ดีเดย์ 1 พ.ค. 2561 'หอพัก-อพาร์ตเมนต์' ลดค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำ เหลือ 3.90 บาท/หน่วย และ 7 บาท/หน่วย

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 27221 ครั้ง

ดีเดย์ 1 พ.ค. 2561 'หอพัก-อพาร์ตเมนต์' ลดค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำ เหลือ 3.90 บาท/หน่วย และ 7 บาท/หน่วย

สคบ.ไล่บี้หอพัก-อพาร์ตเมนต์กว่า 11,000 ราย หั่นค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำประปา ลงเหลือ 3.90 บาท/หน่วย และ 7 บาท/หน่วย ตามลำดับ ดีเดย์ 1 พ.ค. 2561 นี้ ย้ำเจ้าของหอพักเรียกเก็บค่าประกัน-ค่าเช่าล่วงหน้าได้ไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น และต้องคืนภายใน 7 วัน หลังเลิกเช่า ฮึ่มหากฝ่าฝืนปรับ 1 แสนบาท/สัญญา ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2561 ว่าพลตำรวจตรีประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่าตามที่ สคบ.ได้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องธุรกิจให้เช่าอาคารที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ไปก่อนหน้านั้น ในวันที่ 1 พ.ค. 2561 นี้ ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยลดภาระของประชาชนและกำหนดอัตราค่าน้ำและค่าไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะหอพักและอพาร์ตเมนต์ทั่วประเทศ เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนมายัง สคบ.เป็นจำนวนมากว่า หอพักและอพาร์ตเมนต์ส่วนใหญ่กำหนดค่าน้ำและค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าบ้านเรือนทั่วไปมากกว่า 2-3 เท่า เช่น ตั้งแต่ที่ระดับ 7-10 บาท/หน่วย ส่วนค่าน้ำจัดเก็บอยู่ที่ 17-18 บาท/หน่วย

เลขาธิการ สคบ.กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศ คือ 1) อัตราค่าไฟฟ้าหอพักจะต้องเป็นราคาเดียวกันกับที่การไฟฟ้าจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันคือ 3.90 บาท/หน่วย และสามารถบวกเพิ่มในส่วนการใช้ไฟฟ้าส่วนกลางโดยให้คำนวณรวมตามการใช้งานที่เกิดขึ้นจริงนำมาคำนวณกับจำนวนห้อง 2) อัตราค่าน้ำต้องเป็นราคาเดียวกับราคาที่การประปาจำหน่าย คือ 7 บาท/หน่วย และผู้ประกอบการจะต้องจัดเก็บค่าน้ำตามการใช้จริง รวมทั้งขอให้ ยกเลิกการกำหนดอัตราขั้นต่ำที่ไม่ว่าจะใช้น้ำหรือไม่ใช้ก็ต้องจ่าย

นอกจากนี้ สคบ.ยังได้เพิ่มเติมส่วนของเงื่อนไขในการเช่าหอพักและอพาร์ตเมนต์ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในหลายประเด็น คือ ผู้ให้เช่าสามารถจัดเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น เงินประกันต่าง ๆ รวมถึงค่าเช่าล่วงหน้าได้ไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งภายหลังจากที่ประกาศนี้บังคับใช้แล้วผู้เช่าสามารถ “เรียกคืน” เงินส่วนเกินที่จ่ายไว้ได้ทันที สคบ.ยังกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่ผู้เช่าค้างค่าใช้จ่าย ผู้ให้เช่าไม่สามารถล็อกห้อง หรือเข้าห้องของผู้เช่า นอกจากจะได้รับการอนุญาต ในกรณีที่ผู้เช่าเลิกเช่า ผู้ให้เช่าจะต้องคืนเงินประกันภายใน 7 วัน และกรณีที่ผู้เช่าแจ้งว่าจะเช่าอาศัยระยะยาว เช่น 1 ปี แม้จะเช่าพักไม่ถึงเวลาที่กำหนด ไม่จำเป็นจะต้องจ่ายค่าเช่าในส่วนที่เหลือ แต่จะต้องแจ้งผู้ให้เช่าล่วงหน้าเท่านั้น

“สคบ.ให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งผู้เช่า และผู้ให้เช่า ก่อนหน้านี้เราก็เปิดรับฟังความเห็นไปแล้ว และเรียกผู้ประกอบการเข้ามาฟังรายละเอียดแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามประกาศดังกล่าว และหากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นทางการในวันที่ 1 พ.ค.นี้ แต่มีผู้ให้เช่าไม่ปฏิบัติตามก็สามารถร้องเรียนเข้ามาที่ สคบ.ได้ และ สคบ.จะลงพื้นที่ทันทีเพื่อตรวจสอบ และหากพบว่าไม่ดำเนินการจะถูกปรับ 100,000 บาท/สัญญา หรือทั้งจำทั้งปรับ”

พลตำรวจตรีประสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีประเด็นการเช่าใช้หอพักและอพาร์ตเมนต์ที่ผู้เช่ายังมีความกังวลคือ ประกาศคณะกรรมการดังกล่าวอาจจะทำให้ผู้ให้เช่านำมาเป็นข้ออ้างในการขอปรับขึ้นค่าเช่าหรือไม่นั้น สคบ.เชื่อว่าจากจำนวณหอพักและอพาร์ตเมนต์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจะเกิดการแข่งขันด้วยซ้ำ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกเช่าตามความต้องการได้ ซึ่งในกรณีที่ผู้ให้เช่าปรับขึ้นค่าเช่า ในทางกลับกันก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเช่นกัน

รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่านิติบุคคลที่ดำเนินกิจการให้เช่าพักอาศัย ณ 28 ก.พ. 2561 แบ่งเป็น ประเภทการบริการที่พักแรมประเภทอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น คือ เป็นการให้พักอาศัยสำหรับที่พักอาศัยกึ่งถาวรในบอร์ดิ้งเฮาส์ ห้องเช่า และบ้านเช่า รวม 273 ราย และประเภทการเช่าและดำเนินการที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองหรือเช่าจากผู้อื่นเพื่อเป็นที่พักอาศัยรวม 11,499 ราย

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกรณีการออกประกาศ สคบ.เพื่อบังคับให้ผู้ประกอบการหอพักเก็บค่าน้ำและค่าไฟในอัตราเดียวกับการประปาฯ และการไฟฟ้าฯ ว่า สคบ.ได้ลงไปดูหอพักในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เจ้าของหอพักปฏิบัติตามประกาศของ สคบ. ซึ่ง สคบ.ลงไปดูใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.สร้างการรับรู้ให้กับเจ้าของหอพักให้ปฏิบัติตามประกาศของ สคบ. 2.สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค และ 3.ตรวจสอบสภาพหอพักให้ได้มาตรฐาน

“เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ผู้บริโภคและเจ้าของหอพักรู้สิทธิ์ของตัวเอง ไม่เฉพาะเรื่องอัตราค่าน้ำและค่าไฟเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องเงินประกันล่วงหน้า เงินประกันความเสียหาย การประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การเก็บค่าเช่าหอพักล่วงหน้าได้เพียง 1 เดือน หากเจ้าของหอพักไม่ปฏิบัติตามสามารถร้องเรียนมายัง สคบ.ได้” นายสุวพันธุ์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: