ปัจจุบันประเทศไทยมีเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 10,743 ลำ กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศรายชื่อเรืออย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 2561 ดีเดย์ 1 ก.ย. เริ่มทำลายซากเรือ 779 ลำ ที่มาภาพประกอบ: pxhere (CC0)
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 ว่าพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ว่าการแก้ไขปัญหาประมง IUU (Illegal, unreported, and unregulated fishing) ขณะนี้มีความก้าวหน้าตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะความชัดเจนด้านการบริหารจัดการกองเรือประมงที่เป็นปัญหาสะสมเรื้อรังมายาวนาน ไม่ทราบจำนวนเรือประมงที่แน่นอนของประเทศไทย
นับตั้งแต่ที่เข้ามารับผิดชอบการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูตั้งแต่เดือน เม.ย. 2559 ได้สั่งให้มีการจัดทำอัตลักษณ์เรือประมงทุกลำ รวมทั้งสำรวจติดตาม เรือประมงที่ จม ชำรุด หาย ขายไปต่างประเทศ โดยระดมกำลังจากหลายฝ่ายทั้งจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ร่วมประสานงานติดตามตรวจสอบเรือประมงทุกลำ
ซึ่งขณะนี้ได้ผลยืนยันชัดเจนแล้วว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 10,743 ลำ ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ออกประกาศรายชื่อเรืออย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้ คือ 1.มีทะเบียนเรือไทยถูกต้อง 2.ใบอนุญาตใช้เรือถูกต้อง 3.มีใบอนุญาตทำการประมง หรือจดทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำถูกต้องตามกฎหมายของกรมเจ้าท่าและกรมประมง และที่สำคัญเรือดังกล่าวต้องไม่ได้ถูกใช้กระทำผิดกฎหมาย ไม่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี และไม่ได้ผูกยึด อายัด หรือกักไว้โดยศาล หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฏหมาย
“การประกาศจำนวนกองเรือประมงไทยที่ชัดเจนครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย จากที่ผ่านมาในอดีตจำนวนเรือประมงไม่เคยได้รับการสะสางให้ชัดเจนมาก่อนเลย จนกระทั่งรัฐบาลนี้เข้ามารับผิดชอบ ผมได้เข้ามาจัดการปฏิรูประบบกองเรือประมงไทยทั้งหมด ให้เกิดความชัดเจนปราศจาก เรือผี เรือสวมทะเบียน ซึ่งไทยถูกกล่าวหา ถูกหวาดระแวงจากประเทศต่าง ๆ มาโดยตลอด การทราบจำนวนเรือประมงที่แน่นอนในครั้งนี้ จะทำให้เป้าหมายการทำประมงอย่างยั่งยืนของไทยสำเร็จได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะสามารถบริหารจัดการจำนวนเรือให้สมดุลกับจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นมิติใหม่ในการบูรณการการทำงานระหว่างกรมประมงและกรมเจ้าท่าให้สอดคล้องกันอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของข้อมูลเรือ ทั้ง 10,743 ลำ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศด้วย” พลเอกฉัตรชัย กล่าว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรับทราบผลการตรวจสอบจำนวนซากเรือต่าง ๆ ที่ผุผัง กีดขวางทางน้ำ หรือทางเดินเรือ ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเลจากกรมเจ้าท่าว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 779 ลำ ซึ่งได้ประกาศให้เจ้าของเรือมาแสดงตนเพื่อรื้อทำลายเรือภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 นั้น โดยขณะนี้พบว่ามีซากเรือจำนวน 457 ลำ จะครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 31 ส.ค. 2561 ซากเรือจำนวนดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามมาตรา 121 ของ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยเจ้าของซากเรือลำใดที่เข้ามาแสดงตนจะต้องทำลายซากเรือของตนเอง แต่หากลำใดไม่มีเจ้าของเข้ามาแสดงตนได้สั่งการให้กรมเจ้าท่ารื้อทำลายซากเรือเหล่านั้น ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2561 เป็นต้นไป ขณะที่ซากเรือที่เหลืออีก 322 ลำนั้นจะครบกำหนดให้เจ้าของมาแสดงตน 30 วัน ในวันที่ 16 ก.ย. 2561 กรมเจ้าท่าจะปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยเริ่มทำลายซากเรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 ต่อเนื่องไปจนเสร็จสิ้นทั้งหมด
“การรื้อทำลายซากเรือในครั้งนี้เป็นการกวาดล้างและกำจัดปัญหา เรือผี เรือสวมทะเบียนให้หมดสิ้นไปจากน่านน้ำไทย เพราะที่ผ่านมามีการใช้ซากเรือเหล่านี้ไปสวมเรืออีกลำหนึ่งแล้วลักลอบออกทำการประมงผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อการทำประมงของประเทศไทยมาโดยตลอดและเป็นช่องทางการทุจริต คอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่มีรัฐบาลใดกล้าเข้ามาจัดการปัญหาตรงนี้ แต่รัฐบาลนี้กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความยั่งยืนในการทำประมงของประเทศ และจะเดินหน้าทำอย่างนี้ต่อไปไม่ให้เกิดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายมาทำลายความเชื่อมั่นต่อการผลิตสินค้าประมงไทย และที่สำคัญคือการคงไว้ซึ่งการทำการประมงที่ยั่งยืนให้ชาวประมง และอุตสาหกรรมประมงไทยเกิดความมั่นคงต่อไปในอนาคต”พลเอกฉัตรชัย กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ