‘คดีความและการคุกคาม’ ความเสี่ยงที่นักสิทธิมนุษยชนหญิงต้องเผชิญ

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 2603 ครั้ง

‘คดีความและการคุกคาม’ ความเสี่ยงที่นักสิทธิมนุษยชนหญิงต้องเผชิญ

ข้อมูลจากองค์กร Protection International ตั้งแต่ปี 2557-2560 พบว่า ในประเทศไทยนอกจากความรุนแรงทางกายภาพแล้ว ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนกว่า 170 คน ถูกกลั่นแกล้งโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งจากเอกชนและรัฐ เนื่องมาจากการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย สิทธิในสิ่งแวดล้อมและสิทธิในการรักษาทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเอง

29 พ.ย. 2561 เนื่องในวันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงสากล (29 พ.ย.) กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติที่ตระหนักถึงความสำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงที่ต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงต่อชีวิตและศักดิ์ศรียิ่งกว่านักปกป้องสิทธิที่เป็นเพศชายหรือรณรงค์ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเพศสภาพและการเจริญพันธุ์ โดยเสี่ยงตกเป็นเป้าการละเมิดสิทธิทั้งโดยทางการและประชาชน ด้วยการข่มขู่ทางกายภาพและลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์

ข้อมูลจากองค์กร Protection International ตั้งแต่ปี 2557-2560 พบว่า ในประเทศไทยนอกจากความรุนแรงทางกายภาพแล้ว ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนกว่า 170 คน ถูกกลั่นแกล้งโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งจากเอกชนและรัฐ เนื่องมาจากการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย สิทธิในสิ่งแวดล้อมและสิทธิในการรักษาทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเอง

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2561 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเวทีพูดคุยในประเด็น “จากรายงานของยูเอ็นถึงแนวทางการทำงานเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทย” โดยมีเวทีเสวนา “เรื่องเล่าของเธอ: ความท้าทายที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงต้องเผชิญ”

อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง กล่าวว่า การทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนในภาคใต้กระทบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเมื่อมีการกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซ้อมทรมาน และการฆ่านอกระบบกฎหมาย จนถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการไปเยี่ยมบ้าน ใช้ข้อมูลโจมตีบิดเบือนการทำงานและโจมตีตัวบุคคล จนไม่ได้ทำงานในพื้นที่เกือบหนึ่งปีเพราะต้องดำเนินการกับคดีที่ถูกฟ้องร้อง กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ก็กังวลว่าจะได้รับผลกระทบไปด้วย

“เราได้รับข้อร้องเรียนเรื่องการถูกบังคับให้เปลือยกายโดยมีทหารพรานหญิงไปสอบสวนหรือเข้าใกล้ผู้ต้องสงสัยที่ถูกเปลือยกาย ก็มีการคุกคามว่าเราไม่ปกป้องทหารพรานหญิง ดูหมิ่นศักดิ์ศรีผู้หญิง มีการเผยแพร่ภาพที่ส่อเรื่องเพศแล้วระบุชื่อเรา สิ่งที่เจอสร้างความกังวล จนกระทบการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวบ้าน คล้ายเราเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนที่ถูกกระทำ เมื่อทำหน้าที่ไม่ได้ปัญหาก็ยิ่งขยายเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ฐานข้างใต้กว้างใหญ่มากยังไม่สามารถคลี่คลายได้ ปัญหาภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิทธิที่ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อยากให้เปลี่ยนมุมมองมายอมรับและเคารพซึ่งกันและกันจะดีกว่าใช้วิธีปกครองแบบผู้มีอำนาจกับผู้ใต้อำนาจ เราต้องการความเท่าเทียมและให้เกียรติกันเท่านั้นเอง” อัญชนากล่าว

ด้าน นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวผู้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับน้าชายที่ถูกครูฝึกซ้อมและทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหาร กล่าวว่า กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม เธอต้องเดินเรื่องเองทุกขั้นตอน เพราะเชื่อว่ามีผู้กระทำผิดมากกว่าที่ปรากฏในตอนต้น จนมีลูกนายพลข่มขู่พยายามเจรจาให้ยุติเรื่อง ไม่ให้เอาผิดเหนือจากยศร้อยตรีขึ้นมา จากนั้นจึงแจ้งความพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และหมิ่นประมาท ทำให้เธอกลายมาเป็นผู้ต้องหาจากการเรียกร้องสิทธิและพบปัญหาหลายเรื่องในกระบวนการยุติธรรม

“ตั้งแต่แรกทุกคนบอกว่าสู้ไปก็เท่านั้น แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจก็สามารถจะสู้ได้ถ้ามีข้อมูลหลักฐานถูกต้อง คดีนี้เราไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่พร้อมรับฟังทุกอย่าง กระทั่งผู้ต้องหา 1 ใน 10 ที่เข้ามาคุยพร้อมหลักฐานและเหตุผลว่าเขาไม่ได้ทำแต่กลายเป็นแพะ ต้องการให้ได้รับความยุติธรรมมากที่สุด ใครผิดหรือถูกให้ดำเนินการไปตามนั้น เข้าใจว่ารัฐว่ามีหน้าที่หลายอย่าง แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องควรทำหน้าที่ให้เต็มที่ กองทัพหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้เห็นด้วยกับบุคคลที่ใช้อำนาจหรือระบบอุปถัมภ์สร้างปัญหา แต่เป็นอิทธิพลของคนหนึ่งที่ทำให้อีกคนกระทำผิดในหน้าที่ได้จนกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว” นริศราวัลย์กล่าว

รจนา กองแสน ตัวแทนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มเหมืองแร่เมืองเลย เผยว่าการเรียกร้องสิทธิเรื่องทรัพยากรในชุมชนทำให้คนในพื้นที่ถูกฟ้องร้องด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หลายสิบคดี มีทั้งการข่มขู่ วางระเบิดปลอม วางยาเบื่อสุนัข ส่งคนมาติดตาม

“เขาเอากฎหมายเอามาใช้เพื่อไม่ให้เราต่อสู้ ไปแจ้งความในจังหวัดไกลๆ เพื่อกลั่นแกล้ง บางคนที่ถูกฟ้องมีลูกอ่อนก็ต้องเอาลูกไปด้วยเพราะต้องให้นม ในพื้นที่จะมีผู้หญิงออกหน้าเยอะ แต่เบื้องหลังก็มีผู้ชายที่ร่วมกันต่อสู้ คนโดนคดีไม่ได้อยู่ทำกับข้าวเลี้ยงลูกก็เหมือนละเลยหน้าที่ แต่เขามีภาระที่ยิ่งใหญ่กว่า ถ้าครอบครัวไหนไม่เข้าใจก็เกิดปัญหา ผู้หญิงในชนบทถ้าไม่ดูแลครอบครัวจะเป็นประเด็นใหญ่มาก บั่นทอนจิตใจคนที่มีครอบครัว เวลามีอบรมนอกพื้นที่สายตาคนไม่เข้าใจก็มองว่าแต่งตัวไปไหนบ่อยๆ แต่ผู้ชายออกไปไหนก็ง่าย

“เราไม่ได้ไปฆ่าคน เราทำเพื่อดูแลทรัพยากร อยากให้รัฐยุติดำเนินคดีกับชาวบ้าน รัฐมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ ไม่ใช่เอาชาวบ้านไปปรับทัศนคติ รัฐต้องคุ้มครองทรัพยากรและดูแลกฎหมายที่มาริดรอนสิทธิเราด้วย เราเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ชีวิตและชุมชนของเรา ไม่ได้ชุมนุมเพื่อความแตกแยก วันนี้แม้เหมืองปิดไปแล้วแต่อยากให้รัฐทำแผนฟื้นฟูอย่างจริงจังโดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม” รจนากล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: