ผู้ว่าการ กฟผ.เตือนรัฐเร่งทำแผนรับมือวิกฤตไฟฟ้าภาคใต้ปี 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2039 ครั้ง

ผู้ว่าการ กฟผ.เตือนรัฐเร่งทำแผนรับมือวิกฤตไฟฟ้าภาคใต้ปี 2563

ผู้ว่าการ กฟผ.เตือนวิกฤตไฟฟ้าใต้ ปี 2563 เสี่ยงไฟตก ไฟดับเสนอรัฐเร่งแผนลดใช้ไฟฟ้า หลังรัฐบาลชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สวนทาง รมว.พลังงาน ที่ระบุไฟฟ้าภาคใต้ 5 ปี มีเพียงพอไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2561 ว่านายกรศิษฐ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งสิ้นเดือน เม.ย. นี้ เตือนกระทรวงพลังงานจะต้องเร่งทำแผนประหยัดพลังงานในภาคใต้ อย่างเร่งด่วนจริงจัง ก่อนจะเปิดปัญหาวิกฤติไฟฟ้าในปี 2563 เนื่องจากการความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เติบโตในช่วง 2 ปี (2560-2561) นี้ถึงร้อยละ 7.7 จังหวัดนครศรีธรรมราชเติบโตร้อยละ 10.9 ดังนั้นจึงคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ปี 2563 จะมีไม่ต่ำกว่า 3,100 เมกะวัตต์ในขณะที่กำลังผลิตภาคใต้แม้มีประมาณ 2,788 เมกะวัตต์ แต่ผลิตได้จริง 2,624 เมกะวัตต์

ในขณะที่โครงการก่อสร้างสายส่งจากภาคกลางลงใต้ก็ล่าช้าเพราะติดปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเสร็จพร้อมใช้ปี 2564 ส่วนโรงไฟฟ้าหลัก คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างทั้งกระบี่และเทพาก็ถูกชะลอมาโดยตลอด ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 200-300 เมกะวัตต์ ก็ยังไม่สามารถจะเข้ามาช่วยระบบได้ หากรัฐบาลไม่มีแผนประหยัดพลังงานโดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ก็คาดจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวม ทั้งภาคประชาชน การท่องเที่ยว การค้าและอุตสาหกรรม หากเกิดปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน

“โครงการสายส่ง 500 เควีที่สร้างจากภาคกลางลงใต้ที่ผ่านมาล่าช้า เพราะติดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเดิมกำหนดเสร็จปี 2562 ก็เลื่อนไปเป็นปี 2563 แต่จะใช้ได้สมบูรณ์ในปี 2564 โดยในภาคใต้มีพีกในช่วงหัวค่ำ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ และด้วยฝนที่ตกมากในภาคใต้โซลาร์จึงดำเนินการไม่ได้ ทางที่เป็นไปได้ขณะนี้คือต้องเร่งแผนประหยัดไฟฟ้าให้เกิดขึ้นจริงไม่งั้นวิกฤติแน่ปี 2563” นายกรศิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ปี 2560 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ 2,624 เมกะวัตต์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 3.4 ต่อปี โดยการใช้ภาคท่องเที่ยวและพาณิชย์เป็นอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 36 บ้านร้อยละ 32 โรงงานร้อยละ 27 และอื่นๆร้อยละ 5 โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงมี 2,624 เมกะวัตต์ ประกอบไปด้วย การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ รวม 2,024 เมกะวัตต์ได้แก่ โรงไฟฟ้าจะนะ ผลิตได้จริง 1,106 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนอม 918 เมกะวัตต์ ส่วนโรงฟ้าอื่น ๆ ได้แก่ เขื่อน 108 เมกะวัตต์ ชีวมวล 29 เมกะวัตต์ ลม 3 เมกะวัตต์

ก่อนหน้านี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ระบุความต้องการใช้ไฟฟ้าเมื่อเปรียบเทียบกับกำลังผลิตในภาคใต้ สามารถชะลอไม่ต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 5 ปี จึงชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหิน และให้ศึกษาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 300 เกมะวัตต์ แต่ด้วยปริมาณเชื้อเพลิงไม่เพียงพอ ผลการศึกษาล่าสุดจะสร้างได้ประมาณ 200-250 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนการศึกษาการก่อสร้างสายส่งเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาคอขวดจากโรงไฟฟ้าหลักก็ยังติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: