ภาพแทนของสรรพสิ่งที่รายล้อม ผ่านผลงานศิลปะในมุมมองของนักมานุษยวิทยา : ผลงานสร้างสรรค์ศิลปะ “แกะ” ภาพยนตร์สั้น 12 นาที โดย สมัคร์ กอเซ็ม

กฤชสรัช วงษ์วรเนตร: 1 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 5691 ครั้ง


การปศุสัตว์นั้นเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” แน่นอนว่าย่อมเป็นเผ่าพันธุ์ที่ถูกเรียกว่า “มนุษย์ผู้รู้คิด” (Homo sapiens) ซึ่งรู้จักการนำเอาสัตว์ชนิดต่างๆจับใส่กรงขังและคอยพร่ำสอนหรือฝึกฝนด้วยวิธีต่างๆนานา เพื่อหวังให้สัตว์เหล่านั้นจะสามารถแบ่งเบาภาระ ตอบสนองความต้องการ หรือรับใช้ผลประโยชน์ต่างๆของเหล่ามนุษย์ผู้รู้คิดได้ แม้กระทั่งการบูชายัญยังมิวายจะนำสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มาใช้เช่นกัน “แกะ” ก็เป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งมีชีวิตที่ถูกนำมารับใช้ผลประโยชน์ของเหล่ามนุษย์มานานนม นานถึงขนาดที่มนุษย์ผู้รู้คิดไม่สามารถบอกระยะเวลาการกำเนิด การเลี้ยงดูแกะได้อย่างชัดเจน ได้เพียงแต่คาดการณ์ระยะเวลาเท่านั้น จนในที่สุดการปศุสัตว์จึงเกิดเป็นวงจรและแพร่หลาย กลายเป็นที่นิยมในหมู่มวลมนุษย์

แน่นอนว่าในแต่ละพื้นที่หรือช่วงเวลา ย่อมมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามความปรารถนาของเหล่ามนุษย์ รวมถึงสายพันธุ์ที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย งานสร้างสรรค์ผลงานศิลปะรูปแบบภาพยนตร์สั้นโดย “สมัคร์ กอเซ็ม” ความยาว 12 นาทีนี้ ฉายให้เห็น ความเป็นแกะ ในบริบทของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกฉาบเคลือบด้วยล้อเกวียนของการถูกทำให้เป็นอื่น หากไม่นับความสกปรก มอมแมมและเต็มไปด้วยขนอันพะรุพะรัง จนแทบจะจับตัวเป็นก้อนไม่ต่างจากสุนัขขี้เรื้อนแล้ว ก็จักเป็นแกะธรรมดาสามัญทั่วๆไปที่ผู้คนส่วนใหญ่พบเห็นกันดาษดื่นตามกรงขังขนาดใหญ่ที่เรียกว่าสวนสัตว์ ภาพยนตร์สั้นชุด “แกะ” ได้แสดงภาพให้ผู้ชมมองเห็นความแปลกแยกของแกะและสิ่งแวดล้อมที่รายล้อมตัวมัน ท่ามกลางสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และแกะ หรืออาจกล่าวเป็นนัยได้ว่า เป็นความแปลกแยกของมนุษย์ผู้คิดต่างที่แวดล้อมด้วยความกลมเกลียว ศรัทธาของมนุษย์ (ในพื้นที่ดังกล่าว) ด้วยกันเอง

นอกจากเรื่องราวความเป็นอื่นที่ฉายผ่านตัวภาพยนตร์แล้ว สมัคร์ได้ลงพื้นที่ไปเยือน 3 จังหวัดชายแดนใต้สุดของประเทศไทยเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลในรูปแบบของนักมานุษยวิทยาเป็นเวลากว่าขวบปี ณ ริมทะเลตะโล๊ะกาโปร์ วิธีการทางมานุษยวิทยาดังกล่าวช่วยทำให้สมัคร์ต้องการเสนอมุมมองที่แตกต่าง

จากเดิมที่ว่า มนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง เพื่อทำความเข้าใจสภาวะของสังคมและสิ่งแวดล้อม สมัคร์ได้เลือก แกะ อันสกปรกและน่าสงสัยที่พบในพื้นที่มาเป็น “ตัวแสดง” ในการฉายภาพและสะท้อนมุมมองของสภาวะสังคมอันบีบบังคับ

สภาวะแวดล้อมของสถาบันต่างๆที่คอยขัดเกลาความคิด-อ่านและความศรัทธา ณ สามจังหวัดใต้สุดของประเทศไทย บางครั้งยังส่งผ่านในนามของศาสนาที่เคร่งครัด เพื่อคอยตอกย้ำเหล่าลูกแกะทั้งหลายว่าจงรักษาสภาพการณ์ของตนให้จงดี มิเช่นนั้นเจ้าจักเป็นที่รังเกียจเป็นแน่ ที่สุดแล้วจึงส่งต่อและกลายเป็นวัฏจักรอย่างอ่อนๆที่มักจะคอยหลบซ่อนอยู่ภายใต้ร่มเงาของความศรัทธา คอยกดทับเหล่าลูกแกะที่แตกต่างไปจากฝูงตามอุดมคติ ขับสู่ความกดดันและสับสน จนในที่สุดนำไปสู่การรังเกียจเดียดฉันท์ การประณาม และโทษทัณฑ์ในท้ายที่สุด ทว่าเหล่าแกะป่ามิได้ทำสิ่งใดผิดต่างไปจากเหล่าฝูงอื่นๆ หรือแม้กระทั้งพวกแพะ พวกมันยังคงแทะเล็มยอดหญ้าอย่างที่ทำมาแต่โบราณการณ์

หลายครั้งที่ภาพยนตร์ฉายให้ผู้ชมได้เห็นถึงความสั่นไหวพิกลของแกะที่ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือแม้จะกันอยู่เป็นฝูงย่อมๆ ทำให้รู้สึกไปว่าแกะเหล่านั้นสับสนหรือกำลังกลัวบางอย่างอยู่หรือไม่ ? ทั้งนี้ผู้เขียนจึงได้ตั้งข้อสังเกตว่ามิใช่ความกลัวหรือความสับสนที่บังเกิดแก่พวกมัน หากแต่เป็นเรื่องปกติในความเป็นแกะนั่นเอง พวกมันเดินอย่างเอื่อยเฉื่อยตามหาสิ่งบรรเทาความหิวในท้องของพวกมัน ทั้งยังคอยหลบเลี่ยง ลี้หนีเหล่ามนุษย์ที่วุ่นวาย นอกจากนั้นผู้ชมจะรู้สึกถึงบรรยากาศอันอึมครึมในความเฉื่อยชาของพวกมัน ในบางครั้งพลันบังเกิดความสงสัยว่านั่นคือแกะหรือแพะกันแน่ เช่นเดียวกันกับเวลาที่มองเห็นผู้คนที่มีภาพลักษณ์ภายนอกคลับคล้ายกันในหมู่สังคมมนุษย์แล้ว ย่อมทำให้สังเกตถึงความแตกต่างกันได้ยาก แต่หากมองลึกลงไปก็จะมองเห็นในอีกมุมหนึ่ง

เรื่องราวของผลงานภาพยนตร์สั้นนี้ยังเป็นนัยสื่อถึง การตอกย้ำในความไม่สนใจใยดีต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งในที่สุดจะเชื่อมร้อยกันจนกลายเป็นวงวานแห่งความเฉยเมย แกะป่าเหล่านี้ย่ำเดินตามหาของยังชีพหรือดับความหิวในท้องตามยถากรรม มิได้หวั่นเกรงสิ่งใดมากกว่ามนุษย์ที่คอยตีค่าและความหมายให้กับพวกมันอยู่ตลอดเวลา บางครั้งมักแสดงออกผ่านคำพูดหรือสายตา ส่งผลให้เหล่าแกะขี้เรื้อนได้เพียงยอมรับผลกระทำของเหล่ามนุษย์เท่านั้น และยังมิวายถูกสัตว์สายพันธุ์อื่นกระทำชำเราทางเพศกลายเป็นแกะที่เปื้อนมลทินไป สิ่งสำคัญคือการเชือดพลีที่จำต้องนำแกะบริสุทธิ์ (ทั้งภายในและภายนอก) เท่านั้นที่สามารถเชือดพลีได้ ทำให้เกิดคำถามว่าไฉนเหล่าผู้คนในชุมชนถึงยังปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้ได้

คำตอบนั้นก็อาจมีอยู่แล้วด้วยการฉายภาพความเป็นแกะซ้อนทับลงไปสู่เหล่าผู้คนในชุมชนที่ได้รับสภาพแวดล้อมและการปฏิบัติไม่ต่างไปจากเหล่าแกะป่า (แกะเร่รอน) โดยกลุ่มคนผู้มีอำนาจมากกว่า อยู่ ณ ศูนย์กลางมากกว่า ที่คิดเอาเองว่าสามารถตัดสินและตีค่าความเป็นมนุษย์แก่พวกเขาได้ ฉะนั้นสภาพแวดล้อมต่างๆย่อมเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลและส่งผลอย่างมากในการให้กำเนิดความหมายหรือการสร้างความใหม่ๆ ซึ่ง สมัคร์ได้เลือกที่จะตั้งคำถามถึงความเป็นมาของ “แกะป่า” ในเขตชุมชนเมืองที่ไม่มีผู้ใดเหลียวแลนี้มาเป็นตภาพแทนเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของผู้คนในชุมชน และผู้รับชมผลงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้นชุดแกะนี้

แม้ว่างานภาพยนตร์สั้นชุด “แกะ” จะถูกนำเสนอด้วยสุนทรียะแห่งการตอกย้ำที่ผู้สนใจศึกษาศิลปะหลายๆท่านมักจะได้พานพบกันอยู่อย่างเป็นประจำ แต่กระนั้นในด้านของเนื้อหาที่ขบถและตั้งคำถามต่อผู้คนในพื้นที่อย่างจริงจัง ทั้งยังคาบเกี่ยวต่อเนื่องไปยังพื้นที่ด้านความเชื่อที่เป็นแรงขับเคลื่อนต่อคนในพื้นที่อย่างแรงกล้าด้วย ทำให้กระตุ้นทัศนะความอยากรู้ จนกระทั่งนำเราเข้าไปสู่การสืบคว้าหาแหล่งที่มาที่ไปอย่างจริงจัง ทั้งยังสื่อถึงบริบทความรุนแรงที่มิได้เกิดจากแง่มุมทางศาสนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใต้อย่างแนบเนียนมิให้ผู้ชมสังเกตเห็นได้ง่ายๆ งานภาพยนตร์ของสมัคร์ได้ทำให้ผู้ชมกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ติดตามอย่างอดทนด้วยการสังเกตสรรพสิ่งต่างๆโดยเน้นไปที่ความเคลื่อนไหวของเหล่าแกะนั่นเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: