บทปริทัศน์-ธรรมะไม่ใช่พระวินัย-พระวินัยไม่ใช่กฎหมาย

ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์: 27 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2831 ครั้ง


ข่าวสารเกี่ยวกับวงการศาสนา นับว่าเป็นสินค้าที่มีคุณค่าเชิงข่าวไม่น้อย เมื่อเทียบกับข่าวด้านอื่นๆที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อสังคมออนไลน์ และยิ่งถ้าเป็นข่าวคาวด้านลบของวงการศาสนาด้วยแล้ว ยิ่งเป็นที่น่าสนใจของวงการนักค้าข่าวและผู้เสพข่าวอย่างมาก

จากข้อมูลจากเวปไซต์ https://th.wikipedia.org  ปี๒๕๕๗ รายงานตัวเลขประชากรไทยที่นับถือศาสนาพุทธ พบว่ามีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ ๙๔.๖ ตัวเลขนี้สนับสนุนความเชื่อและคำพูดติดปากกันว่า “เมืองไทย เมืองพุทธ” เมืองพุทธแห่งนี้เจริญไปด้วยสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนา วัดวาอาราม ปราสาท ราชวัง ฯลฯ เมื่อพูดถึงชาวพุทธ เราๆท่านๆจะนึกถึงภาพพุทธศาสนิกชนชาวไทยทำบุญใส่บาตรยามเช้า และตามวาระเทศกาลต่างๆ ซึ่งภาพนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการให้-การแบ่งปัน ตามหลักธรรมคำสอนสองศาสนา 

ครั้นพบหรือผ่านพระภิกษุ ชาวพุทธอย่างเราๆก็โน้มตัวก้มกราบแสดงความเคารพ องค์กรพระพุทธศาสนาเติบโตขึ้นมาก มีระบบบริหารงานบุคคลเรียกว่าสังฆาธิการ ซึ่งเปรียบเสมือนข้าราชการในรูปแบบของพระภิกษุ คอยตรวจตรา สอดส่องดูแลพระภิกษุที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาบวชสืบทอดพระพุทธศาสนา สมนามเมืองพุทธ

แต่เมื่อเจาะลึกเข้าไปดูความคิดเห็นต่อเรื่องราวของพระภิกษุมีเสพเมถุน พระภิกษุจับเงิน พระภิกษุเข้าห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ที่อยู่ในกระแสสังคมที่กำลังตกเป็นข่าว กลับพบว่าชาวพุทธส่วนหนึ่ง กำลังเป็นแมงมุมที่ติดสายใยที่ตนสร้างขึ้น สายใยที่ใช้ดักจับเหยื่อกำลังพันรัดตนเอง สายใยนั้นก็คือกับดักความคิด มายาคติทำให้มองพระภิกษุที่มีชีวิตอยู่จริง พระภิกษุดำเนินชีวิตไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ต้องกลายเป็นชีวิตที่ถูกเขียนไว้ในตำราที่เลียนจากการท่องจำ ว่าภิกษุต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ เพราะตำราเขียนไว้อย่างนั้น ตราไว้อย่างนี้ และหากพระภิกษุไม่เป็นไปตามตำราก็จะประณาม ตีตรา ต่างๆ นานา เช่น มารศาสนา พระปลอม จอมลวงโลก ฯลฯ

จากการติดตามอ่านความคิดเห็นจากผู้ที่ใช้ภาษาเขียนด้วยภาษาไทยตาม website ต่างๆ หรือแม้กระทั่ง facebook พบการความคิดเห็นต่อข่าวพระภิกษุมีเมีย พระเดินห้าง พระจับเงิน ฯลฯ นั้นเต็มไปด้วยการคุกคาม คำเหยียดหยาม ประณาม ถึงขั้นเสนอให้เอาพระวินัยมาบังคับใช้เป็นกฎหมายเพื่อเอาผิดกับพระภิกษุผู้กระทำผิดพระวินัยกันเลยทีเดียว

ในความเป็นพุทธโดยสัญลักษณ์ของชาวพุทธบางส่วนและอาจจะรวมถึงพระภิกษุด้วยกัน ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพระวินัย เอาตั้งแต่การอ่านคัมภีร์ให้เข้าใจ แยกพระวินัยกับธรรมะออกจากกันก็ยังไม่เข้าใจ 

สิ่งที่ผู้เขียนจะอธิบายต่อไปนี้คือ พระวินัยไม่ใช่ธรรมะ พระวินัยเปลี่ยนแปลงได้ตามกาล พระวินัยเป็นเรื่องของวิธีการ เป็นการจัดการกับเนื้อตัว ร่างกาย การเป็นอยู่ในสังคมตามวิถีการดำเนินชีวิตบนความรู้เท่าทันในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจริง ตามบริบททางสังคม ไม่ว่าจะเป็นจารีต วัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิอากาศ ระบบความคิด เศรษฐกิจ ฯลฯ  พระวินัยของพระจึงไม่ได้มีลักษณะที่เป็นเหมือนกับกฎหมายที่ใช้บังคับควบคุม ไม่ได้ใช้การลงโทษให้เจ็บและหลาบจำ แต่พระวินัยของพระใช้บนฐานของการรู้เหตุ ยอมรับผลและปฏิบัติตาม

กล่าวคือตามวิธีคิดของพุทธะ ท่านไม่ได้ห้าม แต่ให้ “ต้อง” ตัวอย่างคือ ไม่ได้ห้ามพระมีเมีย ไม่ได้ห้ามพระเสพเมถุน แต่หากพระท่านใดมีเมียหรือเสพเมถุนนั้นก็สามารถทำได้ มีเมียได้ แต่เมื่อกระทำจนตกเป็นผัวเมีย จนสมเจตนาก่อนการกระทำแล้ว ภิกษุนั้น “ต้องอาบัติปาราชิก” คือต้องยินยอมขาดจากความเป็นพระโดยการกล่าวอธิฐานจิต มันก็จบแค่นั้น มันไม่ใช่จะเอาพระวินัยมาไล่ล่าคุกคามให้ต้องถูกจองจำ ไม่ใช่จะเอามาล่าประจานให้กลายเป็นความต่ำทราม ด้วยวิธีคิดในทางเบียดเบียนให้เจ็บให้หลาบจำอะไรเทือกนั้น

แม้ตำราทางพระพุทธศาสนาก็ได้บันทึกไว้ว่าในขณะพระพุทธเจ้าปรินิพานนั้น ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า  "สิกขาบทข้อใดที่เห็นว่า เล็กน้อยให้หมู่สงฆ์ยกเว้นได้" ทั้งนี้ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง ยังได้ยืนยันแนวคิดที่ว่า พระวินัยไม่เป็นอะกาลิโก[1] ทาง Facebook fanpage พร้อมอธิบายความว่าพระวินัยเปลี่ยนแปลงไปตามกาล ยุค สมัย สังคม เมื่อพิจารณาบัญญัติพระวินัยก็ยังพบบัญญัติที่ว่าเมื่อปลงอาบัติตกแล้ว ห้ามมิให้ภิกษุใดขุดคุ้ยขึ้นมาอีก[2] หากล่วงละเมิด ภิกษุผู้ขุดคุ้ยนั้นก็ต้องอาบัติ 

จากเรื่องราวในส่วนของการแสดงความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ดังที่ยกมาข้างต้นที่ปรากฏบนสื่อต่างๆ ทำให้เพ่งเห็นว่าชาวพุทธทั้งพระภิกษุและฆราวาสยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจในธรรม ไม่เข้าใจในพระวินัยนั้นมีอยู่จริง ซึ่งพอขนานนามตนเป็นคนมีธรรมะตามบัตรประชาชนได้ ก็เอากติกามนุษย์ที่มีพัฒนาการจากสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์มา ใช้กำกับพฤติกรรมมนุษย์ วิธีการที่ใช้กับสัตว์ก็คือ การกระทำโดยสัญลักษณ์ให้เกิดความรู้สึก เจ็บกาย เจ็บใจ ให้หลาบจำโดยไม่ต้องมีความเข้าอกเข้าใจ เป็นวิธีที่มักจะคิดขึ้นจากผู้มีอำนาจปกครองเพื่อใช้กับคนอื่น และไม่ใช่วิธีคิดที่จะใช้กับตนเอง 

นั่นไม่ใช่วิธีการที่ส่งเสริมให้เกิดการรู้ เมื่อไม่เกิดการรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการนั้นๆที่จะนำมาใช้กับภิกษุผู้เรียนรู้โลกภายในตนเอง เรียนรู้ทางพระพุทธศาสนาจึงไม่สมควรเกี่ยวข้อง ไม่เชื่อมโยงกับคำว่าพุทธ เพราะ ความหมายของคำว่าพุทธ คือ การรู้ ผู้รู้ รู้เหตุ รู้สถานการณ์ รู้ปัจจัย รู้ผล และยอมรับผลที่เกิดจากเจตนาเป็นที่ตั้ง

 


 

 

[1] https://web.facebook.com/PhramahaPaiwan/posts/1566478613618774:0?_rdc=1&_rdr  ๑๕เมษายน๒๕๕๘

[2] สังฆเภทสิกขาบท

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: terimakasih0(CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: