กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอ (FTA) 17 ประเทศ จาก 12 ความตกลง ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 148,202.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอมูลค่า 73,790.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอ 74,412.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 ว่านางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอ 17 ประเทศ จาก 12 ความตกลง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 148,202.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.24 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า (2560) โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอมูลค่า 73,790.23 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอ 74,412.01 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 13.29 และนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.20 จากช่วงเวลาเดียวกัน
นางอรมน กล่าวว่าประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอที่ไทยส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 สูงสุด 5 อันดับแรก คือ อาเซียน ส่งออก 32,820.15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.58 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ จีน ส่งออก 14,935.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.46 สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา ญี่ปุ่น ส่งออก 12,559.47 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.89 สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ ออสเตรเลีย ส่งออก 5,526.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.32 สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง และอินเดีย ส่งออก 3,933 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.25 สินค้าส่งออกหลัก คือ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ดังนั้น ในภาพรวมไทยส่งออกสินค้าไป 16 ประเทศ ที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และอินเดีย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ยกเว้นเปรูที่ไทยส่งออกลดลงร้อยละ 6.42
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยนำเข้าจากประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอสูงที่สุด 5 อันดับแรก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 คือ จีน นำเข้า 24,460.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.61 โดยมีสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ อาเซียน นำเข้า 22,578.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.22 สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ญี่ปุ่น นำเข้า 17,269.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.31 สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เกาหลีใต้ นำเข้า 4,528.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.42 สินค้านำเข้าหลัก คือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้า สินแร่โลหะ และออสเตรเลีย นำเข้า 2,569.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.91 สินค้านำเข้าหลัก คือ น้ำมันดิบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินแร่โลหะ ถ่านหิน พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
“แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบันยังคงมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ รวมถึงมีประเทศที่เริ่มหันมาใช้นโยบายลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่การค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ เอฟทีเอ 17 ประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.7 ของการค้าไทยกับโลก” นางอรมน กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ