สิงคโปร์เตรียมขึ้นแท่นชาติแรกของโลก ที่มีสัดส่วนผู้สูบบุหรี่น้อยที่สุดในโลก ด้วยนโยบายควบคุมการสูบบุหรี่ที่เข้มงวด ด้วยค่าปรับขั้นต่ำสำหรับผู้สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เริ่มต้นที่ 2 หมื่น 5 พันบาท อย่างไรก็ตามด้วยกฎหมายที่เข้มงวดเหล่านี้ ส่งผลให้ประชาชนผู้สูบบุหรี่ในสิงคโปร์ลดลงอย่างมาก ปัจจุบัน เหลือเพียง 13 % และรัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดเป้าหมายปี 2020 ว่า จะพยายามลดประชากรที่สูบบุหรี่ให้เหลือประมาณ 12 % โดยมีเป้าหมายระยะยาวสูงสุด คือ การเป็นประเทศที่ปลอดบุหรี่ประเทศแรกของโลกให้ได้
รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินนโยบายโครงการควบคุมการสูบบุหรี่แห่งชาติตั้งแต่ปี 1986 นับเป็นกฎหมายปราบปรามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่ถือว่าเข้มงวดมากที่สุดกฎหมายหนึ่งในโลก โดยผู้กระทำผิดครั้งแรก ที่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ อาทิ โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล และห้องสมุด จะถูกปรับเป็นเงิน 1 พันดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทยคือ ประมาณ 2 หมื่น 5 พันบาท ไม่เพียงเท่านั้น หากกระทำผิดซ้ำสอง ค่าปรับจะเพิ่มเป็น 3 เท่า คือ 7 หมื่น 5 พันบาท
กฎหมายยังระบุว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หากพบว่ามีบุหรี่ในครอบครอง ไม่ว่าจะสูบบุหรี่หรือไม่ก็ตาม จะต้องเสียค่าปรับเช่นกัน ส่วนบุคคลที่จำหน่ายบุหรี่ให้ผู้เยาวน์นั้น มีโทษปรับสูงถึง 2 แสน 5 หมื่นบาท
นอกจากนี้การติดสลากบนซองบุหรี่สิงคโปร์มีข้อบังคับเหมือนประเทศไทย โดยผู้ผลิตจะต้องใส่รูปภาพที่แสดงถึงโทษของการสูบบุหรี่ พร้อมด้วยคำเตือน เช่น การสูบบุหรี่จะตายอย่างช้าๆและทรมาน รวมถึงการสูบบุหรี่เป็นภัยต่อทารก ยังไม่นับรวมการขึ้นภาษีบุหรี่ ที่ทำให้บุหรี่ในสิงคโปร์มีราคาแพงมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจูงใจประชาชนไม่ให้สูบบุหรี่
ที่มาข่าวและภาพประกอบ: The Straits Times, 18/5/2018
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ