โลกร้อนกับวิกฤตความขัดแย้งและผู้ลี้ภัย

สมานฉันท์ พุทธจักร บรรณาธิการ z-world.co: 24 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 7002 ครั้ง


‘วิกฤตการผู้ลี้ภัย’ ได้เข้ามาท้าทายมนุษยธรรมของมนุษยชาติ เป็นเสมือนโจทย์ข้อใหม่หลังสงครามโลก ที่ประชาชาติต้องร่วมกันแก้ไข คลื่นผู้ลี้ภัยที่ต้องหนีออกจากถิ่นฐานเพราะความคัดแย้งในมาตุภูมิ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในโลกเกิดขึ้นให้เห็นมากมาย ที่มาภาพประกอบ: Public Health Watch

ไม่เพียงแต่ความขัดแย้งของมนุษย์ อย่างการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้วิกฤตผู้ลี้ภัยก่อตัวขึ้น ยังมีหลายฝ่ายเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุด ทั้งจากผลกระทบของมันโดยตรง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่จะเข้าไปมีส่วนในความขัดแย้งของโลกอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะกรณีของซีเรียที่เป็นประเด็นร้อนของโลกขณะนี้ ซึ่งมีงานศึกษาที่ชี้ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากภัยแล้งจากอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น

มนุษย์ เผ่าพันธุ์ผู้ครอบครองโลกโดยสมบูรณ์

เมื่อปี 2000 Paul Crutzen นักเคมีเจ้าของรางวัลโนเบลชาวดัตช์ ผู้บุกเบิกแนวคิดภาวะโลกร้อน ได้ประกาศกลางงานประชุมทางวิชาการในเม็กซิโกว่า โลกเราไม่ได้อยู่ในโลกยุค Holocene อีกต่อไป แต่เราได้ก้าวไปสู่ยุค Anthropocene คือยุคที่การเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้ดำเนินไปด้ายตัวมันเองอีกต่อไป แต่การดำรงอยู่และพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทบต่อสภาพอากาศไปถึงระบบนิเวศของโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ช่วงเวลาการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์เป็นแสงวูบเดียว เมื่อเทียบกับอายุทั้งหมดของโลก มนุษย์เรากลับกลายเป็นเผ่าพันธ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโลกมากที่สุด อย่างที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธ์ได้สามารถทำได้

องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) รายงานตัวเลขความเข็มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศว่ามีตัวเลขสูงถึง 410 ppm ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจมา และยังคาดว่าเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบเกือบล้านปี และเพียงแค่ในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นมากเกือบ 100 เท่า ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2016 กลายเป็นปีที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ  คาดการณ์ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดในรอบ 1 พันปี

โลกร้อนคนระส่ำ

“การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะนำเราไปสู่วิกฤตผู้ลี้ภัยที่รุนแรง ยิ่งคนในพื้นที่ยากจน ที่มีควาสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ต่ำ จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่สุด และส่วนหนึ่งต้องทนทุกข์กับผลกระทบของมันแล้ว” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) เคยกล่าวไว้ในปี  2016

เมื่อโลกต้องเปลี่ยนไปด้วยฝีมือมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของโลกก็จะกลับมาส่งผลวิธีดำรงชีวิตของเราไม่ต่างกัน ‘Climates Change Refugee’ เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนิยามผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้มาจากภัยสงครามหรือความยากจน แต่ต้องเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัยเนื่องจากผลกระทบรูปแบบต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศ

มีการคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 1995 จนมาถึงปี 2015 กว่า 6 แสนคนเสียชีวิต ราว 4.1 ล้านคน ได้รับบาดเจ็บหรือต้องศูนย์เสียที่อยู่อาศัยจากภัยน้ำท่วม พายุ คลื่นความร้อน จากสภาพภูมิอากาศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว หรือปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกี่ยวกับสภาพอากาศ

ในประเทศนิวซีแลนด์มีข้อเสนอจากรัฐมนตรีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสนอให้รัฐบาลออก “วีซ่าด้านมนุษยธรรม” (Humanitarian Visa for ‘Climate Refugees’) ที่สามารถอยู่อาศัยในนิวซีแลนด์ได้ ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับทะเลในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นที่พื้นเปราะบางจากการระดับที่สูงขึ้นด้วยภาวะโลกร้อน คาดว่าในอนาคตบางเกาะจะหายไปในจากแผนที่โลก

ขณะที่ภาคเกษตรกรรมและอาหารเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดจากภัยแล้ง, ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ไปจนถึงการขยายของทะเลทราย ทีเป็นผลมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงพื้นที่การเกษตรและพืชผลการผลิตลดน้อยลง

งานศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สำรวจการผู้คนที่แสดงความจำนงขอลี้ภัยมายังสหภาพยุโรป พบว่ามีมากกว่า 350,000 คำขอต่อปี จาก 103 ประเทศทั่วโลก นำมาจำแนกตามประวัติสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ เพื่อหาความแปรปรวนของสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ในช่วงตั้งแต่ 2000-2014 สิ่งที่งานศึกษาชิ้นนี้ค้นพบ คือยิ่งประเทศใดอุณหภูมิในพื้นที่เกษตรกรรมแปรปรวนออกจากค่าที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก จะมีจำนวนผู้ส่งคำขอลี้ภัยมากขึ้นตามมาด้วย และเมื่อคาดการณ์จากสถานการณ์ปัจจุบัน ก่อนสิ้นศตวรรษที่ 21 จะมีอัตราการขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นถึง 200%

นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโดยตรง ส่งให้ผู้คนหลายล้านต่างเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยแล้ว ในอีกแง่หนึ่งมีหลักฐานหลายชิ้นที่บอกเราได้ว่า ความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามที่ดำเนินอยู่นั้น มีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเขาไปมาเกี่ยวโยงด้วย ในฐานะเชื้อเพลิงของความขัดแย้ง

Harald Welzer ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Flensburg ประเทศเยอรมนีผู้เขียนหนังสือ “Climate Wars: Why People Will Be Killed in the 21st Century” (สงครามภูมิอากาศ: เหตุผลที่ผู้คนจะถูกฆ่าในศตวรรษ 21) หนังสือที่อธิบายผลกระทบทางวัฒนธรรมและการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เคยให้สัมภาษณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งในที่แฝงอยู่ในความขัดแย้งทั่วโลก และจะเป็นเชื้อเพลิงสำคัญขับเคลื่อนความขัดแย้งทั่วทั้งโลก โลกในอนาคตการเมืองหรืออุดมคตินี้จะเป็นเพียงฉาบหน้าของความชัดแย้ง แต่การแย่งชิงทรัพยากร (ที่มีจำกัดลงทุกวัน) จะเป็นตัวแปรแท้จริงที่จะทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาห้ำหั่นกัน นำไปวิกฤตผู้ลี้ภัยที่จะตามมา

“หลักการง่าย ๆ เลย คือมันเป็นเรื่องปกติที่ความรุนแรงจากความขัดแย้ง (violent conflict) จะมีสูงขึ้น เมื่อภาวะการอยู่รอดของผู้คนถูกคุกคาม คำถามของผมก็คือถ้านักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย พูดถูกเกี่ยวเกี่ยวภาวะโลกร้อน หมายความว่ามันคือเป็นไปได้อย่างสูงที่จะมีเกิดความรุนแรงจากความขัดแย้ง”

นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้วมูลนิธิความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (The Environmental Justice Foundation - EJF) ได้ออกรายงาน รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เข้าไปเป็นตัวผลักดันให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดของโลก โดยมุ่งความสนใจไปยังความขัดแย้งในซีเรีย

ซีเรีย: สงคราม อาหาร แรงงานอพยพ

สงครามกลางเมืองในซีเรียได้สร้างคลื่นผู้อพยพมหาศาลในปัจจุบัน เป็นที่รับรู้กันดีว่าจุดเริ่มต้นทั้งหมด เกิดจากการลุกขึ้นโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน และแน่นอนว่าภาวะโลกร้อนถูกเชื่อมโยงว่าเข้าไปมีส่วนจุดประกายความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลด้วย เมื่อสภาวะการอยู่รอดของมนุษย์ถูกคุกคาม หากไม่มีสถาบันหรือเครื่องมือในการรับมือที่ดีพอ ความรุนแรงนั้นจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ซีเรียมีพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งค่อมอยู่ใน “ดินแดนวงพระจันทร์เสี้ยวไพบูลย์” พื้นที่อุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงด้วยแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส แม่น้ำไนล์ และแม่น้ำจอร์แดน ต้นกำเนิดกสิกรรมและอารยาธรรมมากมายตั้งแต่โบราณ เป็นเหมือนตะกร้าอาหารที่เลี้ยงคนตะวันออกกลางมาแต่อดีตจวบปัจจุบัน เมื่ออุณภูมิโลกที่สูดขึ้นพื้นที่บริเวณนี้ที่เคยสมบูรณ์ก็เปลี่ยนไป คลื่นความร้อน ฤดูแล้งที่ยาวนาน ผลที่ตามมาทำให้ประมาณฝนลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว เกษตรกรรมในพื้นที่แถบนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง

ซึ่งซีเรียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลง ในช่วงปี 1999-2009 และต้องเผชิญกับผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำหลายครั้ง ในปี 1999 World Food Programme (WFP) รายงานว่า 4,700 ครัวเรือนต้องเจอกับภาวะขาดแคลนอาหาร ในปี 2006 ซีเรียเก็บเกี่ยว ข้าวสี ฝ้าย และบาร์เลย์ ได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง   และการปศุสัตว์ในตะวันออกเฉียงเหนือลดลงร้อยละ 85 ทั้ง ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคกสิกรรมหลักของซีเรีย  ทำให้ความมั่นคงทางอาหารของคนเรือนล้านสั่นคลอน ในปี 2008 รัฐบาลซีเรียต้องนำเข้าข้าวสาลีเป็นครั้งแรกในรอบ15 ปี แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะหยุดราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นได้ ข้าวสาลีและบาร์เลย์ราคาพุงสูงขึ้นถึงร้อยละ 25 มีการประมาณการว่าประชาชนกว่า 3.7 ล้านคนต้องดำรงชีวิตในภาวะไม่มีความมั่นคงทางอาหาร ยังมีรายงานอีกหลายชิ้นที่บอกไปทางเดียวกันว่าซีเรียในช่วง 1999-2011 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสงครามกลางเมืองนั้น ถูกภัยแล้งจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเล่นงาน จนองค์กรสหประชาชาติต้องออกมาประกาศว่าประชาชนชาวซีเรีย 2-3 ล้านคนถูกทำให้เข้าสู่ความยากจนจากภายแล้ง

เมื่อภาคการเกษตรไม่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนได้อีกต่อไป จากเดิมที่คนในชนบทจะเข้ามาในเขตเมืองเพื่อหางานทำชั่วคราวในช่วงที่ไม่มีการเพาะปลูก มีผลสำรวจชี้ว่าผู้ที่ประสบกับภัยแล้งส่วนใหญ่ใช้การย้ายถิ่นฐานในการแก้ปัญหาภัยแล้ง การเข้ามาทำงานในเมืองของคนชนบทจึงเป็นไปในแบบถาวร ซึ่งก่อนหน้าภัยแล้งนั้นซีเรียมีอัตราการย้ายถิ่นต่ำมากเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น แต่ตัวเลขการอพยพย้ายถิ่นภายในประเทศสูงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คาดการว่าอัตราย้ายถิ่นของคนในชนบทเข้ามาในเมืองต่าง ๆ สูงถึง 1.5 แสนคนต่อปี ผสมกับเป็นประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่สูงพื้นที่หนึ่งของโลก จึงตามมาด้วยปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดการขยายตัวของคนจน คนชายขอบ ทั้งในพื้นที่ชนบทและในเมืองใหญ่

มีงานศึกษาของ London School of Economics ชี้ให้เห็นว่ากรณีซีเรียแตกต่างไปจากอาหรับสปริงของประเทศอื่น ที่เกิดขึ้นจากคนชนชั้นกลางเป็นผู้เล่นสำคัญ แต่การลุกฮือในซีเรียที่เกิดขึ้นท่ามกลาง คนชายขอบ คนจน ชาวชนบท ไปจนถึงแรงงานอพยพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขยายจำนวนขึ้นในช่วงเริ่มทศวรรษที่ 20 จากการปัจจัยหลายสิ่งที่กล่าวมา

แน่นอนว่าความขัดแย้งดำรงอยู่ตลอดทุกช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นตัวเร่งให้ความรุนแรงผุดขึ้น เมื่อทรัพยากรมีจำกัดลง ความอยู่รอดถูกคุกคามการเผชิญหน้าก็เลี่ยงไม่ได้ ยิ่งในสังคมที่ไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการกระจายทรัพยากรและจัดการความขัดแย้งแล้ว

ขณะที่ผู้คนในประเทศกำลังประสบปัญหาครั้งใหญ่ รัฐบาลที่ถืออำนาจของซีเรียนั้นกลับไม่ได้มีเครื่องมือในการจัดการกระจายทรัพยากรที่ดีพอ ที่จะสนองความต้องการของพวกเขาได้ ปล่อยให้ระบบทุนนิยมแบบพวกพ้องที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มชนชั้นนำดำเนินต่อไป  แทนที่จะมีบังคับเก็บภาษีหรือกำจัดการคอรัปชั่นในหมู่ชนชั้นนำ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือการทำลายสิ่งที่เป็นสัญญาประชาคม ที่ให้ไว้กับประชาชน อย่างจำกัดสวัสดิการรัฐและการศึกษา หรือเงินอุดหนุนในทางการเกษตรและพลังงาน  “การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร” เมื่อก้อนเค้กแห่งทรัพยากรของซีเรียหดเล็กลงแต่กลับไม่ถูกแบ่งปันไปยังประชาชน ความไม่พ่อใจต่อผู้ปกครองจึงเกิดขึ้น กรณีของซีเรียกลายเป็นตัวอย่างสำคัญ ที่มักถูกยกขึ้นมาแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเข้าไปมีส่วนเป็นตัวแสดงที่สำคัญในความขัดแย้งในโลกสมัยใหม่  

การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในดาร์ฟูร์

อีกหนึ่งกรณีคือความขัดแย้งในเขตดาร์ฟูร์ ดินแดนทางด้านตะวันตกของประเทศซูดาน ที่นำมาสู่สิ่งที่ถูกเรียกว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ครั้งแรกในทศวรรษทที่ 20 กองทัพปลดปล่อยซูดาน (Sudan Liberation Army หรือ SLA) และขบวนการเรียกร้องความเสมอภาคและความยุติธรรม (Justice and Equality Movement หรือ JEM)  ที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลกลาง จบลงด้วยการปราบปรามอันโหดร้ายจาก “ฝ่ายรัฐ”

ดินแดนกว้างใหญ่ในเขตดาร์ฟูร์ มีชนเผ่ามากมายอาศัยอยู่ แบ่งหลักๆ ได้สองกลุ่มคือชาวแอฟริกันพื้นถิ่นหลากหลายชนเผ่าที่ประกอบเกษตรกรรมเป็นหลัก และกลุ่มชาวอาหรับที่ส่วนใหญ่ยึดการทำปศุสัตว์แบบเร่ร่อน เป็นเวลาหลายร้อยปีที่สองกลุ่มเชื้อชาติ อาศัยใช้ทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกันมาโดยตลอด ชาวอาหรับสามารถนำสัตว์เข้าไปเลี้ยงในพื้นที่การเกษตรของชาวแอฟริกันได้ มูลถ่ายของสัตว์เหล่านั้นเป็นปุ๋ยชั้นดีทำให้ดินมีแร่ธาตุเหมาะสำหรับกสิกรรม เป็นการสมประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย

เช่นเดียวกับกรณีของซีเรีย รายงานของ United Nations Environment Programme ที่ชี้ว่าภาวะโลกร้อนที่ทำให้ทรัพยากรในพื้นที่เริ่มมีจำกัดลงเป็นตัวเร่งความขัดแย้งในความขัดแย้งครั้งนี้ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งแรกเริ่มของ ชาวอาหรับและชาวพื้นถิ่นที่เป็นชนวน

ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา เกิดภัยแล้งในดาร์ฟูร์หลายระลอก ปริมาณน้ำฝนลดลงร้อยละ 16-40 ผลผลิตการเกษตรตกต่ำอย่างหนัก ทะเลทรายซาฮาราขยายตัวกินพื้นที่การเกษตรเป็นพื้นที่หลายสิบไมล์ ความสัมพันธ์ที่เคยจัดการแบ่งสรรทรัพยากรกันได้ลงตัวจึงเริ่มเปลี่ยนไป ชาวแอฟริกันเริ่มกั้นพื้นที่การเกษตรของพวกเขา ไม่ให้ชาวอาหรับนำสัตว์เลี้ยงผ่านไปได้อย่างที่เป็นมา ชาวอาหรับไม่มีที่ทางของตน การปศุสัตว์พเนจรนั้นเป็นองค์ความรู้ทีสืบมาทางวัฒนธรรม ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีอาชีพของตนเองในเวลาอันสั้น

จนในช่วง 1980 ชาวอาหรับเริ่มรวมตัวกันแย่งชิงชาวที่ดินจากชาวแอฟริกัน และประกาศการเป็นเชื้อชาติที่เหนือกว่าในดินแดนดาร์ฟูร์ แม้จะมีข้อตกลงสันติภาพเกิดขึ้นในปี 1990 แต่ความตึงเครียดคงอยู่ มีการปะทะกันของทั้ง 2 กลุ่มตลอดมา แต่รัฐบาลกลางก็ดูเหมือนจะให้การสนับสนุนฝ่ายอาหรับ ในปี 2003 จึงมีกลุ่มกบฏลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลกลาง ที่เห็นว่าพวกเขาถูกละเลยจากรัฐส่วนกลาง รัฐบาลได้ตอบโต้โดยการกวาดล้างกลุ่มกบฏที่จบลงด้วย 200,000 กว่าชีวิตถูกฆ่าในดาร์ฟูร์ และส่งผลให้ 2.2 ล้านคนต่อไร้ที่อาศัย

สองตัวอย่างเป็นตัวภาพแทนของอนาคตในยุคสมัยใหม่ ที่มนุษย์เราถูกบีบให้ลุกขึ้นมาทำสงครามจาก ทรัพยากรที่จำกัด ในระเบียบของโลกปัจจุบันที่ กลุ่มคนแต่ละกลุ่มมีความสามารถในการไขว้คว้าเอาทรัพยากรไม่เท่ากัน และความสามารถในการจัดการความขัดแย้งที่ต่างแตกกันในแต่ละสังคม

เรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกับความขัดแย้งของโลกนั้น ยังเป็นเพียงมุมหนึ่งในการมองความขัดแย้งเท่านั้น ยังมีความเห็นอีกหลายส่วนที่ออกมาแย้งว่า ไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักพอที่จะตัดสินว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นส่งผลให้เกิดความขัดแย้งโดยตรงต่อวิกฤตความรุนแรงครั้งใหญ่ของโลก โดยเฉพาะกรณีในซีเรีย หรือหากการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องโดยตรงก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ท่ามกลางปัจจัยอื่น ๆ มากมายที่เข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้น

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

1. ขอต้อนรับสู่ ‘ยุคแอนโทรโปซีน’ ยุคที่มนุษย์ทิ้งอะไรไว้ข้างหลังเสมอ (THANET RATANAKUL, The MATTER, 2/9/2016)
2. New Zealand considers creating climate change refugee visas (Charles Anderson, The Guardian, 31/10/2017)
3. IPCC AR5: Key findings on implications for agriculture (UNFCCC, 1/8/2014)
4. How climate change could lead to more wars in the 21st century (Sean Illing, VOX, 14/11/2017)
5. BEYOND BORDERS: OUR CHANGING CLIMATE – ITS ROLE IN CONFLICT AND DISPLACEMENT (Environmental Justice Foundation 
Charitable Trust, 2/11/2017)

6. Report of the Special Rapporteur on the right to food, Olivier De Schutter: Addendum - Mission to the Syrian Arab Republic (A/HRC/16/49/Add.2) (UN General Assembly, UN Human Rights Council, 27/1/2011)
7. Drought pushing millions into poverty (IRIN, 9/9/2010)
8. Population surge in Syria hampers country's progress (Phil Sands, The National, 6/3/2011)
9. Fragile States The Nexus of Climate Change, State Fragility and Migration (Caitlin E. Werrell และ Francesco Femia, Angle, 24/11/2015)
10. Sudan Post-Conflict Environmental Assessment (United Nations Environment Programme, June 2007)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: