คุยกันหลังหนังจบ: Peaky Blinders ว่าด้วยการเจรจาต่อรองแบบแก๊งสเตอร์

ธนเวศม์ สัญญานุจิต: 28 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 14501 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรียส์ Peaky Blinders Season 1

พีคกี้ ไบล์นเดอร์ส คือชื่อของภาพยนตร์ชุด (ซีรียส์) ที่สร้างจากค่าย BBC ในอังกฤษ และเป็นชื่อของกลุ่มแก็งค์อาชญากรรมของตระกูล ‘เชลบี้’ ที่อยู่ในเรื่อง พวกเขาคือครอบครัวอาชญากรที่ทำงานในอังกฤษในยุคหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 พี่น้องเชลบี้กลับจากสงครามที่ฝรั่งเศสเพื่อบริหารงานของตระกูล คือคนรับแทงม้า ลักขโมย รวมไปถึงเก็บค่าคุ้มครองบาร์ต่างๆ ในเบอร์มิงแฮม

การดำเนินธุรกิจมืดเช่นนี้ และการที่เผลอขโมยปืนจำนวนมากมาจากทางการอังกฤษ ทำให้ตระกูลเชลบี้ ต้องเผชิญกับการเมืองและความขัดแย้งกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะ สารวัตรแคมป์เบลล์ ตำรวจแข็งกร้าวที่เข้ามายังเบอร์มิงแฮมเพื่อตามหาอาวุธปืนที่ถูกขโมยไป และจัดการกับตระกูลเชลบี้, บิลลี่ คิมเบอร์ เจ้าพ่อที่คุมสนามม้า ตระกูลลี กลุ่มยิปซีท้องถิ่นในเบอร์มิงแฮม รวมไปถึงสมาชิกไออาร์เอ. (กองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ขบวนการเรียกร้องเอกราชของไอร์แลนด์เหนือ) กลุ่มอิทธิพลในเบอร์มิงแฮมต่างเข้ามาเผชิญหน้ากัน โดยมีโธมัส เชลบี้ เป็นตัวละครหลัก เขาต้องการพัฒนาขยับขยายธุรกิจของตระกูล เพราะการที่เขาถือครองปืนจำนวนมากนี้ ไม่ได้ทำให้พวกเขามีอำนาจการยิงที่มากขึ้น พวกเขาไม่ได้ต้องการอำนาจการยิง โธมัสใช้ปืนนี้เป็น ‘อำนาจต่อรอง’ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับธุรกิจของตระกูล ฉะนั้นผู้เขียนจึงอยากหยิบเอาสิ่งที่ Peaky Blinders นำเสนอเป็นส่วนหลักของเรื่อง นั่นคือ ‘การเจรจาต่อรอง’ มาเชื่อมกับหลักวิชาการเจรจาต่อรองอย่างคร่าวๆ

Pre-Negotiation: Know yourself / Know your opponent

“เราจะไม่ต่อรองตอนที่เราเสียเปรียบ เราต้องตอบโต้ก่อน” โธมัส เชลบี้

หลังจากสารวัตรแคมป์เบลล์สั่งบุกตรวจบ้านต่างๆ ระหว่างที่ Peaky Blinders ไม่อยู่ในเมือง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงของกลุ่มเพราะไม่สามารถคุ้มครองคนในพื้นที่อิทธิพลได้ โธมัสทราบว่าแคมป์เบลล์เรียกให้มีการพบปะเพื่อต่อรอง โธมัสจึงบอกว่าจะไม่ต่อรองขณะที่เสียเปรียบ เขาจำเป็นต้องแก้ไข “สภาพแวดล้อม” ก่อนการเจรจาเสียก่อน จึงเข้าร่วมโต๊ะเจรจากับแคมป์เบลล์ นับเป็นหนึ่งในกรณีที่น่าสนใจ

ในวิชาการเจรจาต่อรอง หลักสำคัญที่น่าจะเหมือนกันทุกแห่ง คือ ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการเจรจา (Pre-Negotiation Phase) คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเจรจาต่อรองทุกประเภท อย่าได้หวังจะเข้าไปตะลุมบอนกับคู่เจรจาแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีกลับออกมา โธมัส เชลบี้รับทราบสถานการณ์ ณ ตอนนั้นดี คือ Peaky Blinders ถูก ‘ทำลาย’ ความน่าเชื่อถือ หรือชื่อเสียงของตนอย่างหนัก จากฝ่ายตำรวจ รวมถึงเป็นประกาศใหรู้ว่าตำรวจคนใหม่คนนี้ มีขีดความสามารถเพียงใดที่กล้าบุกถิ่นของ Peaky Blinders โธมัสจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบริบทสภาพแวดล้อมเพื่อนำมาเป็นข้อต่อรองกับฝ่ายตำรวจก่อนที่จะเดินทางไปยังโต๊ะเจรจา

โธมัส เชลบี้ ใช้ให้ประชาชนในพื้นที่นำรูปของกษัตริย์ พระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งอังกฤษออกมาสุมไฟเผากองใหญ่ พร้อมเรียกผู้สื่อข่าวมารายงานข่าว เพื่อ “ฟ้อง” พฤติกรรมอุกอาจของตำรวจในสังกัดของแคมป์เบลล์ให้กลายเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ กระแสข่าวนั้นถึงหู ‘วินสตัน เชอร์ชิล’รัฐมนตรีสงครามในขณะนั้น ทำให้แคมป์เบลล์ถูกตำหนิ เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ข่าวว่าทางการถูกขโมยปืนจำนวนมากไปรู้ถึงหูของนักข่าวและสาธารณะ เพราะขณะนั้นบริบทแวดล้อมของอังกฤษ ยังคงอยู่ในความไม่สงบจากกลุ่มไออาร์เอ. รัฐบาลกลัวว่าการออกข่าวนอกจากจะทำให้เสียหน้าแล้ว จะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก หรือเป็นการแจ้งแก่ไออาร์เอ.ว่ามีปืนจำนวนมากรอให้เข้าไปซื้อเพื่อนำมาทำสงครามกับอังกฤษ

การดำเนินการครั้งนี้คือการประกาศให้แคมป์เบลล์รู้ว่า ฝ่าย Peaky Blinders มีศักยภาพที่จะสร้างความเสียหายแก่แคมป์เบลล์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และเป็นการทำลายชื่อเสียงของแคมป์เบลล์ตอบโต้กลับไป เมื่อการตอบโต้เสร็จสิ้น โธมัสจึงเดินทางไปร่วมโต๊ะเจรจากับแคมป์เบลล์ โดยที่ไม่ใช่ในฐานะผู้ถูกข่มขู่หรือตอบรับข้อเสนอของแคมป์เบลล์อย่างว่าง่าย แต่ในฐานะคู่เจรจาที่เท่าเทียมกัน และยื่นข้อเสนอที่แคมป์เบลล์ไม่อาจจะปฏิเสธได้

โธมัส “Know himself” เขารู้ดีว่าเขาและ Peaky Blinders มีขีดความสามารถตรงไหนบ้าง เขารู้ดีว่าเขามีไพ่ที่ทรงพลังที่สุดในมือ มันคืออำนาจต่อรองที่ทรงพลังที่สุดในโต๊ะเจรจานี้ คืออาวุธปืนจำนวนมากที่แคมป์เบลล์ต้องการอย่างมาก (และเป็นสิ่งชี้ชะตาในอาชีพการงานของแคมป์เบลล์) อำนาจต่อรองนี้ถูกเรียกว่า BATNA (Best Alternative to a Negotiated Agreement) ทางเลือกที่ดีที่สุดหากการเจรจาต่อรองล้มเหลว และโธมัสเองก็ “Know his opponent” เขารู้ดีว่าแคมป์เบลล์ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากทำภารกิจให้สำเร็จ คือการนำปืนไปคืนให้ทางการอังกฤษ นั่นคือ “จุดหมายสูงสุด” และโธมัสก็ไม่เกรงกลัวที่จะประกาศให้ทราบถึง BATNA ของเขา คือขู่ว่าจะขายปืนพวกนั้นให้ไออาร์เอ. หากแคมป์เบลล์ไม่ยอมรับข้อเสนอของเขา ผลที่จะตามมาคือหายนะของแคมป์เบลล์ เพราะนอกจากไออาร์เอ.จะได้รับอาวุธอย่างดีแล้ว หากรู้ถึงหูเบื้องบน แคมป์เบลล์จะไม่เหลือแม้อาชีพหรือเกียรติยศใดๆ อีกเลย

การที่อีกฝ่ายล่วงรู้ถึงจุดมุ่งหมายหรือผลประโยชน์ที่เราต้องการ ถือเป็นข้อเสียเปรียบอย่างมากในการเจรจาต่อรองทุกรูปแบบ หากจะให้กล่าวอย่างง่ายก็คือ ไม่มีพ่อค้าแม่ค้าคนใดเปิดราคาต้นทุนของสินค้า เพราะนั่นคือการเปิดให้อีกฝ่ายเห็น “ผลประโยชน์” ที่เราต้องการนั่นเอง (และนั่นจะทำให้ผู้ขายเสียเปรียบผู้ซื้อที่ต้องการต่อรองราคา) แคมป์เบลล์เสียเปรียบอย่างมากในการเจรจา เขาต่างกับโธมัสที่มีญาติพี่น้องคนพื้นที่เป็นแขนขา ผู้ใต้บังคับบัญชาเขาล้วนไม่เป็นที่น่าไว้ใจเพราะตำรวจในเขตนี้เต็มไปด้วยตำรวจมือสกปรก และมีเงื่อนไขจากรัฐบาลคอยมัดมือเท้าไม่ให้ล้ำเส้น รวมถึงถูกโธมัสรู้เป้าประสงค์โดยง่ายดาย

แม้จะบอกได้ว่าโธมัสเป็นนักธุรกิจและแก๊งสเตอร์ที่เก่งฉกาจด้านการเจรจาต่อรอง แต่สภาพแวดล้อมบางครั้ง เขาก็ไม่มีเวลาเตรียมตัวก่อนการเจรจา บางครั้งเขาก็ต้องเผชิญกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ภายนอกจำนวนมาก เหตุการณ์พัฒนาไปและพลิกผันได้ทุกเวลา เช่น กรณีที่ไออาร์เอ. เข้ามาติดต่อเขาโดยตรงและต้องการเอาปืนไปจากเขา โธมัสก็ต้องหาทางเจรจาต่อรองเพื่อรักษาปืนนี้ไว้จนกว่าข้อตกลงที่ทำไว้กับแคมป์เบลล์จะบรรลุ รวมถึงรักษาชีวิตของตัวเองด้วย หรือแม้แต่การเจรจากับบิลลี่ คิมเบอร์ เขาใช้ ‘เกรซ’ สาวบาร์เป็นหนึ่งในชิปต่อรอง ให้บิลลี่มีเวลาส่วนตัวกับเกรซ แลกกับข้อตกลงบางอย่าง แต่สุดท้ายความรู้สึกที่โธมัสมีให้เกรซก็เอาชนะการเจรจาต่อรอง เขาเปลี่ยนใจกระทันหัน และแน่นอนว่า การเจรจาต่อรองตามปกติ หากทำอย่างเป็นทางการในโลกทุกวันนี้ จะมีหลักประกันไม่ให้อีกฝ่ายบิดพลิ้วไปจากคำสัญญาหรือข้อตกลง เช่น ทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ผลผูกพันตามกฎหมาย พึ่งอำนาจจากศาล หรืออำนาจตุลาการอื่นๆ แต่ในโลกของแก๊งสเตอร์ ทุกข้อตกลงสามารถถูกบิดพลิ้วได้เสมอ เราจะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายสามารถบิดพลิ้วหรือไม่ทำตามข้อตกลงอย่างตรงไปตรงมา หรือหาหลักประกันเผื่ออีกฝ่ายจะหักหลังเอาไว้เสมอ

สิ่งที่พลิกกระดานแห่งเกมการเจรจาระหว่าง Peaky Blinders กับตำรวจเบอร์มิงแฮมคือวันที่แคมป์เบลล์พบปืนที่โธมัสนำไปซ่อนไว้ โดยที่โธมัสไม่รู้มาก่อน โธมัสสูญเสียอำนาจต่อรองและ BATNA ที่ทรงพลังที่สุดที่เขาถือครองไป และกลายเป็นว่า เขาไม่มีอะไรคุ้มกันเขาจากแคมป์เบลล์ ข้อตกลงทั้งหมดกลายเป็นโมฆะทันที นอกจาก Peaky Blinders ได้แสดงให้เราเห็นถึงการเจรจาต่อรองของฝ่ายต่างๆ ในวงการอาชญากรรมในเบอร์มิงแฮมแล้ว มันยังบอกเราว่าการเจรจาต่อรองมิใช่จุดหมายปลายทางหรือผลสำเร็จ มันเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่เรา หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยิบฉวยมาใช้เพื่อไปยังจุดหมายเท่านั้นเอง เพราะท้ายที่สุดแล้วเกมอันตรายที่ฝ่ายต่างๆ ใน Peaky Blinders ได้ลงไปเล่น จบลงด้วยการเผชิญหน้าและกระสุนปืนเสียส่วนใหญ่ หรือไม่ก็เพราะอีกฝ่ายหนึ่งถอนตัวออกไปจากเกม เนื่องจากไม่รู้ว่าเล่นต่อไปแล้วจะมีประโยชน์กว่าเดิมตรงไหน


 

 

สามารถรับชมภาพยนตร์ชุด Peaky Blinders ได้ทางแอปพลิเคชัน Netflix ทั้ง 4 Season

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: