จับตา: (ความเห็น) การไม่ปฏิบัติตาม รธน. ว่าด้วยการเวนคืน-ความได้สัดส่วน ‘มอเตอร์เวย์ปากช่อง’

TCIJ School รุ่น 5 (งานภาคสนาม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 16-18 มิ.ย. 2561): 8 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 5636 ครั้ง


ความเห็นของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ที่เคยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้แก้ไขการดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 เมื่อเดือน ส.ค. 2560 ระบุถึง ปัญหาการไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเวนคืนและหลักความได้สัดส่วน มีผลเป็นการเวนคืนฯ ที่ไม่เป็นธรรมที่ทำให้เกิดการผลักภาระความเสี่ยงหรือผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของรัฐให้แก่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน–นครราชสีมา (โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6) เคยทำ หนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้แก้ไขการดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 เมื่อเดือน ส.ค. 2560 โดยได้ระบุถึง ปัญหาการไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเวนคืนและหลักความได้สัดส่วน ว่าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 37 (ซึ่งสอดคล้องในหลักการสำคัญกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่มี พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา พ.ศ. 2556) ได้กำหนดหลักการเวนคืนฯ ที่สำคัญไว้หลายประการรวมทั้ง (ก) เป็นการเวนคืนฯ เท่าที่จำเป็น (ข) ต้องชดเชยราคาอย่างเป็นธรรม (ค) ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและผลกระทบต่อผู้ถูกเวนคืน บทบัญญัติที่กำหนดหลักการเวนคืนฯ ดังกล่าวมานี้ได้แสดงให้เห็นว่า เป็นหลักกฎหมายที่ได้อยู่ภายใต้หลักรัฐธรรมนูญทั่วไปประการหนึ่งคือหลักความได้สัดส่วนหรือหลักพอสมควรแก่เหตุ (Principle of Proportionality) ซึ่งบังคับให้รัฐที่ใช้อำนาจดำเนินมาตรการหรือกิจกรรมอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะและอื่นๆ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักย่อย 3 ประการได้แก่ (1) หลักประสิทธิผล (Principle of Efficiency) หมายถึงมาตรการหรือวิธีการที่ใช้ (การเวนคืนฯ ) ต้องสามารถบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ (ของการดำเนินโครงการฯ ซึ่งหมายถึงการเป็นเส้นทางคมนาคมสำหรับขนส่งคนและสินค้าเพื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ)ได้  (2) หลักความจำเป็น (Principle of Necessity) หมายถึงมาตรการหรือวิธีการที่ใช้นั้นต้องกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพน้อยที่สุด (ซึ่งควรจะรวมถึงการเกิดผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะด้านอื่นๆ ที่จำกัดที่สุด เช่น กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยที่สุด ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะด้วย) ดังนั้น ในกรณีที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐมีทางเลือกหลายทางในดำเนินมาตรการหรือวิธีการนั้นต้องใช้ทางเลือกที่ก่อผลกระทบที่น้อยที่สุด(จำเป็นที่สุด) และ (3) หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ (Principle of Proportionality in the Narrow Sense) หมายถึงในการดำเนินมาตรการหรือวิธีการนั้นรัฐต้องคำนึงถึงการได้สัดส่วนอย่างเหมาะสมระหว่างประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดขึ้นกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะถูกกระทบ

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 "มาตรา 37 บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก"

ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม ภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืน โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะผลกระทบต่อผู้ถูกเวนคืน รวมทั้งประโยชน์ที่ผู้ถูกเวนคืนอาจได้รับจากการเวนคืนนั้น

การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้กระทำเพียงเท่าที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการที่บัญญัติไว้ในวรรคสาม เว้นแต่เป็นการเวนคืนเพื่อนำอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ให้ชัดแจ้ง ถ้ามิได้ใช้ประโยชน์เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือมีอสังหาริมทรัพย์เหลือจากการใช้ประโยชน์ และเจ้าของเดิมหรือทายาทประสงค์จะได้คืน ให้คืนแก่เจ้าของเดิมหรือทายาท

ระยะเวลาการขอคืนและการคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนที่มิได้ใช้ประโยชน์ หรือที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาท และการเรียกคืนค่าทดแทนที่ชดใช้ไป ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

การตรากฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยระบุเจาะจงอสังหาริมทรัพย์หรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามความจำเป็น มิให้ถือว่าเป็นการขัดต่อมาตรา 26 วรรคสอง

 

การดำเนินโครงการนี้แม้จะเป็นโครงการที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการใช้เส้นทางเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการคมนาคมได้ก็จริง แต่การที่กรมทางหลวงเลือกที่จะเวนคืนฯ ช่วง ต.กลางดง-ต.หนองน้ำแดง และ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (กิโลเมตรที่ 87-114 ) แทนการสร้างทางหลวงพิเศษคร่อมบนถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งไม่ก่อผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชน ฯลฯ ดังกล่าวมา และการที่กรมทางหลวงเลือกจุดตั้งศูนย์บริการทางหลวง ทางกลับรถและด่านเก็บเงิน ณ บริเวณพื้นที่ชุมชนในกิโลเมตรที่ 107-112 ของโครงการฯ แทนที่จะเลือกใช้ที่ดินของรัฐซึ่งได้แก่พื้นว่างเปล่าของกรมการสัตว์ทหารบก  ย่อมถือว่าขัดกับหลักความจำเป็นที่กรมทางหลวงไม่ได้เลือกทางเลือกที่มีผลกระทบต่อประชาชน ชุมชนและบุคคลน้อยที่สุดและทำให้การเลือกเส้นทางและกำหนดจุดพื้นที่สำหรับกิจกรรมทั้งสามของกรมทางหลวงขัดต่อหลักความได้สัดส่วน ซึ่งหมายถึงการขัดต่อรัฐธรรมนูญนั่นเอง

การเลือกเส้นทางและจุดดำเนินกิจกรรมทั้งสาม (ศูนย์บริการ ด่านเก็บเงินและจุดกลับรถ-ทางขึ้นลง) ดังกล่าวซึ่งขัดต่อหลักความจำเป็นภายใต้หลักความได้สัดส่วนดังกล่าวจึงมีผลเป็นการเวนคืนฯ ที่ไม่เป็นธรรมที่ทำให้เกิดการผลักภาระความเสี่ยงหรือผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของรัฐให้แก่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวต้องแบกรับภาระหนักหน่วงอย่างไม่เป็นธรรม (Unfair Distribution of Environmental Risk/Impact) ซึ่งยิ่งจะเห็นความไม่เป็นธรรมที่หนักหน่วงขึ้นเมื่อพิจารณาถึงจำนวนค่าชดเชยหรือทดแทนการเวนคืนฯ ที่ต่ำกว่าราคาท้องตลาดอย่างยิ่ง ในขณะที่กรมทางหลวงมีแผนงานที่ร่วมลงทุนกับเอกชนให้เข้ามาลงทุนและดำเนินการระบบการบริหารและซ่อมบำรุงในพื้นที่ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจตามรูปแบบการร่วมดำเนินการระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยที่รัฐ/กรมทางหลวงและเอกชนพยายามทำให้ต้นทุนการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เวนคืนฯ ต่ำที่สุด (พรากกรรมสิทธิ์จากเจ้าของโดยกระทบหรือไม่คำนึงถึงสิทธิในทรัพย์สินและผลกระทบต่อเจ้าของทรัพย์สินอย่างมาก) แต่ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างที่ความเป็นหน่วยงานรัฐ/องค์กรของรัฐพึงหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น

ขาดการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและการขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชน

ก่อนหน้านี้กรมทางหลวงได้อ้างว่า การดำเนินโครงการนี้ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับทราบข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในหลายวาระและโอกาสทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ แต่ในความเป็นจริง ผู้ได้รับผลกระทบ ชุมชนและบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ต.หนองน้ำแดง ต.ขนงพระ ต.พญาเย็น และ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ถูกละเลยการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการอย่างถูกต้องและเพียงพอ การเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่ผู้ได้รับผลกระทบได้ร้องขอไปได้กระทำอย่างล่าช้าจนน่าเชื่อว่าเป็นการเปิดเผยเมื่อกรมทางหลวงมั่นใจว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์การคัดค้านโต้แย้งได้แล้ว ส่วนการมีส่วนร่วมในแสดงความคิดเห็นนั้น ผู้ได้รับผลกระทบ ชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่เห็นด้วยกับการเวนคืนฯ หรือการดำเนินโครงการฯ ส่วนที่กระทบต่อตนเองได้ถูกกีดกันออกจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เช่น มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในสถานที่ห่างไกลและไม่เปิดให้มีการรับรู้หรือได้รับเชิญ หรือเมื่อผู้มีส่วนได้เสียบางคนพยายามหาทางไปร่วมประชุมก็ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความเห็น หรือไม่รับฟังความเห็น มีการบิดเบือนความเห็นหรือความต้องการ ฯลฯ ในขณะที่เปิดกว้างให้ผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงหรือเห็นด้วยกับโครงการฯ เข้าร่วม นอกจากนี้การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน (ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในพื้นที่) ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการร่วมดำเนินการในส่วนที่สำคัญ เช่น การกำหนดขอบเขตการศึกษาวิเคราะห์ (Scoping) ฯลฯ ซึ่งทำให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียขาดโอกาสที่จะร่วมกำหนดให้มีการศึกษาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่ตนเองวิตกกังวลและทำให้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่อาจเข้าถึงประเด็นเนื้อหาที่ควรต้องเข้าถึงเพื่อให้กระบวนการทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรผู้มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นไปบนพื้นฐานของความเป็นจริง (Reality) และความมีเหตุมีผลอันถูกต้อง (Rightous Rationality)  การมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบจึงไม่อาจถือว่าเป็นไปอย่างครอบคลุมเพียงพอ ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงได้รับการรับฟังและนำความคิดเห็นไปพิจารณา แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนและแบบพิธีที่ไม่มุ่งให้เกิดคุณภาพการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ดังนั้น การเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมอันเป็นสิทธิของบุคคลและชุมชนที่จะใช้ในการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์หรือได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวิต รวมทั้ง เพื่อป้องกันรักษาสิทธิของตนเองที่จะถูกกระทบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 46, 56,58,59, และ 60 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 56, 57,58, 66 และ 67 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 (ซึ่งทั้งสามฉบับมีผลบังคับใช้อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินโครงการฯ ก่อนหน้านี้) รวมทั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 41 (1) 43(2) ประกอบกับมาตรา 25 รวมทั้ง สิทธิอันเกิดจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดการที่เป็นหน้าที่รัฐไว้ตามมาตรา 51, 53, 57(2), 58 และ 59  จึงถูกลิดรอน ปฏิเสธ หรือเป็นไปอย่างจำกัดยิ่ง ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปอย่างไม่มีคุณภาพและถูกต้องตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและ ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548

ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักนิติธรรมและหน้าที่ของรัฐในการดำเนินโครงการฯ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ได้กำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม กรมทางหลวงในฐานะของหน่วยงานรัฐจึงมีหน้าที่ที่จะต้องกำหนดนโยบายและใช้อำนาจใดๆ อันเป็นการกระทำทางปกครองทุกชนิดทุกขั้นตอนและกระบวนการของการดำเนินโครงการนี้ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณารายละเอียดการดำเนินโครงการนี้ของกรมทางหลวง (รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฯลฯ (ตามแต่กรณี) แล้วได้ปรากกฎการใช้อำนาจปฏิบัติราชการและดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรมหลายประการ

ความไม่ชอบธรรมในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และกำหนดพื้นที่ดำเนินกิจกรรมบางพื้นที่

หากจะกล่าวเฉพาะการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ และการเลือกกำหนดพื้นที่สำหรับการก่อสร้างและดำเนินการศูนย์บริการทางหลวง ด่านเก็บเงิน และจุดกลับรถ-ทางขึ้นลงที่จะใช้ดำเนินโครงการนี้ระหว่างกิโลเมตรที่ 107-112 ในตำบลหนองน้ำแดงและตำบลขนงพระ อำเภอปากช่องแล้ว จะเห็นได้ว่า  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 37 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 42 (อันเป็นรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมาพ.ศ. 2556)  ได้กำหนดหลักการว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นและต้องชดใช้ราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นการวางหลักการไว้บนพื้นฐานของหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไปและหลักนิติธรรมว่าการใช้อำนาจรัฐเพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์สาธารณะนั้นจักต้องคำนึงถึงการเกิดความสมดุลกับคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นั้นได้บัญญัติว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องกระทำ “เพียงเท่าที่จำเป็นต้องใช้” ซึ่งย่อมหมายถึง เท่าที่จำเป็นแก่การดำเนินโครงการให้บรรลุผลโดยให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินของประชาชน (ในกรณีปัญหานี้) ให้น้อยที่สุดตามหลักความได้สัดส่วนหรือหลักพอสมควรแก่เหตุ อันเป็นหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไปซึ่งมีหลักการว่า ในการใช้อำนาจรัฐดำเนินมาตรการใดๆ มาตรการหรือวิธีการที่ใช้จักต้องมีประสิทธิภาพในการบรรลุผล และเป็นมาตรการหรือวิธีการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุดโดยหากรัฐมีหลายทางเลือกให้เลือกดำเนินการ รัฐจะต้องเลือกใช้มาตรการที่กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด นอกจากนี้ รัฐต้องชั่งน้ำหนักให้เกิดความสมดุลระหว่างการเกิดประโยชน์สาธารณะตามที่มุ่งหมายกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระเกินควรตามหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การดำเนินโครงการนี้ของกรมทางหลวงที่ผ่านมานั้นได้ละเลยหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กล่าวมาเหล่านี้ นับตั้งแต่การไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายและความชอบด้วยกฎหมายของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมาข้างต้น การไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง การหลีกเลี่ยงหรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและจัดการโครงการฯ การไม่เคารพต่อสิทธิของชุมชนและบุคคล การเร่งรัดดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์โดยข้ามขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมายหรือใช้เทคนิควิธีการดำเนินการที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถปกป้องรักษาสิทธิของตนเอง หรือมีภาระเกินสมควรในการปกป้องรักษาสิทธิเช่นนั้น การกำหนดค่าทดแทนที่ต่ำกว่าราคาตลาดและราคาอันควรที่จะถือว่าเป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง ฯลฯ

โดยเฉพาะการเลือกทางเลือกในการกำหนดตำแหน่งพื้นที่และขนาดพื้นที่ก่อสร้างและดำเนินการศูนย์บริการทางหลวง ด่านเก็บเงิน และทางขึ้น-ลงจำนวนมากเกินความจำเป็น (โดยศูนย์บริการทางหลวงมีส่วนกว้างที่สุดถึง 200 เมตรและส่วนยาวสุดสำหรับพื้นที่กิจกรรมดังกล่าวถึง 1,000 เมตร ต่อหนึ่งด้าน {ไม่รวมพื้นที่ส่วนที่เป็นถนน} ศูนย์บริการฯดังกล่าวมีรวมสองด้าน) ในตำแหน่งพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เป็นพื้นที่ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งสำหรับของชุมชน การพักอาศัยและการประกอบอาชีพของบุคคลในชุมชน ตลอดจนมีความสำคัญสูงในเชิงนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ยังมีทางเลือกอื่นคือยังมีพื้นที่คงเหลือและไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมากและกว้างขวางของกรมการสัตว์ทหารบกที่ห่างออกไปประมาณเพียง 3 กิโลเมตรที่สามารถใช้ดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ได้หรือมีทางเลือกอื่นที่มีผลกระทบน้อยกว่า  การที่กรมทางหลวงเลือกใช้พื้นที่ดังกล่าวนี้สำหรับกิจกรรมดังกล่าวทำให้น่าเชื่อว่า กรมทางหลวงมุ่งที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากการที่ดินของบุคคลและชุมชนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเพื่อดึงดูดการลงทุนจากเอกชนและเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ของกรมทางหลวงเองด้วยวิธีการที่ใช้ต้นทุนที่ต่ำให้มากที่สุดจากการเวนคืนและชดใช้ค่าทดแทนในอัตราที่ต่ำอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่ใช้วิธีการที่ก่อผลกระทบต่อบุคคลและชุมชนน้อยกว่าด้วยการขอให้กรมการสัตว์ทหารบกเจ้าของที่ดินอันเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกันเสียสละที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการใช้ที่ดินดังกล่าว (ซึ่งแนวถนนของโครงการได้พาดผ่านเข้าในพื้นที่ของกรมการสัตว์ทหารบกดังกล่าวนี้อยู่ด้วยแล้วในช่วง กม.ที่ 116 ถึง กม.119 ของโครงการฯ โดยกินเนื้อที่มีความกว้างถึงประมาณ 400  เมตรดัง รายละเอียดที่ปรากฏตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ) หรือเลือกใช้ที่ดินแปลงอื่นที่ก่อผลกระทบน้อยที่สุด การเลือกที่จะแสวงหาประโยชน์สูงสุดด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลและชุมชนอย่างรุนแรง ตลอดจนผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางธรรมชาติดังกล่าวมานี้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักความได้สัดส่วนอันเป็นหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไป และหลักนิติธรรมที่ให้ความสำคัญกับหลักการถือกฎหมายเป็นใหญ่หรือปกครองด้วยกฎหมายรวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ไม่อาจละเลยการพิจารณาก็คือ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกรมทางหลวงในฐานะองคาพยพของรัฐหรือหน่วยงานรัฐได้รับการกำหนดโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 5 มาตรา 53 ให้ต้องมี “หน้าที่”ดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งย่อมต้องรวมถึงหน้าที่ที่จะต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา  ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่าง “สมดุลและยั่งยืน” โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวตามมาตรา 57(2) ซึ่งในกรณีนี้ มีประเด็นปัญหาว่ากรมทางหลวงมิได้ใช้ “ทางเลือก” ที่จะกระทบสิ่งที่รัฐธรรมนูญฯ ให้ความคุ้มครองดังกล่าวแต่มิได้ให้ประชาชนในท้องถิ่นและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมดำเนินการ “อย่างแท้จริง” และขณะเดียวกันทางเลือกดังกล่าวก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งหมายถึง ความสมดุลระหว่างสาธารณชนกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในพื้นที่ ความสมดุลของระบบนิเวศ ความสมดุลระหว่างประโยชน์ของมนุษย์กับธรรมชาติ และความยั่งยืนของผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้งความยั่งยืนของธรรมชาติที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: