Thai New Wave @ Bangkok Art & Culture Centre (BACC)
ภาพถ่ายโดย: Wanit Nantasuk
นานนับศตวรรษที่มนุษย์ได้เริ่มผลิตกล้องถ่ายรูปไว้ในการทำภารกิจต่างๆ รวมถึงการบันทึกความทรงจำเฉพาะบุคคล ด้วยการพัฒนาทางทหารเป็นสำคัญนั่นเองกล้องถ่ายภาพยังถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการสร้างแผนที่หรือเป็นเครื่องมืออันเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดเขตแดนให้กับโลกสมัยใหม่ นอกเหนือจากการพัฒนาทางทหารแล้ว บริษัทเอกชนรายใหญ่และรายเล็กก็ได้แข่งขันกันพัฒนาประสิทธิภาพในการบันทึกกันอย่างคึกคัก และเมื่อทศวรรษ 1970 นั่นเอง ภาพถ่ายจึงถูกศิลปินหยิบจับขึ้นมาเป็นสื่อในการแสดงออก จนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
นิทรรศการ Thai New Wave เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ PhotoBangkok จัดแสดงอยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) โดยแบ่งเป็นสองนิทรรศการย่อยอีก 2 ส่วน คือ Multiple Planes (ระนาบมากกว่า 1) และ Perspective (ทัศน-มิติ) นิทรรศการนี้มีแกนหลักความคิดที่จะขยับพ้นขอบเขตเดิมของภาพถ่าย หรืออาจกล่าวได้ว่าต้องการที่จะนำเสนอผลงานศิลปะภาพถ่ายที่ไม่ได้หยุดแต่เพียงรูปภาพ เพื่อที่จะสร้างมุมมองและการรับรู้ใหม่ๆแก่ผู้ชมที่เผอิญหลง (เสน่ห์) อยู่ในเมืองกรุงประเทศอู่ข้าวนี้ และยังพูดถึงค่านิยมที่ถูกเปลี่ยนแปลงไป (ตั้งแต่เมื่อไหร่หล่ะ?) แน่นอนว่าเป็นการสร้างความเข้าใจที่มากขึ้นต่อสังคม-สิ่งแวดล้อมที่เราพบเจอกันอยู่ในทุกวันนี้ และยังน่าสนใจอีกว่าเหตุใดกันถึงได้เพิ่งจะมาเป็นที่นิยมกันในช่วงเวลานี้ (2018) ของประเทศไทย เนื่องจาก Street Photo นั้นเป็นกระแสเก่าที่เคยเป็นที่นิยมในโลกศิลปะมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 แล้ว
กลุ่มศิลปินกว่า 15 ชีวิตที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อนำเสนอถึงทัศนะของแต่ละคนต่อสังคม-สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของ Photo (and Installation) Art จากคำโปรยประกอบการชมผลงานนั้นได้เอ่ยถึงความเป็นไปได้ในการมองภาพในมิติที่ขยับพ้นขอบเขตเดิม รวมถึงความเป็นไปได้ในการให้ความหมายกับสื่อภาพถ่าย อาจกล่าวได้ว่าคือนิทรรศการนี้ต้องการข้ามพ้นความหมายของภาพถ่ายที่เป็นเหมือนกับภาพแทนทางความหมาย และไปมุ่งเน้นที่เนื้อหาสาระ ความเป็นมา ประวัติศาสตร์ ความคิดของภาพ รวมถึงความหลากหลายในวิธีการที่จะนำเสนอแก่สาธารณะชน แม้ว่าแกนเนื้อหาหลักของนิทรรศการนี้ (คงจะ) เป็นเนื้อหาใหม่ในวงการศิลปะภาพถ่ายในเมืองไทย (?)
แต่กระนั้นก็ตามภาพถ่ายเชิงแนวคิดที่เกี่ยวกับสังคม-สิ่งแวดล้อมก็แพร่ขยายความนิยมไปตามภูมิภาคต่างๆของโลกรวมถึงเมืองไทยมานานแล้ว ไม่ว่าจะผลงาน Muslimah, 2008 ของ อำพรรณี สะเตาะ ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปในวิถีชีวิตชีวิตความเป็นอยู่ของเพศหญิงในสังคมมุสลิมภายใต้การใส่ ฮิญาบ รวมถึงผลงานภาพถ่ายชุด Lost Motherland-01, 2018 ที่หยิบยกประเด็นปัญหาของผู้พลัดถิ่นและแรงงานข้ามชาติ เพื่อตั้งคำถามต่อสิทธิ เสรีภาพ,ผลงานของ จิตติมา ผลเสวก ชุด Let Me Dance, 2018 ที่พลิกแพลงศิลปะการแสดงสดสู่ศิลปะภาพถ่าย ซึ่งนำเสนอถึงความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาวเลที่กำลังสลายหายไป และยังเกี่ยวเนื่องไปถึงการปฏิบัติการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วย เพื่อให้ผู้เข้าชมได้มองเห็นความเป็นไปของชุมชนผ่านการศึกษาเรื่องราวการทำงานของศิลปินเอง แม้กระทั่งนิทรรศการศิลปะของนักเรียนในระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยแถบปทุมธานีและมหาลัยใจกลางเมืองหลวงที่มีชื่อเสียงหลายด้านมากที่สุด ก็ถือเป็นนิทรรศการที่ข้ามพ้นความเป็นภาพแทนสู่ความคิดและวิธีการไปแล้ว
A Segment View of Memory Palace, 2018 ของ วีรดา บรรเจิดรุ่งขจร อันเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน Memory Palace, 2018 ได้นำเสนอถึงเทคนิคการจัดวางภาพถ่าย ที่เขาเป็นว่าเป็นสิ่งสดใหม่ น่าสนใจ ตามแบบฉบับการเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า โดนการนำภาพถ่ายจากความทรงจำของตนจำพวกต้นไม้ วิว ทิวทัศน์ มาปรับแต่งและปริ้นลงบนแผ่นอะคลิลิก จากนั้นจึงนำมาประกอบในรูปแบบ Model ของบ้านหรืออาคารที่สร้างขึ้นจากไม้ เป็นดั่งการจำลองพื้นที่ความทรงจำที่ถูกประกอบขึ้นใหม่ในบริบทของที่กักเก็บความทรงจำเช่นอาคาร บ้านเรือนที่อุดมไปด้วยการซ้อนทับของความทรงจำ
ผลงานชุดนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า อะไรคือสิ่งใหม่ตามที่เอกสารและคำโฆษณาของนิทรรศการได้ประกาศไว้ การนำภาพมาปริ้นลงในอะคลิลิกและประกอบเป็นตัวอาคารนั้น ไม่ต่างกับการปิดแผ่นสติกเกอร์ขนาดใหญ่ตามผนังของห้างสรรพสินค้า ในแง่ของการมองนั้นจะไม่เห็นในอีกมุมหนึ่งแน่นอน เนื่องจากตัวอาคารมีขนาดใหญ่เราคงไม่สามารถมองเห็นทุกอย่างพร้อมกันได้เป็นแน่ แต่เมื่อนำกลับมาทำเป็น Model ก็ดูจะไม่แตกต่างกันนักในเชิงการมองเห็นที่ทุกคนเข้าใจกันดีในบริบทของตัวสถานที่อยู่แล้ว เมื่อมองเข้าไปใน Model ทั้งหลายแหล่ที่ศิลปินนำมาจัดแสดงจะได้สัมผัสว่าเราเห็นทั้งหมดรอบด้านรวมถึงมองทะลุเข้าไปด้านในของ Model ยังได้ เพราะไม่มีแม้แต่หลังคามาบดบังสายตา (นั่นอาจเป็นความใหม่ของการมองในทัศนะของศิลปินก็ได้) สงสัยแกนหลักความคิดจากศิลปินคงได้แรงบัลดาลมาจากการเดินเล่นตามห้างใหญ่ๆมากกว่าจากบ้านพักอาศัยหรือชุมชนตนเองกระมัง เพราะในบ้านของเรานั้นให้หลับตาเดินแม้จะชนนู้นนี่บ้างก็คงนึกทางไปกันได้ทุกคนอยู่แล้ว
ฉะนั้นงานชิ้นนี้จึงไม่อาจบอกได้ว่าเป็นการนำเสนอสิ่งใหม่ของศิลปะภาพถ่าย เป็นการส่งผ่านภาพแทนมากกว่าจะส่งผ่านความคิดของผลงานสู่ผู้ชม ซึ่งแต่ละชิ้นงานนั้นเป็นภาพแทนความทรงจำอันพร่ามัวที่ศิลปินบันทึกเอาไว้ผ่านกล้องถ่ายภาพ และถึงแม้จะนำเสนอว่าเป็นเทคนิคการจำจดความทรงจำผ่านการจดจำสถานที่ก็มิใช่เรื่องใหม่ ผู้เขียนเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้วิธีการจดจำรายละเอียดต่างๆของประสบการณ์ผ่านการจดจำเหตุการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ศิลปินควรกลับไปทำการบ้านโดยศึกษาผลงานของศิลปินภาพถ่ายให้มากกว่านี้ หากยังต้องการที่จะนำเสนอสิ่งที่ใหม่กว่าศิลปะภาพถ่ายเชิงภาพแทนความรู้สึกที่ปฏิบัติกันมากว่า 100 ปีแล้ว
Landlords (series of 13), 2016-2018 ของ อัครา นักทำนา เป็นผลงานศิลปะภาพถ่าย 13 ชิ้น นอกจากนั้นแล้วในบางภาพยังมีการวางวัตถุอื่นๆประกอบตัวงานด้วย โดยเป็นหุ่นสัตว์ ตัวเล็กๆสำหรับบูชาศาลเจ้าหรือศาลพระภูมิตามบ้าน วางเรียงแถวหน้ากระดานด้านล่างของภาพถ่าย โดยใช้หุ่นบูชาสัตว์ชนิดเดียวกับภาพมาให้รู้สึกถึงความเข้ากัน (ทั้งๆที่มันคนละเรื่องกัน) กับภาพ ผลงานนั้นต้องการที่จะนำเสนอถึงการสถาปนาพื้นที่สาธารณะให้กลับกลายเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งปรากฏให้เห็นตามที่ต่างๆในสังคมประเทศไทย และยังมีความต้องการที่จะสะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจแบบไทยไทย ที่พยายามเข้ายึดครองอาณาบริเวณต่างๆ (ทั้งทางกายภาพ-ความคิด) อย่างหน้าไม่อาย
ผลงานศิลปะชุดเจ้าที่นี้มีความเป็นภาพแทนความเห็นแก่ตัวของร้านรวงหรือผู้คนกลุ่มที่ปฏิบัติเช่นนั้นอยู่ ซึ่งจับจองพื้นที่สาธารณะให้เป็นของตน ในแง่แนวคิดของภาพก็มิได้เชื้อเชิญให้ผู้คนรู้จักบริบทของพื้นที่หรือแม้แต่ร้านค้าและผู้จับจองพื้นที่ดังกล่าว บางทีผลงานของศิลปินที่นำเสนออกมาอาจเป็น ภาพถ่ายอย่างไทยไทย ที่ไม่สามารถส่งผ่านความคิดหรือการรับรู้ใหม่แต่นำเสนอถึงภาพแทนความบกพร่องทางความคิดของผู้คนที่ทำมาหากินตามพื้นที่ต่างๆของราชอาณาจักรไทย นอกจากนั้นการนำเสนอโดยใช้ร้านค้าหรือความเชื่อในการยึดครองพื้นที่นั้นก็มิได้เป็นสิ่งแปลกใหม่อันใด ผู้ที่มีอำนาจทางการเงินที่มากกว่าย่อมสามารถจับจองพื้นที่ได้มากกว่าอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนในสังคมมนุษย์ย่อมรู้ถึงข้อนี้กันดี และนอกจากนั้นหุ่นสัตว์สำหรับการบูชาศาลเจ้าก็มิได้เกี่ยวข้องกับภาพถ่ายเลย เพราะการบริจาคและการซื้อนั้นมีความแตกต่างกันในแง่ของความหมายรวมไปถึงในแง่ของจิตใจ
ผลงาน The Remedy, 2016 ของ มนตรี คำศิริ เป็นภาพถ่ายหลากหลายขนาดรวมทั้งสิ้น 15 ชิ้น ที่บันทึกจากบริเวณ สามจังหวัดตอนใต้ของประเทศไทย นำเสนอในประเด็นเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรง โดยภาพนั้นนำเสนอถึงแท่นปูนที่รายล้อมอยู่หน้าบ้านเรือน ร้านค้า ตามท้องถนน 2 ข้างทางในบริเวณดังกล่าว แท่นปูนนั้นถูกปาดป้ายด้วยสีสันอันหลากหลาย รูปแบบที่แตกต่างกัน โดยประเด็นความคิดที่ต้องการนำเสนอคือความสวยงาม (?) เหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ? และศิลปินจึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเยียวยาจิตใจทางใดทางหนึ่งผ่านการละเลงสีตามวัตถุที่พวกเค้าคงจะคุ้นชิน
ผลงานชุดนี้ทำให้รู้สึกถึงการเย้ยหยันคนในพื้นที่ผ่านการแสดงออกทางศิลปะในแง่ของการดูแคลนแนวคิดในการแก้ปัญหา นอกจากนั้นยังเสนอถึงปัญหาความรุนแรงในรูปแบบเดิมๆ มิได้นำเสนอแง่มุมอื่นๆในพื้นที่เลย ในขณะที่ช่วงเวลาที่ผ่านมาปัญหาการโจมตีพื้นที่ดังกล่าวด้วยกระแสข่าวเช่นนี้ได้ทำให้เกิดการมองข้ามเรื่องราวอื่นๆในพื้นที่ซึ่งน่าสนใจมากกว่านี้ และยังมีนัยยะที่เกี่ยวข้องกันในแง่ของเศรษฐกิจด้วย การนำภาพที่มีความหมายถึงภาพแทนคนในสังคมเช่นนี้ก็มิได้สามารถทำให้ขยับเข้าสู่ความหมายของภาพทางความคิดได้เลย เนื่องจากเป็นได้เพียงภาพแทนจากสายตาของศิลปินเท่านั้น ที่นอกเหนือไปจากนั้นยังเป็นการสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์อันต่อเนื่องสำหรับผู้ที่มิได้อยู่พื้นที่นั้นให้เข้าใจว่าในดินแดนตอนใต้ของประเทศไทยคงจะมีแต่วัฒนธรรมความรุนแรงไม่รู้จบ น่าเสียดายที่เราคงจะไม่ได้รู้จักตอนใต้ของประเทศไทยในมุมอื่นที่มิใช่ความรุนแรงผ่านการชมงานครั้งนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปมิได้แต่จะเป็นไปได้เมื่อศิลปินลงไปทำความรู้จักกับสิ่งอื่นๆในพื้นที่มากกว่านี้
นิทรรศการ Thai New Wave นั้นเป็นเหมือนกับบันทึกเหตุการณ์ที่ถูกปะชำผ่านศิลปินภาพถ่ายชาวไทยกว่า 15 ชีวิต ที่ร่วมกันแสดงความเป็นตัวตนไปคนละทิศละทาง พยายามที่จะนำเสนอทั้งแนวคิดและเทคนิคการนำเสนอสื่อประเภทภาพถ่ายให้ก้าวหน้า (ในทัศนะของผู้เขียน) น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ดูแล้วจะไม่ประสบผลสำเร็จทางด้านแกนหลักของความคิดเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะแกนหลักความคิดของนิทรรศการเองที่ยากเกินกว่าศิลปินทั้งหลายนี้จะสามารถแสดงออกมาได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นหมุดหมายที่แน่นอนแล้วว่า วงการศิลปะภาพถ่ายของไทยอย่าง PhotoBangkok กำลังเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาศิลปะภาพถ่ายให้เป็นมากกว่าภาพแทนของสังคม-สิ่งแวดล้อม (แม้ว่ากระแสนี้ในโลกศิลปะจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลยก็ตาม) ดังที่จั่วหัวเอาไว้ในเอกสารประกอบการชมนิทรรศการ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ