บริษัทลูกซีพีเตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรมรองรับนักลงทุนจีน

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4137 ครั้ง

บริษัทลูกซีพีเตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรมรองรับนักลงทุนจีน

กนอ.จับมือ 'ซีจี คอร์ปอร์เรชั่น' บริษัทลูกซีพี เปิด 'นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี' ที่ จ.ระยอง พื้นที่ประมาณ 3,068 ไร่ เน้นนักลงทุนที่สามารถสื่อสารภาษาจีน ที่มาภาพประกอบ: psrc.org

เว็บไซต์ money2know.com รายงานเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2561 ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับบริษัท ซีจี คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพี่จีซี จ.ระยอง บนพื้นที่ประมาณ 3,068 ไร่ ด้วยงบลงทุน 5,600 ล้านบาท เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักลงทุนที่สื่อสารด้วยภาษาจีน

มีการคาดว่าโครงการนี้จะมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูงเนื่องจากอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ได้รับความสนใจ อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมของ อีอีซี ประกอบกับบริษัทมีฐานลูกค้าผู้ประกอบการสื่อสารด้วยภาษาจีนสูง

นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเพื่อให้อุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการขยายตัวไปในทางที่ดีขึ้น ล่าสุด กนอ.ได้ร่วมมือกับบริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีใน จ.ระยอง เพื่อรองรับการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบาย EEC โดยได้เลือกพื้นที่ ต.มาบข่า พัฒนาใน อ.นิคมพัฒนา และ ต.หนองระลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง รวมเนื้อที่ประมาณ 3,068 ไร่ ใช้รูปแบบการร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการสาธารณูปโภค คาดว่ามูลค่าการลงทุนของโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 5,600 ล้านบาท สำหรับทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่โครงการแบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 2,205 ไร่ เขตพาณิชยกรรม 112 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภค 443 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 307 ไร่

สามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกทั้ง 3 จังหวัดได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง อย่างสะดวกสบาย เนื่องจากมีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่มีศักยภาพ สามารถเชื่อมต่อกับนิคมอุตสาหกรรม ในกลุ่มพื้นที่มาบตาพุตคอมเพล็กซ์ เช่น นิคมอุตสาหกรรม Smart Park นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล นิคมอุตสาหกรรมเอเชียระยอง นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นต้น ตลอดจนมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในพื้นที่เช่นท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุต ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งจะเอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรมและการขนส่งสินค้าระบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ยังสามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมครบวงจร อุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งการจัดตั้งโครงการมุ่งเน้นรองรับนักลงทุนที่สื่อสารด้วยภาษาจีน เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน โดยคาดว่าโครงการนี้น่าจะมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูงเนื่องจากอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ได้รับความสนใจ อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรกรการส่งเสริมของอีอีซี โดยตั้งเป้าขายพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ภายใน 6 ปี พร้อมก่อให้เกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 20,000 อัตรา

อย่างไรก็ตามโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีซีจี จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมอีกหนึ่งแห่งที่นำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ พร้อมทั้งจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศรอบโครงการ และจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของพื้นที่ทั้งหมด พร้อมทั้งนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในด้านควบคุมมลพิษ ทั้งมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง และกากของเสีย ด้วยระบบที่ทันสมัยเพื่อลดปัญหาการร้องเรียน และส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่นายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวเสริมว่าจากประสบการณ์การดำเนินธุรกิจของบริษัท ผนวกกับศักยภาพด้านการตลาดทำเลที่ตั้ง ที่เป็นปัจจัยสำคัญเอื้อต่อการลงทุนพร้อมรองรับนักลงทุนทั้งไทยและชาวต่างชาติ จึงมุ่งมั่นตั้งใจในการก้าวไปสู่การเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างมืออาชีพ นอกจากนี้โครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ยังมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่สื่อสารภาษาจีนได้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิตและให้คนไทยได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้ ความสามารถเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0 และสามารถเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนด้วยแนวคิด High Technology ที่ส่งต่อถึงคนรุ่นหลังเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศให้ก้าวพ้นกับคำว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดจะจัดการให้เสร็จภายใน 3 ปี ซึ่งจะมีการดำเนินการในเฟสแรกช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 และเฟสที่สองจะจัดการในช่วงปี 2563 ส่วนเฟสที่สามจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2564

อนึ่ง สำนักข่าวไทย ระบุว่าบริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทลูกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: