จับตา: รายได้ทีมฟุตบอลไทยมาจากไหน?

ทีมข่าว TCIJ : 5 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 11738 ครั้ง


โครงสร้างด้านรายรับหลักๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจสโมสรฟุตบอลได้ครับ คือ สปอนเซอร์ รายได้จากการขายบัตรเข้าชมการแข่งขัน ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และการขายของที่ระลึกของสโมสร ที่มาภาพประกอบ: Buriram United

จากงานศึกษาเรื่อง 'รูปแบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ของสโมสรฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก' โดย ปภาวรินท์ ดีอีเม้ง, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา, มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2559 ได้ศึกษารายละเอียดโครงสร้างรายได้ของสโมสรฟุตบอลไทยในปี 2556-2557 พบว่าสโมสรฟุตบอลมีการระบุถึงแหล่งที่มารายได้ เช่น รายได้จากการขายของที่ระลึก, รายได้เงินสนับสนุนและประชาสัมพันธ์, รายได้บริการห้องวีไอพี, รายได้ขายบัตรสมาชิกรายปี, รายได้ขายบัตรเข้าชม, รายได้เงินรางวัลแข่งขัน, รายได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดโทรทัศน์, รายได้ค่าตัวนักกีฬา, รายได้ส่วนแบ่งจำหน่ายของที่ระลึก, รายได้ดอกเบี้ยรับ, รายได้ยืมตัวนักกีฬา, รายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม, รายได้จากการให้บริการ, รายได้จากการบริจาค และรายได้อื่นๆ เป็นต้น

ที่มา: งานศึกษาเรื่อง 'รูปแบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ของสโมสรฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก' โดย ปภาวรินท์ ดีอีเม้ง, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา, มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2559

ในปี 2559 ไทยรัฐนำเสนอสกู้ปข่าวเกี่ยวกับการหารายได้ของทีมฟุตบอลไทยโดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ .. สโมสรบางกอกกล๊าส ระบุว่ารายได้ส่วนใหญ่จะมาจากการสนับสนุนของสปอนเซอร์มากถึง 80% ส่วนรายได้การขายบัตรเข้าชม (ของทีมขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ขึ้นไป) เฉลี่ยต่อนัดประมาณ 600,000 บาท และรายได้จากการขายของที่ระลึก (ของทีมขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ขึ้นไป) เช่น เสื้อ ผ้าพันคอ ประมาณ 300,000 - 400,000 บาทต่อนัด

สโมสรชลบุรี เอฟซี เปิดเผยถึงรายได้หลักของสโมสรว่า รายได้หลักสโมสรมาจากสปอนเซอร์ ผู้สนับสนุนต่างๆ ปีละประมาณ 70 ล้านบาท คิดเป็น 70% ส่วนรายได้จากการขายสินค้าที่ระลึกปีละ 16 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายบัตร เฉลี่ยปีละประมาณ 12 ล้านบาท เนื่องจากความจุสนามค่อนข้างน้อย มีแค่ 8,000 ที่นั่งเท่านั้น ส่วนราคาบัตร 100 150 และ 200 บาท และรายได้จากการที่สโมสรชลบุรี เอฟซี เปิดโรงเรียนผลิตนักฟุตบอลทำให้มีรายได้จากการขายนักฟุตบอลประมาณ 3-5%

สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ให้ข้อมูลรายได้ของสโมสรว่า รายได้หลักของสโมสรมาจากสินค้าที่ระลึก 45% ประมาณ 250 ล้านบาท และอีก 45% ประมาณ 250 ล้านบาท เป็นรายได้จากสปอนเซอร์ ซึ่งสโมสรบุรีรัมย์ ถือได้ว่าเป็นสโมสรฟุตบอลที่มียอดจำหน่ายของที่ระลึกมากที่สุด โดยปี 2558 ที่ผ่านมานั้น สโมสรสามารถจำหน่ายเสื้อได้มากถึง 450,000 ตัว ส่วนรายได้จากการขายบัตรเข้าชมนั้นไม่มากเฉลี่ย 40-50 ล้านบาทต่อปี โดยราคาบัตรอยู่ที่ใบละ 150-200 บาท

สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ระบุว่าส่วนใหญ่มาจากเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ประมาณ 200 ล้านกว่าบาท ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 20 ล้านบาท ค่าบัตรเข้าชม และอื่นๆ เช่น เสื้อฟุตบอล ผ้าพันคอ ของที่ระลึก ประมาณ 50-60 ล้านบาท และรายได้จากการขายนักเตะอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด มีนักเตะดาวดังทีมชาติไทยอยู่มาก ทำให้ช่วยกระตุ้นเรื่องยอดขายบัตรเข้าชมเกมมากขึ้น ซึ่งแต่ละนัดที่แข่งในบ้านมีแฟนบอลเข้าชมเกม 8,000-10,000 คน ส่งผลให้ของที่ระลึก เช่น เสื้อที่เป็นเบอร์ของนักเตะทีมชาติขายดีตามไปด้วยเช่นกัน

รายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดและรางวัลจากการแข่งขัน ทรูวิชันส์’ เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก ระหว่างปี 2558-2563 มูลค่าสูงถึง 4,200 ล้านบาท อย่างในฤดูกาล 2560 ที่ผ่านมา แต่ละสโมสรบนลีกสูงสุด 18 ทีม จะได้รับเงินสนับสนุนลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดทีมละ 20 ล้านบาท นอกจากนี้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ยังมอบเงินบำรุงสโมสร สโมสรละ 1 ล้านบาท และเงินรางวัลตามผลงาน แชมป์ 10 ล้านบาท รองแชมป์ 3 ล้านบาท อันดับสาม 1.5 ล้านบาท เป็นต้น [1]

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] บัญชีอู้ฟู่ สปอนเซอร์หนัก เจาะถังเงินธุรกิจฟุตบอลไทย มูลค่าหลักพันล้าน (ไทยรัฐ, 1/5/2559)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: