โขง-เลย-ชี-มูล กับแนวรบที่มีพลังของขบวนการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: 30 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4262 ครั้ง


การยืนหยัดต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาที่กั้นแม่น้ำมูลในเขตอำเภอราษีไศล  อำเภอกันทรารมย์และอำเภอใกล้เคียง  จังหวัดศรีสะเกษ  เขื่อนปากมูลปิดกั้นปากแม่น้ำมูลที่อำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี  เขื่อนหนองหานกุมภวาปีปิดกั้นหนองหานกุมภวาปีก่อนไหลลงลำปาวที่อำเภอกุมภวาปี  จังหวัดอุดรธานี  เขื่อนเหล่านี้คือองค์ประกอบย่อยหรือโครงการย่อยของโครงการโขง-ชี-มูล  แม้จะไม่สำเร็จในแง่ที่เขื่อนยังคงเดินหน้าก่อสร้้างต่อไปจนเสร็จสิ้น  แต่สำเร็จในแง่ที่มันได้ทำลายกรอบคิดตัวแบบการบริหารจัดการน้ำแบบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐศูนย์กลางจนระส่ำระสาย  ต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพเพราะไหลไปไม่ถึงไร่นาของเกษตรกร  และเกิดการลุกลามบานปลายมาที่ชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำชีที่เขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพรได้ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านให้รัฐจ่ายค่าชดเชย  ค่าเสียหายและค่าฟื้นฟูวิถีชีวิตและระบบนิเวศจากการเก็บกักน้ำแล้วทำให้ที่นาของชาวบ้านเกิดน้ำท่วมขังจนได้รับความเสียหายซ้ำซากทำการเพาะปลูกไม่ประสบผลสำเร็จ  และพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่มีลักษณะแบนราบลุ่มต่ำริมแม่น้ำที่เรียกกันว่าบุ่งและทามถูกน้ำท่วมขังผิดฤดูกาลจนทำให้ระบบนิเวศของป่าบุ่งป่าทามที่เหมาะสมแก่การเจริญพันธุ์ของสัตว์น้ำหลากหลายชนิดและทำการเกษตรตามฤดูกาลที่ชาวบ้านใช้หาอยู่หากินดำรงวิถีชีวิตเกิดความเสียหายขึ้น

โครงการย่อยเหล่านี้ของโครงการโขง-ชี-มูลเป็นโครงการเฉพาะในส่วนของการใช้น้ำภายในประเทศเท่านั้น  ในส่วนของโครงการที่ต้องผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาเพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทานในภาคอีสานถูกระงับเอาไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2537  โดยให้กลับไปศึกษารายละเอียดและติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการในส่วนของการใช้น้ำภายในประเทศ  ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสียก่อน  แล้วค่อยเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติใหม่อีกครั้งหนึ่ง 

ตลอดเวลาอันยาวนานที่หน่วยงานราชการด้านแหล่งน้ำยังคงมุ่งมั่นผลักดัน “โครงการโขง-ชี-มูลใหม่” เพื่อต้องการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาให้ได้  แต่การยืนหยัดต่อสู้ของชาวบ้านหลายพื้นที่ตามที่ได้กล่าวมาทำให้ข้อเสนอเรื่องการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามายังผืนแผ่นดินอีสานไม่ประสบผลสำเร็จ  เพราะว่าหน่วยงานราชการด้านแหล่งน้ำยังแก้ไขปัญหาผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิต  ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในส่วนของโครงการโขง-ชี-มูลที่ถูกอนุมัติให้ใช้น้ำภายในประเทศไม่เสร็จสิ้น  ก็เนื่องด้วยความพยายามปัดความรับผิดชอบตลอดมาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการใด ๆ  จนนำมาซึ่งการไม่ยอมรับค่าชดเชย  ค่าเสียหายและค่าฟื้นฟูที่ชาวบ้านเรียกร้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าโครงการ

ต้นเหตุที่รัฐศูนย์กลางยังดื้อรั้นต้องการผลักดันการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาให้ได้  ก็เพราะมีความคิดระนาบเดียวมาตลอดทุกยุคสมัยว่าจะต้องหาน้ำมาป้อนพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ทั้งหมดให้ได้  เพราะเห็นว่าพื้นที่การเกษตรในภาคอีสานปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 58 ล้านไร่  ถูกพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรชลประทานแล้ว 7 ล้านไร่  และถ้าใช้น้ำในลุ่มน้ำภายในประเทศจากลุ่มแม่น้ำชี  ลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำสาขาใหญ่น้อยอื่น ๆ ให้เต็มศักยภาพจะทำให้พื้นที่เกษตรชลประทานเพ่ิมเป็น 13 ล้านไร่  ยังเหลือพื้นท่ี่เกษตรน้ำฝนหรือพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานอีกประมาณ 45 ล้านไร่  ดังนั้น  จึงต้องผันน้ำโขงเข้ามาเพื่อป้อนน้ำให้กับพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เหลือทั้งหมดให้ได้   แต่ลืมคิดไปอย่างหนึ่งว่าตัวแบบของการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ สามารถทำงานได้ดีก็เพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะลุ่มต่ำแบนราบสามารถส่งน้ำไปถึงไร่นาด้วยระบบแรงโน้มถ่วงได้  แต่ภาคอีสานไม่สามารถทำเช่นนั้นได้  เพราะภูมิประเทศถูกแบ่งเป็น 4 เขตภูมินิเวศใหญ่  ได้แก่

  1. ภูมินิเวศเทือกเขา  เช่น  เทือกเขาภูพาน  เทือกเขาพนมดงรักและเทือกเขาเพชรบูรณ์  ที่แยกภาคอีสานออกจากภาคตะวันออกและภาคกลางตามลำดับ  รวมถึงที่ราบบนเทือกเขาที่มีลักษณะ “ภูหลังแป”  และที่ราบเชิงเขาทั้งหลายด้วย
  2. ภูมินิเวศแอ่งหรือที่ราบลุ่มต่ำของแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร  คือพื้นที่ริมแม่น้ำสาขาน้อยใหญ่ทั้งหลายของภาคอีสาน  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีภูมินิเวศย่อยเป็นทุ่ง  บุ่ง  ทาม  กุด  หนอง  ริมแม่น้ำสาขาน้อยใหญ่ทั้งหลายในภาคอีสาน
  3. ภูมินิเวศที่ราบลอนคลื่นสลับโคก/เนิน  ทัั้งที่ยังคงมีสภาพป่าโคกอุดมสมบูรณ์และที่กำลังเสื่อมโทรมและเสื่อมโทรมไปแล้วจากการถูกใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ  เช่น  อ้อย  มันสำปะหลัง  ยางพารา  เป็นต้น  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สูงกว่าพื้นที่แอ่งโคราชและสกลนครในข้อ (2)  เพราะมีลักษณะเป็นภูเขาหรือเนินเขาเตี้ย ๆ สลับที่ราบ     
  4. ภูมินิเวศริมแม่น้ำโขงตลอดแนวชายแดนไทย-ลาว จากจังหวัดเลยไปจนถึงอุบลราชธานี

 

คำถามสำคัญก็คือเราจะบริหารจัดการน้ำทั้ง 4 ภูมินิเวศดังกล่าวด้วยรูปแบบเดียวกันได้หรือไม่ ?

เพราะมีข้อเท็จจริงให้ต้องตระหนักดังนี้  ประการแรก-โดยวิถีการผลิต, ภูมินิเวศเหล่านี้มีความต้องการน้ำ  รูปแบบการใช้น้ำและกิจกรรมการผลิตที่ต่างกัน  เช่น  ภูมินิเวศเทือกเขาเหมาะแก่พืชเศรษฐกิจสำหรับที่สูง  ภูมินิเวศแอ่งเหมาะแก่การปลูกข้าวและรักษาแหล่งน้ำเพื่อดำรงวิถีชาวประมง  ภูมินิเวศที่ราบลอนคลื่นสลับโคก/เนินเหมาะแก่การปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง  เป็นต้น  ประการที่สอง-โดยวิถีของฤดูน้ำธรรมชาติ, ภูมินิเวศเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับการเป็นพื้นที่เติมน้ำ (Recharge area)  พื้นที่ส่งผ่านน้ำ (Transmission area)  และพื้นที่ใช้น้ำ (Discharge area) ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ระบบและวงจรของน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลแตกต่างกัน  และยังอาจส่งผลต่อการควบคุมเกลือใต้ดินไม่ให้ผุดขึ้นมาแพร่กระจายอยู่บนผิวดินในระดับรุนแรงเกินไปได้อีกด้วยหากยังสามารถมีน้ำธรรมชาติหรือน้ำฝนเติมลงไปใต้ดินอย่างสม่ำเสมอ  และประการที่สาม-โดยวิถีของกฎแรงโน้มถ่วง, ภูมินิเวศเหล่านี้ไม่สามารถส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงที่น้ำสามารถไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำได้เหมือนกันหมด  

แต่รูปแบบการบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำเข้ามาทั้งจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาใหญ่น้อยในภาคอีสานที่รัฐศูนย์กลางได้วางแผนพัฒนามาตลอดทุกยุคสมัยโดยยึดการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตัวแบบนั้นล้วนเป็นรูปแบบหรือโครงการพัฒนาที่ไม่ตอบสนองหรือสอดคล้องกับภูมินิเวศในแต่ละเขตพื้นที่  ดังที่เคยล้มเหลวมาแล้วจากโครงการโขง-ชี-มูล

แนวผันน้ำที่โง่เขลา

ประตูกั้นน้ำห้วยหลวงที่บ้านดอนคง  ต.วัดหลวง  อ.โพนพิสัย  จ.หนองคาย  มีระดับท้องน้ำอยู่ที่ 151 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (เมตร รทก.)  และมีระดับกักเก็บน้ำที่ 160 เมตร รทก.  โดยสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นปากห้วยหลวงห่างจากแม่น้ำโขงเข้ามาประมาณ 1 กิโลเมตร  และสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ประตูกั้นน้ำห้วยหลวง  ต่อจากนั้นก็จะผันน้ำเข้าคลองสาย A และสู่เขื่อนหนองหานกุมภวาปีที่อำเภอกุมภวาปี จ.อุดรธานี อีกทอดหนึ่ง  แต่น้ำทั้งหมดไม่สามารถไหลเข้ามาด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกได้  เพราะระดับเก็บกักน้ำของประตูกั้นน้ำห้วยหลวงอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าระดับท้องน้ำของเขื่อนหนองหานกุมภวาปีถึง 6 เมตร  จึงต้องทำการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าส่งเข้ามาตามคลองสาย A  ซึ่งเป็นการสูบน้ำหลายทอดเพื่อลำเลียงน้ำจากที่ที่ต่ำกว่าไปสู่ที่ที่สูงกว่าตามแนวคลองผันน้ำสาย A ซึ่งมีความยาวกว่า 60 กิโลเมตร  ด้วยการสร้างสถานีสูบน้ำตามแนวคลองสาย A ไว้เป็นช่วง ๆ เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำให้การไหลขึ้นสู่เขื่อนหนองหานกุมภวาปีไม่สะดุดหรือติดขัด  และค่าไฟฟ้าทั้งหมดจากการสูบน้ำหลายทอดดังกล่าวจะถูกนำไปเรียกเก็บกับเกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำ           

เหตุที่ต้องเลือกแนวผันน้ำประตูกั้นน้ำห้วยหลวง-เขื่อนหนองหานกุมภวาปีตามคลองผันน้ำสาย A ก็เพราะมีแรงผลักดันจากนักการเมืองใหญ่ในจังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการป้อนโครงการโขง-ชี-มูลเข้าสู่นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ  ซึ่งเป็นแนวผันน้ำไหลผ่านจังหวัดอุดรธานีที่เป็นฐานคะแนนเสียงใหญ่ในการเลือกตั้ง  แต่เป็นแนวผันน้ำที่มีการใช้กระแสไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำสูงมาก  และเป็นค่าไฟฟ้าที่จะเอามารวมคิดเป็นค่าสูบน้ำของเกษตรกร  จึงทำให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการจำนวนไม่น้อยกว่า 29 หมู่บ้าน ต้องแบกรับภาระค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ประตูกั้นน้ำห้วยหลวงและเข้าสู่เขื่อนหนองหานกุมภวาปีด้วยความโง่เขลาของนักการเมืองที่ร่วมกันผลักดันโครงการนี้

โครงการโขง-เลย-ชี-มูล โดยระบบแรงโน้มถ่วง

รัฐศูนย์์กลางใช้เวลา 14 ปี  นับตั้งแต่สร้างประตูกั้นน้ำห้วยหลวงแล้วเสร็จเมื่อปี 2545  จนมาถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการโขง-เลย-ชี-มูลเมื่อปี 2559  จึงรู้ว่าแนวผันน้ำจากประตูกั้นน้ำห้วยหลวงสู่เขื่อนหนองหานกุมภวาปีตามโครงการโขง-ชี-มูลเป็นแนวผันน้ำที่โง่เขลาสร้างความล้มเหลวขึ้น  ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เอ่ยยอมรับออกมาทางวาจาหรือทางลายลักษณ์อักษร  แต่การผลักดัน “โครงการโขง-เลย-ชี-มูล โดยระบบแรงโน้มถ่วง”  หรือ “โครงการโขง-ชี-มูลใหม่” ที่ยังต้องการผันน้ำโขงเข้ามาสร้างเครือข่ายระบบชลประทานด้วยแรงโน้มถ่วงก็เท่ากับเป็นการยอมรับไปในตัวว่าโง่เขลาและล้มเหลว 

คำถามคือ  ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่าโครงการโขง-เลย-ชี-มูล โดยระบบแรงโน้มถ่วงซึ่งเป็นแนวผันน้ำที่สามารถส่งน้ำโดยระบบแรงโน้มถ่วงได้  เพราะมีความลาดชันจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำลดหลั่นลงมาเป็นลำดับ  คือโครงการใหม่ที่ฉลาดกว่าจนสามารถนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแน่นอนใช่ไหม ? 

แท้ที่จริงแล้วแนวผันน้ำสายนี้ก็เป็นแนวผันน้ำสายหนึ่งในโครงการโขง-ชี-มูลมาแต่เดิม  แต่ไม่ถูกเลือกใช้ในช่วงเวลานั้นด้วยเหตุผลทางคะแนนเสียงของพรรคการเมืองตามที่กล่าวไป  ดังนั้น  คำตอบจึงไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐศูนย์กลางได้แก้ไขความผิดพลาดด้วยการเปลี่ยนแนวผันน้ำเก่าที่โง่เขลาด้วยการใช้วิธีดึงน้ำขึ้นที่สูงจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ประตูกั้นน้ำห้วยหลวงและเข้าสู่เขื่อนหนองหานกุมภวาปีและกระจายน้ำตามแรงโน้มถ่วงลงสู่ลำปาวและลุ่มแม่น้ำชีและมูลต่อไปด้วยการผลักดันแนวผันน้ำใหม่ที่ฉลาดกว่าตามโครงการโขง-เลย-ชี-มูล โดยระบบแรงโน้มถ่วงแล้ว  ประชาชนอย่างเราจึงควรปล่อยมันผ่านไปหรือลืมความโง่เขลาที่สร้างความล้มเหลวนั้นไปเสีย  อย่าได้จดจำรำลึกอันใดอีก  แต่คำตอบอยู่ตรงที่ตราบใดที่รัฐศูนย์กลางยังคงมุ่งส่งออกการพัฒนา  นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายด้วยแนวคิดการใช้อำนาจศูนย์กลางชี้เป็นชี้ตายหรือใช้อำนาจบาตรใหญ่ต่อประชาชนในพื้นที่ที่ถูกพัฒนาเสมือนว่าประชาชนและพื้นที่เหล่านั้นเป็นอาณานิคมภายในของตน  จะกดขี่ข่มเหงอย่างใดก็ได้โดยไม่แยแสหรือมุ่งมั่นเอาใจใส่ว่าโครงการพัฒนาเหล่านั้นจะสร้างผลกระทบให้เกิดแก่วิถีชีวิต  สังคม  สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนหรือไม่อย่างไร  ไม่เว้นแม้กระทั่งโครงการโขง-เลย-ชี-มูลที่อาจจะฉลาดกว่าในแง่ที่เป็นแนวผันน้ำที่สามารถส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงได้  แต่ก็ยังโง่เขลาอยู่ดีในแง่ที่การกักเก็บน้ำที่ฝืนฤดูกาลของน้ำตามธรรมชาติจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมจนสะเทือนไปถึงห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศตลอดเส้นทางผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล   ตราบนั้น, ไม่ว่าจะเป็นโครงการผันน้ำโขงที่โง่เขลาหรือโครงการผันน้ำโขงที่ฉลาดกว่าเดิม  ขบวนการนิเวศวัฒนธรรมอีสานยังคงเป็นแนวรบที่มีพลังในการต่อต้านการพัฒนา  นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอยู่เสมอ

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Transbordernews

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: