-300 บาท และทำการยึดบัตรสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อยไว้ก่อนซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไข ขณะนี้คลังจังหวัดและพาณิชย์จังหวัดได้ลงพื้นที่ไปนำบัตรที่ถูกร้านธงฟ้ายึดคืนมาแล้ว มีทั้งจากร้านใน จ.ลำปาง ที่ยึดบัตรสวัสดิการไว้ 1,000 บัตร และ จ.กำแพงเพชร อีก 500 บัตร นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่ จ.มหาสารคาม มีผู้มีรายได้น้อยเอาบัตรสวัสดิการไปแลกเป็นเงินกับร้านธงฟ้าแต่ไม่เอาสินค้า [7]

พ.ย. 2560 มีรายงานข่าวว่าพบร้านธงฟ้าประชารัฐจัดรวมชุดสินค้าวางขายในร้านราคาชุดละ 200-300 บาท ซึ่งสินค้าบางอย่างที่อยู่ในนั้น ผู้ซื้อไม่ได้ต้องการ [8] ต่อมากระทรวงพาณิชย์เข้าตรวจสอบพบว่ามีร้านค้ากระทำความผิดจริง จึงได้ถอดถอนออกจากการร่วมโครงการแล้วจำนวน 7 แห่ง โดยร้านเหล่านี้ทำผิดเงื่อนไข ทั้งการรวมชุดสินค้า มีการนำเครื่อง EDC ไปใช้ผิดประเภทด้วยการนำเครื่องรูดบัตรไปใช้ในร้านพื้นที่อื่น มีการขายสินค้าราคาเกินกว่าที่กำหนด และบางร้านถูกปรับเพราะไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า [9]

ธ.ค. 2560 สายด่วน 1569 ของกรมการค้าภายใน สรุปว่าตั้งแต่เริ่มโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ ต.ค.-ธ.ค. 2560 มียอดร้องเรียนมายังสายด่วน 1569 จำนวน 243 ราย ส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่องร้านค้าไม่ติดป้ายแสดงราคา จำหน่ายสินค้าราคาแพง [10]

มี.ค. 2561 ในช่วงต้นเดือน กระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าธงฟ้าประชารัฐใน 20 จังหวัด จำนวน 42 แห่ง พบปัญหาตามที่ประชาชนร้องเรียนจริง ส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายสินค้าแพงกว่าท้องตลาด ไม่ปิดป้ายแสดงราคา และอื่นๆ ซึ่งได้ตักเตือนให้ปฏิบัติตามกฎหมายและเงื่อนไขแล้ว อย่างไรก็ตามในจำนวนร้านค้าที่ตรวจสอบได้ยึดคืนเครื่อง EDC จำนวน 2 แห่งใน จ.เพชรบุรี เพราะตรวจสอบพบว่ามีการนำเครื่อง EDC ไปให้บริการนอกพื้นที่และอีกร้านที่ จ.ลำพูน เพราะจำหน่ายสินค้าแพงกว่าท้องตลาด [11] ต่อมาปลายเดือน มี.ค. 2561 กระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการถอนชื่อร้านออกจากทะเบียนร้านธงฟ้าฯ และยึดเครื่อง EDC คืน ซึ่งมีทั้งสมัครใจคืนและถูกยึดคืน รวม 1,000 ราย โดยล่าสุดที่ จ.มุกดาหาร อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นพบว่ามีการรวบรวบบัตรสมาชิกถือว่าเป็นการสมยอมกันระหว่างผู้ถือบัตรกับร้านค้าซึ่งผิดกติกาและต้องถูกถอนชื่อร้านออกจากทะเบียนร้านธงฟ้าฯ และยึดเครื่อง EDC จำนวน 40-50 ราย ส่วนเหตุผลของกลุ่มที่สมัครใจคืน เนื่องจากขาดสภาพคล่อง และเกรงว่าการชำระภาษีจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน [12]

เม.ย. 2561 กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าตรวจสอบใน จ.มุกดาหาร และ จ.เชียงราย พบว่ามีการรวบรวมบัตรจากผู้ถือบัตร มีการจัดของขายรวมชุด บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม และขายราคาสูงกว่าร้านอื่น [13]

พ.ค. 2561 กระทรวงการคลังชี้แจงกรณีมีข่าวว่าร้านธงฟ้าประชารัฐจะเรียกเก็บเงินจากการใช้บัตรประชารัฐเพิ่มเติม เนื่องจากทางร้านต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ว่า การเข้าร่วมเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐนั้น ร้านค้าต้องไม่จำหน่ายสินค้าในราคาที่เกินกว่าราคาจำหน่ายปลีกที่กำหนดไว้ ในกรณีที่ร้านค้าได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้านค้าต้องแสดงใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ณ สถานประกอบการในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย และหากร้านค้ายังมิได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในราคาสินค้า ร้านค้าสามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มเติมจากราคาสินค้าที่ยังมิได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในอัตราร้อยละ 7 โดยต้องขายสินค้าในราคาเดียวกันแก่ผู้ซื้อทุกราย รวมถึงมีหน้าที่ในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำภาษีขายที่ตนได้เรียกเก็บ หักภาษีซื้อจากการซื้อสินค้า และนำส่งส่วนต่างให้แก่กรมสรรพากร ดังนั้น ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่จดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มจึงสามารถขอคืนภาษีซื้อจากกรมสรรพากรได้ จึงมิได้เป็นการเพิ่มต้นทุนแต่อย่างใด กรณีร้านธงฟ้าประชารัฐบางแห่งเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมเฉพาะการซื้อจากการใช้บัตรประชารัฐ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) โดยอ้างว่าเป็นการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง และอาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่อง EDC ดังนั้น การติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อรับชำระค่าสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐ จึงมิได้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่ร้านค้า และหากมีการดำเนินการผิดหลักเกณฑ์ตามประกาศกรมการค้าภายในและกรมการค้าภายในเพิกถอนการเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ กรมบัญชีกลางจะเรียกคืนเครื่อง EDC ทันที และจะไม่ให้วางเครื่อง EDC อีกต่อไป [14] ในเดือนเดียวกันนี้ พบร้านธงฟ้าประชารัฐแห่งหนึ่งใน อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ติดป้ายเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 5% โดยทางเจ้าของร้านได้แจ้งว่าเป็นการกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และได้ปลดป้ายลงเรียบร้อยแล้ว [15]

มิ.ย. 2561 มีการร้องเรียนว่าร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ใน จ.ศรีสะเกษ และ จ.นครราชสีมา รับแลกเงินสดคิดค่าบริการ ร้อยละ 20 แทนการซื้อสินค้า [16] และมีกรณีร้านแห่งหนึ่งใน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ถูกร้องเรียนว่าร้านได้อ้างว่าต้องคิดภาษีเพิ่ม 7% เนื่องจากยังไม่ได้คิดเปอร์เซ็นต์ไปในสินค้า [17] เป็นต้น

 

ล่าสุด มติ ครม.เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 ได้ให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาเพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้มากยิ่งขึ้น เช่น การชำระเงินผ่าน QR code เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แล้วให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้องและทั่วถึงด้วย

 

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] ประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (มติคณะรัฐมนตรี, 29/8/2560)
[2] ขออนุมัติเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (มติคณะรัฐมนตรี, 30/1/2561)
[3] ขออนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการวางเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์) (มติคณะรัฐมนตรี, 20/3/2561)

[4] พาณิชย์ ปลื้มคนแห่สมัครร่วมโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐกว่า 15,000 ราย (ไทยโพสต์, 6/7/2561)
[5] กรุงไทยให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐกู้ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ธนาคารกรุงไทย, 12/6/2561)
[6] พาณิชย์จีบ ยูนิลีเวอร์ สหพัฒน์ ผลิตสินค้าราคาถูกป้อนร้านค้าธงฟ้า (ไทยโพสต์, 21/5/2561)
[7] กรมบัญชีกลางยอมรับ พบร้านธงฟ้าทุจริตใช้บัตรคนจน (เดลินิวส์, 6/10/2560)
[8] พาณิชย์รุดสอบร้านประชารัฐเซ็ทชุดขาย หากพบลงดาบทันที (คมชัดลึก, 4/11/2560)
[9] “พาณิชย์”ปลดร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 7 แห่งออกจากโครงการ หลังตรวจพบทำผิดเงื่อนไขจริง (MGR Online, 10/11/2560)
[10] 'อาหาร-เครื่องดื่ม' แชมป์ร้องเรียน 1569 (หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 31 ธ.ค. 2560 - 3 ม.ค. 2561)
[11] ตามถล่มร้านธงฟ้าจอมเอาเปรียบ (ไทยรัฐ, 5/3/2561)
[12] พาณิชย์' ยึดอีดีซีร้านธงฟ้า 1 พันเครื่อง (กรุงเทพธุรกิจ, 24/3/2561)
[13] 'พาณิชย์' เผย 6 เดือนยอดร้านธงฟ้าแตะ 1.9 หมื่นล้าน (กรุงเทพธุรกิจ, 8/4/2561)
[14] ชี้แจงกรณีการเรียกเก็บค่าบริการในการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ข่าวกระทรวงการคลังฉบับที่ 75/2561, กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง, 4/5/2561)
[15] พาณิชย์ไล่ออกร้านธงฟ้าเก็บค่ารูดบัตร (ไทยโพสต์, 4/5/2561)
[16] จับโกง "ร้านธงฟ้า" ใช้บัตรแลกเงินสดหัก 20% (ไทยพีบีเอส, 4/6/2561)
[17] ร้านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรียกเก็บภาษีเพิ่มถึง 7% ทุกครั้งและทุกคน (ร้องเรียนในเว็บไซต์ธงฟ้าประชารัฐ, 2/6/2561)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: รายละเอียดสินค้าที่เข้าโครงการ 'ร้านธงฟ้าประชารัฐ' ณ เดือน ส.ค. 2561

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: