สำรวจ #MeToo นอกกระแส ‘ภาคเกษตร-แม่บ้าน-พนง.โรงงาน-พนง.ห้าง’

สมานฉันท์ พุทธจักร ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ: 28 ม.ค. 2561 | อ่านแล้ว 5312 ครั้ง

สำรวจ #MeToo นอกกระแส นอกจากแวดวงฮอลลีวูดและพนักงานออฟฟิศแล้ว ในสหรัฐฯ พบแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรเกินครึ่งถูกคุกคามทางเพศมาก่อนกระแส ในตะวันออกกลางพบคนทำงานบ้านคุกคามทางเพศ ซ้ำเสี่ยงถูกตั้งข้อหามีเพศสัมพันธ์นอกสมรส ขณะที่งานวิจัยศึกษาผู้หญิงทำงานในโรงงานและห้างสรรพสินค้าพบเกือบครึ่งเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยเพื่อนร่วมงาน ด้วยการใช้วาจาและหลอกสัมผัส ปัจจัยเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเกือบ 1 ใน 3 เคยถูกคู่รักทำร้ายร่างกาย ที่มาภาพประกอบ: wunc.org (CREDIT WNYC)

#MeToo กลายเป็นแฮ๊ชแทกยอดนิยมบนโซเชียลมีเดีย ที่ก่อกระแสมาจากที่สื่อในสหรัฐอเมริกาออกมาแฉพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดังคนหนึ่ง ต่อมานักแสดงหญิงฮอลลีวูดชื่อดังก็ได้ทยอยออกมายืนยันถึงพฤติกรรมของโปรดิวเซอร์รายนี้ อีกทั้งยังได้เปิดเผยเรื่องราวของตนเอง ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นกระแสปรากฏการณ์ติดแฮ๊ชแทก #MeToo เพื่อแสดงให้เห็นปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่ดำรงอยู่ในสังคม กระจายไปทั่วโลก ผู้คนในหลากหลายแวดวงเริ่มออกบอกเหล่าเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

สถานที่ที่ผู้หญิงมักจะถูกล่วงละเมิดที่หนึ่งก็คือ ‘ที่ทำงาน’ ทั้งที่สถานที่ทำงานควรจะเป็นสถานที่ปลอดภัยแต่กลับเป็นจุดเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศ และเมื่อผู้หญิงที่ไม่ทำงานใต้แสงไฟส่องแบบนักแสดงหรือพนักงานคอปกขาวชนชั้นกลางทั่วไป (ที่สามารถใช้โซเชียลมีเดียได้) เช่นคนทำงานมีที่สถานะที่ด้อยอย่าง ‘แรงงานข้ามชาติ’ หรือผู้หญิงที่ทำงานสถานที่ที่ตัดขาดจากผู้คน พวกเธอก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ

ในสหรัฐฯ พบแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรเกินครึ่งถูกคุกคามทางเพศก่อนกระแส  #MeToo มานานแล้ว


จากรายงาน Cultivating Fear The Vulnerability of Immigrant Farmworkers in the US to Sexual Violence and Sexual Harassment ของ Human Rights Watch (HRW) เมื่อปี 2012 เผยว่าแรงงานข้ามชาติเพศหญิงที่ทำงานในฟาร์ม หรือโรงงานบรรจุอาหาร และในภาคการเกษตรอื่น ๆ มีความเสี่ยงสูงที่จะที่จะตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐและนายจ้างไม่สามารถป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศได้ ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเธอทำงานในสถานที่ที่อยู่ไกลหูไกลตาผู้คน หรือบางแห่งมีความยากลำบากในการติดต่อกับโลกภายนอก

นอกจากคนงานหญิงในภาคการเกษตรมีความเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดแล้ว พวกเธอยังต้องเผชิญกับระบบงานที่ให้อำนาจแก่คนคุมงาน (ที่ส่วนมากจะเป็นผู้ชาย) มากเกินไป รวมทั้งแรงงานหญิงในภาคการเกษตรของสหรัฐฯ มักจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านสถานะทางกฎหมายและค่าแรงงานที่ต่ำก็เป็นอุปสรรคในการเรียกร้องสิทธิ จากรายงานของ HRW ชิ้นนี้ระบุว่าพวกเธอมักจะถูกล่วงละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งข่มขืน เตะเนื้อต้องตัว ถ้ำมอง ไปจนถึงใช้วาจาล่วงละเมิด ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากนายจ้าง ผู้คุมงานหรือคนที่ตำแหน่งที่สูงกว่า นอกจากนั้นยังพบผู้ให้ข้อมูลบางคนถูกข่มขืนจากเกษตรกรท้องถิ่นเนื่องจากสภาพที่พักอาศัยไม่มีความปลอดภัย

“การข่มขืน เต๊ะอั๋ง ใช้คำพูดลามกจากคนคุมงาน แรงงานข้ามชาติในฟาร์มไม่ควรต้องทนอยู่ในสภาพเช่นนี้ ในขณะที่พวกเธอกำลังผลิตอาหารให้กับประเทศของเรา” เกรซ เม้ง (Grace Meng) นักวิจัยจากฮิวแมนไรท์วอทซ์ผู้ซึ่งเขียนรายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในฟาร์มกล่าว

“แทนที่เราจะให้คุณค่ากับสิ่งที่พวกได้ทำ แต่ชีวิตพวกเขาต้องกลับขึ้นอยู่กับระบบจัดการแรงงานข้ามชาติและกฎหมายแรงงานที่เปลี้ยง่อย ซึ่งกีดกันพวกเขาออกจากการปกป้องพื้นฐานที่แรงงานส่วนใหญ่ควรได้รับกัน”

แรงงานหญิงในภาคการเกษตรของสหรัฐฯ มักจะถูกล่วงละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งข่มขืน เตะเนื้อต้องตัว ถ้ำมอง ไปจนถึงใช้วาจาล่วงละเมิด ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากนายจ้าง ผู้คุมงานหรือคนที่ตำแหน่งที่สูงกว่า ที่มาภาพประกอบ: splcenter.org

และจาก ‘จดหมายเปิดผนึกของ Alianza Nacional de Campesinas’ ซึ่งเป็นองค์ปกป้องสิทธิของผู้หญิงในอุตสาหกรรมการเกษตร ได้ประมาณการว่ามีผู้หญิงในอุตสาหกรรมอาหาร 700,000 คน ทั่วสหรัฐฯ กว่าครึ่งหนึ่งเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ

“เราไม่ได้ทำงานภายใต้แสงไฟสว่างบนเวทีหรือบนจอทีวีขนาดใหญ่ เราทำงานใต้เงามืดของสังคม ในทุ่งและในโรงบรรจุอาหารที่โดดเดี่ยวจากผู้คน เราจึงอยู่นอกสายตาและความสนใจของผู้คนในประเทศแห่งนี้” ในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ระบุ

การล่วงละเมิดในอุตสาหกรรมการเกษตรจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่กับพบว่าแรงงานหญิงกว่าร้อยละ 70 ไม่มีเอกสารการเข้าเมือง ทำให้หลายคนไม่กล้าพูดถึงเรื่องเขาต้องเป็นเหยื่อเพราะกลัวจะถูกเล่นงานกลับหรือถูกขับออกจากสหรัฐฯ

คนทำงานบ้านในตะวันออกกลางถูกคุกคามทางเพศ ซ้ำเสี่ยงถูกตั้งข้อหามีเพศสัมพันธ์นอกสมรส

คนทำงานบ้านในตะวันออกกลางถูกคุกคามทางเพศ ซ้ำเสี่ยงถูกตั้งข้อหามีเพศสัมพันธ์นอกสมรส ที่มาภาพประกอบ: Rothna Begum/Human Rights Watch

ผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรง และพวกเธอมีปากเสียงในการแสงออกเพื่อเรียกร้องสิทธิได้น้อยมาก ๆ ก็คือ แรงงานข้ามชาติหญิงที่ทำงานแม่บ้านในภูมิภาคตะวันออกกลาง

โร๊ธนา บีกัม (Rothna Begum) นักวิจัยด้านสิทธิสตรีจาก HRW ได้ลงพื้นที่ทำรายงาน ‘‘Working Like a Robot’: Abuse of Tanzanian Domestic Workers in Oman and the United Arab Emirates’ ที่เผยแพร่เมื่อปลายปี 2017 โดยรายงานฉบับนี้ได้ศึกษาคนทำงานบ้านชาวแทนซาเนีย ในประเทศโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่าผู้หญิงที่เป็นคนทำงานบ้านมากกว่า 50 คน ที่ให้สัมภาษณ์เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ พวกเธอมักจะถูกยึดพาสปอร์ต บังคับทำงานเจ็ดวันต่อสัปดาห์ เกือบครึ่งหนึ่งต้องถูกบังคับหักเงินค่าที่พักทำให้ยากต่อการหลบหนี และหลายคนถูกจำกัดการสื่อสารเป็นเวลาหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน (นายจ้างป้องกันไม่ให้ติดต่อโลกภายเพื่อขอความช่วยเหลือ) นอกจากนั้นยังมีสภาพที่อยู่อาศัยที่ไม่มีความเป็นส่วนตัว หลายคนต้องนอนในห้องเก็บของหรือห้องนั่งเล่น ที่ไม่สามารถล๊อคห้องได้ 

กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง มีคนทำงานบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงชาวต่างชาติประมาณ 2.4 ล้านคน จากประเทศในทวีปเอเชียและแอฟริกา พวกเธอต้องตกอยู่ภายใต้ระบบการขอวีซ่าทำงานที่ห้ามเปลี่ยนนายจ้างโดยนายจ้างเดิมไม่ให้ความยินยอม (visa-sponsorship) ไม่เช่นนั้นจะถูกจับกุมและลงโทษโดยการปรับเงิน กักขังไปจนถึงถูกเนรเทศออกจากประเทศ สภาพการทำงานที่ถูกทำให้โดดเดียวจากบุคคลอื่นเช่นนี้ ทำให้คนทำงานบ้านเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกคุกคามทางเพศจากทั้งนายจ้างและเพื่อนร่วมงานชาย

“ตอนนั้นฉันกำลังรีดผ้าอยู่ เขาผลักฉันลงแล้วพยายามจะข่มขืนฉัน แต่เป็นโชคดีของฉันที่น้องชายของเขากลับบ้านมากดกริ่งหน้าประตูพอดี เขาจึงหนีไป” Basma N (นามสมมุติ) หญิงวัย 21 ชาวแทนซาเนีย เล่าประสบการณ์ที่เธอเคยถูกพี่ชายของนายจ้างพยายามจะข่มขืนเธอถึง 2 ครั้ง จากการทำงานเป็นคนทำงานบ้าน ที่ประเทศโอมาน

อดีตเจ้าหน้าประจำสถานฑูตแทนซาเนียประจำประเทศโอมาน ได้ให้ข้อมูลว่าไม่มีกรณีของคนทำงานบ้านถูกข่มขืนได้ถูกรายงานต่อตำรวจของโอมานเลย เนื่องพวกเธอปฏิเสธที่ตรวจร่างกายกับแพทย์ที่เป็นผู้ชาย หรือการไต่สวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่เชื่อว่าผู้หญิงจะถูกข่มขืนในประเทศรัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย (The Gulf region) การร้องเรียนเหตุข่มขืนมักจะถูกมองว่าเป็นการร่วมรักแบบสมยอม ยิ่งไปกว่านั้นอาจจะถูกแจ้งข้อหามีความสัมพันธ์ทางเพศนอกสมรส (Zina) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศแถบนี้

งานวิจัยไทยพบผู้หญิงทำงาน 'โรงงาน-ห้างสรรพสินค้า' เกือบครึ่งหนึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ 1 ใน 3 เคยถูกคู่รักทำร้ายร่างกาย

งานวิจัยสำรวจผู้หญิง 301 คน ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม 2 แห่ง และห้างสรรพสินค้า 2 แห่งในไทย พบร้อยละ 43.9 เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ประมาณ 1 ใน 3 เคยถูกคู่รักหรือคู่ครองทำร้ายร่างกาย ซึ่งผลที่ตามมาคือ การบาดเจ็บเล็กน้อยถึงรุนแรงต้องเข้ารับการผ่าตัดและรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานานและยังเป็นปัญหาคดี ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/ninocare (CC0)

จากงานวิจัยเรื่อง ‘การถูกละเมิดทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัวสตรีในสถานประกอบการ’ โดย รศ.สุสัณหา ยิ้มแย้ม และคณะ, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เผยแพร่ในวารสารสภาการพยาบาล ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2554) ที่ได้ทำการศึกษาผู้หญิง 301 คน ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม 2 แห่ง และห้างสรรพสินค้า 2 แห่ง ผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ (ร้อยละ 84.4) มีเวลาทำงานแบบผลัดหมุนเวียน (ร้อยละ 71.1) ทุกคนทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง โดยประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 51.5) ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง ผู้หญิงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87.7) ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 22.9) มีความเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศในการเดินทาง ผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 43.9) เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเพื่อนร่วมงานด้วยการใช้วาจาและหลอกสัมผัส ขณะที่คนรักมีการชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ เมื่อนำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงกับการถูกละเมิดทางเพศในรูปแบบต่างๆ พบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการเที่ยวกลางคืนหลังเลิกงาน

เกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงในสถานประกอบการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยวิธีการล่วงละเมิดทางเพศที่พบมากที่สุด คือ การแกล้งหรือหลอกสัมผัสเนื้อต้องตัว รองลงมาคือการใช้คำพูดและการแสดงท่าทีเกี้ยวพาหรือล้อเลียนทำให้รู้สึกว่าถูกดูถูก ซึ่งผู้ที่ละเมิดทางเพศมักเป็นเพื่อนร่วมงาน ส่วนการพูดชักชวนเพื่อให้มีเพศสัมพันธ์มักจะเป็นคู่รักหรือเพื่อนชาย สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศด้วยการหลอกสัมผัสเนื้อต้องตัวและการพูดชักชวนเพื่อให้มีเพศสัมพันธ์ คือ การพากันเที่ยวสังสรรค์ต่อในสถานบันเทิงต่าง ๆ ยามวิกาลหลังเลิกงาน ทั้งนี้มีบรรยากาศทำให้เคลิบเคลิ้ม สถานที่ยั่วยุให้มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและสถานการณ์ที่เอื้อให้ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศทั้งการสัมผัสและชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ได้ง่ายกว่าในที่ทำงานซึ่งจะมีระเบียบของสถานประกอบการในการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขณะที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักทำให้บุคคลขาดสติยั้งคิด ทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศด้วยการใช้วาจาและการแกล้งสัมผัสเนื้อต้องตัวได้ง่าย นอกจากนี้การอยู่หอพักที่ไม่ได้แยกเพศ ก็เอื้อให้ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศจากเพื่อนชายและคู่รักได้เช่นกัน

งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่มีคู่รักหรือสามีแล้ว มีสัมพันธภาพกับสามีหรือคู่รักที่ไม่ดี มีทะเลาะกันบางครั้งและบ่อยครั้ง ผู้หญิงประมาณหนึ่งในสามเคยถูกคู่รักหรือคู่ครองทำร้ายร่างกาย ซึ่งผลที่ตามมาคือ การบาดเจ็บเล็กน้อย (ร้อยละ 82.9) ถึงรุนแรง (ร้อยละ 2.9) ต้องเข้ารับการผ่าตัดและรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานานและยังเป็นปัญหาคดี แม้ว่าสามีที่เป็นผู้คุกคามได้รับการลงโทษทางกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ผู้หญิงก็ยังมีความหวาดกลัวว่าเมื่อสามีพ้นโทษจะยังคงมาคุกคามตนเองอีก โดยเฉพาะในรายที่พักอาศัยในหอพักคนเดียว จะเห็นได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวนั้น มิได้มีผลกระทบเฉพาะทางด้านร่างกาย ยังมีผลต่อจิตสังคมที่ยาวนานของผู้หญิงที่เคยได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายนี้

 

อ่านเพิ่มเติม
จับตา: ผู้หญิงไทย 45% ถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการรถสาธารณะ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: