ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา พบว่ามีการลักลอบโปรยยาปฏิชีวนะลงกระชังเลี้ยงปลา-กุ้ง ทั้งในบ่อแบบปิดและแหล่งน้ำธรรมชาติ หวั่นเกิดเชื้อดื้อยาในมนุษย์
Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2561 ว่าศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา พบว่า ภาคประมงมีลักลอบใช้ยาปฏิชีวนะ โปรยลงกระชังเลี้ยงปลา กุ้ง ทั้งในบ่อแบบปิดและแหล่งน้ำธรรมชาติ
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวถึงการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมในภาคประมงว่า เท่าที่มีคนแจ้งข่าวมาจากหลายพื้นที่ มีการโปรยยาปฏิชีวนะลงไปในบ่อเลี้ยง หรือแม้แต่ในแม่น้ำที่มีการกั้นไว้เป็นกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องเฝ้าระวังในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม และจะส่งผลกระทบมาสู่คนด้วย โดยหากมีการใช้ต่อไปไม่มีการจัดการเรื่องนี้ ก็จะเสี่ยงทำให้เกิดเชื้อดื้อยา และเมื่อคนติดเชื้อแบคทีเรียก็จะไม่มียารักษา จากที่ติดเชื้อง่ายแล้วใช้ยาปฏิชีวนะรักษาได้ก็อาจจะรักษาไม่หายอีก
“เกษตรกรบางส่วนอ้างว่าใช้เพื่อป้องกันโรคให้สัตว์ แต่เรื่องที่น่าห่วง คือ งานวิจัยชี้ชัดว่า อัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ในอีก 30 ปี คนจะเสียชีวิต 10 ล้านคนต่อปี ถ้าไม่ทำอะไรที่เข้มข้นมากกว่านี้”
ส่วนข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชนั้น ต้องเร่งกระตุ้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเฝ้าระวัง ซึ่งล่าสุด มีงานวิจัยจำนวนมากในประเทศจีน พบว่าการเลี้ยงในฟาร์มหมูนำไปสู่สารพันธุกรรมดื้อยาที่รุนแรงและเป็นชนิดข้ามสายพันธุ์ได้เป็นครั้งแรกของโลก จึงมีการทุ่มให้ความสำคัญกับการป้องกันในสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก
ขณะที่ในยุโรปมีการประกาศจะลดใช้ยาปฏิชีวนะให้มากที่สุด และฟาร์มบางแห่งกำลังจะเลิกใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนสหรัฐอเมริกายังผ่อนเรื่องนี้อยู่มาก เว้นรัฐแคลิฟอร์เนียที่มี กฎระเบียบเข้มข้นในเรื่องนี้ โดยประกาศว่าจะไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์
ด้านนายสุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการพบการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้มทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางเพื่อรักษาโรคว่า เรื่องนี้ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบแล้ว อีกทั้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ที่มีสวนส้มและพบปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะนี้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วย เนื่องจากปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่ต้องร่วมกันแก้ไข
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ