พบสารเคมีตกค้าง ‘อาหารกลางวัน’ สูงถึง 63% หวั่นส่งผลต่อไอคิวเด็กนักเรียน

สมานฉันท์ พุทธจักร ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ: 27 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 17454 ครั้ง

แม้เด็กไทยจะสามารถเข้าถึงอาหารกลางวันได้มากขึ้นแต่ยังมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพ มีการสำรวจตัวอย่างผักผลไม้จาก 34 โรงเรียนใน 4 จังหวัด พบจาก 335 ตัวอย่าง มีถึง 210 ตัวอย่างที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนสูง 63% นอกจากนี้ยังพบสารตกค้างในวัตถุดิบปรุงอาหารอย่าง 'สารฟอกขาว ผงกรอบ และฟอร์มารีน' รวมถึงมีการศึกษาว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้มีผลต่อการทำลายพัฒนาการทางสมองของเด็ก ด้าน UNICEF ระบุว่าการปกป้องเด็กจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนทั่วโลกต้องร่วมกันทำอย่างเร่งด่วน ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

การรณรงค์ให้บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลืออาหารกลางวันเด็กในโรงเรียน เป็นโครงการที่มีให้เห็นตามพื้นที่สื่อต่าง ๆ มาตลอด ทั้งโดยองค์กรการกุศล องค์กรเอกชน ไปจนถึงหน่วยงานรัฐ  แม้ว่าที่ผ่านมาเด็กไทยจะสามารถเข้าถึงอาหารกลางวันได้มากขึ้น แต่กลับพบว่าอาหารเหล่านั้นมีสารอาหารไม่ครบตามโภชนาการ และยังตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ในอาหาร ซึ่งเป็นสารที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับการทำลายพัฒนาการทางสมองของเด็ก

ปี 2561 ยังขีดเส้นเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน 20 บาทต่อหัวเช่นเดิม

ปี 2556 มีมติคณะรัฐมนตรีให้ปรับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาชั้นที่ 6 เพิ่มจาก 13 บาทมาเป็น 20 บาทต่อหัว (ในปีงบประมาณ 2557) โดยจ่ายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อย่าง สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตำรวจตะเวนชายแดน (ตชด.) และเอกชน ตามที่แต่ละโรงเรียนสังกัดอยู่ [1] ทั้งยังมี ‘กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา’ ที่อุดหนุนเงินให้สำหรับโรงเรียนที่ยังขาดแคลนและมีความต้องการพิเศษ ทำให้เด็กไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงอาหารกลางวันได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่กลับมีการสำรวจพบปัญหาอาหารกลางวันในโรงเรียนภาครัฐมีสารอาหารไม่ครบถ้วนส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย

จนถึงปัจจุบัน (ช่วงเปิดเทอม พ.ค. 2561) จากการสอบถามข้อมูลไปยังผู้ประกอบการรับเหมาทำอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบว่าในปีการศึกษา 2561 นี้ เกณฑ์การให้เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน สำหรับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาชั้นที่ 6 ก็ยังอยู่ที่ 20 บาทต่อหัว เช่นเดิม (อ่านเพิ่มเติม..   'อาหารกลางวัน' ในโรงเรียนพบ 'สพฐ.-อปท.' สู้ ตชด.ไม่ได้)

พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างใน ‘ผัก-ผลไม้’ อาหารกลางวัน นร.

ผู้ประกอบอาหารกลางวันส่วนใหญ่มักจะซื้อผักผลไม้เป็นวัตถุดิบจากท้องตลาดซึ่งมักจะมีสารเคมีปนเปื้อน เพราะหลายโรงเรียนไม่มีโครงการเพาะปลูกพืชผักในโรงเรียน ด้วยข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เช่น ด้านพื้นที่และบุคลากร เป็นต้น ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

จาก งานศึกษาของมูลนิธิการศึกษาไทยภายใต้ 'โครงการจัดการสารเคมีเกษตรในพื้นที่เสียง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย' ที่ได้ทำการสำรวจตัวอย่างผักผลไม้จาก 34 โรงเรียนใน 4 จังหวัดคือ เชียงใหม่ 21 แห่ง ปทุมธานี 2 แห่ง สกลนคร 6 แห่ง และพังงา 5 แห่ง พบว่าจาก 335 ตัวอย่างที่ทำการเก็บสำรวจนั้นมีถึง 210 ตัวอย่าง ที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 63

โดยพืชผักผลไม้ที่ไม่ปลอดภัย ตรวจพบใน 1-5 โรงเรียน ผักได้แก่ ถั่วฝักยาว ผักชี กระเทียม มะเขือ ผักกาดขาว หอมหัวใหญ่ แตงกวา ผักบุ้ง คะน้า และต้นหอม ผลไม้ได้แก่ ส้มเขียวหวาน แตงโม ส่วนที่ตรวจพบมากกว่า 5 โรงเรียน ผักได้แก่ ถั่วฝักยาว ผักชี กระเทียม มะเขือ ผักกาดขาว หอมหัวใหญ่ แตงกวา ผักบุ้ง คะน้า และต้นหอม ผลไม้ได้แก่ องุ่น

นอกจากนี้การสำรวจของมูลนิธิการศึกษาไทย ยังได้ตรวจสารตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปใน 32 โรงเรียน ของทั้ง 4 จังหวัด โดยตรวจสอบจากแหล่งที่มาของวัตถุดิบคือ 'ตลาดในชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่' พบสารเคมีตกค้างที่สำคัญคือ สารฟอกขาว ผงกรอบ และฟอร์มารีน (อ่านเพิ่มเติม..จับตา: สารตกค้างในวัตถุดิบปรุงอาหารกลางวันโรงเรียน)

ซึ่งเมื่อตรวจเลือดเพื่อดูสารเคมีตกค้างในร่างกายของนักเรียนและครูใน 4 จังหวัดดังกล่าวรวมจำนวน 6,495 คน ผลออกมาว่าร้อยละ 21 อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง และร้อยละ 7 อยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย

ทั้งนี้การสำรวจของมูลนิธิการศึกษาไทยได้สรุปเรื่องข้อจำกัดในการเข้าถึงอาหารกลางวันที่ปลอดภัยไว้คือ 1.พื้นที่สำหรับเพาะปลูกภายในโรงเรียนไม่เพียงต่อการป้อนอาหารกลางวันในโรงเรียน  2.วัตถุดิบที่ซื้อในท้องตลาดมีสารเคมีปนเปื้อน 3.ขาดการตระหนักต่อผลกระทบของสารกำจัดศัตรูพืชที่มีต่อเด็ก 4.โรงเรียนส่วนใหญ่ใช้วิธีว่าจ้างในการจัดทำอาหารกลางวัน 5.ชุมชนไม่มีการผลิตวัตถุดิบที่ปลอดภัย และ 6.ขาดนโยบายการส่งเสริมอาหารกลางวันปลอดภัยที่จริงจัง

สำรวจไอคิวเด็กไทยเมื่อปี 2559 พบต่ำกว่ามาตรฐาน

จากการสำรวจระดับสติปัญญานักเรียนไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ ในปี 2559 จำนวน 23,641 ราย พบ เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มี IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ (IQ < 90) อยู่ถึงร้อยละ 31.81 (ไม่ควรเกิน ร้อยละ 25) และยังมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์บกพร่อง (IQ < 70) อยู่ถึงร้อยละ 5.8 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลคือไม่ควรเกินร้อยละ 2 ที่มาภาพประกอบ: (ปรับปรุงจาก) World Education, Inc.

ในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เด็กไทยวัยเรียน และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ประจำปี 2559 ขึ้น เพื่อติดตามการดำเนินงานพัฒนาสติปัญญาที่ผ่านมา และใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผน กำหนดเป้าหมายและแนวทางเพื่อพัฒนาเด็กไทย ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อให้เกิดการผลักดันให้มีการพัฒนาและส่งเสริมสติปัญญาเด็กไทยในแต่ละจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์คือ เด็กไทยสามารถมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย มีศักยภาพและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป ซึ่งในการดำเนินการในครั้งนี้ กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันราชานุกูล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบุคลากรสาธารณสุขทั้งในและนอกกรมสุขภาพจิต

จากการสำรวจระดับสติปัญญานักเรียนไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ ในปี 2559 จำนวน 23,641 ราย โดยใช้เครื่องมือ Standard Progressive Matrices (SPM parallel version: update 2003) พบระดับเชาวน์ปัญญา (Intelligent Quotient : IQ) เฉลี่ยเท่ากับ 98.23 ถือเป็นระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่อนไปทางต่ำกว่าค่ากลางของมาตรฐานสากลในยุคปัจจุบัน (IQ=100) เมื่อเปรียบเทียบกับค่า IQ เฉลี่ย เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่ง เท่ากับ 94.58 พบว่า มีระดับ IQ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังพบว่าในภาพรวมของประเทศยังมีเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มี IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ (IQ < 90) อยู่ถึงร้อยละ 31.81 (ไม่ควรเกิน ร้อยละ 25) และยังมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์บกพร่อง (IQ < 70) อยู่ถึงร้อยละ 5.8 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลคือไม่ควรเกินร้อยละ 2 และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีเด็กที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ฉลาดมาก (IQ ≥ 130) อยู่ถึงร้อยละ7.9 เห็นได้ว่ายังพบความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่าง (Gap) ระหว่างกลุ่มที่มีระดับสติปัญญาสูงกับกลุ่มที่มีระดับสติปัญญาต่ำ และมีแนวโน้มที่ช่องว่างนี้จะขยายมากขึ้น ถ้าไม่มีการดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มที่มีปัญหาอย่างทันท่วงที และในส่วนของการสำรวจ EQ โดยใช้แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ เด็กอายุ 6-12 ปี (ฉบับย่อ) สำหรับครู ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยกรมสุขภาพจิต มีเด็กที่ได้รับการสำรวจ EQ ทั้งหมด 23,276 ราย พบว่ามี EQ อยู่ในระดับปกติขึ้นไป ร้อยละ 77 และ EQ อยู่ในระดับควรได้รับการพัฒนา ร้อยละ 23 [2]

สารเคมีตกค้างในอาหารเชื่อมโยงระดับสติปัญญาของเด็ก

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า สารเคมีที่ตกค้างในอาหารหลายตัวนั้นสัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมองของเด็ก เช่นสารเคมีที่ชื่อ 'คลอร์ไพริฟอส' (Chlorpyrifos) ซึ่งมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียชี้ให้เห็นว่า สารดังกล่าวมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก นำไปสู่การมีระดับสติปัญญาที่ต่ำจากการที่สารเข้าไปสะสมในร่างกาย ส่งผลต่อโครงสร้างสมอง [3] จากการสำรวจของ ‘เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช’ (Thailand Pesticide Alert Network หรือ Thai-PAN) ในปี 2559 ชี้ว่าคลอร์ไพริฟอส เป็นสารที่พบตกค้างในผักและผลไม้มากที่สุดอันดับ 2 ในไทย ทำให้หลายคนมองว่าปัญหาสารเคมีตกค้างในอาหารนั้นมีความเกี่ยวโยงกับปัญหาสติปัญญาของเด็ก [4]

คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) เป็นวัตถุมีพิษทางการเกษตร (pesticides) เป็นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate compound) รูปแบบส่วนใหญ่ของสารในกลุ่มนี้ เป็นสารอินทรีย์ที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ โคลีนเอสเทอเรสแบบถาวร เป็นพิษตกค้างของคลอร์ไพริฟอส

 

TCIJ ได้สัมภาษณ์ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเห็นว่าภาครัฐมองเรื่องปัญหาทางสถิติสติปัญญาเด็ก เน้นไปที่เพียง 3 ประเด็นคือโภชนาการ พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในความเป็นจริงนั้นมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย

“มีสารตัวอื่น ๆ อีกที่ส่งผลต่อสมองของเด็ก อย่างที่เป็นประเด็นกันอยู่คือพาราควอต สารตัวนี้สามารถเข้าไปสู่สมองได้แล้วทำลายระบบประสาทได้ งานวิจัยจากหลาย ๆ แหล่งก็พบ เป็นเรื่องน่ากังวล เพราะพบว่าสารเหล่านี้ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งอาหารและผักผลไม้” วิฑูรย์ กล่าว

วิฑูรย์ ยังระบุว่าในต่างประเทศได้ตั้งข้อสงสัยที่เชื่อมโยงกันระหว่างสารเคมีในอาหารกับโรคที่เกี่ยวกับพัฒนาการในเด็ก “มีปัจจัยเรื่องสารเคมีแน่ ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ในหลายประเทศเช่นสหรัฐฯ ก็มีการพบข้อสงสัยเช่นกันว่าสารเคมีที่พบตกค้างในอาหารบางตัว เกี่ยวข้องกับโรคออทิสติกในเด็ก”

เด็กเป็นวัยอ่อนไหวต่อสารเคมี การเพิ่มพื้นที่เกษตรปลอดภัยเป็นทางออก

UNICEF ระบุว่าการปกป้องเด็กจากสารเคมี โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนทั่วโลกต้องร่วมกันทำอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องสิทธิในการเติบโตของเด็กโดยเฉพาะในประเทศเกษตรกรรม ที่มาภาพ: UNICEF

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ‘ยูนิเซฟ’ (UNICEF) ได้ออกรายงานชื่อ ‘ความเข้าใจต่อผลกระทบจากสารจำกัดศัตรูพืชต่อเด็ก’ (Understanding the Impacts of Pesticides on Children) เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา รายงานชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าการปกป้องเด็กจากสารเคมีเป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนทั่วโลกต้องร่วมกันทำอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องสิทธิในการเติบโตของเด็กโดยเฉพาะในประเทศเกษตรกรรม เนื่องจากเด็กนั้นเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืช เด็กในวัยก่อน 12 ปี เป็นที่ช่วงร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อัตราการหายใจจะมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า การหายใจเอาสารเคมีเข้าไปจึงส่งผลทวีคูณต่อเด็ก ทั้งมวลร่างกายที่น้อยทำให้สารเคมีตกค้างในร่างกายส่งผลมากกว่าผู้ใหญ่ และยังมีความสามารถในการขับสารเหล่านั้นออกจากร่างกายได้น้อยกว่าด้วย ยูนิเซฟจำแนกวิธีการรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเด็กได้หลัก ๆ 4 วิธี 1.ผ่านทางแม่ที่ตั้งครรภ์ 2.จากการเล่นตามสถานที่เพาะปลูกหรือภายในที่อยู่อาศัยทีใกล้แหล่งปล่อยสาร 3.การทำงานในภาคการเกษตร และ4.จากสารตกค้างในอาหาร

นอกจากนี้จากการสำรวจของ Thai-PAN ในปี 2559 พบว่าร้อยละ 35 ถึง 100 ของผักและผลไม้ในตลาดท้องถิ่นและในห้างสรรพสินค้าของไทยนั้นมีสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกสั่งห้ามใช้ในประเทศ ตกค้างอยู่ [5]

วิฑูรย์ ยังมองว่าประเทศไทยมีการลงทุนกับการจัดการให้เด็กได้รับอาหารที่ปลอดภัยต่ำเกินไป ทั้งเงินรายหัวค่าอาหารกลางวันที่น้อยเกินไป และการที่ไม่สามารถหาซื้อผักไม้ที่ปลอดภัยภายในชุมชนได้ ซึ่งการลงทุนในด้านพัฒนาอาหารกลางวันเด็กนั้นเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเป็นอย่างมาก ทั้งสามารถลดการนำเข้าสารเคมี เพิ่มพื้นที่เกษตรปลอดสารพิษ และยังลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอนาคต

โดยภาครัฐต้องใช้เครื่องมือเข้ามากระตุ้นให้เกิดการผลิตเกษตรเชิงนิเวศ โดยได้ยกตัวอย่างในเดนมาร์กที่มีการประกาศเปลี่ยนอาหารในสถานที่ราชการอย่างโรงพยาบาล โรงเรียนหรือค่ายทหารให้ปลอดสารพิษขั้นต่ำร้อยละ 60 ทำให้พื้นที่การผลิตเกษตรเชิงนิเวศเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากร้อยละ 7 มาเป็นร้อยละ 14  “พอสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ระบบตลาดจะเริ่มทำงานของมันเอง ประเทศมุ่งแต่จะส่งเสริมการผลิตแต่ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดความต้องการ ซึ่งความต้องการจะทำให้เกิดตลาด” วิฑูรย์ ระบุ

 

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
[1] เพิ่มงบอาหารกลางวันใน ร.ร.กว่า 8,671 ล้านบาท (ไทยรัฐออนไลน์, 23/10/2556)
[2] การสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เด็กไทยวัยเรียน และ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (สถาบันราชานุกูล, 12/4/2560)
[3] Prenatal chlorpyrifos exposure alters brain structure, affects IQ in children (Carol Kelly, The Environmental Factor, July 2012)
[4] รายงานผลการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผักผลไม้ครั้งที่ 2/2559 (Thai-PAN, สิงหาคม 2559)
[5] เพิ่งอ้าง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
 'อาหารกลางวัน' ในโรงเรียนพบ 'สพฐ.-อปท.' สู้ ตชด.ไม่ได้ 


*หมายเหตุ TCIJ แก้ไขพาดหัวและข้อมูลจาก "พบสารเคมีตกค้าง ‘อาหารกลางวัน’ สูงถึง 64% หวั่นส่งผลต่อไอคิวเด็กนักเรียน" เป็น "พบสารเคมีตกค้าง ‘อาหารกลางวัน’ สูงถึง 63% หวั่นส่งผลต่อไอคิวเด็กนักเรียน" ณ วันที่ 30 พ.ค. 261

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: