กรมประมงจัดกิจกรรมร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดหนักพื้นที่ จ.ชุมพร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ หลังบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอาหารแห่งหนึ่งนำเข้ามาทดลองเลี้ยงเพื่อหวังพัฒนาให้เป็นแหล่งอาหารของคนไทย แต่ปรากฏว่าเนื้อปลาหมอคางดำกลับเป็นปลาที่มีเนื้อแข็งหยาบมีเนื้อน้อยกว่าก้างใช้ประโยชน์ทางการค้าไม่ได้ จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์มาถึงปัจจุบันนี้ ที่มาภาพ: ไทยโพสต์
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่านายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานจัดกิจกรรม 'ชาวชุมพรร่วมใจขจัดภัยหมอสีคางดำ' บริเวณที่ทำการชมรมอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามลุ่มน้ำสวี หมู่ที่ 5 ตำบลปากแพรก อ.สวี จ.ชุมพร เพื่อรณรงค์สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ ในการร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดหนักในแม่น้ำสวี และอีกหลายพื้นที่ใน จ.ชุมพร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ
นายอรุณชัย กล่าวว่าจากกรณีพบปลาหมอคางดำแพร่กระจายพันธุ์อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อเลี้ยงของเกษตรกรสร้างความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงปลาและกุ้งอย่างมาก กรมประมงได้ออกคำสั่งที่ 223/2561 ลงวันที่ 28 ก.พ. 2561 แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำขึ้นโดยเฉพาะ นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดที่พบการแพร่ระบาด กรมประมงได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดออกรับฟังข้อคิดเห็นของเกษตรกรชาวประมงและชุมชนเพื่อร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อหยุดยั้งวงจรการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์ดังกล่าวต่อไป
นายอรุณชัย กล่าวต่อว่านอกจากนี้ได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 ม.ค. 2561 เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามน้ำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ.2561 มารองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดที่ห้ามตามประกาศฉบับนี้คือ ปลาหมอคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ ห้ามผู้ใดเลี้ยงและปล่อยสัตว์ทั้ง 3 ชนิดนี้ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พรก.การประมง 2558
ด้านนายสง่า ลีสง่า ผอ.กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กล่าวว่าสำหรับกิจกรรมวันนี้ได้นำลูกพันธุ์ปลากะพงปล่อยในบ่อกุ้งร้างและมอบให้ชาวบ้านนำไปปล่อยในบ่อเลี้ยงของตนเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ พร้อมทำความเข้าใจกับเกษตรกรชาวประมงและชาวบ้านถึงมาตรการร่วมใจกันกำจัดปลาหมอสายพันธุ์ดังกล่าวซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดี
นายสง่ากล่าวว่าสำหรับบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนลักลอบนำปลาหมอคางดำ ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ เข้ามาในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปลาหมอคางดำ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Sarotherodon melanotheron Ruppell ซึ่งเป็นปลาในแถบทวีปแอฟริกา อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและทั้งน้ำกร่อยที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำชายฝั่งทุกชนิดอย่างมาก ในวงการเรียกปลาชนิดหมอสีคางดำนี้ว่า “เอเลี่ยนสปีชีส์” และ “ปลาหมอเอเลี่ยน” มีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ ซึ่งปลาหมอคางดำจะแพร่พันธุ์เร็วมากและจะกินสัตว์น้ำตัวอ่อนทุกชนิดถึงขนาดทำให้สูญพันธุ์ได้ หากหลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้งหรือบ่อเลี้ยงปลาของเกษตรกร จะถูกปลาหมอสีคางดำกินจนหมดบ่อ จนผู้เลี้ยงได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาได้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอาหารแห่งหนึ่งนำเข้ามาทดลองเลี้ยง เพื่อหวังพัฒนาให้เป็นแหล่งอาหารของคนไทย แต่ปรากฏว่าเนื้อปลาหมอคางดำกลับเป็นปลาที่มีเนื้อแข็งหยาบ มีเนื้อน้อยกว่าก้างใช้ประโยชน์ทางการค้าไม่ได้ คาดว่าบริษัทดังกล่าวได้ทำลายทิ้งแต่อาจมีหลุดรอดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์มาถึงปัจจุบันนี้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ