'พืชกระท่อม' ได้เวลาปลดล็อค? ต่างประเทศเป็นยาควบคุม-แปรรูปขาย

ทีมข่าว TCIJ: 30 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 33225 ครั้ง

UN ไม่ได้มีการประกาศควบคุม‘พืชกระท่อม’ ในบัญชีรายชื่อยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ หลายประเทศไม่มีโทษทางอาญา มันถือเป็น ‘ยาควบคุม’ ในอังกฤษ มีการขายหลายรูปแบบ ผู้บริโภคซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ อินโดนีเซียปลูกส่งขายต่างประเทศ บ้านเราสถิติปี 2549-2559 มีการจับกุมคดีเกี่ยวกับใบกระท่อมกว่า 16,360 คดี ภาคใต้สถิติสูงสุด เปิดงานวิจัยที่เสนอต่อ ป.ป.ส. ยก 'น้ำพุโมเดล' ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฏร์ธานี มีมาตรการสังคมควบคุมการปลูกการใช้ผ่าน 'ธรรมนูญชุมชน' ชาวบ้านยังใช้ตามวิถีพื้นบ้านได้ แต่ก็สามารถควบคุมการนำไปผสมกับสารเสพติดอื่น หลายภาคส่วนเสนอให้นำออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 แต่การพิจารณาร่างกฎหมายของ สนช. ยังยืดเวลาไปอีก ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

'พืชกระท่อม' กับสังคมไทย

‘พืชกระท่อม’ เป็นต้นไม้พื้นถิ่นที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ของประเทศไทย หมอแผนโบราณใช้เป็นพืชสมุนไพร โดยเฉพาะในภาคใต้นั้นพบว่าคนใต้มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับพืชกระท่อมมานาน ทั้งการใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค เคี้ยวใบกระท่อมเพื่อให้ตื่นตัวในการทำการเกษตร รวมไปถึงการใช้ในพิธีกรรมทางวัฒนธรรม ก่อนที่จะมีการประกาศให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดเมื่อ 70 กว่าปีก่อน ทำให้ความผูกพันกับพืชกระท่อมในหลายพื้นที่ของภาคใต้เริ่มจางหายไป

ปัจจุบัน พืชกระท่อมเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจากสื่อต่างๆ เมื่อเริ่มกลายเป็นประเด็นปัญหาเชิงสังคมในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลังการประกาศนโยบาย 'สงครามยาเสพติด' เมื่อปี 2546 การเผยแพร่ข่าวการจับกุมพืชกระท่อมและน้ำต้มใบกระท่อมเพิ่มมากขึ้น ทั้งจับกุมผู้ขายใบกระท่อมสด ผู้ขายน้ำต้มใบกระท่อม โดยเฉพาะการจับกุมผู้นำน้ำต้มกระท่อมผสมสารชนิดอื่น เช่น สี่คูณร้อย (น้ำกระท่อมต้ม ผสมน้ำอัดลม ยากันยุง และยาแก้ไอ) โดยข้อมูลจากคณะกรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติดประมาณการว่า ในปี 2554 มีผู้ใช้ใบกระท่อมในประเทศไทยประมาณ 1.23 ล้านคน [1]

ต่างประเทศมีสถานะทางกฎหมายที่หลากหลาย

‘พืชกระท่อม’ ในต่างประเทศมีสถานะทางกฎหมายที่หลากหลาย UN ไม่ได้มีการประกาศควบคุมในบัญชีรายชื่อยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ หลายประเทศไม่มีโทษทางอาญาเกี่ยวกับพืชกระท่อม มันถือเป็น ‘ยาควบคุม’ ในอังกฤษ มีการขายกระท่อมในหลายรูปแบบ เช่น ใบสด ใบแห้ง ผง ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ตามร้านกาแฟต่างๆ หรือทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ที่มาภาพประกอบ: Everyday Health

ไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศควบคุมการใช้พืชกระท่อม มีการตรา พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ที่ห้ามปลูกและครอบครอง ห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม นอกจากนี้พืชกระท่อมยังถูกบรรจุให้เป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กฎหมายฉบับนี้ระบุว่าผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-150,000 บาท และการครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [2]

สถานะของพืชกระท่อมในต่างประเทศกลับมีแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมพืชกระท่อมหรือควบคุมเฉพาะสาร ‘ไมทราไจนีน’ (mitragynine) โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) มิได้มีการประกาศควบคุมพืชกระท่อมในบัญชีรายชื่อยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ส่วนในสหรัฐอเมริกา (เฉพาะรัฐบาลกลาง) ไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่กำหนดความรับผิดชอบและโทษทางอาญาเกี่ยวกับพืชกระท่อม มีเพียงประกาศเฝ้าระวังเป็น 'ยาเสพติดและสารเคมีที่พึงระมัดระวัง' (Drugs and Chemicals of Concern) เท่านั้น [3]

จาก World drug report 2013 ของสำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้มีการขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของสารออกฤทธิ์ตัวใหม่ๆ ซึ่งมีพืชกระท่อมรวมอยู่ด้วย และพบว่าในเดนมาร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สวีเดน กำหนดให้พืชกระท่อมและสารไมทราไจนีน เป็นยาควบคุม, ในนิวซีแลนด์ ควบคุมพืชกระท่อมและสารไมทราไจนีน ภายใต้กฎหมาย Medicines Amendment Regulations, ในออสเตรเลียและพม่า มีการควบคุมพืชกระท่อมภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติด (เช่นเดียวกับไทย),  ในมาเลเซียไม่ถือว่าพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดร้ายแรงแต่ให้เป็นวัตถุมีพิษ คนปลูกระท่อมไม่มีความผิด, อินโดนีเซียมีการปลูกกระท่อมอย่างถูกกฎหมายและมีการส่งออกไปประเทศต่างๆ, ในอังกฤษและเยอรมัน ไม่ได้มีกฎหมายควบคุมการใช้กระท่อม มีเพียงแค่การเฝ้าระวัง สำหรับอังกฤษนั้น มีการขายกระท่อมในหลายรูปแบบ เช่น ใบสด ใบแห้ง ผง และสารสกัดเรซิน เป็นต้น โดยผู้บริโภคสามารถซื้อได้ตามร้านกาแฟต่างๆ หรือทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ นอกจากนี้ยังพบว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น ได้จดสิทธิบัตรกระท่อมเป็นยารักษาโรคเมื่อปี 2557 [4] [5] [6]

คนใต้ผูกพันเยอะ-ถูกจับเยอะ สถิติปี 2549-2559 ภาคใต้คดีสูงสุด

จากสถิติการจับกุมคดีพืชกระท่อมทั่วประเทศปี 2559 จำนวน 16,360 คดี ในจำนวนนี้เป็นการจับกุมในภาคใต้ถึง 15,387 คดี เพราะคนใต้มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับพืชกระท่อมมานาน ทำให้มีทัศนคติต่อพืชกระท่อมในด้านบวกมากกว่าภูมิภาคอื่น ที่มาภาพประกอบ: โพสต์ไทยแลนด์นิวส์

ดังที่กล่าวว่าในภาคใต้นั้นพบว่าคนพื้นถิ่นมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับพืชกระท่อมมานาน ทำให้มีทัศนคติต่อพืชกระท่อมในด้านบวกมากกว่าภูมิภาคอื่น จากงานวิจัย การศึกษาแนวทางการพัฒนานโยบายและการยกเลิกพืชกระท่อมออกจาก ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ โดยวิตถวัลย์ สุนทรขจิต, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (ปี 2557) ที่ได้ทำการศึกษาความคิดเห็นประชาชนทั่วไป, เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส., ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั่วประเทศ 400 คน พบว่าผู้ที่อาศัยในพื้นที่ต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับพืชกระท่อมแตกต่างกัน โดยผู้ที่อาศัยในพื้นที่ภาคใต้มีความคิดเห็นเชิงบวกต่อการใช้พืชกระท่อมมากกว่าผู้ที่อาศัยในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการเคี้ยวใบกระท่อมไม่ใช่ความผิด เป็นวิถีชุมชนไม่สร้างปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคม [7]

เมื่อพิจารณาด้านตัวเลขคดีการจับกุมพืชกระท่อมและน้ำต้มใบกระท่อมที่รวบรวมจากสำนักงาน ป.ป.ส. พบว่า คดีการจับกุมเกี่ยวกับพืชกระท่อม (รวมคดีน้ำต้มใบกระท่อม) ตั้งแต่ปี 2551-2559 มีจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากสถิติการจับกุมคดียาเสพติดปี 2559 รวมทั้งหมด 110,820 คดี เป็นคดีพืชกระท่อมรวม 16,360 คดี โดยในพื้นที่ภาคใต้มีการจับกุมถึง 15,387 คดี และเมื่อพิจารณาเฉพาะคดีน้ำต้มใบกระท่อมนั้น พบว่าในปี 2559 มีถึง 8,829 คดี ทั้งนี้น้ำต้มใบกระท่อมเริ่มมีการใช้อย่างกว้างขวางในปี 2549 หรือก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่ปี เพราะเป็นที่นิยมใช้ในกลุ่มวัยรุ่นเพื่อความสนุกสนาน รวมถึงการนำมาผสมเป็นยาเสพติดที่รุนแรงกว่าอย่างสี่คูณร้อย [8]

'น้ำพุโมเดล' ชุมชนอยู่กับ ‘พืชกระท่อม’

ข้อมูลจากงานวิจัย โครงการสำรวจและติดตามสถานการณ์พืชกระท่อมในบริบทสังคมไทยเพื่อสร้างแนวทางการควบคุมพืชเสพติดอย่างบูรณาการจากชุมชน โดยนักวิจัยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอต่อ สำนักงาน ป.ป.ส. เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ที่ได้ทำการศึกษาพื้นที่หมู่ 4 บ้านดอนทราย ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในภาคใต้ที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับพืชกระท่อมมาช้านาน ทั้งการใช้ในชีวิตการทำงานประจำวัน เป็นสมุนไพรรักษาโรค รวมไปถึงการใช้ในพิธีกรรมทางวัฒนธรรม

ผลการศึกษาพบว่า ในอดีตมีต้นกระท่อมจำนวนมากเติบโตกระจายตัวตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคใต้ และเมื่อรัฐมีการกวดขันจับกุมพืชกระท่อมมากขึ้นจากปัญหาการใช้พืชกระท่อมในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปใบกระท่อมให้มีความเข้มข้นสูงขึ้น หรือการใช้ผสมกับสารเสพติดอื่นๆ เพื่อขาย รัฐจึงต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมและปราบปราบด้วยการโค่นต้นกระท่อมทิ้ง ทำให้เกิดความย้อนแย้งในพื้นที่ ส่งผลให้ชุมชนเกิดแนวคิดในการช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างรูปแบบแนวทางใหม่ๆ ที่จะควบคุมการใช้พืชกระท่อม ซึ่งชุมชนมองว่าการเคี้ยวใบกระท่อมแบบดั้งเดิมไม่เคยสร้างปัญหาสังคม อีกทั้งยังเป็นการสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายสามารถทำงานหนักได้ดี แต่เมื่อมีการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด มีการนำไปผสมกับสารเสพติดอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหามาตั้งแต่ปลายปี 2547 เป็นต้นมา สำนักงาน ป.ป.ส. และชุมชนจึงได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ โดยมีฐานคิดใน ‘การควบคุมการใช้พืชกระท่อมที่เหมาะสม’ ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม นำไปสู่การสร้าง 'ธรรมนูญชุมชน' ผ่าน ‘กฎประชาคม’ เพื่อเป็นข้อกำหนดร่วมกันในการควบคุม

ทั้งนี้ กระบวนการสร้างธรรมนูญชุมชนนี้ประกอบไปด้วย การเปิดเวทีเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในระดับพื้นที่หมู่บ้านในการแก้ไขปัญหาพืชกระท่อม, การสำรวจและสัมภาษณ์ข้อมูลชาวบ้านที่มีพืชกระท่อมในครอบครอง มีการจัดทำฐานข้อมูลหลังคาเรือนที่มีการปลูกกระท่อม และแผนที่การปลูกพืชกระท่อม จากนั้นมีการจัดเวทีประชาคมหมู่บ้านให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน และจัดทำกฎประชาคมของหมู่บ้านอย่างมีส่วนรวม โดยมีกำนันตำบลน้ำพุเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน โดยได้ข้อสรุปเป็นกฎประชาคม (ธรรมนูญชุมชน) ดังนี้

กฎประชาคมข้อที่ 1 ให้คงพืชกระท่อมไว้ได้หลังคาเรือนละไม่เกิน 3 ต้น บ้านใดที่มีเกินให้ดำเนินการตัดฟันทำลาย บ้านใดที่มีไม่ถึง 3 ต้น ห้ามปลูกเพิ่มให้คงไว้ตามจำนวนเดิม โดยการตัดฟันพืชกระท่อมมอบหมายให้ชาวบ้านดำเนินการตัดฟันพืชกระท่อมในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง ให้เหลือไม่เกิน 3 ต้น และจะมีคณะกรรมการออกสำรวจพืชกระท่อมทุก 3 เดือน ตามทะเบียนควบคุมพืชกระท่อม

กฎประชาคมข้อที่ 2 หลังคาเรือนใดจำหน่าย จ่ายแจกพืชกระท่อมให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป หากสืบทราบจะมีการตัดฟันทำลายพืชกระท่อมทุกต้นที่มีไว้ในครอบครอง ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถขอแบ่งปันใบกระท่อมเพื่อใช้ในการทำงานและรักษาโรคได้ตามความเหมาะสม

กฎประชาคมข้อที่ 3 ผู้นำหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และประชาชนทุกคนในหมู่บ้าน ต้องมีส่วนร่วมในการควบคุมเฝ้าระวังเยาวชนไม่ให้เสพน้ำต้มกระท่อมที่มีส่วนผสมอื่นๆ เช่น โค้ก ยาแก้ไอ เป็นต้น มอบให้ผู้นำและคณะกรรมการหมู่บ้านใช้วิธีโดยการกดดันผ่านไปยังผู้ปกครองให้ทราบถึงความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐรวมทั้งกฎประชาคม และให้ผู้ปกครองช่วยกันดูแลเยาวชนบุตรหลานของตนไม่ให้มั่วสุมต้มน้ำกระท่อม อีกทั้งพยายามให้ผู้ที่เสพน้ำกระท่อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ลด ละ เลิก ส่วนคนที่เสพน้ำต้มกระท่อมแล้วถูกจับดำเนินคดี กำนันจะไม่ช่วยเหลือ ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หากมีเยาวชนลักขโมยใบกระท่อมให้มาแจ้งกำนันหรือคณะกรรมการหมู่บ้านทราบ เพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไขต่อไป

กฎประชาคมข้อที่ 4 หากใครยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด (ยาบ้า ยาไอซ์ กัญชา) กำนันจะไม่ให้การรับรองในทุกกรณี เช่น หากผู้ใดในหมู่บ้านประสงค์ที่จะบวชต้องตรวจปัสสาวะกับกำนันก่อน หากผลการตรวจพบสารเสพติด กำนันจะไม่รับรองการบวชให้ ต้องส่งตัวเข้ารับการบำบัดตามกระบวนการและจะดำเนินการตามมาตรการทางสังคมอื่นๆ หากผู้ใดค้ายาเสพติดจะมอบให้เป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย กำนันจะไม่ให้การช่วยเหลือในทุกกรณี ส่วนพืชกระท่อมขอให้เป็นไปตามกติกาที่ตกลงร่วมกัน จากการทำประชาคมในครั้งนี้ ขอให้ทุกคนถือปฏิบัติตามกติกานี้ร่วมกันอย่างเคร่งครัด

กฎประชาคมข้อที่ 5 ผู้ใดขาดประชุมประจำเดือนติดต่อเกิน 3 ครั้ง กำนันจะไม่เซ็นรับรองในทุกกรณี

การบังคับใช้กฎประชาคมทั้ง 5 ข้อนี้ จะมีการจัดทำฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนควบคุม ผลิตแผนที่ และพัฒนาระบบติดตามการปลูกพืชกระท่อมของชุมชน ผู้นำและคณะกรรมการหมู่บ้านดำเนินการติดตาม เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎประชาคมหมู่บ้านด้วยความเคร่งครัดและยุติธรรม

ได้เวลาปลดล็อคออกจากกฎหมายยาเสพติดหรือยัง?

เท่าที่ TCIJ สืบค้นได้ พบว่าตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ได้มีการหยิบยกเรื่องความเหมาะสมในการใช้กฎหมายควบคุมพืชกระท่อม จาก รายงานการประชุมวิชาการเรื่อง 'พืชกระท่อม: สมุนไพรหรือพืชเสพติด' จัดโดยสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. เมื่อเดือน ส.ค. 2546 มีการระบุว่าในมิติของกฎหมายได้ควบคุมพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 8 ในปี 2486 เพราะเหตุการณ์ในขณะนั้นมีการใช้ใบกระท่อมแทนฝิ่น ซึ่งรัฐควบคุมเพิ่มขึ้น ต่อมาเมื่อมี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงยกเลิกกฎหมายฉบับเดิมและนำพืชกระท่อมมาไว้เป็นยาเสพติดประเภท 5 ซึ่งในขณะนั้น (ปี 2546) ก็มีการแสดงความคิดเห็นไปยังคณะรัฐมนตรีที่จะนำพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษมาแล้ว (ในช่วงปี 2546 นั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายประกาศสงครามยาเสพติด ในการประชุมระบุว่าการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดหรือสรรพคุณต่างๆ ของพืชกระท่อม จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง) [9]

ปี 2551 ในการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ได้มีการเปิดเผยผลวิจัยเชิงสังคมศาสตร์เรื่อง 'ภูมิปัญญาการใช้กระท่อมของหมอพื้นบ้านภาคใต้ของประเทศไทย' พบว่า ยังมีหมอพื้นบ้านใช้กระท่อมในการรักษาโรคอยู่ (ทั้งมีและไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ) แต่ก็มีความกลัวว่าภูมิปัญญาพื้นบ้านนี้จะหายไปเพราะกระท่อมกลายเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ทำให้หมอพื้นบ้านไม่กล้านำมาใช้ มีการเสนอว่าควรต่อยอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในอนาคตพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้ [10]

เดือน ส.ค. 2560 นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อคใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 หรือผ่อนปรนให้ประชาชนภาคใต้ใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ในการใช้พืชชนิดนี้เพื่อเคี้ยวสดใช้บำรุงร่างกายในการทำงานหรือใช้เป็นยาสมุนไพรได้เหมือนในอดีต เพราะในประเทศอินโดนีเซียใบกระท่อมเป็นพืชส่งออก อีกทั้งในอังกฤษก็เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย จึงอยากเสนอให้ประเทศไทยดำเนินการเช่นเดียวกัน และจะเสนอกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนชาวภาคใต้ต้องการ [11]

เดือน ส.ค. 2560 ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า การจัดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดประเภท 5 ได้ทำให้การเข้าถึงหรือการนำมาใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรและแพทย์แผนไทยค่อนข้างยาก ทั้งที่พืชกระท่อมมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยา เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรช่วยกันหาทางออก [12]

เดือน ธ.ค. 2560 มีการเปิดเผยงานวิจัย โครงการสำรวจและติดตามสถานการณ์พืชกระท่อมในบริบทสังคมไทยเพื่อสร้างแนวทางการควบคุมพืชเสพติดอย่างบูรณาการจากชุมชน ที่นำเสนอต่อ สำนักงาน ป.ป.ส.  มีข้อเสนอจากภาคประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำปกครองท้องที่ ในพื้นที่ภาคใต้ว่าให้ถอดถอนพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ โดยเสนอให้มีกระบวนการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ภาคใต้อย่างมีส่วนร่วมและเป็นระบบ สนับสนุนให้มีการควบคุมดูแลการใช้พืชกระท่อมในทางที่ผิดโดยชุมชน โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำแผนที่ศักยภาพ เพื่อแสดงตำแหน่งพื้นที่ของต้นกระท่อมทั้งในพื้นที่ป่าธรรมชาติและในพื้นที่ชุมชน เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามควบคุมอย่างเป็นระบบและสมดุล [13]

ในเดือน ก.ย. 2561 ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีเครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมรวม 13 องค์กร ได้ยื่นหนังสือเรื่องข้อเสนอเรื่องการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรณีพืชยา กัญชา และกระท่อม ถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับร่างการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ให้ออกประกาศ คสช.นำพืชยา กัญชา รวมถึงกระท่อมมาใช้ในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยในมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวได้เสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจในการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและอุปสรรคในการใช้ประโยชน์จากพืชเสพติด กัญชา [14]

สำหรับสถานะทางกฎหมายของพืชกระท่อมล่าสุดนั้น หลังจากที่เมื่อเดือน พ.ค. 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ซึ่งจะเปิดช่องให้ใช้พืชเสพติดเพื่อการศึกษาวิจัยกับมนุษย์ได้ รวมทั้งสำนักงาน ป.ป.ส. จะสามารถทดสอบยาเสพติดและกำหนดพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชเสพติดได้ [15] ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2561 ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ...., ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ทั้ง 3 ฉบับนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านวาระ 1 เห็นชอบในหลักการ และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แต่กระนั้นร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ ยังพิจารณาในขั้นกรรมาธิการไม่แล้วเสร็จ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2561 ที่ประชุม สนช. ได้เห็นชอบให้มีการขยายเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ออกไปอีก 30 วัน ซึ่งถือเป็นการขอขยายเวลาเป็นครั้งที่ 2  [16]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] โครงการสำรวจและติดตามสถานการณ์พืชกระท่อมในบริบทสังคมไทยเพื่อสร้างแนวทางการควบคุมพืชเสพติดอย่างบูรณาการจากชุมชน (ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอต่อ สำนักงาน ป.ป.ส., ธ.ค. 2560)
[2] กระท่อม (Kratom) (กองควบคุมวัตถุเสพติด, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 18/6/2555)
[3] โครงการสำรวจและติดตามสถานการณ์พืชกระท่อมในบริบทสังคมไทยเพื่อสร้างแนวทางการควบคุมพืชเสพติดอย่างบูรณาการจากชุมชน (ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอต่อ สำนักงาน ป.ป.ส., ธ.ค. 2560)
[4] วงวิชาการเสนอแยกกระท่อม-กัญชาออกมาเป็นกม.เฉพาะ ให้เป็นพืชยา ไม่ใช่ยาเสพติด (สำนักข่าวอิศรา, 13/2/2560)
[5] กระท่อม (Kratom) (กองควบคุมวัตถุเสพติด, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 18/6/2555)
[6] กระท่อม .. พืชที่ทุกคนอยากรู้ (อาจารย์ ดร.ภก.สมนึก บุญสุภา ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2/10/2559)
[7] การศึกษาแนวทางการพัฒนานโยบายและการยกเลิกพืชกระท่อมออกจาก ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ  (วิตถวัลย์ สุนทรขจิต, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, 2557)
[8] โครงการสำรวจและติดตามสถานการณ์พืชกระท่อมในบริบทสังคมไทยเพื่อสร้างแนวทางการควบคุมพืชเสพติดอย่างบูรณาการจากชุมชน (ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอต่อ สำนักงาน ป.ป.ส., ธ.ค. 2560)
[9] รายงานการประชุมวิชาการเรื่อง 'พืชกระท่อม: สมุนไพรหรือพืชเสพติด' (สำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส., 22/8/2546)
[10] “กระท่อม” ยาเสพติดหรือยารักษาโรค??? (thaihealth.or.th, 4/9/2551)
[11] ขอเคี้ยวสด วัชระชงปลดล็อกใบกระท่อมเป็นสมุนไพร (แนวหน้า, 20/8/2560)
[12] แพทย์แผนไทย ชี้ได้เวลาปลดล็อค !!! “กระท่อม”ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ชี้อนาคตอาจมีเครื่องดื่มกระท่อม (มติชนออนไลน์, 22/8/2560)
[13] โครงการสำรวจและติดตามสถานการณ์พืชกระท่อมในบริบทสังคมไทยเพื่อสร้างแนวทางการควบคุมพืชเสพติดอย่างบูรณาการจากชุมชน (ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอต่อ สำนักงาน ป.ป.ส., ธ.ค. 2560)
[14] เครือข่ายเภสัช จี้ ‘บิ๊กจิน’ ใช้ ม.44 ปลดล็อก ทั้งกัญชา – กระท่อม (มติชนออนไลน์, 21/9/2561)
[15] ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดและร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ (มติคณะรัฐมนตรี, 15/5/2561)
[16] ระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 63/2561 (parliament.go.th, 21/9/2561)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: สถิติการจับกุมพืชกระท่อม 'คดี-ผู้ต้องหา-ของกลาง' ปี 2549-2559

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: