คนไทยรู้ยัง: อ้อย 1 ตัน ผลิตอะไรได้บ้าง?

ทีมข่าว TCIJ: 28 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 32051 ครั้ง

ห่วงโซ่การผลิตอ้อยและน้ำตาลพบว่าอ้อย 1 ตัน จะได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจค่อนข้างสูง นอกจากนี้มูลค่าเชิงเศรษฐกิจในส่วนของใบและยอดอ้อยที่เกิดขึ้นในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาตกปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าหากพิจารณาห่วงโซ่การผลิตอ้อยและน้ำตาลพบว่าอ้อย 1 ตัน จะได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจค่อนข้างสูง อาทิ ได้น้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 100-110 กิโลกรัม กากน้ำตาลประมาณ 45-50 กิโลกรัม นำไปผลิตเอทานอล แอลกอฮอล์ ผงชูรส ซอส น้ำส้มสายชู อาหารสัตว์ และได้กากชานอ้อยประมาณ 280-290 กิโลกรัม ซึ่งนำมาผลิตเยื่อกระดาษ บรรจุภัณฑ์จานชาม แผ่นไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ และใช้มากที่สุดคือเป็นเชื้อเพลิงผลิตไอน้ำในขั้นตอนผลิตน้ำตาล และใช้ในโรงไฟฟ้า โดยชานอ้อย 280-290 กิโลกรัม สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงประมาณ 100  กิโลวัตต์ชั่วโมง  

สำหรับในส่วนของเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวอ้อยอันได้แก่ใบและยอดอ้อย ซึ่งสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกัน โดยอ้อย 1 ตัน จะได้ใบและยอดอ้อยรวมประมาณ 170 กิโลกรัม และเนื่องจากใบและยอดอ้อยมีค่าความร้อนที่สูงกว่ากากชานอ้อย ทำให้เป็นที่ต้องการของโรงงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โดยมีการรับซื้อใบและยอดอ้อย โดยให้ราคาประมาณ 650 บาทต่อตันในกรณีซื้อในไร่ (เกษตรกรเป็นผู้รวบรวมเอง)

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาปริมาณใบและยอดอ้อยที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าเท่าที่ควร เนื่องจากปริมาณอ้อยที่ถูกส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ส่วนใหญ่เป็นอ้อยไฟไหม้เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 65.0  ของปริมาณอ้อยเข้าโรงงานทั้งหมด และมีการตัดอ้อยสดเพียงร้อยละ 35.0 (เฉลี่ยปีการผลิต 2551/52-2560/61) และแม้ว่าภาครัฐจะได้มีการรณรงค์และมีมาตรการหักเงินค่าอ้อย 30 บาทต่อตัน สำหรับอ้อยไฟไหม้ที่ส่งเข้าโรงงาน และนำเงินที่ได้มาเฉลี่ยให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดก็ตาม แต่สัดส่วนอ้อยไฟไหม้มีทิศทางที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ใบและยอดอ้อยส่วนใหญ่ถูกเผาทิ้งไประหว่างการเก็บเกี่ยว

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตัดอ้อยไฟไหม้ได้รับความนิยม เกิดจากระยะเวลาการตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลอยู่ในช่วงสั้นๆ ประมาณ 4-5 เดือน (ธันวาคม-เมษายน) ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ทำให้จำเป็นต้องเร่งตัดอ้อยในช่วงดังกล่าว ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้เกิดการเผาไร่อ้อยเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว และลดปัญหาการใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะที่แรงงานตัดอ้อยส่วนใหญ่ก็เลือกรับจ้างตัดอ้อยไฟไหม้มากกว่า เนื่องจากสะดวกและได้ค่าแรงต่อวันดีกว่า ขณะที่การตัดอ้อยสดจะใช้เครื่องจักรในการตัดเป็นส่วนใหญ่ และมีพื้นที่ส่วนน้อยที่ยังคงใช้แรงงานในการตัดอ้อยสด ขณะเดียวกัน ใบและยอดอ้อยที่เกิดจากการตัดอ้อยสด ส่วนใหญ่ก็ถูกเผาทิ้งเพื่อลดผลกระทบจากไฟที่อาจไหม้และลามสร้างความเสียหายให้กับตออ้อยที่กำลังงอกขึ้นมาใหม่ รวมถึงบางส่วนก็มีการไถกลบในไร่เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่เพาะปลูก และมีเพียงส่วนน้อยที่ถูกเก็บรวบรวมส่งเข้าโรงไฟฟ้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามูลค่าเชิงเศรษฐกิจในส่วนของใบและยอดอ้อยที่เกิดขึ้นในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาตกปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เฉพาะปีการผลิตล่าสุด 2560/61 จากปริมาณอ้อย 134.93 ล้านตัน พบว่ามีใบและยอดอ้อยประมาณ 22.94 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท (รายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 6,800 ล้านบาท) แต่การตัดอ้อยไฟไหม้ที่มีสัดส่วนสูง ประกอบกับการเก็บรวบรวมใบและยอดอ้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายใหญ่ ที่มีความพร้อมทางด้านการตัดอ้อยสดด้วยรถตัด และมีเครื่องมือรวบรวมใบและยอดอ้อย ส่งผลให้ศักยภาพการเก็บรวบรวมใบและยอดอ้อยในปัจจุบันมีเพียง 3-4 ล้านตัน คิดเป็นรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายเพียงประมาณ 1,000 ล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: