รัฐบาลมาเลเซียเสนอร่างกฎหมายเอาผิดผู้เผยแพร่ข่าวสารปลอมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยไอเดียเบื้องต้นของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค นั้นเป็นไปเพื่อการต่อต้านข่าวปลอม โดยมีสาระสำคัญว่าผู้ที่เผยแพร่สิ่งที่เรียกว่า "ข่าวปลอม" อาจต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลาสูงสุดนานถึง 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสูงสุด 500,000 ริงกิต (ราว 3.9 ล้านบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยร่างกฎหมายให้คำจำกัดความของ "ข่าวปลอม" หรือ "ข่าวเท็จ" ว่าหมายถึงข้อมูลใดก็ตามที่ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวหรือคลิปเสียงซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีมูลความจริง แม้มีความคลาดเคลื่อนเพียงนิดเดียวก็ถือเป็นข่าวปลอม
หากร่างฯ ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภา กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นชาวต่างชาติ ต่อให้ไม่ได้อาศัยอยู่ในมาเลเซียก็ตาม ทั้งนี้ ผู้นำมาเลเซียกล่าวว่าร่างกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมฉบับนี้จะนำไปสู่การลดจำนวนข่าวสารเท็จและข้อมูลลวงที่เผยแพร่อยู่ในสังคม ในขณะที่กฎหมายยังคงคุ้มครองสิทธิและมอบเสรีภาพอย่างเต็มที่ให้แก่พลเมือง ในการแสดงออกทางความคิดเห็นและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามกรอบของรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายค้านซึ่งนำโดยพรรค UMNO ของดร. มหาเธร์ โมฮัมมัด ไม่เห็นด้วยว่ามาเลเซียต้องการกฎหมายแบบนี้ เนื่องจากในปัจจุบันสื่อแทบทุกแห่งในประเทศอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเคร่งครัดของภาครัฐอยู่แล้ว โดยกล่าวประชดต่อรัฐบาลว่า กรณีของคดีทุจริตในโครงการกองทุนพัฒนาแห่งรัฐ (1MDB) ที่ยังคงมีข้อครหาว่านายกนาจิบมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น หากมีข้อมูลใดก็ตามที่เกี่ยวข้องหลุดออกมาจะถูกตรวจสอบจากรัฐบาลเป็นพิเศษ จึงไม่ต้องกังวงลเรื่องข่าวปลอม
ด้าน Asia Internet Coalition กลุ่มความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเข้าใจนโยบายด้านอินเทอร์เน็ตแห่งเอเชียแปซิฟิก ที่ประกอบไปด้วย Apple, Facebook, Google, LinkedIn, Twitter และ Yahoo ได้กล่าวประณามว่ากฎหมายนี้จะปิดกั้นการเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลของประชาชนในมาเลเซีย ขณะที่องค์กรนิรโทษกรรมสากล Amnesty International ได้แถลงประณามการใช้คำที่มีความหมายกว้างอย่าง "ข่าวปลอม"ในการจัดการผู้ที่วิจารณ์รัฐบาล
ที่มาข่าวและภาพประกอบ: The Guardian, 27/3/2018
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ