งานวิจัยพบผู้รับเหมาทิ้งงาน อบต.มากที่สุด รายเล็กไม่ถึง 1 ล้าน ครองแชมป์

ทีมข่าว TCIJ: 28 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 6284 ครั้ง

งานวิจัยสำรวจการทิ้งงานโครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 402 โครงการ ระหว่างปี 2555-2559 พบผู้รับเหมาทิ้งงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มากที่สุด พื้นที่ กทม.ทิ้งงานน้อยที่สุด ผู้รับเหมาพื้นที่อื่นมีขนาดเล็ก-ศักยภาพสู้ใน กทม.ไม่ได้ นิติบุคคลทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาททิ้งงานมากที่สุด มูลค่าโครงการที่มีผู้ทิ้งงานมากที่สุดคือ โครงการไม่เกิน 1 ล้านบาท ประเภทงานที่มีผู้ทิ้งงานมากที่สุดคืองานโยธา ที่ตั้งโครงการที่มีผู้ทิ้งงานมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มาภาพประกอบ: มติชนออนไลน์

งานวิจัย 'การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ทิ้งงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหนังสือเวียนของกรมบัญชีกลาง' โดย บุญรักษ์ แวนบอเซอร์ นิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และกำพล ทรัพย์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เผยแพร่ใน วารสารการบริหารท้องถิ่น ปีที่ 11 ฉบับที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.2561) ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลและศึกษาแนวโน้มของผู้ทิ้งงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประชากรที่ใช้ในการวิจัยคือ ผู้ทิ้งงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 402 โครงการที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลด้วยการสืบค้นรายชื่อผู้ทิ้งงานจากหนังสือเวียนของกรมบัญชีกลาง (179 ฉบับ) ตั้งแต่ปี 2555-2559 พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้ [1]

ทิ้งงานของ อบต.มากสุด กรุงเทพฯ ทิ้งงานน้อยที่สุด

งานวิจัยพบว่า ในภาพรวมรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้ทิ้งงานมากที่สุด คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 224 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 55.7 เทศบาล 152 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 37.8 องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 24 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 6 และน้อยที่สุด คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา จำนวน 2 โครงการคิดเป็นร้อยละ 0.5

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้ทิ้งงานมากที่สุด คือ อบต.และมีแนวโน้มผู้ทิ้งงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่ชัดเจน โดยกรุงเทพมหานครมีการทิ้งงานน้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากผู้รับจ้างที่อยู่ในท้องที่ส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลขนาดเล็กซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมไม่เพียงพอ เมื่อผู้รับจ้างเหล่านี้ผ่านการเสนอราคาและเข้ามาดำเนินโครงการก่อสร้างก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน เช่น ขาดแคลนแรงงาน ขาดแคลนเครื่องมือเครื่องจักร ขาดเงินทุนหมุนเวียน ไม่สามารถจัดหาวัสดุให้ทันต่อการใช้งาน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและเกิดการทิ้งงานในท้ายที่สุด แตกต่างจากกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ สิ่งที่กำหนดคุณสมบัติของผู้รับจ้างเหมางานก่อสร้าง ได้แก่ ทุน (ทุนจดทะเบียน, สินเชื่อที่ได้รับจากธนาคารโดยไม่มีเงื่อนไข) เจ้าหน้าที่ (วิศวกร/สถาปนิก) ผลงาน (ผลงานก่อสร้างย้อนหลัง 5 ปี) และกำหนดวงเงินค่าก่อสร้างแต่ละโครงการ รวมถึงสิทธิในการซื้อแบบประกวดราคาครั้งต่อไปโดยพิจารณาจากผลงานที่กำลังดำเนินการอยู่

สำหรับการแก้ไขปัญหานี้ งานวิจัยแนะนำว่า องค์การบริหารส่วนตำบลอาจยึดเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้นในการจ้างของกรุงเทพมหานครเป็นบรรทัดฐาน หรือนำไปประกอบใช้เป็นเงื่อนไขในกระบวนการพิจารณาผู้รับจ้างงานก่อสร้าง

สอดคล้องกับงานศึกษาเรื่อง 'ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล' ของมลิ ใจมุ่ง วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2544 ที่ศึกษาปัญหาการจัดจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลพบว่า การจัดจ้างโดยวิธีสอบราคาและวิธีประกวดราคาก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้รัฐเสียประโยชน์ในการใช้งบประมาณแผ่นดิน และมีข้อเสนอแนะว่ารัฐควรมีเครื่องมือตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละขั้นตอนของการจัดจ้างและกำหนดมาตรฐานความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่แต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนรวมถึงมาตรการการลงโทษคู่สัญญาในกรณีไม่สุจริตหรือทิ้งงานด้วย [2]

นอกจากนี้ในงานศึกษา 'ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น' ของอัจจิมา ฉัตรแก้ว วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2555 ระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง โดยรูปแบบการทุจริตที่พบได้แก่ การทุจริตในการจัดจ้างโดยการอาศัยช่องว่างของกฎหมายและดุลพินิจตามกฎหมายในการทำการทุจริต การกีดกันผู้เข้าร่วมการสอบราคาและการประกวดราคา การกำหนดคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขในการเข้าร่วมการประกวดราคาโดยไม่เป็นธรรม หรือการล็อคสเปค การสมยอมราคาระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน การควบคุมงานและการตรวจการจ้างโดยไม่ตรงตามความเป็นจริง การทุจริตในการจัดจ้างในขั้นตอนของการเบิกจ่ายเงิน และการใช้อำนาจในกำกับดูแลแสวงหาผลประโยชน์ [3]

นิติบุคคลทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านทิ้งงานมากสุด โครงการไม่เกิน 1 ล้านถูกทิ้งมากสุด

เมื่อจำแนกตามรายละเอียดของผู้ทิ้งงานก่อสร้างของ อบต.พบว่า รูปแบบองค์กรธุรกิจที่มีผู้ทิ้งงานมากที่สุดคือ นิติบุคคลทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 94 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 42.0 รองลงมาคือ บุคคลธรรมดา จำนวน 80 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 35.7

เหตุที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กมีแนวโน้มทิ้งงานมากที่สุด อาจเป็นเพราะทุนจดทะเบียน กระแสเงินสด สินเชื่อและเครดิตที่ได้รับจากธนาคาร มีความสัมพันธ์ต่อความมั่นคงทางการเงิน และเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงศักยภาพ ความพร้อมของผู้รับจ้างในการดำเนินงานก่อสร้างให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งผู้รับจ้างที่มีทุนจดทะเบียนน้อย ต้นทุนที่จะใช้ในการดำเนินงานจะน้อย และสถาบันการเงินมักเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ให้การสนับสนุน เมื่อผู้รับจ้างรับงานมาดำเนินการแล้ว เกิดปัญหาเงินทุนสำรองไม่เพียงพอหรือขาดสภาพคล่องทางการเงิน ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน เช่น ไม่มีเงินซื้อวัสดุ ไม่สามารถเช่าเครื่องจักรเพื่อนำใช้ในการดำเนินงาน จ่ายค่าแรงงานล่าช้าทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก ฯลฯ เกิดความล่าช้าหรือไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ก็จะส่งผลให้เกิดการทิ้งงาน

เช่นเดียวกับงานศึกษาเรื่อง 'ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการบริหารโครงการก่อสร้างทางและสะพานของผู้รับเหมาในจังหวัดเชียงใหม่' โดยฐิติพงศ์ จิระเจริญวงศ์ การค้นคว้าแบบอิสระปริญญาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2555 ระบุว่า ผู้รับเหมาที่มีต้นทุนทางการเงินที่จำกัด เมื่อขาดสภาพคล่องทางการเงินก็จะทำให้ไม่มีเงินมาดำเนินโครงการ ทำให้โครงการหยุดชะงักลง [4]

ส่วนมูลค่าโครงการที่มีผู้ทิ้งงานมากที่สุดคือ โครงการที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 209 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 93.3 ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เคร่งครัดในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เสนอราคา ทำให้ได้ผู้รับจ้างที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอมาดำเนินการก่อสร้าง ส่งผลให้เกิดการทิ้งงานจำนวนมาก ต่างจากโครงการที่มีมูลค่าโครงการมากกว่า 2 ล้านบาทซึ่งจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติที่รัดกุม มีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น ทำให้สามารถกลั่นกรองผู้รับจ้างรายเล็กที่ขาดความพร้อมและขีดสามารถในการเข้าร่วมการเสนอราคาให้น้อยลง ส่งผลให้มีแนวโน้มการทิ้งงานลดลง

ในงานวิจัยเรื่อง ‘การศึกษาปัจจัยของปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ โดย ชูเวช เสนปาน การศึกษาโครงการเฉพาะ เรื่องปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2551 พบว่าปัจจัยที่มีค่าสำคัญต่อการทุจริต ได้แก่ การไม่เผยแพร่ข้อมูล การระบุคุณสมบัติผู้รับจ้างเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อรายใดรายหนึ่ง [5] รวมถึงผู้รับจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือผู้รับจ้างรายใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน และไม่ได้ประเมินศักยภาพและความพร้อมในด้านบุคลากร เครื่องมือ โรงงาน และฐานะทางการเงินของตนเอง เข้าเสนอราคางานโครงการที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทเป็นจำนวนมาก และเสนอราคางานต่ำมากจนดำเนินการไม่ได้ เมื่อดำเนินไปได้ระยะหนึ่งก็จะเกิดปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ตามมา เช่น งบประมาณไม่เพียงพอ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเกิดการทิ้งงานตามมา

'งานโยธา' ถูกผู้รับเหมาทิ้งงานมากที่สุด

'งานโยธา' คืองานที่มีแนวโน้มว่าผู้รับเหมาจะทิ้งงานมากที่สุด (โครงการของ อปท.) ด้วยเหตุที่งานโยธาต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักร ประสบการณ์และผลงานในการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ผู้รับจ้างที่ไม่มีขีดความสามารถและความพร้อมที่เพียงพอเข้ามาดำเนินการโครงการละทิ้งงานเมื่อประสบปัญหา ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ประเภทงานที่มีผู้ทิ้งงานมากที่สุดคือ งานโยธา จำนวน 185 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 82.6 ส่วน งานอาคาร มีผู้ทิ้งงาน 39 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 17.4 งานวิจัยชิ้นนี้วิเคราะห์ว่า เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่หลักในการให้บริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ส่งผลให้ต้องมีการดำเนินโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก เช่น การสร้างถนน ทางระบายน้ำ เป็นต้น ด้วยเหตุที่งานโยธาต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักร ประสบการณ์และผลงานในการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้เมื่อผู้รับจ้างที่ไม่มีขีดความสามารถและความพร้อมที่เพียงพอเข้ามาดำเนินการโครงการ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมารวมถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอ ขาดทักษะและความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน และหน่วยงานไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นในการจ้างที่เป็นรูปธรรม ทำให้การจ้างงานก่อสร้างขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลส่งผลให้เกิดการทิ้งงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กรมทางหลวงเคยเสนอว่าโครงการก่อสร้างทางที่ต้องบูรณการร่วมกับงานสาธารณูปโภคอื่นใดที่มีความยุ่งยาก จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญและต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนทั้งในขณะก่อสร้างและหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ดังนั้นการกำหนดศักยภาพของผู้รับเหมาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อผลสำเร็จของงาน

ผู้รับเหมาในภาคอีสาน ทิ้งงานมากที่สุด

ภาพชาวบ้านบ้านไร่พัฒนา ม.13 ต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี รวมตัวกันนำผู้สื่อข่าวเข้าตรวจสอบพื้นที่โครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านไร่พัฒนาเมื่อปลายปี 2560 ที่ผู้รับเหมาทิ้งงานไปตั้งแต่ปลายปี 2558 ทั้งนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่ผู้รับเหมามีแนวโน้มทิ้งงานมากที่สุด ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์

ด้านที่ตั้งโครงการที่มีผู้ทิ้งงานมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเหนือ จำนวน 96 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 42.8 รองลงมาคือ ภาคเหนือ จำนวน 71 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 31.7 ภาคกลาง 49 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 21.9 และ ภาคใต้ 8 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 3.6 งานวิจัยชิ้นนี้วิเคราะห์ว่า เนื่องจากผู้รับจ้างส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดเครื่องมือเครื่องจักร หรือประมูลงานในราคาที่ต่ำเกินไปส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการก่อสร้าง และทำให้เกิดการขาดทุน รวมถึงไม่ได้ประเมินศักยภาพของตนเองในด้านต่างๆ เช่น ฐานะการเงิน บุคลากร เครื่องมือเครื่องจักร ประสบการณ์ในการทำงานก่อนที่จะเสนอราคา หรือขาดบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารโครงการ การบริหารจัดการโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ควบคุมงานไม่ทั่วถึง ขาดการติดตามอย่างใกล้ชิดจึงส่งผลให้เกิดการทิ้งงานจำนวนมาก

ในงานศึกษา ‘การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความล่าช้าในโครงการก่อสร้างอาคาร ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ ของวุฒิพงศ์ อ่อนศรีสมบัติ โครงงานปริญญาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานก่อสร้างและสาธารณูปโภค มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปี 2556 ที่ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความล่าช้าในโครงการก่อสร้างอาคาร ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อความล่าช้าและส่งผลให้เกิดการทิ้งงาน คือ ผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงิน ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินงวดล่าช้า มีแรงงานก่อสร้างไม่เพียงพอ ทำให้งานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา และพบว่าขั้นตอนในการเวียนชื่อผู้ทิ้งงานของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตามระเบียบในการแจ้งเวียน รวมถึงการใช้เวลานานมากในการดำเนินการ ทำให้ผู้รับจ้างที่ทิ้งงานแล้วแต่ยังไม่ได้เวียนชื่อยังคงมีสิทธิเสนองานได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดการทิ้งงานเพิ่มมากขึ้นด้วย [6]

นอกจากงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ข้อมูลของงานวิจัยชิ้นนี้ยังสอดคล้องกับการให้ข้อมูลของอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เมื่อปี 2560 ที่ระบุว่าว่าปีงบประมาณ 2561 ในส่วนการก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบทนั้นมีความล่าช้า เพราะงานรับเหมาก่อสร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการแข่งขันกันมากเพื่อให้ได้งาน ส่งผลให้ผู้รับเหมาบางรายที่ได้งานไปหลายโครงการแล้วก่อสร้างโครงการไม่ทัน รวมถึงมีการทิ้งงาน ทำให้โครงการล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ ส่วนงานก่อสร้างในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ถือว่าไม่มีความผิดปกติ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ [7]

 

อ้างอิง
[1] เนื้อหาส่วนใหญ่ในรายงานชิ้นนี้มาจากงานวิจัย 'การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ทิ้งงานก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหนังสือเวียนของกรมบัญชีกลาง' โดย บุญรักษ์ แวนบอเซอร์ นิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และกำพล ทรัพย์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เผยแพร่ใน วารสารการบริหารท้องถิ่น ปีที่ 11 ฉบับที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.2561)
[2] 'ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล' , มลิ ใจมุ่ง, วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544
[3] 'ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น', อัจจิมา ฉัตรแก้ว, วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555
[4] เรื่อง 'ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการบริหารโครงการก่อสร้างทางและสะพานของผู้รับเหมาในจังหวัดเชียงใหม่' โดยฐิติพงศ์ จิระเจริญวงศ์, การค้นคว้าแบบอิสระปริญญาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม, 2555
[5] ‘การศึกษาปัจจัยของปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ โดย ชูเวช เสนปาน การศึกษาโครงการเฉพาะเรื่องปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2551
[6] ‘การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความล่าช้าในโครงการก่อสร้างอาคาร ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ ของวุฒิพงศ์ อ่อนศรีสมบัติ, โครงงานปริญญาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานก่อสร้างและสาธารณูปโภค มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี,2556
[7] 'อธิบดีทางหลวงชนบท' ฮึ่ม ขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมางานอืด, เดลินิวส์, 10 ส.ค. 2560

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การลงโทษผู้ทิ้งงานตามระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: