เตรียมแก้กฎเปิดกว้างให้ รพ.เอกชน เชิญที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามาได้

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 5184 ครั้ง

เตรียมแก้กฎเปิดกว้างให้ รพ.เอกชน เชิญที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามาได้

ที่ปรึกษาแพทยสภาเผยแพทยสภาอยู่ระหว่างแก้ไขกฎการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการ ซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรมของต่างประเทศ เพื่อเปิดกว้างให้ รพ.เอกชน สามารถเชิญที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามาได้ จากเดิมที่ประกาศนี้กำหนดให้เฉพาะกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ มีอำนาจในการเชิญเท่านั้น ชี้จะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพแพทย์ไทยได้อีกทางหนึ่ง ที่มาภาพประกอบ: corporatewellnessmagazine.com

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2561 ว่าจากจำนวนโรงพยาบาลเอกชนที่กำลังจะเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอีกนับ 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และจะมีจำนวนเตียงเพิ่มในระบบอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 เตียง จากปัจจุบันที่ รพ.เอกชน มีจำนวนเตียงรวมกันมากกว่า 35,000 เตียง ทำให้ความต้องการ “หมอ” มีเพิ่มขึ้น นอกจากการดึงแพทย์ ทั้งจาก รพ.รัฐและ รพ.เอกชนด้วยกันเอง เพื่อรองรับความต้องการการรักษาพยาบาลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น การเสนอแนวคิดการเปิดนำเข้าแพทย์จากต่างประเทศก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชงไอเดียอิมพอร์ตหมอต่างประเทศ

รพ.เอกชนคาดหวัง

แหล่งข่าวจากธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ เปิดเผยว่า จากตลาดเฮลท์แคร์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมี รพ.ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก ทำให้แพทย์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดปัญหาการซื้อตัว การดึงตัวแพทย์ทั้งจาก รพ.รัฐบาลและเอกชนด้วยกันเอง ขณะเดียวกัน กลุ่ม รพ.เอกชนบางกลุ่ม ก็พยายามจะเสนอให้แพทยสภาแก้ไขข้อบังคับ การสอบขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในไทยของแพทย์ต่างชาติ หรือขอนำเข้าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามารักษาโรคเฉพาะทางใน รพ.

ที่ผ่านมา รพ.บางแห่งแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาด ด้วยการนำพยาบาลจากฟิลิปปินส์เข้ามาเป็น conurse ดูแลงานด้านเอกสาร หรือนำแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาเป็นผู้ช่วยแพทย์ แต่ไม่ได้รักษาผู้ป่วยไทย เพราะผิดกฎของแพทยสภา”

แหล่งข่าวจาก รพ.เอกชนรายใหญ่อีกราย ให้มุมมองว่า ที่ผ่านมากลุ่ม รพ.เอกชนพูดคุยถึงการนำเข้าแพทย์ต่างชาติเข้ามานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากแพทยสภา ทำให้สูญเสียโอกาสที่ดี เพราะที่ผ่านมาก็มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่เกษียณอายุแล้ว แต่มีศักยภาพการรักษาที่ดี จะเข้าทำงานใน รพ.เอกชนแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะติดข้อบังคับแพทยสภาที่ต้องใช้ภาษาไทยในการสอบประเมินทักษะและหัตถการทางคลินิก

“รพ.เอกชนอยากจะนำเข้าหมอต่างชาติและสนับสนุนให้ไทยเป็นเมดิคอลฮับอย่างสมบูรณ์ อาจจะเปิดให้นำเข้าหมอต่างชาติมา แต่รักษาเฉพาะคนไข้ในชาตินั้น ๆ เช่น หมอญี่ปุ่น รักษาเฉพาะคนญี่ปุ่น หรือหมอจีน ก็ดูแลเฉพาะคนจีน ซึ่งอาจจะเป็นอีกทางเลือกในการแก้ปัญหานี้”

ตั้งอะคาเดมีเพิ่มทักษะหมอ

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) เครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอาเซียน ให้มุมมองว่า ปัจจุบันคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตบริษัทมีแผนจะสร้างอะคาเดมี ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้วย เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเฮลท์แคร์ในอนาคต เพราะต้องยอมรับว่า ตอนนี้แพทย์ไม่พอ แต่ธุรกิจนี้โตขึ้น ดังนั้นผู้กำกับดูแลองค์กรแพทย์ในแต่ละประเทศของอาเซียนก็ต้องพิจารณาถึงผลดีที่จะเกิดจากการเปิดเสรีด้านบริการทางการแพทย์นี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันแต่ละประเทศก็ยังไม่เปิดเสรีเรื่องนี้มากนัก

ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการด้านบริหาร และผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า รพ.เอกชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนหมอ เกิดการแย่งชิงตัวหมอเก่ง ๆ นอกจากนี้ ธุรกิจโรงพยาบาลก็ยังมีผู้บริหารที่เป็นแพทย์มืออาชีพ ซึ่งจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต สำหรับ รพ.บำรุงราษฎร์ มีจำนวนหมอเพียงพอต่อการรักษา และมีการพัฒนาคุณภาพการรักษาทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการ เช่น นำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยผ่าตัด เพื่อช่วยให้กระบวนการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น

เตรียมไฟเขียว “ผู้เชี่ยวชาญ”

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ในฐานะนายกสมาคมแพทยสภา ระบุว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเข้าแพทย์ต่างชาติ แต่ก็มีแพทย์ต่างชาติเข้ามาในไทยบ้าง ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

อย่างไรก็ตาม แพทย์ต่างชาติจะต้องสอบใบวิชาชีพเวชกรรมของไทยให้ได้ ซึ่งข้อสอบในส่วนที่ 3 ด้านการดูแลคนไข้ก็ต้องใช้ภาษาไทย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการสื่อสารกับคนไข้

“ปัจจุบันหมอไทยเก่งและแพทย์ที่ผลิตได้ในแต่ละปีก็สมดุลต่อการดูแลประชากร หรือเฉลี่ยแพทย์ 1 คนต่อการดูแลประชากร 1,300 คน และมีนโยบายจะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น ให้เป็น แพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน ในปี 2570” ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์กล่าว

จากข้อมูลสถิติของสำนักเลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า ปี 2560 ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมด 57,918 ราย เป็นแพทย์ที่มีชีวิตอยู่ 55,890 ราย เป็นแพทย์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ 26,247 ราย และต่างจังหวัด 26,598 ราย ต่างประเทศ 466 ราย และไม่ทราบที่อยู่ 2,579 ราย

นายแพทย์สมศักดิ์ โล่เลขา ที่ปรึกษาแพทยสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แพทยสภาอยู่ระหว่างแก้ไข เรื่อง การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของทางราชการ ซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรมของต่างประเทศ เพื่อเปิดกว้างให้ รพ.เอกชน สามารถเชิญที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามาได้ จากเดิมที่ประกาศนี้กำหนดให้เฉพาะกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ มีอำนาจในการเชิญเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพแพทย์ไทยได้อีกทางหนึ่ง

“เป้าหมายใหญ่คือเรื่องของการสอนแพทย์มากกว่าการรักษา โดยจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้หมอไทยได้ดีและรวดเร็ว เพราะอย่างน้อยก็ลดเวลาลงได้ จากเดิมที่ต้องส่งแพทย์ไปศึกษาต่างประเทศและต้องใช้ระยะหลายปี แต่ถ้าเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามา จะให้ความรู้แก่แพทย์ไทยได้จำนวนมากในครั้งเดียว และใช้เวลาไม่นาน” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: