ภาวะหลงตัวเอง การติดเฟสบุ๊ค และการกลายเป็นสินค้าของมนุษย์

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ: 10 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 44228 ครั้ง


โซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนวัฒนธรรมในการบริโภคข่าวสาร เปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัวของผู้ใช้ จนการผลิตสร้างคอนเทนต์แล้วป้อนเข้าสู่แพลตฟอร์มได้กลายเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนในสังคม และในบรรดาแพลตฟอร์มที่เป็นโซเชียลมีเดียทั้งหลายนั้น “เฟสบุ๊ค” คือแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

สาเหตุประการแรกคือ โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารที่ทรงพลัง เพราะเทคโนโลยีได้สร้างความสามารถในการสื่อสารที่มีรูปแบบต่างไปจากเดิม จาก one-to-one, one-to-few, และ one-to-many ไปสู่การสื่อสารแบบ many-to-many เทคโนโลยีได้ทลายกำแพงของการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่เคยผูกขาดอยู่เฉพาะกับกลุ่มคนที่ครอบครองและเข้าถึงทรัพยากรลง สภาวะจำยอมที่ผู้รับข้อมูลข่าวสารมีบทบาทเป็นผู้รับแต่ฝ่ายเดียวก็ถูกทลายลงเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันผู้รับสารก็สามารถเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เองได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งหาทรัพยากรมหาศาลอีกต่อไป ใช้ทรัพยากรน้อยลง เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนราคาถูกก็เพียงพอ

รูปแบบการสื่อสารแบบต่าง ๆ  ผู้เขียนดัดแปลงจาก [1]

ทำไมเฟสบุ๊คจึงได้รับความนิยมสูงกว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ?

หากลองสังเกตพฤติกรรมการใช้เฟสบุ๊คของเราเอง และหากซื่อสัตย์ต่อตนเองเพียงพอ เราจะพบว่าเมื่อเราสร้างคอนเทนต์เข้าสู่แพลตฟอร์มเฟสบุ๊ค ไม่ว่าจะด้วยการเขียนสเตตัสบนเฟสบุ๊ค เปลี่ยนรูปโพรไฟล์ หรือกระทั่งการแชร์คอนเทนต์ของผู้อื่น เรามักต้องคอยติดตามดูว่าจะมีใครมาคลิกไลค์ คอมเม้นท์ หรือแชร์คอนเทนต์ที่เราผลิตสร้างต่อไปมากน้อยแค่ไหน แล้วเคยตั้งคำถามหรือไม่ ว่าคนที่คลิก “ไลค์” เขาชื่นชอบคอนเทนต์ของเราจริง ๆ หรือไม่ หรือมีปัจจัยอื่นใดอีกบ้าง ที่ทำให้ผู้อื่นคลิกไลค์ คอนเทนต์ที่เราผลิต

มีงานศึกษาวิจัยในต่างประเทศจำนวนมากที่พยายามจะหาคำตอบต่อคำถามดังกล่าว และข้อสรุปที่ได้จากงานวิจัยหลายชิ้นมีทิศทางที่ชี้ชัดว่า สาเหตุที่เฟสบุ๊คได้รับความนิยมสูงกว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น มีความเกี่ยวพันกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีความหลงใหลและชื่นชมตัวเอง (Self-esteem)

เราติดเฟสบุ๊คเพราะเราหลงตัวเอง ? หรือเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์

พฤติกรรมหลงใหลและชื่นชมตนเองนี้ ถูกเรียกอีกอย่างว่าพฤติกรรม “นาร์ซิสซัสนิยม” (Narcissism) ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากเทพปกรณัมกรีก นาร์ซิสซัส เป็นบุตรของเทพแห่งแม่น้ำ เซฟิสซัส (Cephissus) และภูติ ไลริโอป (Liriope)  นาร์ซิสซัส เป็นนายพรานหนุ่มรูปงามที่มีความภาคภูมิและทระนงตัว เนื่องจากเขามีรูปร่างหน้าตาที่งดงาม จึงมีผู้หลงไหลในความงามของเขามากมาย แต่ด้วยความที่เป็นคนหยิ่งทระนงตัว เขาจึงรังเกียจทุกคนที่หลงใหลเขา เทพีเนเมซิส (Nemesis)จึงได้หลอกล่อให้นาร์ซิสซัสมองเห็นเงาสะท้อนของตนเองในสระน้ำจนเขาหลงไหลในรูปลักษณ์ของตัวเองโดยไม่ได้ตระหนักว่าภาพที่ตนเห็นนั้นเป็นเพียงแค่เงาสะท้อนของตัวเอง นาร์ซิสซัสหลงใหลรูปสะท้อนของตนเองจนไม่ไปไหน นั่งมองรูปสะท้อนของตัวเองด้วยความหลงใหลจนถึงขั้นไม่กินไม่นอนและท้ายที่สุดก็จบชีวิตลงที่สระน้ำนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ คำว่า นาร์ซิสซัส จึงถูกนำมาใช้แทนพฤติกรรมของผู้ที่หลงใหลในรูปลักษณ์ทางกายภาพของตนเอง รวมไปถึงภาพลักษณ์ของตนเองที่ปรากฏต่อสาธารณะด้วย

ภาพวาดนาร์ซิสซัสหลงใหลภาพสะท้อนรูปลักษณ์ของตนเอง (ที่มาภาพ: Bigthink)

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ นักจิตวิเคราะห์ชื่อก้องโลกได้เคยเขียนถึงพฤติกรรมนาร์ซิสซัส ไว้ในหนังสือ On Narcissism ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1914 โดยฟรอยด์ได้ทำการวิเคราะห์พฤติกรรมดังกล่าวในมนุษย์และสรุปว่า พฤติกรรมนาร์ซิสซัสมีสองประเภท ในประเภทแรก ฟรอยด์เรียกว่าเป็น นาร์ซิสซัสขั้นปฐมภูมิ (Primary narcissism) เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปทุกคนมีโดยธรรมชาติ และเป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีความหลงไหลในสิ่งต่าง ๆ ในเชิงวัตถุ อีกประเภทคือ นาร์ซิสซัสขั้นทุติยภูมิ (Secondary narcissism) ซึ่งมนุษย์ได้แปรเปลี่ยนความหลงใหลในวัตถุจากที่เกิดขึ้นในนาร์ซิสซัสขั้นปฐมภูมิย้อนกลับเข้าหาตนเอง ฟรอยด์ยังยกตัวอย่างบางกรณี เช่นกรณีที่มนุษย์บางคนไม่มีความสามารถในการแสดงออกถึงความรักต่อผู้อื่น จึงได้สะท้อนกลับมาแสดงความรักและชื่นชมตนเองแทน [2]

ในทางจิตเวชถือว่าผู้ที่มีความหลงใหลในตนเองมากจนเกินไปเป็นอาการผิดปกติประเภทหนึ่ง เรียกอาการดังกล่าวว่า Narcissistic personality disorder ผู้มีอาการนี้จะหลงผิดคิดว่าตนเองมีความสำคัญเหนือคนอื่น มักแสดงออกด้วยการทำตนให้เป็นที่สนใจ แสดงออกด้วยท่าทีที่หยิ่งผยอง และมักจะแสดงอำนาจเหนือผู้อื่น [3]

นักวิจัยได้แบ่งลักษณะพฤติกรรมนาร์ซิสซัสเป็น 2 ประเภท [4] คือ

  1. Grandiose narcissism ผู้ที่ชื่นชมหลงใหลตัวเองอย่างสูง มีความต้องการการยอมจากคนรอบข้าง มักตัดสินคนอื่นอย่างรวดเร็ว และไม่ค่อยแสดงความรู้สึก ในวัยเด็กมักถูกเลี้ยงดูแบบประคบประหงม ได้รับการตามใจจากครอบครัว
  2. Vulnerable narcissism ผู้ที่ชื่นชมหลงใหลตัวเองในระดับที่ต่ำกว่า มีความอ่อนไหว ต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง ในวัยเด็กมักถูกละเลยจากครอบครัว ทำให้แสวงหาการยอมรับเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปในวัยเด็ก

ในงานวิจัยเรื่องของ McCain และ Cambell [5] ได้ข้อค้นพบว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมแบบ grandiose narcissism มักจะใช้เวลาในการใช้โซเชียลมีเดียสูง มีจำนวนเพื่อนในโซเชียลมีเดียมาก ผลิตคอนเทนต์และโพสต์รูปตัวเองบ่อยครั้ง กว่าผู้ที่ไม่มีพฤติกรรมนาร์ซิสซัส

สอดคล้องกับการศึกษาพฤติกรรมการใช้เฟสบุ๊คของนักเรียนในเยอรมันของ Brailovskaia และ Margraf [6] ได้ข้อค้นพบว่า นักเรียนที่มีพฤติกรรมติดการใช้งานเฟสบุ๊คมีความเชื่อมโยงกับการมีพฤติกรรมนาร์ซิสซัส และผู้ที่ติดการใช้งานเฟสบุ๊คมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตเชิงลบ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด ทั้งสองจึงเสนอแนะว่าไม่ควรใช้เวลากับเฟสบุ๊คมากจนเกินไปในแต่ละวัน นอกจากนี้งานวิจัยของ Younus และคณะ [7] ยังพบว่านอกเหนือจากผู้ใช้เวลาในการใช้เฟสบุ๊คมากกว่าปกติจะเชื่อมโยงกับผู้ที่มีพฤติกรรมนาร์ซิสซัสแล้ว ยังมีพฤติกรรมการโพสต์ข้อความที่อวยตัวเอง โปรโมตตัวเอง แสดงความชื่นชมในคอนเท้นต์ที่ตัวเองเป็นผู้ป้อนเข้าสู่เฟสบุ๊ค มีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในเฟสบุ๊ค คลิกไลค์เพื่อนในเฟสบุ๊คไม่เท่าเทียมและเลือกปฏิบัติเฉพาะกับคนที่ต้องการให้เขามาชื่นชมตัวเองเป็นพิเศษ

เมื่อพิจารณาข้อเสนอของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ที่ว่า พฤติกรรมนาร์ซิสซัส โดยเฉพาะนาร์ซิสซัสขั้นปฐมภูมิ เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติในมนุษย์ทุกคน เราจะพบว่าข้อเสนอของฟรอยด์ ค่อนข้างสอดคล้องกับข้อเสนอของ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) ในเรื่องลำดับขั้นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งมาสโลว์ ได้เสนอไว้ในรายงานเรื่อง “A Theory of Human Motivation” ว่ามนุษย์มีลำดับขั้นของความต้องการพื้นฐาน 5 ขั้น เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งทางกายภาพและจิตใจ โดยความต้องการขั้นสุดของมนุษย์คือความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-actualization) ความต้องการพื้นฐานนี้มีลำดับขั้น และมนุษย์จะต้องตอบสนองความต้องการของตัวเองในเรื่องที่มีความเป็นพื้นฐานมากกว่าก่อน จึงจะขยับไปตอบสนองความต้องการพื้นฐานอื่นที่อยู่ในลำดับขั้นที่สูงกว่าได้ ข้อเสนของมาสโลว์นิยมแสดงในรูปแบบของพีรามิด

ลำดับขั้นของความต้องการพื้นฐาน 5 ขั้นของมาสโลว์ (ที่มาภาพ: Simplyphychology)

ภายหลังจากที่มาสโลว์ได้เสนองานของเขาออกมา ปรากฏว่ามีข้อถกเถียงและโต้แย้งมากมายต่อลำดับขั้นที่มาสโลว์นำเสนอ แต่ข้อถกเถียงจะเป็นเรื่องของการเรียงลำดับขั้นของแต่ละปัจเจกบุคคลซึ่งอาจมีลำดับขั้นที่แตกต่างกันก็ได้ โดยที่ข้อโต้แย้งไม่ได้หักล้างว่าความต้องการทั้งหลายที่มาสโลว์เสนอ คือ ความต้องการทางการภาพ ความต้องการความปลอดภัย ความต้องการความรักและและความเป็นเจ้าของ ความต้องการการยอมรับนับถือ และความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต ไม่ใช่ความต้องการพื้นฐานที่มนุษย์ต้องการ

เมื่อพิจารณาสิ่งที่เป็นคุณค่าที่ผู้ใช้ได้รับจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟสบุ๊ค ก็จะพบว่าเฟสบุ๊คสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานในเรื่องของความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ กับความต้องการการยอมรับนับถือได้ และนี่อาจเป็นคำตอบหนึ่งว่าเหตุใดโซเชียลมีเดียจึงได้รับความนิยมอย่างสูง

เราชอบโพสต์รูปเซลฟี่ แต่เราไม่ชอบดูรูปเซลฟี่ของคนอื่น

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง [8] ซึ่งทำการศึกษาแรงจูงใจในการนำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นรูปถ่ายตนเองหรือการเซลฟี่ (Selfie) ของกลุ่มตัวอย่างในประเทศเกาหลีใต้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างนิยมโพสต์รูปเซลฟี่ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตนของผู้ที่โพสต์ในแบบที่ผู้โพสต์ต้องการจะนำเสนอสู่สาธารณะ เนื่องจากแพลตฟอร์มเปิดโอกาสให้ผู้โพสต์เลือกคอนเทนต์หรือรูปที่จะนำเสนอเองได้ การโพสต์รูปเซลฟี่ในบางครั้งจึงถูกใช้เป็นการโปรโมตอัตลักษณ์ที่ตนเองต้องการให้สาธารณะรับรู้ มากกว่าอัตลักษณ์ที่แท้จริงของผู้โพสต์

ข้อค้นพบของงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ สาเหตุที่ทำให้คนโพสต์รูปเซลฟี่นั้นอาจมีอยู่หลายเหตุผลแตกต่างกันไป จำแนกได้เป็น การโพสต์เพื่อเรียกร้องความสนใจ (Attention seeking) การโพสต์เพื่อการสื่อสาร (Communication) การโพสต์เพื่อบันทึกความทรงจำ (Archiving) และการโพสต์เพื่อความบันเทิง (Entertainment)

เฉพาะการโพสต์รูปตัวเองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องความสนใจนั้น งานวิจัยเสนอว่าถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกในทางจิตวิทยา

การโพสต์รูปตัวเองเพื่อการสื่อสาร มีข้อดีในฐานะที่สามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมได้ การโพสต์รูปตัวเองในฐานะบันทึกความทรงจำนั้นก็อาจมีสาเหตุมาจากความสามารถของแพลตฟอร์มในการบันทึกวันเวลา มีความสามารถการจัดการข้อมูล การค้นหา ที่ถูกทำให้ง่ายดายขึ้น

เราสามารถทำนายความตั้งใจในการโพสต์ได้ หากเป็นการโพสต์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องความสนใจ เพื่อการสื่อสาร เพื่อบันทึกความทรงจำเอาไว้ ขณะที่ความถี่ในการโพสต์รูปเซลฟี่จะเป็นตัวแปรที่เราสามารถทำนายพฤติกรรมนาร์ซิสซัสของผู้โพสต์ได้   

งานศึกษาอีกชิ้นที่น่าสนใจ คืองานศึกษาเรื่อง “The Selfie Paradox: Nobody Seems to Like Them Yet Everyone Has Reasons to Take Them. An Exploration of Psychological Functions of Selfies in Self-Presentation” ของ ศาสตราจารย์ Sarah Diefenbach แห่งมหาวิทยาลัย  Ludwig-Maximilians-University ประเทศเยอรมัน[9] ซึ่งได้ทำการศึกษาการโพสต์รูปเซลฟี่ โดยศึกษากลุ่มตัวอย่าง 238 คน ในประเทศเยอรมัน ออสเตรีย และสวิสเซอร์แลนด์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างโพสต์รูปเซลฟี่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนหรือโปรโมตตัวเอง (Self-promotion) เพื่อโฆษณาจุดเด่นหรือความสามารถของตัวเอง รวมถึงการเผยตัวตน (Self-discloser) เพื่อเรียกร้องความสนใจหรือความเห็นอกเห็นใจ เช่นกัน งานวิจัยยังได้ข้อค้นพบอีกว่า จำนวน 77% ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าชื่นชอบการโพสต์รูปเซลฟี่และกระทำเป็นปกติวิสัย แต่น่าสนใจว่า 82% ของกลุ่มตัวอย่างเดียวกันนี้กลับไม่ให้ความสนใจกับรูปเซลฟี่ของผู้อื่น แต่กลับให้ความสนใจกับคอนเทนต์ประเภทอื่นมากกว่า สิ่งนี้ ศาสตราจารย์ Diefenbach เรียกว่าเป็น ภาวะย้อนแย้งของการเซลฟี่ (Selfie paradox) คือในขณะที่ตัวเองชื่นชอบการถ่ายรูปตัวเองแล้วโพสต์และกระทำเป็นกิจวัตร แต่กลับไม่ชอบที่จะเห็นผู้อื่นกระทำสิ่งเดียวกับที่ตนชอบ งานวิจัยนี้ไม่เพียงศึกษาให้เห็นสภาวะดังกล่าวความหลงไหลในตัวเองมากกว่าความสนใจในผู้อื่น แต่ยังชี้ให้เห็นว่าเรามองการกระทำของตนเองและการกระทำของผู้อื่นต่างกัน แม้จะเป็นการกระทำอย่างเดียวกันทุกประการ

ทำไมเราคลิกไลค์ ?

มีแรงขับเคลื่อนหลายประการที่อาจเป็นเหตุผลให้เราคลิกไลค์ (รวมทั้งอีโมติคอนอื่นในเฟสบุ๊คเช่น หัวเราะ โกรธ เสียใจ ฯลฯ) ซึ่งเป็นเหตุผลของผู้ใช้แต่ละคนอาจต่างกัน ผู้ใช้บางคนใช้ในฐานะเครื่องมือในการประเมินคุณค่า (Evaluation)ของคอนเทนต์ หากรู้สึกว่ามีคุณค่าก็จะคลิกไลค์ ผู้ใช้บางคนใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงการรับรู้รับทราบ (Acknowledgement) บางคนคลิกไลค์เพื่อแสดงความสนับสนุน (Social support) หรือบางคนอาจจะคลิกไลค์เมื่อเห็นว่าคอนเทนต์นั้นเป็นประโยชน์ ขณะที่การคลิกไลค์ในบางครั้งก็อาจจะเป็นการกระทำเพื่อเอาใจ เพื่อจะนำไปสู่การสร้างสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างคอนเทนต์และผู้คลิกไลค์ต่อไป การคลิกไลค์จึงมีความหมายได้หลายนัยยะ และอาจจะไม่ได้หมายความว่าผู้ที่คลิกไลค์มีความชื่นชอบคอนเทนต์เสมอไป [10]

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง [11] ได้ทำการศึกษาเหตุผลในเชิงจิตวิทยาและแรงบันดาลใจของผู้ใช้เฟสบุ๊คในการคลิกไลค์ งานวิจัยเสนอว่า ลักษณะการคลิกไลค์ต่อคอนเทนต์ในเฟสบุ๊คและการที่ผู้อื่นสามารถมองเห็นและรับรู้ได้ว่าเราคลิกไลค์คอนเทนต์นั้น ไม่เพียงแต่มีนัยยะว่าผู้คลิกไลค์ชื่นชอบคอนเทนต์นั้นแต่เพียงนัยยะเดียว หากยังสามารถแสดงซึ่งออกการสนับสนุนคอนเทนต์นั้นและเป็นผลิตซ้ำคือเป็นการแชร์ไปด้วยในตัว เนื่องจากหลังการคลิกไลค์ เฟสบุ๊คจะขึ้นแจ้งในฟีดของผู้ที่เป็นเพื่อนของผู้คลิกไลค์ด้วยว่าผู้นั้นได้ทำการคลิกไลค์คอนเทนต์นั้น ข้อค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า 2 สาเหตุสำคัญที่สุดในการตัดสินใจคลิกไลค์ของกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้เฟสบุ๊คที่คณะวิจัยทำการศึกษาคือความชื่นชอบในคอนเทนต์นั้น ๆ (Enjoyment) และความต้องการในการรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่น (Interpersonal relationship) ผู้ใช้เฟสบุ๊คที่มีความหลงใหลในตัวเอง (Self-esteem) ในระดับสูง มีความจริงจังในชีวิตน้อย และมีความหวั่นไหวทางอารมณ์สูง มีแนวโน้มที่จะคลิกไลค์เพื่อ “เอาใจผู้อื่น” โดยที่อาจจะไม่ได้ชื่นชอบในคอนเทนต์นั้นจริง ๆ มากกว่าผู้ที่มีความหลงไหลในตัวเองในระดับต่ำและความมั่นคงทางอารมณ์สูง

ความสนิทสนม ความเป็นส่วนตัว และการกลายเป็นสินค้าของผู้ใช้

ความสนิทสนมระหว่างบุคคลมีความเชื่อมโยงกับความเป็นส่วนตัว บุคคลที่สนิทสนมกัน นอกจากจะมีความสนใจในเรื่องคล้ายคลึงกัน มีนิสัยใจคอที่คล้ายคลึงกัน ยังมักจะรู้เรื่องส่วนตัวซึ่งกันและกันมากกว่า เฟสบุ๊ค ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้ใช้ สามารถสร้างความสนิทสนมใกล้ชิดระหว่างผู้ใช้ได้แม้อาจจะไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันโดยการพบปะสนทนากันแบบเห็นหน้าเห็นตาแบบแต่ก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเฟสบุ๊คทำให้เราเข้าถึงความเป็นส่วนตัวของกันและกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสร้างคอนเทนต์ของผู้ใช้ เราสามารถคาดเดาว่าเพื่อนทางเฟสบุ๊คเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เดินทางไปไหน ทำงานอะไร มีท่าทีและทัศนคติต่อเรื่องต่าง ๆ ในสังคมอย่างไร จากการติดตามคอนเทนต์ที่ผู้ใช้นั้น ๆ เป็นผู้สร้าง

การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวทางเฟสบุ๊คนี้แม้มีข้อดีอยู่บ้างในฐานะที่อาจสร้างความสนิทสนมและความสัมพันธ์ทางสังคมแต่ก็มีผลเสีย อย่างน้อยที่สุดหากผู้ใช้บางคนใช้ข้อมูลส่วนตัวที่ได้จากเฟสบุ๊คโดยมีความประสงค์ที่จะสร้างความสนิทสนมและความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อหวังผลบางประการ ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างง่ายดาย

สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกประการคือในขณะที่เราสร้างคอนเทนต์ที่เป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวทางเฟสบุ๊ค เราอาจจะมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเพื่อติดต่อสื่อสาร เพื่อสร้างอัตลักษณ์ทั้งที่เป็นตัวตนที่แท้จริงหรือสิ่งที่เราอยากให้ผู้อื่นรับรู้อย่างนั้น ตามที่ได้อภิปรายก่อนหน้า เรามักจะลืมเราได้เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวให้เจ้าของแพลตฟอร์มเฟสบุ๊คไปพร้อมกัน และนั่นคือต้นทุนที่เราจ่ายให้เฟสบุ๊คเพื่อแลกกับการใช้แพลตฟอร์มโดยที่เราไม่รู้ตัว และยังคงอาจจะคิดว่าการใช้งานเฟสบุ๊คนั้นไม่มีต้นทุนใด ๆ เป็นบริการฟรี

ทุกคอนเทนต์ที่เราผลิตและโพสต์ แท้จริงเป็นต้นทุนที่เราต้องจ่าย เฟสบุ๊คแปลงผู้ใช้ คอนเทนต์ของผู้ใช้ ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เป็นสินค้า และขายให้กับผู้ใช้รายอื่นที่มีความต้องการและใช้ประโยชน์ข้อมูลส่วนตัวดังกล่าว ผู้ใช้จึงมีสภาพเป็นสินทรัพย์ (Asset) ของเฟสบุ๊คโดยสมบูรณ์ คือเมีศักยภาพป็นทั้งสินค้าและลูกค้าในเวลาเดียวกัน ข้อมูลส่วนตัวที่เราเผยแพร่ อาทิ เพศ อายุ ย่านที่เราอาศัยหรือเดินทางไปบ่อย สถานที่ที่เราไปใช้สินค้าและบริการ การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในเฟสบุ๊ค ความต้องการในการใช้สินค้าและบริการ ฯลฯ เฟสบุ๊คจัดระเบียบข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ของผู้ใช้ และขายให้กับผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้

หากมนุษย์ทุกคนล้วนมีพฤติกรรมนาร์ซิสซัสอย่างที่ ซิกมุนด์ ฟอยด์ ได้เสนอเอาไว้ และมนุษย์ล้วนต้องการ ความรัก ความเป็นเจ้าของ ความต้องการการยอมรับนับถือ ในฐานะหนึ่งในลำดับขั้นความต้องการพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพยายามตอบสนอง ตามที่ อับราฮัม มาสโลว์ เสนอแล้วละก็ การสร้างคอนเทนต์ การเปิดเผยตัวตน ข้อมูลส่วนบุคคล ย่อมเป็นสิ่งที่ดำเนินต่อไป

และตราบเท่าที่เรายังใช้แพลตฟอร์มในฐานะเครื่องมือสร้างความเป็นสังคม ก็อาจจะมีผู้เอาคุณสมบัติทางธรรมชาติของมนุษย์เหล่านี้ไปใช้สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ตนเอง การกลายเป็นสินค้าของมนุษย์ก็น่าจะดำเนินต่อไปเช่นเดียวกัน

 

อ้างอิง

[1] Bartholomew, A., & Hachtmann, F. (2014). A Professional Project Surveying Student-Run Advertising and Public Relations Agencies at Institutions with ACEJMC Accredited Programs. University of Nebraska-Lincoln

[2] https://www.sigmundfreud.net/on-narcissism.jsp

[3] Ronningstam E (2011). "Narcissistic personality disorder: a clinical perspective". J Psychiatr Pract. 17 (2): 89–99. doi: 10.1097/01.pra.0000396060.67150.40

[4] ดู https://www.learning-mind.com/grandiose-narcissism-vulnerable-narcissism/

[5] McCain, J. L., & Campbell, W. K. (2016, November 10). Narcissism and Social Media Use: A MetaAnalytic Review. Psychology of Popular Media Culture. Advance online publication. http:// dx.doi.org/10.1037/ppm0000137

[6] Brailovskaia J, Margraf J (2017). Facebook Addiction Disorder (FAD) among German students—A longitudinal approach. PLoS ONE 12(12): e0189719. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0189719

[7] Younus, A., et al. (2015). A Study into the Correlation between Narcissism and Facebook Communication Patterns. Web Intelligence and Intelligent Agent Technology (WI-IAT), ACM International Conference. Singapore

[8] Sung, Y., Lee, J.-A., Kim, E., & Choi, S. M. (2016). Why we post selfies: Understanding motivations for posting pictures of oneself. Personality and Individual Differences, 97, 260-265. doi:https://doi.org/10.1016/j.paid.2016.03.032

[9] งานวิจัยชิ้นนี้เขาถึงได้ที่ https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2017.00007/full

[10] Hayes, R. A., Carr, C. T., & Wohn, D. Y. (2016). One Click, Many Meanings: Interpreting Paralinguistic Digital Affordances in Social Media. Journal of Broadcasting & Electronic Media, 60(1), 171-187. doi:10.1080/08838151.2015.1127248

[11] Lee, S.-Y., Hansen, S. S., & Lee, J. K. (2016). What makes us click “like” on Facebook? Examining psychological, technological, and motivational factors on virtual endorsement. Computer Communications, 73, 332-341. doi: https://doi.org/10.1016/j.comcom.2015.08.002

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: