ฟังเสียงอันหลากหลายของ ‘ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย’ จาก ‘โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่’ กฟผ.เรียกร้องประชาชนในพื้นที่เสียสละ บริษัททำ EHIA ย้ำคนติดภาพถ่านหินแบบเดิมๆ ผู้ประกอบการท้องถิ่นกลัวสูญเสียรายได้เพราะท่องเที่ยวกระบี่สร้างรายได้ปีละกว่า 6 หมื่นล้าน นักการเมืองระดับชาติตบเท้าค้านถ่านหิน-นักการเมืองท้องถิ่นเสียงแตก เอ็นจีโอห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม-การมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกละเลย ประชาชนเห็นต่าง ฝ่ายไม่เอาถ่านหินกลัวกระทบรายได้ ฝ่ายเอาถ่านหินกลัวต้องใช้ตะเกียง
‘โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่’ เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นในระบบไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นให้เพียงพอสำหรับอนาคต 20 ปี ตาม ‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย’ (Power Development Plan) ที่เราเรียกกันติดปากว่าแผน PDP โครงการนี้ได้รับการผลักดันมาตั้งแต่ปี 2553 ผ่านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึงรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแต่งชาติ (คสช.) (อ่านเพิ่มเติม .. ไทม์ไลน์: โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ยุครัฐบาล 'อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์-คสช.')
ทั้งนี้โรงไฟฟ้ากระบี่ที่จะใช้เชื้อเพลิงจาก ‘ถ่านหิน’ ในด้านหนึ่งดูเหมือนจะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศโดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และมีธุรกิจภาคบริการมากมาย แต่กระนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่กลับสร้างความสับสนและสร้างความขัดแย้ง หรือกล่าวง่าย ๆ คือเกิดปรากฏการณ์ ‘เสียงแตก’ ของกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้าน ซึ่งในรายงานพิเศษชิ้นนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจ ‘ความคิดเห็น’ ของกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็น ‘ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย’ ต่อโครงการนี้
กฟผ.เรียกร้องประชาชนในพื้นที่เสียสละ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้ที่สำคัญในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดย กฟผ. มองว่าหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะสามารถช่วยประเทศชาติได้อีกทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ต้องกลัวว่าไฟจะดับ รวมถึงช่วยด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม นอกจากนี้จะเป็นการสร้างงานให้แก่บุคลากรของ กฟผ.และลูกหลานคนกระบี่อย่างมากมายอีกด้วย
ผู้เขียนได้ทำการสัมภาษณ์วิศวกรระดับ 10 ของ กฟผ. รายหนึ่งเมื่อเดือน เม.ย. 2561 วิศวกรรายนี้ได้ให้เหตุผลสนับสนุนโรงไฟฟ้าว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงทางพลังงาน และการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่หลากหลายไม่ผูกขาดที่เชื้อเพลิงใดเชื้อเพลิงหนึ่ง, เรื่องราคาค่าไฟ ที่ กฟผ.จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะในเรื่องค่าไฟฟ้า ซึ่งเขามองว่าเชื้อเพลิงจากถ่านหินจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าไม่สูงเกินไป แต่พลังงานอื่น ๆ อาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อมวิศวกรรายนี้มองว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นประสบการณ์จากเทคโนโลยีในอดีต “โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดในปัจจุบันมันไม่เหมือนกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อ 40 ปีก่อน กฟผ.มั่นใจในเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีการพัฒนาไปมากแล้ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ดักกรองหลายอย่างมาก อยากให้ประชาชนมั่นใจในเทคโนโลยีนี้” วิศวกรรายนี้ระบุ
ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงต้องเป็นที่ จ.กระบี่ วิศวกรรายนี้ระบุว่าเพราะ กฟผ. มีทั้งท่าเรือและพื้นที่ของโรงไฟฟ้าซึ่งก็เคยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมาแล้วตั้งแต่การเริ่มเดินเครื่องครั้งแรกปี 2507 แต่ปิดตัวลงไปแล้ว แม้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อาจผลกระทบบ้าง แต่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต้อง ‘เสียสละ’ โดยควรมองคือผลประโยชน์ประเทศชาติ ไม่ใช่ประโยชน์ของกลุ่มคนเล็ก ๆ ในพื้นที่ และที่สำคัญหากประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ กฟผ.จะมีการชดเชยทั้งกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าซึ่งมีเม็ดเงินสูงมาก ในระหว่างการก่อสร้างเม็ดเงินเข้าสู่กองทุนฯ จำนวน 40 ล้านบาทในทุกๆ ปี (อ่านเพิ่มเติม: กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า) และเมื่อโรงไฟฟ้าสร้างแล้วเสร็จในแต่ละปีจะมีเงินเข้าสู่กองทุนฯ จำนวนสูงถึง 120 ล้านบาท และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้บริหารกองทุนฯ นั้นเอง นอกจากกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าแล้ว กฟผ.ยังมีงบประมานด้าน CSR ที่สนับสนุนกิจกรรมของประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอในแต่ละปีจำนวน 4 ล้านบาท
บริษัททำ EHIA ย้ำคนติดภาพถ่านหินแบบเดิมๆ
ผู้เขียนได้สัมภาษณ์นักวิชาการรายหนึ่งที่เป็นคณะกรรมการบริษัทจัดทำผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ท่าเทียบเรือบ้านครองรั้ว (ที่ถูกนายกรัฐมนตรีสั่งยกเลิกเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2560) โดยนักวิชาการรายนี้มองว่าในกระบวนการการจัดทำ EIA/EHIA ไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้ง กฟผ.และบริษัทที่จัดทำ EIA/EHIA ทำตามกระบวนการและกรอบต่างๆ ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้กำหนด ซึ่งกรอบการดำเนินการ EIA/EHIA ของ สผ. นั้นเป็นกรอบที่เข้มงวด รัดกุม ละเอียด และชัดเจนมากแต่บริษัทก็ได้ทำตามกรอบอย่างเคร่งครัดมาก ดังนั้นอยากให้ประชาชนมีความมั่นใจในกระบวนการจัดทำ EIA/EHIA นักวิชาการรายนี้ได้เน้นย้ำถึงเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ว่าเป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ มีความก้าวหน้าอย่างมาก และการคัดค้านของประชาชนเป็นเพราะประชาชน ‘ติดภาพ’ โรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเดิม ๆ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันไปไกลมากแล้ว และ กฟผ.ก็มีการพัฒนา เพิ่มเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ และนอกจากปัญหาเรื่องการติดภาพเดิม ๆ ของประชาชนแล้วในเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยเฉพาะการจัดทำ EIA/EHIA มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับประชาชน ที่มีการสื่อสารและเรื่องเวลาการรับรู้ของประชาชนที่น้อยเกินไป กล่าวคือประชาชนยังไม่ตกผลึกในเรื่องเหล่านี้
เมื่อถามถึงประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าในความเป็นจริง EIA/EHIA จะต้องให้คำตอบว่าต้องสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้า เป็นเหมือนข้อมูลประกอบการตัดสินใจทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย ความเหมาะสมทางวิศวกรรม และประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่กรณี EIA/EHIA ของโรงไฟฟ้ากระบี่ถูกมองว่าเป็นการจัดทำเพื่อเป็น ‘ใบอนุญาตให้สร้างได้’ คือมีการพูดถึงแต่ข้อดีของการสร้างและข้อมูลขาดตกบกพร่องหลายอย่าง นักวิชาการรายนี้ตอบว่าการทำ EIA/EHIA มีเรื่อง ‘วิชาชีพ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงการจะทำหน้าที่นี้ได้ต้องเกี่ยวข้องกับใบอนุญาตการทำงาน ซึ่งนักวิชาการจะไม่เสี่ยงที่จะเอาใบอนุญาตและเอาวิชาชีพของตนไปเสี่ยงกับการบิดพลิ้วในการจัดทำ EIA/EHIA แต่กระนั้นนักวิชาการรายนี้ก็ได้ยอมรับว่าใน EIA/EHIA ที่ผ่านมามีจุดที่ได้รับคำท้วงติง ซึ่งอาจมีส่วนที่ข้อมูลขาดหายหรือไม่เพียงพอแต่ยังไม่ได้แก้ไขก็ถูกยกเลิกไปก่อน
ในประเด็นสุดท้ายคือการเรื่องการตั้ง คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้นั้น นักวิชาการรายนี้ได้กล่าวว่าการมี ‘ขั้นตอนใหม่’ เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะสังคมจะได้เห็นภาพรวม ศักยภาพของพื้นที่ว่าจุดไหนที่ควรหรือเหมาะสมต่อการสร้างโรงไฟฟ้า ในอดีตขั้นตอนนี้ยังไม่ถูกกำหนดขึ้น แต่เมื่อถูกกำหนดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดี โดยมองว่าการที่รัฐตั้งคณะกรรมการ SEA เป็นการ ‘ถอย’ และ ‘ลดแรงกดดัน’ เพื่อสร้างการยอมรับของประชาชน
ผู้ประกอบการกลัวสูญเสียรายได้ท่องเที่ยวกระบี่ ปีละกว่า 6 หมื่นล้าน
นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานหอการค้าภาคใต้ ได้ระบุไว้ว่าจากการศึกษาสถานการณ์ความคุ้มค่าของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐบาลอ้างเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการความคุ้มค่าของพลังงานนั้นเป็นเรื่องไม่จริง เพราะที่ผ่านมา จ.กระบี่ นั้นมีรายได้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ดีกว่าภาคอื่น ๆ อยู่แล้ว คือประชากร จ.กระบี่ มี GDP ประมาณ 10.7 ของประเทศไทย โดยรายได้ส่วนมากมาจากการท่องเที่ยว ประมงพื้นบ้าน และเกษตรอื่น ๆ อาทิ สวนปาล์ม สวนยาง ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวในอันดามัน ปี 2556 มีรายได้อยู่ที่ 3.28 แสนล้านบาท โดยที่ จ.กระบี่ มีรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2556 อยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่าในปี 2560 จ.กระบี่ มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 62,292 ล้านบาท) ทั้งนี้ จ.กระบี่ เป็นจังหวัดที่สร้างรายได้หลักทางการท่องเที่ยวแก่ภาคใต้จังหวัด ดังนั้นจึงควรสนับสนุนให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องแต่ต้องมีเงื่อนไขคือเน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (อ่านเพิ่มเติม: หอการค้าใต้-สภาท่องเที่ยวร่วมต้านโรงไฟฟ้ากระบี่ ผนึกกำลัง 13 องค์กรสนับสนุนการคัดค้าน ชี้ทิศทางพัฒนาอันดามันต้องมุ่ง “Go Green”, สำนักข่าวชายขอบ, 29/6/2558) ต่อมาเมื่อเดือน มี.ค. 2561 องค์กรเอกชนใน จ.กระบี่ 21 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์และส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีพลังงาน ให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่เห็นควรให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวควบคู่กับพลังงานหมุนเวียนจะนำไปสู่การเติบโต ความยั่งยืน ได้มากกว่า (อ่านเพิ่มเติม: 21 องค์กรภาคเอกชนส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน)
ผู้เขียนได้สัมภาษณ์เจ้าของโรงแรมรายหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในจังหวัดกระบี่ ซึ่งได้เข้าร่วมการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งแต่วันแรกที่มีการชุมนุมจนถึงวันที่รัฐมนตรีลงนามใน MOU พร้อมทั้งเคยสนับสนุนเงินสำหรับการต่อสู้ของกลุ่มประชาชนที่คัดค้านถ่านหิน ทั้งค่าเดินทางและค่าอาหารหลาย ๆ ครั้ง
“ตอนดูข่าวเรานั่งคิดว่าช่วงเรื่องเงินอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว เราต้องพาครอบครัวไป(ชุมนุมประท้วง)ด้วย เพราะหลายฝ่ายมักจะใส่ร้ายว่าประชาชนรับเงินมาต้านถ่านหิน อยากเป็นผู้ยืนยันว่าเจ้าของโงแรมก็มาต้านถ่านหิน หากจะจ้างต้องวันละ 1 แสนบาทถึงจะจ้างได้ นอกจากนี้เจ้าของโรงแรมอื่น ๆ ช่วงกันสนับสนุนเงินเยอะมาก ในแถบนี้ประมาณ 22-23 โรมแรม นี้คือโรงแรมขนาดย่อมนะ จำนวนเงินที่ได้แต่ละครั้งที่มีการเรี่ยไรได้อย่างน้อย ๆ คือ 3 แสนบาทเป็นอย่างน้อย” เจ้าของโรงแรมรายนี้ระบุ
เจ้าของโรงแรมรายนี้บอกว่าเหตุผลที่คัดค้านเพราะว่า จ.กระบี่ เป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี นักท่องเที่ยวเข้ามาเพราะความสวยงามของธรรมชาติ “เรื่องภาพลักษณ์นี้สำคัญมากที่สุด สนามบินกระบี่มีเครื่องบินตรงจากฟินแลนด์ จากสวีเดน จากยุโรปทุกวัน คนในประเทศเหล่านี้เขาฉลาด เขารู้ว่าอะไร ‘สะอาด’ อะไร ‘สกปรก’ หากกระบี่สกปรกมั่นใจแค่ไหนที่เขาจะมาอีก” เจ้าของโรงแรมรายนี้กล่าว
นักการเมืองระดับชาติตบเท้าค้านถ่านหิน-นักการเมืองท้องถิ่นเสียงแตก
'กิตติชัย เอ่งฉ้วน' (ซ้าย) และ 'สฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง' (ขวา) 2 รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ (อบจ.กระบี่) ที่มีทัศนะต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่แตกต่างกัน ที่มาภาพจาก: มติชนออนไลน์ และ 77kaoded
ในประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเราได้เห็นบทบาทของนักการเมืองที่หลากหลายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเจ้าของพื้นที่ทางการเมือง อย่างพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายกรณ์ จาติกวณิช เคยนั่งโต๊ะแถลงคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งหัวหน้าและรองหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอให้ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นผลิตไฟฟ้าแทนถ่านหิน (อ่านเพิ่มเติม: “อภิสิทธิ์-กรณ์” แถลง แนะ รบ.เปลี่ยนโรงไฟฟ้า ใช้แอลเอ็นจี-น้ำมันปาล์มแทนถ่านหิน) อย่างไรก็ตามพบว่านักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในระดับหัวหน้าและรองหน้าพรรคเท่านั้นที่ออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ก็ไม่เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เลย
แตกต่างจากนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ จ.กระบี่ ตัวอย่างเช่นนายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ (อบจ.กระบี่) ที่ออกตัวค้านถ่านหินตั้งแต่มีข่าวช่วงแรก ๆ อาจเป็นเพราะบ้านที่นายกิตติชัยเติบโตมานั้น ‘อยู่ใต้ปล่องไฟ’ ของ กฟผ. โดยบ้านเกิดของเขาคือ ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งอยู่พื้นที่ติดกับโรงไฟฟ้ากระบี่ นอกจากรองนายก อบจ. คนนี้จะคัดค้านโครงการนี้อย่างสุดตัวแล้ว ครอบครัวของเขาก็ล้วนแต่คัดค้านโครงการนี้ ซึ่งกลุ่ม ‘พิทักษ์ปกาสัย’ ในพื้นที่นี้ก็เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงทำข้อมูลประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้คนออกมาต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กิตติชัยได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เหมาะกับกระบี่อย่างมากเพราะจะทำให้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะชาวประมงที่มีแหล่งทำมาหากินในบริเวณนั้น “หากชาวประมงหาปลาไม่ได้ ชาวประมงจะเอาเงินจากไหนมาใช้ในแต่ละวัน ไหนลูกหลานที่ต้องเรียนหนังสืออีก ทะเลคือชีวิตของพวกเขา ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่กระบี่จะถูกมองว่า ‘สกปรก’ รายได้จากนักท่องเที่ยวหายไป ใครจะรับผิดชอบ นี้ยังไม่นับรวมการเผาไหม้ สารต่าง ๆ ที่จะถูกปล่อยออกมาจากปล่องหลังจากการเผาไหม้” กิตติชัย ระบุ
นอกจากนี้ กิตติชัยได้อธิบายถึงข้อกังวลในการเดินเรือของเรือขนส่งถ่านหินวันละ 1 เที่ยว (ไป-กลับ) ที่จะ ‘นำเข้า’ ถ่านหิน ผ่านแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ตั้งแต่เกาะลันตา เกาะปู เกาะจำ และเข้าทางเกาะศรีบอยามายังท่าเรือบ้านคลองรั้ว เส้นทางนี้เป็นเส้นทางการขนส่งน้ำมันเตาในปัจจุบัน แต่เรือขนน้ำมันเตาขนเดือนละ 1 ครั้ง แต่เรือขนส่งถ่านหินจะเข้าวันละ 1 ลำ ซึ่งบริเวณนั้นเป็นแหล่งของหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของปลาพะยูน เป็นที่วางไข่ของหอยชักตีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งเป็นอาหารประจำจังหวัดกระบี่ เรือที่ขนถ่านหินหนัก 1 หมื่นตัน ใบพัดต้องใหญ่มาก ซึ่งจะพัดพวกหญ้าทะเลแล้วทำให้น้ำทะเลขุ่น แล้วธรรมชาติของน้ำทะเลเขาจะไหลตามกระแสน้ำ กฟผ.อ้างว่าห่างจากที่ดำน้ำสำคัญ ๆ 3.9 กิโลเมตร แต่เมื่อน้ำขุ่นแล้วน้ำทะเลมันไม่ได้อยู่นิ่ง กระแสอาจไหลพาพวกตะกอนที่ถูกใบพัดเรือไปยังแหล่งท่องเที่ยวพวกนี้ได้ การหาปลา หาหอย ซึ่งเป็นรายได้หลักของคนแถบนี้
กิตติชัย ระบุต่อไปว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นี้ทำผิดกระบวนการมาตั้งแต่ต้น การรับฟังความคิดเห็นของกระชาชนถูกตัดขาดออกไป การรับฟังความคิดเห็นเป็นการรับฟังเทียมคือคนที่เห็นต่างถูกกีดกันออกจาเวทีแสดงความคิดเห็น ในหอประชุมช่วงรับฟังความคิดเห็นมีเฉพาะคนที่เห็นด้วย รวมถึงวิธีการของ กฟผ.ที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับนั้นผิดมหันต์วิธีการของ กฟผ.คือการเข้าหาผู้นำชุมชน เช่น นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอีหม่าม กฟผ.ได้พาคนเหล่านี้ไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มาบตาพุด พานักการเมืองตำแหน่งใหญ่ ๆ ไปต่างประเทศไปญี่ปุ่น ไปเยอรมัน สิ่งเหล่านี้อาจจูงใจนักการเมืองได้ แต่จูงใจหรือลบความกลัวในใจประชาชนไม่ได้เลย เพราะประชาชนกลัวการไม่มีกิน ไม่มีแหล่งทำมาหากิน กลัวการไม่มีเงินเพื่อส่งให้ลูกหลานเรียนหนังสือมากกว่า
แต่ก็ใช่ว่านักการเมืองท้องถิ่นทั้งหมดจะคัดค้านโครงการโรงฟ้าถ่านหินกระบี่ รองนายก อบจ. กระบี่ อีกคนหนึ่งคือนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ได้แสดงความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยสฤษฎ์พงศ์ได้เคยพูดไว้ในเวทีเสวนาวิชาการ "โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นความหวังหรือเป็นปัญหาของภาคใต้" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือน มี.ค. 2561 ไว้ว่าสถานการณ์ของการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่เป็นวิกฤตการณ์ของเรื่องการรักชาติ คนเห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้น ไม่เข้าใจสถานะของประเทศ เห็นต่างประเทศที่มีโซล่าเซลล์แล้วอยากใช้ได้ซึ่งบริบทของประเทศไทยไม่เหมือนกับฝรั่งเศส เยอรมัน หรือญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละกลุ่มมีมุมมองแตกต่างกัน NGOs มองเรื่องสิ่งแวดล้อม ประชาชนมองเรื่องต้นทุนและราคา รัฐบาลและ กฟผ. มองที่ความมั่นคงทางพลังงาน นอกจากนี้สฤษฏ์พงศ์ ได้ตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่าจุดเริ่มต้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เริ่มจากแผน PDP เริ่มจากแผนของรัฐบาลแต่ทำไมในปัจจุบันถึงได้โยนภาระนั้นให้กับ กฟผ. ในความคิดเห็นของเขามองว่าการพยายามเข้าไปแก้ไขความขัดแย้ง ลงพื้นที่ประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเป็น ‘แถวหน้า’ ในการทำความเข้าใจกับประชาชน แต่ปัจจุบัน กฟผ.กลายเป็นหน่วยงานที่ต้องเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้
สฤษฏ์พงศ์ ย้ำว่าตนเองมีความรักชาติ รักแผ่นจึงต้องการให้ จ.กระบี่ เป็นจังหวัดที่เสียสละให้ตั้งโรงไฟฟ้า เพราะกระบี่เคยมีโรงไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2507 แล้ว และได้เน้นย้ำว่าถ่านหินไม่ได้สกปรกอย่างที่ NGOs เข้าใจ “คนกระบี่ไม่ได้กินถ่านหินเป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงหรืออาหารที่คนกินเข้าไปหลายอย่างสกปรกกว่าถ่านหินอีก การที่บอกว่าถ่านหินสกปรกแสดงว่าท่านไม่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป” สฤษฏ์พงศ์ กล่าว (ดูเพิ่มเติม: เวทีเสวนาวิชาการ "โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นความหวังหรือเป็นปัญหาของภาคใต้, นาทีที่ 29)
เอ็นจีโอห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม-การมีส่วนร่วมของประชาชน
เอ็นจีโอระดับแกนนำรายหนึ่งในพื้นที่ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า EIA/EHIA ที่เสนอกันมานั้นไม่สมบูรณ์ ขาดการประเมินผลกระทบต่อพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะหญ้าทะเล พื้นที่อ่อนไหวที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศที่มีความเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์ของทะเลอันเชื่อมโยงกับประมง ท่องเที่ยว สัตว์หายากที่มีแนวโน้มสูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังขาดการประเมินผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ พื้นที่นี้สำคัญต่อการประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ท่องเที่ยว ชุมชน และพื้นที่อนุรักษ์ มีนกอพยพมากและสัตว์ใกล้สูญพันธ์มาก รวมถึงขาดการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการเพราะจะกระทบต่อวิถีประมง วิถีชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน และต่อแผนพัฒนา จ.กระบี่ และเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ในบริเวณท่าเทียบเรือจึงได้มีการจัดทำเขื่อนกั้นน้ำ เพื่อป้องกันผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งไว้ด้วยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การไหลของน้ำ และการเป็นอยู่ของสัตว์น้ำ
เขาระบุว่ามหาวิทยาลัยฮาวาร์ดมีงานวิจัย พบว่ามีเด็กเป็นโรคพิการทางสมองปีละ 3 แสนคนตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ และในถ่านหินมีมลพิษมากกว่า 80 ชนิด แต่ในประเทศไทยพูดถึงเพียงแค่ 3 ชนิดคือ ซัลเฟอร์ คาร์บอน ไนโตรเจนออกไซด์ ตัวอื่น ๆ ไม่พูดถึงเช่น แคดเมียม ปรอท ซึ่งไม่มีงานวิจัยไหนรอบรับเลยว่ามีเทคโนโลยีที่ขจัดสารอันตรายเหล่านี้ได้เลย (อ่านเพิ่มเติม: Harvard's Research Result: Human Cost of Coal - Indonesia) นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ มีการออกประกาศเตือนจากรัฐบาลว่าห้ามกินสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติใน 39 รัฐ เพราะมีสารปรอทจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในสมัยของบารัก โอบาม่า (Barack Obama) ได้ประกาศสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินสูงถึง 135 โรง มีประเทศที่ประกาศชัดแล้วว่าจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินคือ แคนาดา สวีเดน และอังกฤษที่บอกว่าจะปิดให้หมดทั้งประเทศภายในปี ค.ศ.2030 ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงแนวทางในยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ถ้าเขาจัดการกับความอันตรายและมลพิษได้จริงคงไม่จำเป็นต้องปิดโรงไฟฟ้า ประเทศเหล่านี้เลือกที่จะปิดเพราะเขาคิดเรื่องต้นทุนด้านสุขภาพของประชาชนสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสภาพอากาศโลกเป็นหลัก
นอกจากนี้ กฟผ. ยังถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึง 3 บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหิน ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Adaro Indonesia (AI) สัดส่วน 11-12% มูลค่าราว 1.17 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจในเหมืองถ่านหิน ที่ตั้งอยู่ในเกาะกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย ถูกตั้งข้อสังเกตว่าการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นการหาที่ซื้อถ่านหินหรือเปล่า เพราะเมื่อสัมปทานมามาก ๆ ก็ต้องหาที่ระบาย จึงต้องใช้กลไกทั้งอำนาจรัฐ
เมื่อผู้เขียนถามว่า หากไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วจะมีทางเลือกอื่นหรือไม่ เอ็นจีโอรายนี้กล่าวว่ามีผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษาการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกของ จ.กระบี่ พบว่าในปัจจุบันมีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) และพลังงานชีวภาพ (Biogas) จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว จำนวน 42.05 เมกะวัตต์ กำลังดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจำนวน 7.39 เมกะวัตต์ กำลังพัฒนาโครงการเพื่อขออนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 92.1เมกะวัตต์ รวมปริมาณกระแสไฟฟ้าที่จะสามารถผลิตเข้าระบบได้ในปัจจุบัน (หากได้รับอนุญาต) จำนวน 141.54 เมกะวัตต์ ขณะที่กระบี่มีการใช้ไฟสูงสุดที่ 142.9 เมกะวัตต์ และคาดการณ์ว่าอีก 3 ปีการผลิตจะเพิ่มขึ้นที่ 175 เมกะวัตต์ และ จ.กระบี่ มีความสามารถพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 287 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ในปัจจุบันอยู่ที่ 143 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามในระยะยาว จ.กระบี่ มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 1,699 เมกะวัตต์ เลยทีเดียว
สอดคล้องกับความคิดเห็นนายศุภกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ที่ได้ระบุว่าหากคาดการณ์ตามแผนอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงาน ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของ จ.กระบี่ ในปี 2562 จะอยู่ที่ 167 เมกะวัตต์ ฉะนั้นในอีก 3 ปี จ.กระบี่ สามารถมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่พึ่งได้ 170 เมกะวัตต์ ก็เท่ากับว่าเพียงพอ (อ่านเพิ่มเติม: ‘อนุฯ ไตรภาคี’ เปิดผลศึกษาพลังงานทดแทนกระบี่ พบศักภาพ 3 ปี ผลิตไฟฟ้าเพียงพอความต้องการ) ใน จ.กระบี่ ได้รับผลประโยชน์จากค่าเชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพถึงปีละ 793 ล้านบาท แต่หากในอนาคตสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ 100% ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 3,051 ล้านบาท และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 888,858 ตัน นอกจากนี้นายอธิราษฎร์ ดำดี ที่ปรึกษาคณะกรรมการปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ ได้กล่าวว่า จ.กระบี่ มีพื้นที่การเกษตร 1.8 ล้านไร่ เป็นปาล์มน้ำมัน 9.8 แสนไร่ หรือคิดเป็น 52% มีผลผลิตรวม 3.28 ล้านตันต่อปี และด้วยนโยบายที่ให้เปลี่ยนพื้นที่จากยางพาราเป็นปาล์มน้ำมัน ทำให้มีอัตราการปลูกเพิ่มเฉลี่ย 5% ต่อปี ทั้งนี้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตได้มากที่สุดในทุกด้าน เพราะนอกจากผลผลิตที่เป็นน้ำมันราว 10% ส่วนที่เหลือล้วนเป็นพลังงานชีวมวลแทบทั้งสิ้น
“หากเป็นชีวมวลจากพืชประเภทอื่นอาจต้องรอจนกว่าจะถูกโค่น แต่ปาล์มน้ำมันเป็นพื้นที่เราเก็บเกี่ยวและตัดแต่งตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตที่ต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 25 ปีจึงทำการโค่นแล้วปลูกใหม่ ทำให้ปัจจุบันมีมูลค่าจากการขายชีวมวลเหล่านี้กว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี” ที่ปรึกษาคณะกรรมการปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ ระบุ
ประชาชนเสียงแตก ฝ่ายไม่เอา-กลัวกระทบรายได้ ฝ่ายเอา-กลัวต้องใช้ตะเกียง
กลุ่มหนุนและกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่ ที่มาภาพ: ศูนย์ข่าวท้องถิ่นภาคใต้ และ OKnation
สำหรับกลุ่มประชาชนในพื้นที่มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างมาก ส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยและมีความกังวลต่อผลที่จะกระทบต่ออาชีพ จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านรายหนึ่งในตำบลคลองขนานที่ติดป้ายหน้าบ้านว่า ‘ต้องการถ่านหิน’ พบว่าในความเป็นจริงแล้วชาวบ้านฝ่ายหนุนโรงไฟฟ้าก็ยังมีความกลัวทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ที่ติดป้ายเพราะมีญาติเคยทำงานใน กฟผ. คนของ กฟผ.ให้มาติด “ที่บ้านก็รู้สึกเกรงใจหากไม่ติดป้ายให้เพราะแว่นตาของผู้เฒ่าผู้แก่ก็ได้จาก กฟผ. หญ้าริมถนนก็ กฟผ.มาตัดแต่ง มาดูแลให้” ชาวบ้านรายนี้ระบุ
สอดคล้องกับชาวบ้านใน ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ อีกรายที่ติดป้ายสนับสนุนถ่านหินว่า ที่ติดป้ายสนับสนุนถ่านหินเพราะลูกหลานต้องนั่งรถสวัสดิการของ กฟผ.ไปโรงเรียนในตัวเมือง ชาวบ้านรายนี้เล่าว่า ในอดีตรถสวัสดิการมีไว้สำหรับลูกหลานของผู้ที่ทำงานหรือเคยทำงานอยู่ใน กฟผ. แต่ในปัจจุบันรถสวัสดิการตรงนี้เปิดกว้างมากขึ้น โดยคนนอกสามารถให้คนที่ทำงานใน กฟผ.หรือเคยทำงานใน กฟผ. ‘ฝาก’ ให้นั่งรถของ กฟผ. ได้ ซึ่งเพราะเหตุผลนี้เองทำให้ครอบครัวตนต้องติดป้ายสนับสนุน นอกจากนี้จากการสำรวจผ่านสื่อของ กฟผ. พบว่า กฟผ. เองก็มีกิจกรรมเพื่อดึงฐานมวลชนในพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติม: (ตัวอย่าง)กิจกรรมสร้างมวลชนสนับสนุน กฟผ.)
ส่วนชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินส่วนใหญ่มักจะประกอบอาชีพประมง โดยเฉพาะคนใน ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งประกอบอาชีพประมง อายุ 35 ปี ระบุว่าความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่สร้างความกลัวให้กับประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบจากการขนส่งถ่านหินด้วยเรือขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่สร้างความอึดอัดใจแก่คน ต.ตลิ่งชัน อย่างมาก เพราะไม่มีใครมองเห็นความเดือดร้อนของประชาชน คนทำมาหากินกับทะเลไม่ได้มีเงินเดือนสูงเหมือนหลาย ๆ คนที่ทำงานในห้องแอร์ หากไม่มีทะเลพวกเขาก็ทำมาหากินลำบาก พวกเขาเสียใจที่เสียงของประชาชนไม่ถึงหูของผู้มีอำนาจเพราะไม่ว่าจะเป็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และโต๊ะอีหม่ามก็ล้วนแต่ได้ศึกษาดูงานกับ กฟผ. และเชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีผลกระทบต่อพื้นที่เพียงเล็กน้อย เมื่อถามว่าหน่วยงานภาครัฐหรือ กฟผ. เคยลงมาสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและการขนส่งถ่านหินหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่บอกว่าไม่เคย วิธีการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตคือการเข้าหาคนที่มีตำแหน่งในทุก ๆ ตำบล ทุก ๆ หมู่บ้านเพราะเชื่อว่าผู้นำชุมชนสามารถชี้นำความคิดของคนในหมู่บ้านได้
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบอาชีพประมงที่บ้านแหลมหิน ต.คลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวกับผู้เขียนว่าชาวบ้านกังวลเรื่องวิถีชีวิตปกติที่อาจเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อมีการขนส่งถ่านหินในทุก ๆ วัน เพราะทะเลแถบนั้นเปรียบเสมือนตู้เย็นหรือตู้ ATM ของคนในพื้นที่ เป็นแหล่งทำมาหากินของคนในครอบครัวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นแหล่งรายได้ของคนในพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงดูและพัฒนาชีวิตหลายชีวิต สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในปัจจุบันวันที่มีเรือขนส่งน้ำมันเตาเข้าสู่ท่าเรือ ประชาชนก็ต้องเสียเวลาเพื่อรอให้เรือบรรทุกน้ำมันเตาเข้าท่าให้เสร็จ เพราะหากมีการออกทะเลในช่วงที่มีเรือบรรทุกน้ำมันเตาแล่นผ่าน จะสร้างคลื่นที่ใหญ่มากขึ้นรวมถึงน้ำทะเลที่ขุ่นมากขึ้นซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือโดยเฉพาะการหาปลา หาหอย
ทั้งนี้ อาชีพประมงสร้างรายได้ให้แก่คนบริเวณนี้มานานแล้ว จำนวนรายได้ที่ได้จากทะเลได้สร้างชีวิตให้แก่คนแถบนั้นสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวอย่างมาก ในอดีตเป็นเพียงคนหาปลาทะเลแต่ทุกวันนี้การหาปลา หาปูได้ส่งลูกได้เรียนหนังสือมีใบปริญญา มีรถขับเข้าในตัวเมือง รายได้ที่ได้จากทะเลอย่างน้อย ๆ ในช่วงที่มีการปิดอ่าว ฤดูปลาวางไข่ ช่วงมรสุมมีรายได้ 700-800 บาทต่อวัน (ค่าน้ำมันเรือ 120-200 บาท) บางวันมีรายได้สูงถึง 10,000 บาท อาหารทะเลส่วนใหญ่ที่หาได้ในแต่ละฤดูมีความแตกต่างกัน เช่น ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. จะมีกุ้งเยอะจะมีกุ้งมาขายอย่างน้อย 4-5 กิโลกรัม บางวันหาได้ 10-20 กิโล (ราคากุ้งกิโลกรัมละ 200-300 บาท) ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. เป็นช่วงปลาอินทรีย์ ส่วนในเกาะศรีบอยาเป็นแหล่งที่มีหอยชักตีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหอยชนิดนี้สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในเกาะศรีบอยาอย่างมากและสามารถหาได้ทั้งปี เช่นเดียวกับปูที่สามารถออกทะเลไปหาได้ทั้งปีเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ เกาะลันตา ซึ่งอยู่ห่างจากเส้นทางการขนส่งถ่านหินซึ่งเป็นเส้นทางที่เรือขนน้ำมันเตาในปัจจุบัน 10 กิโลเมตร ประชาชนในเกาะลันตาต่างมีความกังวลอย่างมากในเรื่องการขนส่งถ่านหินกระบี่ เพราะเกาะลันตาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.กระบี่ ซึ่งประชาชนและเจ้าของธุรกิจโรงแรมต่างกลัวผลกระทบจากการขนถ่านหินมาก กลัวการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของคนเกาะลันตาจะได้รับผลกระทบเพราะทุกวันนี้คนเกาะลันตาลืมตาอ้าปากได้ก็มาจากการท่องเที่ยว คนเกาะลันตาไม่เข้าใจว่ากระแสโลกกำลังเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน หันหน้าเข้าสู่พลังงานสะอาดที่ช่วยเกษตรกร เช่น ปาล์มน้ำมัน และพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ทำไม กฟผ.ถึงสนใจถ่านหิน? นี้คือประเด็นที่สังคมตั้งข้อกังขา
นอกจากนี้ชาวบ้าน ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ อีกรายหนึ่งที่ประกอบอาชีพค้าขายในชุมชน ได้ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า ประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินได้สร้าง ‘ความขัดแย้งใหม่’ ขึ้นมาในชุมชน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่และกำลังลุกลามอย่างเงียบๆ คือกลุ่มคนที่เห็นด้วยและคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถพูดคุยกันอย่างเป็นปกติหรือไม่เป็นอย่างที่เป็นมา คนที่เป็นเครือญาติกันก็ไม่สามารถพูดคุยกันได้อย่างปกติ ตัวอย่างของความขัดแย้งใหม่นี้คือ เวลาที่มีงานเลี้ยงในหมู่บ้าน ชาวบ้านแต่ละกลุ่มมีการแยกกันนั่งอย่างชัดเจน ฝั่งหนึ่งเป็นคนต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน อีกฝั่งหนึ่งเป็นคนที่ต่อต้าน ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เกิดขึ้นหลังจากมีประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาในพื้นที่
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ