นั่งอ่านข่าวที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า กองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ สั่งระงับการฉายภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 โดยให้เหตุผลว่ามีฉากที่พระร้องไห้หน้าโรงศพของหญิงสาวคนรักว่า "อยู่ในผ้าเหลือง มันมีความไม่สำรวม" แล้วก็น่าแปลกใจ ว่าการร้องไห้ ผ้าเหลือง และความไม่สำรวมมันเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร
ทันทีที่พระพุทธเจ้าประกาศปลงอายุสังขาร (กำหนดวันปรินิพพาน) และเมื่อใกล้ถึงวันที่พระพุทธเจ้าต้องปรินิพพาน พระอานนท์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพหูสูตแห่งยุค รู้ธรรมะของพุทธเจ้ามากกว่าใคร กลับแอบไปร้องไห้ใต้ต้นไม้ มีการบรรยายถึงท่าทางว่าถึงกับต้องเหนี่ยวกิ่งไม้ไว้ขณะร้องไห้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกหาแล้วกล่าวย้ำถึงการที่คนเราต้องพลัดพรากเป็นธรรมดา
ในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพาพาน มีการบรรยายถึงบรรยากาศโศกเศร้าของจักรวาลไว้ว่า หมู่เทวดา พรหม ตลอดถึงพระภิกษุที่ยังเป็นปุถุชน ต่างร้องไห้ระงม ส่วนผู้ที่บรรลุธรรมแล้วก็ยังอดปลงสังเวชไม่ได้ ผืนแผ่นดินสั่นสะเทือน กัมปนาท
พระพุทธเจ้าสั่งสอนให้คนรู้จัก ‘ทุกข์’ มานานกว่า 45 ปี แต่เมื่อท่านปรินิพพาน เหตุใดพุทธบริษัทจึงก่อให้เกิดความโศกเศร้าได้มากถึงเพียงนี้ ไม่เป็นอันว่าที่สอนมา 45 ปีสูญเปล่าอย่างนั้นหรือ
พระรูปหนึ่งแอบรักหญิงชาวบ้าน เก็บอาหารที่เธอใส่บาตไว้จนเน่า ไม่ยอมล้างบาตร วันหนึ่งได้ยินข่าวว่าเธอเสียชีวิต ก็โศกเสียใจ ต่อเมื่อพุทธเจ้าชี้เห็นถึงความไม่แน่นอนของสังขาร เขาจึงบรรลุธรรม
นางกีสาโคตมี สูญเสียลูกน้อยอันเป็นที่รักวัยเพียงสามขวบ ร้องห่มร้องไห้ไปทั่วพระนคร เที่ยวหาหมอมารักษาลูกให้ฟื้นจากความตาย จนชาวเมืองเอือมระอา จนมาเจอพระพุทธเจ้า ท่านออกอุบายว่า “เมล็ดถั่วเขียว” จากบ้านที่ไม่เคยมีคนตายมาก่อน สามารถรักษาลูกของนางได้ นางจึงเที่ยวตามเมล็ดทั่วจนทั่วพระนคร แต่กลับพบว่า ไม่มีบ้านไหนเลยที่ไม่เคยมีคนตาย นางเข้าถึงสัจธรรมว่า ไม่ใช่นางคนเดียวที่สูญเสีย ทุกคนล้วนพลัดพรากของที่ตนเองรัก นางจึงบรรลุธรรม
นางปฏาจารา สูญเสียสามีและลูกน้อยสองคนระหว่างเดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่ สามีถูกงูกัดตายระหว่างทาง เมื่อพาลูกมาถึงแม่น้ำ เธออุ้มลูกลงไปพร้อมกันไม่ไหว เพราะหนัก และสายน้ำเชี่ยวจากฝนตกทั้งคืน เธอจำเป็นต้องอุ้มลูกข้ามแม่น้ำไปทีละคน หลังจากเธอวางลูกคนเล็กที่เพิ่งคลอดได้ไม่นานไว้ที่ฝั่งน้ำ ระหว่างที่กำลังจะข้ามมารับลูกอีกคนวัยกำลังคลาน ลูกเห็นเธอยกมือขึ้นจึงนึกว่าเธอเรียก เดินลงน้ำมาถูกน้ำพัดจนเสียชีวิต ขณะที่เธอลูกคนเล็กของเธอที่เพิ่งเกิดได้ไม่กี่วันถูกเหยี่ยวบินโฉบลงมาคาบไปเพราะคิดว่าเป็นชิ้นเนื้อ ยังไม่ทันที่จะปาดน้ำตา ทันทีที่ขึ้นฝั่งไปบ้าน ภาพที่พบเบื้องหน้าคือบ้านของพ่อกับแม่ถูกไฟไหม้ทั้งหลังตายยกครัว
ความสูญเสียในช่วงเวลาไม่ห่างกันทำให้เธอเสียสัมปชัญญะ เพราะความเป็นมนุษย์มันเกินแบกรับความเศร้านี้ได้ เธอกลายเป็นหญิงบ้า เดินไปทั่วพระนคร จนโพล่ไปในที่ที่พระพุทธเจ้ากำลังเทศน์ ร้องห่มร้องไห้ เสื้อผ้าหลุดลุ่ย “ชาวพุทธที่ดี” พยายามกันนางออกไปเพราะมองว่ามีกิริยาที่ไม่เหมาะสมต่อหน้าพระพักตร์ขององค์ศาสดา พระพุทธเจ้าสั่งห้ามไม่ให้ใครกีดกันเธอ พร้อมกับร้องเรียกเธอด้วยถ้อยคำห่วงใยว่า “มาเถิดน้องหญิง” ด้วยคำปลอบโยนเพียงแผ่วเบานี้ ทำให้สัมปชัญญะของเธอกลับคืน พุทธะชี้ให้เห็นถึงธรรมดาของการพลัดพราก เธอบรรลุธรรม
นี่ยังไม่นับว่าประชาชนและพระภิกษุอีกมากที่นั่งฟังการเทศน์พวกนี้แล้วบรรลุธรรมพร้อมกันอีกเป็นหมื่นเป็นแสน
ดังนั้นหากถามว่าพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระสูตรบันทึกเรื่องราวอะไรไว้มากที่สุด คำตอบก็คือมันเป็นบันทึกเรื่องราวของความเศร้าโศก ผิดหวัง ของมนุษย์เฉกเช่นเราไว้มากที่สุด
พระพุทธเจ้ามักให้สาวกของพระองค์พานพบกับความสะเทือนใจ ความทุกข์ความโศก ทั้งจากตัวเองหรือจากเรื่องราวของคนอื่นที่ได้ฟัง เพราะนั่นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะแสดงให้เห็นความจริงข้อแรกที่พระองค์ทรงค้นพบเทวทูตทั้ง 4 (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) พระองค์ได้เข้าถึง “ทุกขสัจ” เป็นอันดับแรก
ใจความสำคัญของ “ทุกขสัจ” ที่พระองค์พบ ไม่ใช่เรื่องของความเศร้าโศกเสียใจซะดีเดียว แต่มันหลายถึง “สภาวะที่ตัวมันเองไม่สามารถทนอยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง” เนื่องจากมันไม่เที่ยง (อนิจจา) และมันไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวเราหรือของเรา สภาพอันเป็นทุกข์ทั้งหมดเกิดจากตรงนี้ เกิดจากความคิดที่ว่าเรามีตัวตน ความคิดที่ว่านั่นเป็นของเรา มาปะทะกับความเปลี่ยนแปลง มาปะทะกับความไม่มั่นคง ก่อให้เกิดความโศก คร่ำครวญเมื่อต้องผลัดพรากจากสิ่งนั้น ๆ
ในนิยามของพุทธเจ้า “ทุกข์” ไม่ใช่สิ่งที่ควรปกปิด ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม แต่ “ทุกข์” เป็นสิ่งที่ควรเปิดเผยออกมา เป็นสิ่งที่ควรทำให้เห็น ท่านใช้คำว่า “ควรกำหนดให้รู้” เพราะมันเป็นประตูที่ทำให้เราเห็นถึงความจริงเบื้องต้นของธรรมดาโลก หากปราศจากการเข้าถึงความจริงข้อนี้ หรือความจริงข้อนี้ถูกบิดเบือน ปิดกั้น เราจะไม่มีทางรู้สาเหตุของทุกข์ (ที่ควรละ) การดับทุกข์ (ที่ควรทำให้แจ้ง) และหนทางสู่การดับทุกข์ (ที่ควรทำให้เจริญ) ได้เลย
การเปิดเผยให้เห็นความทุกข์ จึงสัมพันธ์กับการกำหนดรู้ปัญหา และการแก้ปัญหาตามลำดับ
เทียบได้กับความทุกข์ทางสังคมการเมืองเช่นกัน การปิดกั้น เก็บกดความทุกข์ของสังคม ไม่ให้ประชาชน “กำหนดรู้” ได้ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่ผู้ปกครองจะไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อความทุกข์นั้น ปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าถึง สาเหตุของปัญหานั้นที่ควรละ นั่นจึงทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไข ไม่มีแนวทางการแก้ไข
พูดให้ชัดลงกว่านั้น “ความทุกข์” มีพลังของการเปลี่ยนแปลงสูงมากกว่าความสุข (ซึ่งในนิยามของพุทธเจ้าไม่มีความสุขที่แท้จริง มีเพียงการดับทุกข์) สังคมที่มีทุกข์มากสะท้อนถึงว่าผู้นำเริ่มขาดความชอบธรรมในการปกครอง การเปิดเผยความทุกข์ของสังคมจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไหน ๆ ก็ไม่อยากทำ
ความสุข ความสงบ ความราบรื่น ความต่อเนื่อง ความชินชา ความเคยชิน จึงเป็นสิ่งประดิษฐกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งขององค์กรทางสังคม และรวมถึงรัฐชาติสมัยใหม่ เป็นสิ่งประกอบสร้าง (สังขารธรรม หรือ constructed) เป็นมายาคติเพื่อตรึงรัดผู้คนไว้ ไม่ให้อยากเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงพยายามอย่างมากที่จะเก็บกดปิดกั้น “สภาวะที่ตัวมันเองไม่สามารถทนอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง” ด้วยการสร้างภาพของความสุข สงบ ไม่วุ่นวาย ไม่เรียบร้อย ให้เป็นสิ่งถวิลหาของสังคม และลวงล่อให้เราคิดว่าสภาวะนั้นมันมีอยู่จริง
คล้ายกับที่พระพุทธเจ้าบอกว่า "อิริยาบถ” เป็นเครื่องปิดบังลักษณะของทุกข์ อิริยาบถคือกิริยาอาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา จนเราไม่ได้รู้สึกว่ามีการบีบคั้นอะไรมากนักที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เช่น เมื่อเราเป็นทุกข์กับการยืน เราก็เปลี่ยนอิริยาบถมาเป็นนั่ง เป็นสิ่งที่เราทำมันทุกวันจนชิน ร่างกายเราใช้อิริยาบถเป็นตัวปกปิดความทุกข์ของกายสังขารฉันใด สังคมการเมืองก็มักอ้างความราบรื่น ความสงบ เพื่อปกปิดความทุกข์ของสังคม ประหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมไม่ได้มีอะไรบีบคั้นจนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เรารู้สึกว่า มันสามารถทนสภาพอยู่ได้ สภาพที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้แย่อะไร พร้อม ๆ กับการไล่จำกัดและกำจัดสิ่งใด ๆ ก็ตามที่จะมาทำให้ความราบเรียบสงบนั้นถูกรบกวน
เหตุการณ์อย่างการเซ็นเซอร์ฉากต่าง ๆ ในหนังที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและ/หรือเหตุการณ์การเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะปกปิด ปิดกั้น ไม่ให้ผู้คนในสังคม “กำหนดรู้” ปัญหาของตัวเราเอง
สาวกของพุทธะเจ้าที่ปรารถนาจะปกปิดความทุกข์ของพุทธเจ้าดังนี้เสียแล้ว สังคมที่ปรารถนาจะปิดกั้นความทุกข์ของผู้คนดังนี้เสียแล้ว จึงยากจะเข้าถึงการดับทุกข์ได้
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Thibaan Channel
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ