ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงขอให้สหพันธ์แรงงานปฏิรูป?

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 30 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2604 ครั้ง

ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงขอให้สหพันธ์แรงงานปฏิรูป?

เมื่อสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศจีน (All-China Federation of Trade Unions-ACFTU) เตรียมการประชุมสามัญประจำปีแห่งชาติที่กรุงปักกิ่ง เราก็ได้สำรวจตรวจสอบแรงกดดันทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมที่ทำให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เรียกร้องให้สหพันธ์แรงงานฯ เปลี่ยนแปลงไปสู่องค์กรที่เป็นตัวแทนแรงงานอย่างแท้จริง เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน (ภาพคนงานเหมืองถ่านหินเมือง Shuangyashan หลายพันคนปิดถนนเพื่อประท้วงค่าจ้างค้างจ่ายหลายเดือนเมื่อปี 2016)

รายงานนี้แปลจากวารสารแรงงานจีนหัวเรื่องขบวนการแรงงานในประเทศจีน

ทำไมสหพันธ์แรงงานจีนต้องปฏิรูป?

1. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลได้นำไปสู่วิกฤติความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์

การสร้างความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีนได้ทำให้รัฐชาติเข้มแข็งอย่างมาก อีกทั้งยกระดับผลิตภาพและชีวิตทางวัตถุให้แก่คนนับล้านๆ คน แต่มันมาด้วยเลือด หยาดเหงื่อและน้ำตาของแรงงานจีน แม้ว่าจำนวนคนยากจนจะลดลงและชนชั้นกลางขยายตัว แต่ความเติบโตนี้ได้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ประชากรเพียง 1% ของประเทศ จากรายงานสำรวจของศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งเมื่อปี 2014 จำนวนครัวเรือน 1% มีรายได้กว่า 1 ใน 3 ของความมั่งคั่งของประเทศ ในขณะที่คนจนที่สุด 25% มีรายได้เพียง 1% สัมประสิทธิ์การกระจายรายได้หรือดัชนีจีนี่ของจีนลดลงตั้งแต่ปี 2008 แต่ในปี 2016 ค่าสัมประสิทธิ์อยู่ที่ 0.465 สูงกว่าระดับอันตรายที่ 0.400 สะท้อนว่ามีความแตกต่างอย่างรุนแรงระหว่างคนจนกับคนรวย ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างจริงจังกับความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์

ในช่วงเริ่มต้นของยุคปฏิรูป 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้นำพรรคยอมแลกความชอบธรรมทางการเมืองกับความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมาจากนโยบายค่าจ้างราคาถูก ระบบประกันสังคมที่ไม่เพียงพอ และการทำลายสิ่งแวดล้อม คนทำงานธรรมดาจะไม่ทนอีกต่อไปกับความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่เป็นมาอย่างต่อเนื่อง หากคนงานไม่สามารถ ได้รับส่วนแบ่งจากผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาคเอกชนและรัฐบาลสมรู้ร่วมคิดกันสร้างอำนาจและความร่ำรวย ท้ายสุดคนงานก็จะออกมาตั้งคำถามกับการบริหารประเทศของรัฐบาลที่เคยสัญญาว่าจะสร้างชีวิตที่มีสุข (Happy life) ให้แก่ประชาชนทุกคน

และขณะนี้ พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วถึงภัยคุกคามดังกล่าวที่ส่งผลต่อความชอบธรรมทางการเมือง จึงมีข้อเสนอปรับเปลี่ยนทิศทางการปฏิรูปมุ่งกระจายความมั่งคั่งให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น

2. การสวนทางกันระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและความเท่าเทียมทางสังคม

ในช่วงแรกของแผนปฏิรูป พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจมาก่อนการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ในเวลานั้นอาจฟังขึ้น แต่ 40 ปีผ่านไปเราไม่สามารถยอมรับความจริงที่ว่า รัฐบาลยังอนุญาตให้มีการทำธุรกิจด้วยค่าจ้างราคาถูก ขูดรีดแรงงานและปฏิเสธระบบการเจรจาต่อรองร่วม ธุรกิจหากำไรแต่ไม่ทำให้คนทำงานธรรมดามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่อย่างใด สัดส่วนค่าจ้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ลดลงและค่าจ้างไม่ทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมโดยรวม หากเรายังให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจมาก่อนความเท่าเทียมทางสังคม คนธรรมดาก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ด้วยเหตุนี้ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จึงเห็นว่า ปัญหาข้างต้นจะสั่นคลอนอำนาจทางการเมือง จึงหันมาเน้นการเพิ่มรายได้เมื่อปี 2013 ให้สอดคล้องกับผลิตภาพที่เติบโตขึ้น โดยเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แก้ไขปัญหาค่าจ้างค้างจ่าย และปรับปรุงระบบการเจรจาต่อรองร่วมของสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ แผนพัฒนาชาติฉบับที่ 13 ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2016-2020) ได้วางแผนการกระจายรายได้ และในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 19 เมื่อปี 2017 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย กล่าวคือ เมื่อครั้งการประชุมพรรคครั้งที่ 18 ที่มีนโยบายส่งเสริมการปลดปล่อยและพัฒนาพลังการผลิตของประชาชน จากการระบุปัญหา "ความขัดแย้งระหว่างการเติบโตทางวัตถุและความต้องการพัฒนาด้านวัฒนธรรม" นั้น ควรจะเปลี่ยนประเด็นปัญหาเป็นเรื่องของ "ความขัดแย้งระหว่างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนกับการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม ที่ก่อให้เกิดการปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง และแก้ไขให้การพัฒนามีความสมดุลและกระจายความมั่งคั่ง

เราสามารถเห็นได้ว่า ก่อนที่จะมีการขึ้นดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในปี 2013 ประเด็นการกระจายรายได้ยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้นำระดับสูงของประเทศอย่างที่ควรจะเป็น รัฐบาลก่อนหน้าได้เสนอระบบค่าจ้างขั้นต่ำในปี 1993 ออกกฎหมายแรงงานในปี 1994 และค่าครองชีพในปี 1999 แต่กลไกเหล่านี้เพิ่มค่าจ้างน้อยมาก และไม่ได้ทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาเดิมๆ หรือประกันมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนงานอย่างเหมาะสม ที่แย่กว่านั้น การดำเนินมาตรการเหล่านี้กลับล้มเหลวที่จะถ่วงดุลอำนาจกับทุนในระบบแรงงานสัมพันธ์ คนงานจึงออกมาประท้วงอย่างกว้างขวางและบ่อยครั้งขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม และการไม่มีสิทธิ์มีเสียงในกระบวนการกระจายรายได้

3. ความหวังของรัฐบาลที่มีต่อสหพันธ์แรงงานจีน

เมื่อเดือนตุลาคมปี 2013 นายสี จิ้นผิง ได้แหกกฎประเพณี โดยเรียกผู้นำแรงงานที่เพึ่งได้รับการเลือกตั้ง ประชุม ณ สำนักงานใหญ่ของพรรคในเมือง Zhongnanhai เลขาธิการสี จิ้นผิงได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานว่า เพื่อบรรลุความฝันของประเทศที่จะทำให้ชีวิตการทำงานของคนทำงานทุกคนดีขึ้น จึงเสนอให้สหภาพแรงงานเน้นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อคนงานโดยตรง นั่นหมายถึง มาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตในการทำงานจะต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อว่าแรงงานจะได้รับประโยชน์จากความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นที่ชัดเจนว่าในช่วงเริ่มต้นของการเป็นเลขาธิการพรรค นายสี จิ้นผิงไม่พอใจกับการทำงานของสหพันธ์แรงงาน อย่างไรก็ตาม ก็คาดหวังองค์กรดังกล่าวอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหาของคนงานนับร้อยล้านคน

จากมุมมองของพรรค มองว่าสหพันธ์แรงงานควรเป็นตัวแทนของคนงานอย่างแท้จริง จัดตั้งคนงาน และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ในระดับสถานประกอบการสหภาพแรงงานควรปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการของพนักงานผ่านระบบการเจรจาต่อรองร่วม พร้อมกับสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ในระดับนโยบาย สภาพแรงงานระดับท้องถิ่นควรช่วยเหลือรัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาคเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน รัฐบาลจึงตั้งความหวังกับสภาพแรงงานให้ตระหนักถึงการบรรลุความฝันของประเทศ เสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานและสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของพรรค

หากสหพันธ์แรงงานและสหภาพแรงงานในท้องถิ่นยังไม่เพิ่มการมีส่วนร่วมของสมาชิก และปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่จะปฏิรูปองค์กร หรือยังทำงานด้วยวิธีการแบบเดิม สหภาพแรงงานก็จะเสียโอกาสที่จะช่วยเหลือคนงาน ทั้งทำให้พรรคเกิดวิกฤตศรัทธาได้ จากนั้นคนงานก็จะออกมาประท้วงมากกว่าแต่ก่อน

 

แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.clb.org.hk/content/why-communist-party-telling-all-china-federation-trade-unions-reform

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: