ทางรอดสื่อไทย 'นำเสนอเฉพาะทาง-ผลิตเนื้อหาพรีเมียม-สร้างโมเดลธุรกิจใหม่'

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3306 ครั้ง

ทางรอดสื่อไทย 'นำเสนอเฉพาะทาง-ผลิตเนื้อหาพรีเมียม-สร้างโมเดลธุรกิจใหม่'

สัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2561 ทางเลือกทางรอดคนสื่อ ยุค 4.0 คาดอนาคต AI มีบทบาทเข้ามามีส่วนช่วยในการทำข่าว ชี้ ‘สำนักข่าวเฉพาะทาง’ จะเป็น ‘ทางเลือก’ ฝ่าวิกฤตสื่อมวลชน เจาะช่องว่างทางการตลาดในแพลตฟอร์มที่แตกต่างต่างไป แนะผลิตเนื้อหา 'พรีเมียม' มองหา 'โมเดลธุรกิจใหม่' เร่งสร้างความน่าเชื่อถือ โอกาสรอดของสื่อไทยในวันที่ต้องเผชิญภาวะความปั่นป่วน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2561 ในการสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2561 หัวข้อ ‘ทางเลือกทางรอดคนสื่อ ยุค 4.0’ จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในช่วงการบรรยายพิเศษ (TED TALK) หัวข้อ ‘เทคโนโลยี 4.0 ข่าวแห่งอนาคต’ 

นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.กล่าวว่าปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอจะเข้ามามีส่วนช่วยในการทำข่าวอย่างมากมายในอนาคต ทั้ง การเลือกข่าวจากข้อมูลมากมายมหาศาล ไม่ให้ข่าวที่ออกมาจมไปกับข้อมูลซึ่งคาดกันว่าในปี 2024 เอไอจะสามารถเขียนบทความได้ในระดับนักเรียนมัธยม และต่อไปจะแต่งเพลงได้ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ที่จะติดท็อปชาร์ตด้วย และปี 2049 จะเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ได้ 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมองกันว่าเอไอจะทำงานศิลปะไม่ได้ แต่หลังๆ จะเห็นเอไอทำงานศิลปะกันมากขึ้น หรือการออกแบบการเขียนข่าวตามสไตล์เฉพาะตัว ด้วยการเรียนรู้สำนวนของคนเขียน ที่อังกฤษ ใช้เอไอเปลี่ยนข่าวให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ในการนำเสนอ ที่ญี่ปุ่นสามารถใช้เอไอเขียนนวนิยายสั้นเกือบชนะรางวัล Literary Prize

นายชัย กล่าวว่าเอไอไม่ได้มีแต่เฉพาะด้านบวก เพราะอาจไม่สามารถทราบได้ว่าข่าวที่เอไอเขียนมาลอกใครมาหรือไม่ หรือเอไอมีการตระหนักถึงสิ่งที่เขียนหรือไม่ ดังนั้นถึงเทคโนโลยีเปลี่ยนแต่นักข่าวไม่เปลี่ยน ซึ่งเอไอก็อาจตามไม่ทันศัพท์ใหม่ๆ ที่สำคัญต้องใช้จริยธรรมนำเอไอ ต้องใช้จริยธรรมนักข่าวควบคุมเอไอ ป้องกันเรื่องความเป็นส่วนตัวของมนุษย์และเลือกบิ๊กดาต้าที่จะป้อนให้กับเอไอ 

น.ส.สายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่ากูเกิลตั้งมา 20 ปี มีภารกิจที่ไม่เคยเปลี่ยนคือต้องการมีส่วนร่วมจัดการข้อมูลข่าวสารบนโลกใบนี้ มีประโยชน์ต่อคนบนโลก โดยผู้สื่อข่าวทำสิ่งเหล่านี้มาก่อนกูเกิล กูเกิลจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาบริหารจัดการ นำมาสู่โครงการ Google News Initiative สนับสนุนนักข่าวทั่วโลก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตข่าว และหลักสูตรออนไลน์ ยังช่วยการสร้างการเติบโตร่วมกันไปกับผู้สื่อข่าว เจ้าของสื่อบนแพลตฟอร์มออนไลน์

อย่างไรก็ตามกูเกิลมีเครื่องมือมากมายในการช่วยทำข่าว ทั้งเครื่องมือแผนที่ที่สามารถวัดระยะทาง ระยะเวลาเดินทางที่ค่อนข้างแม่น กูเกิล ทรานสเลทจากแปลภาษาเป็นคำๆ เริ่มเป็นประโยค อัพเดทที่ในภาษาไทยถือเป็นการก้าวกระโดดในรอบ 20 ปี แต่ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ช่วยทำให้ทำงานข่าวได้ง่ายขึ้น รวมทั้งโปรแกรมจดโน๊ตด้วยคำสั่งเสียงที่เป็นแบบเรียลไทม์ จดโน๊ตข้างนอกคนในออฟฟิศเห็นหมดพร้อมกัน หรือ อิมเมจกูเกิลที่สามารถตรวจสอบว่าเป็นรูปจริงรูปแต่ง มีที่มาจากไหน

น.ส.สายใย กล่าวว่า กูเกิลเทรนด์ เป็นอีกเทคโนโลยีที่ใช้ท่ามกลางการค้นหาข้อมูลล้านล้านเว็บไซต์ เมื่อเรามีข้อมูลคนใช้เราก็จะรู้ว่าคนสนใจข่าวอะไร เช่น ช่วงนี้มี ‘คีย์เวิร์ด’ ไหนที่คนค้นหาเยอะ เช่น ในอเมริกา มีคำค้น ‘ย้ายไปแคนาดา’ สูงมากในช่วง โดนัล ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง หรือหาได้ว่าพื้นที่ไหน ชอบเพลงแบบไหน จะได้เขียนข่าวหรือสัมภาษณ์บุคคลได้ตรงกับความสนใจมากที่สุด

นอกจากนี้ กูเกิล ยังทำงานร่วมกับสมาคมนักข่าวทั่วโลก เพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง ไม่ผิด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเราไม่เสนอข้อมูลผิด ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร โดยเฉพาะเฟคนิวส์ กูเกิล มีนโยบายให้ความสำคัญ โดยทำงานร่วมสามาคมข่าวฯ โดยเร็วๆ นี้ จะมีให้สำนักข่าวร่วมยืนยันความถูกต้องลงในเนื้อหาที่เผยแพร่

นายชรัตน์ เพ็ชรธงไชย หัวหน้าธุรกิจไลน์ทูเดย์, ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้คนสร้างสรรค์เนื้อหาได้รวดเร็วและมีปริมาณมากขึ้น จนกระทบไปถึงทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตสื่อ เพราะเมื่อผู้อ่านมีตัวเลือกมากขึ้นก็จะทำให้เกิดเกิดการแข่งมากขึ้นอีกทั้งปัจจุบันผู้ผลิตเนื้อหาไม่ใช่แค่สื่อมวลชนทั่วไปแต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้คนทำข่าวยังอยู่รอดได้จะต้องพิจารณาใน 3 อย่างคือ เนื้อหา คนดู และ ช่องทาง ซึ่งด้วยเทคโนโลยีทำให้การผลิตเนื้อหาสามารถรู้ได้ว่า คนอ่านชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ส่วนช่องทางการสื่อสารบริการของไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงได้ทั้งผู้ผลิตและคนอ่าน รวมทั้งใช้เอไอเข้าคัดกรองเนื้อหาไม่ได้นำข่าวเป็นพันมาเสนอทั้งหมดแต่ใช้อัลกอริธึมมาใช้ให้รู้ว่าคนอ่านชอบอ่านข่าวอะไร

“สิ่งที่ต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้ คือประเด็นเรื่องความเร็วไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ต้องเป็นประเด็นความจริง ความถูกต้องเพราะคนสามารถตรวจสอบได้ รวมไปถึงเรื่องการเอนเอียงไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ใช่มองแต่ปริมาณ แต่ต้องมองคุณภาพ และการทำคอนเทนต์ไม่ได้ทำคอนเทนต์เดียวจะเหมาะสมกับทุกที่ แต่ต้องคิดว่าแพลตฟอร์มนี้เหมาะกับเนื้อหาอะไร”

นายชรัตน์ กล่าวว่าต่อไปคนที่อ่านข่าวจากสมาร์ทโฟนเราจะรู้ว่า คนอ่านเคยเข้าเว็บไซต์อะไรมาแล้วบ้าง ก็จะสามารถเดาทางพฤติกรรม ว่าคนคนนั่นสนใจสิ่งใดและจึงจะนำเสนอข่าวไปยังคนคนนั้น ไลน์เหมือนแพลตฟอร์มอีกทางเลือกหนึ่งทำให้ตัวข่าวถูกกระจายมากขึ้นเป็นตัวกลางช่วยให้เกิดการแบ่งรายได้กับคนผลิตเนื้อหา ขณะเดียวกันก็จะดูแลด้านความปลอดภัยเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ด้วย 

นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่ายุคนี้มีความเปลี่ยนแปลงจากการทำข่าวสมัยก่อนที่ต้องใช้แท่นพิมพ์ 200-300 ล้านบาท มีรถส่งหนังสือพิมพ์ต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่เมื่อทุกอย่างเป็นดิจิตอล พฤติกรรมคนอ่านก็เปลี่ยน การทำข่าวก็เปลี่ยนไป ทั้งช่องทางและรูปแบบปัจจุบันมีแค่มือถือเครื่องเดียวก็จบ อยากให้คนอ่านเยอะก็มาบูสต์โพสต์เลือกเป้าหมายได้เลย ทางสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้รวมกลุ่มเพื่อพัฒนาตัวเองในการทำข่าวดิจิตอล

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น 4 ปีที่เรียนก็ถือเป็นเบ้าหลอมให้นักศึกษา จะได้ไปศึกษาเครื่องมือที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเรื่องความเร็วก็อาจนำมาสู่ความผิดพลาด ขนาดหนังสือพิมพ์เดิมที่ทั้งนักข่าวส่งข่าว รีไรท์ พิสูจน์อักษร ยังผิดได้ ดังนั้นออนไลน์มีโอกาสผิดอยู่แล้ว อยู่ที่ผิดแล้วจะยอมรับไหม สังคมไทยพร้อมให้อภัย ขณะที่ปัญหาเรื่องข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์เป็นปัญหาระดับชาติหากเป็นสำนักข่าวใหญ่ๆ เมื่อทำผิดก็สามารถไปติดตามฟ้องร้องหรือหาคนผิดได้ไม่ยากดังนั้นเขาคงไม่ทำข่าวปลอมให้อ่าน

สำนักข่าวเฉพาะทางจะเป็น ทางเลือกฝ่าวิกฤตสื่อมวลชน

ในการเสวนาหัวข้อ 'ทางเลือกฝ่าวิกฤตวารสารศาสตร์' น.ส.บุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวไทยพับลิก้า กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของการออกมาสำนักข่าวไทยพับลิก้า ขณะนั้นทำงานที่หนังสือพิมพ์ประชาชาชาติธุรกิจ โดยส่วนตัวชอบงานเชิงวิชาการ อยากทำข่าวเศรษฐกิจหนักๆ เชิงข้อมูลใช้อ้างอิงได้ จุดยืนของสำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงเน้นทำเรื่องข่าวเจาะทั้งเรื่อง สังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม เป็นภาพใหญ่ไม่ต้องแบ่งเป็นโต๊ะข่าว ทุกวันนี้ก็ยังมีนักข่าว 6 คนและไม่คิดว่าจะขยายใหญ่ไปมากกว่านี้ เพราะเรื่องอื่นๆ ที่เฉพาะทางสามารถหาเอาท์ซอร์สได้จากนักข่าวในสนาม

ทั้งนี้จากเริ่มต้นที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักก็พัฒนามาเรื่อย เน้นทำเรื่องตรวจสอบความไม่โปร่งใส การทุจริต คอรัปชั่น ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะป้องกันตัวเองได้คือเรื่องความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ สามารถอ้างอิงข้อมูลได้ทุกเรื่อง มีเอกสารประกอบ เป็นดาต้าเจอร์นอลิซึม นำข้อมูลที่มีอยู่มากมายมาเล่าแบบใหม่ในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเทรนด์ต่อไป ไม่สามารถทำแบบเข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ทั้งหมด ต้องเน้นความเฉพาะด้านเฉพาะทาง

น.ส.บุญลาภ กล่าวว่าที่ผ่านมาไทยพับลิก้า ไม่ได้แค่เสนอข่าวเฉยๆ แต่ได้ผลักดันไปสู่การแก้ปัญหาเช่นเรื่องข่าวหวยที่ใช้เครื่องมือขอข้อมูลพบว่ามีมาเฟียเยอะแยะไปหมด จนต่อมานำไปสู่การรื้อปรับโครงสร้างใหม่ซึ่งยังต้องเกาะติดต่อไป ซึ่งเราไม่เน้นทำเป็นสื่อใหญ่ คิดเล็ก ทำเล็กเจาะเฉพาะทาง สำหรับนักข่าวแล้วเนื้อหาก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเรื่องแพลตฟอร์มก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบ

นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร เดอะ แสตนดาร์ด กล่าวว่าเดอะแสตนดาร์ดเกิดจากโอกาสและช่องว่างทางการตลาด ซึ่งกลุ่มผู้อ่านรอข่าวลักษณะนี้ ในขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยถือเป็นจุดบรรจบระหว่างความน่าเชื่อถือ และความสร้างสรรค์มีการนำเสนอข่าวด้วยอินโฟกราฟฟิคย่อยข้อมูลยากๆ ให้เข้าใจง่าย คนชอบอ่านอะไรสั้นๆ มีโมชั่นกราฟฟิค เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเดอะแสตนดาร์ด มีพนักงาน 80 คน มีนักข่าวประมาณ 20 คน ซึ่งได้พิสูจน์ตัวในการเป็นสำนักข่าวออนไลน์ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสื่อ เราจะต้องรีอินเว็นท์ตัวเอง ซึ่งเราจะไม่เรียกตัวเองว่า ‘นักข่าว’ แต่เป็น ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ นำเสนอหลายแพลตฟอร์มไขว้กันไปหมด ซึ่งต้องมีพื้นฐานทางด้านวารสารศาสตร์ อย่างนักข่าวต้องไลฟ์ เปิดหน้า จัดรายการ ทำได้หลายแพลตฟอร์ม ซึ่งสิ่งที่สถาบันการศึกษายังต้องให้ความสำคัญในการสอนคือศาสตร์ของการเล่าเรื่อง

นายอภิรักษ์ โรจน์อำพร บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่าการพัฒนามาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายสิ่งที่ถูกถ่ายทอดมาทางดีเอ็นเอ แต่อีกด้านก็ดูมีอายุทำให้ต้องปรับกันขนานใหญ่ ทั้งวิธีการทำงานและเรื่องอื่นๆ ดังนั้นทั้งทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์มีโอกาสรอดยากถ้าไม่ปรับตัว ยกตัวอย่างวิธีคิดเรื่องรายได้ เช่น จากเดิมหนังสือพิมพ์แยกการทำข่าว และการหาโฆษณา แต่ระบบใหม่ออนไลน์ทุกอย่างเป็นเงิน

ทั้งนี้เรื่องมาร์เก็ตติ้งจะใช้แบบเดิมก็ไม่ได้ ต้องปรับตัวเพื่อรองรับผู้บริโภคซึ่งต้องหาว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก จากบิ๊กดาต้าทำให้เรารู้ว่าเราจะไปทางไหน บอกได้ว่าอนาคต จะเกิดอะไรขึ้นแต่ด้วยความเป็นองค์กรข่าว อย่างไรก็ต้องคงคุณค่าความเป็นข่าวให้ได้

นายนิกร จันพรม ผู้ก่อตั้ง เว็บไซต์ 77kaoded.com กล่าวว่านักข่าวหากไม่คิดปรับตัวก็ตาย เวลานี้ต้องสามารถทำงานแบบมัลติฟังก์ชั่น โดยเรื่องสำคัญคือเนื้อหา เพียงแต่เรามาติกับรูปแบบ ซึ่งคิดว่าต้องทำทีวี วิทยุ มีกอง บก. แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเห็นว่าน่าจะดึงสติงเกอร์ในพื้นที่ต่างหวัดมาเป็นพาร์ตเนอร์ลดอำนาจจากส่วนกลาง

“ตอนแรกก็มีคนเป็นห่วงว่า จะมาทำออนไลน์แล้วยังให้นักข่าวสติงเกอร์ อัพข่าวกันเอง จะเกิดปัญหาเละเทะ เกิดการฟ้องร้องอะไรกัน แต่ก็เหมือนกับคนเรียนว่ายน้ำที่หากไม่ลองว่ายก็ว่ายไม่เป็น ต้องโยนลงไปในสาระ ซึ่งก็ต้องระวังเรื่องข่าวเท็จ ข่าวลวง แต่นักข่าว ทำกันมา 10-20 ปี มีประสบการณ์ มีตัวตนในจังหวัดเดินไปไหนใครก็รู้หมด” นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวว่าจากที่เปิดเว็บไซต์มาทำให้เห็นว่าเดินทางมาถูกทาง เป็นการปรับโครงสร้างฝ่าวิกฤต ยุคนี้หาคนทำสื่อยาก ซึ่งสิ่งสำคัญคือเรื่องเนื้อหา ส่วนรูปแบบการนำก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะโตขึ้นไปเรื่อยๆ และเป็นชุมชนที่ยึดโยงสังคมเข้าไว้ด้วยกัน

นายนิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วรรณกรรม the paperless กล่าวว่า เริ่มต้นทำเว็บไซต์ด้วยเงิน 7,000 บาท ด้วยต้นทุนสมัยที่เคยทำงานในเซ็คชั่นจุดประกายวรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และที่บ้านมีหนังสือมากเหมือนเป็นบิ๊กดาต้า ครั้งแรกชวนนักเขียนใหญ่มาร่วมงานทั้ง อาจินต์ ปัญจพรรค์ แดนอรัญ แสงทอง มาร่วมเขียน

“จากที่ได้เปลี่ยนมาทำเว็บไซต์ ทำให้เห็นว่าทำนิตยสารยากกว่า เหนื่อยกว่าเพราะมีหลายขั้นตอน มีภาพ มีคอนเทนต์ แต่พอปรับมาทำเว็บไซต์ ก็ไม่ได้ทำแค่เนื้อหา มีทั้ง แต่งเพลง วิจารณ์หนังสือ ซึ่งให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ระหว่างการทำเว็บไซต์ กับ เนื้อหาในสิ่งพิมพ์ เพราะเว็บไซต์ลงปุ๊บก็รู้ปฏิกิริยาตอบรับ ทำไปก็จะรู้ว่าบางเรื่องเหมาะกับทำพ็อคเก็ตบุ้ค บางเรื่องเหมาะกับทำออนไลน์ ซึ่งบางเรื่องคิดว่าคนไม่สนใจแต่กลับสนใจได้ฟีดแบ็คกลับมาเร็ว” นายนิรันทร์ศักด์ กล่าว

แนะผลิตเนื้อหา 'พรีเมียม' มองหา 'โมเดลธุรกิจใหม่' สร้างความน่าเชื่อถือ

ในการเสวนาหัวข้อ 'ทางรอดคนสื่อ' สุทธิชัย หยุ่น ในฐานะ content creator กล่าวว่าวิกฤตความเปลี่ยนแปลงในแวดวงสื่อมวลชน ที่ผ่านมาซึ่งหลายคนไม่ได้ปรับตัวเพราะคิดว่า พายุผ่านมาก็คงจะผ่านไป เขาก็คงจะอยู่ที่เดิม แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น พายุไม่ได้สนใจว่าใครเป็นนายทุน บก.ข่าว โปรดิวเซอร์ พิธีกร รวมถึงคนทำข่าวที่น่าจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ต้องรู้ตัวว่าจะเกิดวิกฤตเพราะหน้าที่เขาคือเตือนภัยคนอื่นต้องรู้แต่ต้น

อย่างไรก็ตาม การจะถามว่าทางรอดของสื่อคืออะไรนั้น แต่ละคนจะต้องไปตัดสินใจเอง ไม่มีใครจะไปบอกได้คุณว่าต้องทำอะไร เปรียบเทียบเหมือนเวลาคุณหิวน้ำก็ไม่ใช่ต้องจูงคุณไปที่น้ำแล้วบอกว่าต้องกินน้ำ ถ้าไม่บังคับก็ไม่กิน การสร้างคอนเทนต์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จะต้องไม่ใช่เหมือนแบบที่คุณเคยทำมา ต้องหาว่ากลุ่มคนรับสารของตัวเองต้องการอะไร

“ผมเคยเปรียบเทียบเสมอว่าองค์กรสื่อเหมือนอยู่ในเรือเอี้ยมจุ๋น แล่นอยู่ในพายุ ผุพัง รั่วหลายจุด ผู้โดยสารเยอะกอดกันอยู่ในเรือหวังว่าพายุจะผ่านไป อย่างนี้ไม่รอดแน่นอน ไม่มีเรือลำไหนรอดในพายุดิสรัปชั่น จึงแนะนำให้กระโดดออกจากเรือหาเรือชูชีพ หากโชคดีก็เจอกันวันข้างหน้า หากโชคไม่ดีก็ตัวใครตัวมัน ซึ่งเรือชูชีพเล็กรับไม่ได้ทุกคน ต้องเฉพาะคนที่พร้อมจะปรับตัว” สุทธิชัย กล่าว

สุทธิชัย กล่าวว่าการจะอยู่รอดได้เริ่มแรกต้องเริ่มเปลี่ยน ทั้งการสร้างคอนเทนต์ ที่คิดว่าต้องทำได้ดีกว่าคนอื่นๆ ซึ่งต้องขยัน ต้องเหนื่อย ต้องเรียนรู้ทุกวัน ต้องทดลอง ยอมเหนื่อย และไม่มีใครจะไปรู้คำตอบว่ารอดหรือไม่รอด นอกจากตัวคุณเอง การเปิดสื่อใหม่ต้องเลิกคิดแบบเก่าว่าจะต้องมีกล้องกี่ตัว ต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ต้องเข้าใจโค้ดดิ้ง

“ปัจจุบันรายได้ของหนังสือพิมพ์บางแห่งเกินครึ่งมาจากซับสคริปชั่น ซึ่งต้องไปดูว่าทำไมคนยอมจ่าย ทั้งวอลล์สตรีท นิวยอร์คไทม์ นิวยอร์คเกอร์ เพราะหาอ่านที่อื่นไม่ได้ คุณภาพเนื้อหาเขาสุดยอดแต่คุณภาพสื่อของเรายังไม่ถึง บิ๊กตู่พูดอะไรก็เขียนเหมือนกัน รูปเดียวกัน แล้วเขาจะมาอ่านของคุณทำไม เพราะเขารู้มาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เราจึงต้องสร้างคอนเทนต์ให้สุดยอด ทำข่าวแบบรูทีนไม่มีทางรอด ไม่มีใครยอมจ่ายเพราะหาอ่านที่ไหนก็ได้ คนที่จะจ่ายตังซื้อมีนะ หากเขาหาอ่านที่อื่นไม่ได้ เพราะต่อไปอีกปีสองปีเอไอก็ทำข่าวรูทีนได้หมด”

พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งทำงานด้าน Data Journalism กล่าวว่าหากถามถึงทางรอดของสื่อมีสองแง่คือ 1.ทางรอดทางด้านธุรกิจ ซึ่ง 3-5 ปีที่ผ่านมามีการล้มหายไปเยอะ 2.ทางรอดในแง่ความน่าเชื่อถือ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ Data Journalism เกิดขึ้นมานาน 200 ปี เพราะเรื่องของความไม่เชื่อ นักข่าวไม่เชื่อว่าคนมีอำนาจในเวลานั้นพูดตรงกับความจริงหรือไม่เขาจึงไปหาข้อมูลและมานำเสนอว่าสิ่งที่ผู้นำพูดไม่เป็นความจริง ด้วยการลงรายละเอียดเกือบ 7 หน้า ในหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง หาเปรียบเทียบ ข่าวสืบสวนสอบสวนก็หมือนจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ถูกนำเสนอให้เห็นภาพ แต่ Data Journalism นั้นเหมือนการนำเลโก้จากทะเลข้อมูลมาต่อเรียงกันให้เห็นภาพ

พีระพงษ์ กล่าวว่าหัวในสำคัญอยู่ที่การเล่าเรื่อง เรื่องที่มีคุณค่าต้องเกิดจากนักข่าวที่มีคุณภาพ ยกตัวอย่างเรื่อง Data Journalism ที่คนรีทวีตกันเยอะ เช่นการปักหมุดว่าส่วนในในแผนที่ที่พลเรือน ทหาร ถูกสังหารในสงคราม หรือของไทยพับลิก้า เรื่องเมรุที่ไหนค่าใช้จ่ายสูง นำไปสู่เรื่องธุรกิจงานศพ

สำหรับการทำงานนั้น นักข่าวด้าน Data Journalism ของ หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนมีแค่ 3 คน ก่อนหน้านี้เมื่อ 200 ปี ที่แล้ว คนทำต้องถึกต้องนั่งย่อยข้อมูล แต่ปัจจุบันจุดเปลี่ยนคือเทคโนโลยีทั้งในเรื่องแผนที่ วิชวลไลซ์ บิ๊กดาต้า ซึ่งต้องทำงานกันเป็นทีม ทั้งนักข่าว นักออกแบบไม่สามรถทำคนเดียวได้ ถามว่านักข่าวถึงขั้นต้องเขียนโค้ดเป็นหรือไม่ ก็ไม่ถึงขั้นนั้นเพราะวิศวกรที่จบมาเขียนโค้ดได้เงินเดือน 6-8 หมื่นบาทหากนักข่าวเขียนโค้ดเป็นจะมาทำข่าวไหม

พีระพงษ์ กล่าวว่าตัวอย่างที่สามารถทำเป็น Data Journalism ได้ คือ การจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้างๆ ต่าง ๆ ที่หากนำมาย่อยวิเคราะห์ก็จะเห็นว่าปัญหาของบ้านเราอยู่ที่ธุรกิจก่อสร้างผูกขาดอยู่ที่แค่ไม่เจ้า ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่าย ส่วนถามว่า Data Journalism จะเป็นทางรอดของสื่อในแง่ธุรกิจไหมก็อาจไม่ใช่คำตอบเพราะการทำมีต้นทุนสูง แต่ก็จะสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้สื่อ

อย่างไรก็ตาม วันนี้ไม่ใช่แค่จะต้องทำให้สื่อรอด แต่ต้องทำให้สังคมรอดไปพร้อมสื่อด้วย อย่างการทำข่าวเชิงข้อมูลนี้ก็จะเป็นการทั้งเพิ่มคุณค่า และความน่าเชื่อถือ และทำไปใครก็ลอกข่าวไม่ได้ ถือเป็นการช่วยยกระดับสื่อ แต่อยู่ที่ต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศให้เกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วยเหมือนอยากให้เด็กแข็งแรงแต่ไม่สร้างสนามกีฬาก็เป็นไปไม่ได้

ชนวัฒน์ วาจานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัททีวีบูรพา จำกัด กล่าวว่าในฐานะคนทำสารคดีซึ่งเป็นที่นิยมในลำดับสุดท้าย ต้องไปต่อท้าย รายการประกวดร้องเพลง เกมโชว์ และอื่นๆ ทำให้เราต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ จนตัวเลขรายได้จากปี 2016 ที่อยู่ 180 ล้านบาท และลดลงไปในปี 2017 เหลือ 150 ล้านบาท แต่ปี 2018 กลับเพิ่มขึ้นมา 180 ล้านและสิ้นปีคาดว่าจะได้ 200 ล้าน โตขึ้น 35 %

ทั้งนี้ ถามว่าทำไมทำสารคดีธุรกิจถึงโตได้ เพราะต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากลิขสิทธิ์เป็นของผู้จ้าง เป็นลิขสิทธิ์เป็นของเรา รวมทั้งผลิตงานระดับ ‘พรีเมียม’ ลึก กว้าง ละเมียดละไม ซึ่งทีวีบูรพาเก่งเรื่องดราม่า เล่าให้คนร้องไห้ได้ ยิ่งเป็นเรื่องจริงผลกระทบยิ่งสูง ซึงจะหยิบจุดนี้มาเป็นจุดแข็งทางธุรกิจ

ชนวัฒน์ กล่าวว่าเดิมรายการกบนอกกะลาที่เคยขายโฆษณาได้เต็ม แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 20% 2-3 ปีที่ผ่านมา เหมือนพายุยังไม่หยุดพัด เราเลยต้องกระจายความหลากหลาย กระจายความเสียง เป็นธุรกิจต่างๆ 1.สร้างสรรค์เนื้อหารายการ 2. ธุรกิจดิจิตอล 3.มีเดีย 4. IMC และ 5.ตลาดนอกประเทศ เพราะเดิมตลาดในประเทศเราอยู่ลำดับสุดท้ายแต่ไปต่างประเทศสารคดีไม่ใช่ลำดับสุดท้าย

“เปรียบเหมือนกับอูเบอร์ ถามว่าทุกคนเลิกขึ้นรถจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งด้วยการว่าจ้างไหม ก็ไม่ แต่คนเลิกขึ้นแท็กซี่เพราะมีทางเลือกบิสซิเนสโมเดลใหม่ คนก็ใช้บริการแบบใหม่ได้ อยู่ที่ความต้องการของคน ซึ่งเราใช้คนไม่ต้องเหมือนกัน อย่างงานคอนเทนต์เราต้องการคนแบบเชิงลึก ผลิตสารคดีสวยงามมาตรฐานระดับโลก IMC ต้องการคนครีเอทีฟ ซึ่งเราต้องพัฒนาตัวเองเป็นงานยากกว่าเดิมซึ่งเราต้องรับสภาพ” ชนวัฒน์ กล่าว

จักรพงษ์ คงมาลัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูนช็อท ดิจิตอล จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Content Marketing กล่าวว่า ทางรอดทางธุรกิจต้องไปพร้อมกับความน่าเชื่อถือของข่าว ซึ่งธุรกิจไม่ควรจะพึ่งพิงเพียงแต่โฆษณา ต้องเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ หากต้องขายของก็ต้องขาย แต่ก็มีการท้วงว่านักข่าวจะมาขายของได้อย่างไร แต่ขณะเดียวกันจะมารอเม็ดเงินโฆษณาอย่างเดียวก็ลำบากเพราะผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหลายทาง

อย่างไรก็ตาม เวลานี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ต้องไปดูว่าการใช้เวลาของผู้บริโภคทุกวันนี้ใช้เวลาไปกับอะไรส่วนใหญ่ ทางรอดยังอาจอยู่ที่การลดขนาดองค์กร อย่าให้คนส่วนใหญ่ในองค์กรไปอยู่กับแพลตฟอร์มที่ตายแล้ว เพราะทุกวันนี้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป อยู่กับหน้าจอมือถือ คนทำงานจึงต้องมีทักษะหลาย รวมไปถึงการเติบโตของไมโครมีเดีย สื่อที่เจาะนิชมาร์เก็ต นำเสนอเรื่องราวที่ตัวเองถนัด

ธีระพงษ์ เจียมเจริญ จาก Nanami Animation กล่าวว่า การจะ ‘รอด’ ได้คนในวงการสื่อจะต้อง 1.รู้จักตัวเองก่อน 2.ต้องมีการปรับตัว สู่อุตสาหกรรมใหม่เพราะสิ่งที่มาดิสรัปคุณจะกระทบกับสื่อเก่าทั้งหมด อย่างการทำงานของบริษัทการจะออกแบบการ์ตูน สติกเกอร์สักชุดจะต้องทำการวิจัยดูความต้องการ ความพอใจและนำมาปรับปรุงต่อไป ปัจจุบันสื่อไม่ได้มีแค่รูปแบบเดิมๆ มีทั้ง เกมส์ การ์ตูน มีอาชีพ อย่างเกมแคสเตอร์ เกมสตรีมเมอร์ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่แต่ละคนมีค่าตัวแพง

ธุรกิจสือ 4.0 เนื้อหาต้องดี ตอบสนองคนอ่าน-ห่วงติดกับดักรายได้ลืมหน้าที่หมาเฝ้าบ้าน

ในวงเสนาหัวข้อ “ธุรกิจสื่อ ยุค 4.0” ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง นักวิชาการด้าน Digital content Marketing กล่าวว่า จากในอดีตที่คนเสพข่าวทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์แต่ยุคปัจจุบัน มีทางเลือกมากมายมหาศาล อยากจะเสพอะไรก็ได้จะ อ่านหนังสือ จะดูคลิปวีดีโอ หรืออื่นๆ  ดังนั้นอย่าไปบอกว่าวีดีโอเป็นสื่อที่ดีที่สุด แต่อาจดีกับคนบางกลุ่ม และอาจไม่ดีกับคนบางกลุ่ม 

อย่างไรก็ตาม ถามว่าสื่อทุกชนิดจะต้องไปแข่งขันในยุคดิจิตอล รายได้มาจากไหนก็มาจากการเข้าถึงกลุ่มคนอ่าน ซึ่งทราฟฟิคที่คนติดตามมาที่สุดไม่ใช่สื่ออย่าง ไทยรัฐ หรือสื่ออื่นๆ แล้ว แต่คือ เฟสบุ้ค และ กูเกิล ซึ่ง สมมติไปลงโฆษณาเพจไทยรัฐคนดูล้านคน ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของเขาไหม แต่หากซื้อผ่านเฟสบุ้คจะสามารถเลือกได้อย่างละเอียด นี่คือสิ่งที่น่ากลัว ธุรกิจเอ็สเอ็มอี มีเงินพอจะซื้อแอดโวเทอเรียลสื่อ แต่ทำไมไม่ซื้อ มาซื้อเฟสบุ้ค เพราะเขาได้ทราฟฟิคที่มีคุณภาพ 

ณัฐพัชญ์ กล่าวว่า ทางออกคือการคิดโมเดลธุรกิจใหม่ ซึ่งแบบเดิมอาจไปได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้คุณรอดชีวิตได้  ทางออก ดังจะเห็นว่าสื่อทุกวันนี้พยายามปั๊มทราฟฟิคให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการพาดหัวข่าวเรียกแขก คลิกเบท ซึ่งถึงจะได้ทราฟฟิคเพิ่ม แต่สุดท้าย เครดิตของสื่อก็จะหายไป ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเนื้อหาของสื่อจะต้องดี  ที่สำคัญการจะพัฒนาสินค้าไปขายนั้นไม่ใช่เพียงแค่จะไปเร่ขาย แต่ต้องรู้ความต้องการของคนดูก่อนว่าเขาอยากได้อะไร ที่ผ่านมาไม่มีทางเลือกแต่ทุกวันนี้มีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งต้องไปดูว่าทำไม คนทำเฟส เพจ ยูทูบ ถึงเวอร์ค เพราะเขามีวิธีการเล่าเลื่องแบบใหม่ที่ไม่น่าเบื่อ

ณัฐพัชญ์ กล่าวว่า สื่อต้องทบทวนตัวเองด้วยว่าการอยู่รอดของสื่อคืออะไร คือจะทำให้ธุรกิจรอดหรือเพื่อการเปลี่ยนประเทศไปสู่สิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งการอยู่รอดโมเดลธุรกิจต้องดี เข้าใจที่มารายได้ สินค้า รายได้ ซัพพลายเชนทั้งหมด คนทำสื่อก็ต้องโพสต์เฟสบุ้คเป็น ตัดวีดีโอเป็น ทำได้หลายอย่าง ซึ่งในวันที่ถามว่าองค์กรจะอยู่รอดแบบไหน เราเคยไปถามเด็กมหาวิทยาลัยที่ทำสื่อผ่านยูทูบได้เงินเดือนเป็นแสนบางหรือไม่ หรือเรายังอยู่กับภาพจำเดิมๆ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาต้องทำอย่างนี้เท่านั้น 

เทพชัย หย่อง กรรมการจริยธรรม สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงกับการปรับตัวของสื่อให้เข้ากับเทคโนโลยี แต่เป็นห่วงเวลานี้ที่มีการพูดถึงทางรอดของสื่อซึ่งอาจไม่สำคัญ เท่ากับความอยู่รอดของสังคมมากกว่า เราควรให้ความสำคัญกับบทบาทของสื่อต่อสังคมว่าควรจะเป็นไปอย่างไร เพราะปัจจุบันมีความท่าทายอย่างมาก 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในยุคที่หลายสื่อกำลังปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ โดยมีสื่อหนึ่งผู้บริหารชุดใหม่กำหนดรายได้ให้กับคนเขียนข่าวโดย 25 วิว ได้ 1 บาท ถามว่าสิ่งที่นักข่าวคนนั้นจะโพสต์คืออะไร คำตอบก็คือโพสต์สิ่งที่คนเห็นแล้วจะต้องกดเข้ามาดู ซึ่งจะทำให้สื่อเปลี่ยนจากการทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้าน คอยตรวจสอบ การทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนก็จะลดลง เมื่อติดกับรายได้ก็จะกระทบไปถึงความพยายามยกระดับสื่อสารมวลชน 

เทพชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับบทบาทของสื่ออยู่ตรงที่เป็นไกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ ต้องมีความรู้ จริยธรรม เหมือนนักข่าวชาวซาอุดิอาระเบีย ที่เสียชีวิต คนที่จะเข้าไปเจาะ หรือเปิดโปงเรื่องนี้ ควรเป็นใคร ซึ่งก็เป็นบทบาทของสื่อสารมวลชนที่ต้องทำหน้าที่เปิดโปงนำความจริงเปิดเผยต่อสังคม ต้องอาศัยองค์กรสื่อ และคนทำข่าวที่มุ่งมั่นที่จะทำข่าวแบบนี้

“องค์กรสื่อจะอยู่รอดต้องถามว่าอยู่รอดไปเพื่ออะไรก่อน เป้าหมายเพื่ออยู่รอดทางธุรกิจไม่มีความหมายเท่าอยู่รอดเพื่อมีบทบาทช่วยสร้างสรรค์สังคม ซึ่งการอยู่รอดทางธุรกิจมีทางเลือกเยอะ แต่ต้องอยู่รอดและตอบโจทย์สังคมด้วย ต้องมีวิธีบริหารจัดการ พัฒนาบุคลากรพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ ซึ่งคนไม่ดูข่าวก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแตกต่างจากในอดีต แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันจะออกแบบยังไงให้คนหันมาดูมากขึ้น“ เทพชัย กล่าว 

สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านยุทธศาสตร์ สื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การจะปรับเปลี่ยนต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย โดยมองไปที่ผลลัพธ์ที่จะได้ แล้วค่อยย้อนกลับมาดูว่าขั้นตอนที่จะเดินหน้าไปสู่จุดนั้นว่าต้องทำอย่างไร ไม่ใช่เริ่มจากการตั้งต้นไปตามระบบซึ่งไม่รู้ว่าสุดท้ายปลายทางจะได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไรนี่คือปัญหา 

อย่างไรก็ตาม หากเราไม่มีระบบคิด เราก็จะเดินไปตามรูทีน ซึ่งในทางปฏิบัติเราไม่จำเป็นต้องเดินหน้าไปตาม หนึ่ง สอง สาม สี่ ถ้าเรามีสเตรติจิกส์ที่ดี เราต้องมองเห็นภาพรวม  เดิมเราเห็นมุมตัวเองเล็กๆ และทำส่วนของเราให้ดีที่สุด ก็ไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงได้  ต้องมองทั้งอุตสาหกรรม ให้ครบองค์ประกอบว่าเราจะทำเพื่ออะไร สำหรับสื่อสาธารณะอุดมการณ์ใช่ แต่สำหรับวิธีการอาจต้องปรับ รู้จักการเปลี่ยนแปลง ยืดหยุ่น 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: