เศษซากในสุสานมหาสมุทร : YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN โดย ธาดา เฮงทรัพย์กูล

สมัคร์ กอเซ็ม: 1 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4860 ครั้ง


หากมองในแง่มุมที่ต่างออกไป งานของธาดา เฮงทรัพย์กูล อาจกำลังตั้งคำถามถึงความแปลกแยกในระบบนิเวศน์ของสังคม สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ร่องรอยการกระทำของมนุษย์ที่ปรากฏในสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ที่ย้อนแย้งของสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์เอง ซึ่งล้วนไม่ค่อยถูกอธิบายหรือตีความจากงานศิลปะมากนัก

งานวิดีโอชิ้นหลักในนิทรรศการ YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN จึงเป็นภาพบันทึกชีวิตทางสังคมของสัญญะสงคราม/การเมืองของรัฐที่จมอยู่ในท้องมหาสมุทร เป็นเสมือนสุสานของซากสงครามมากกว่าสิ่งที่ถูกอธิบายในภายหลังว่าเกิดขึ้นจากโครงการในพระราชดำริฯ ที่ต้องการให้ขยะของสงครามเหล่านี้กลายเป็นแหล่งปะการังเทียมๆ ให้สัตว์น้ำในสามจังหวัดภาคใต้ คำถามคือ สภาวะแวดล้อมทางทะเลของนราธิวาสและปัตตานีอยู่ในภาวะวิกฤตจนต้องเร่งฟื้นฟูขนาดนั้นจริงหรือ? หรือเป็นการตอกย้ำถึงนโยบายเหวี่ยงโยนอำนาจไปกดทับความรู้สึกของคนในพื้นที่มากขึ้นไปอีก

 

ภาพรวมของงานที่ธาดาเล่ามาผ่านเรื่องราวในบันทึก ภาพวิดีโอใต้น้ำของรถถังที่กลายเป็นปะการังสุดแสนจะโรแมนติก และภาพนิ่งของร่างกายเปลือยเปล่าของผู้คน แต่ไม่มีเรื่องราวใดๆ ที่ปรากฏเห็นชัดในนิทรรศการนี้กล่าวถึงเหยื่อในปัจจุบันที่สามจังหวัดภาคใต้ว่า ผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ที่กลายเป็นพื้นที่แห่งการพลีชีพให้กับอำนาจนิยมในสังคมยังคงผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ แล้วสิ่งต่างๆ ในแวดล้อมเป็นอย่างไรบ้าง งานของธาดาไม่ได้ชี้ชวนให้ตั้งคำถามเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เหมือนกับตั้งใจไม่พูดถึงว่าทำไมกัน แต่คิดว่าเขาคงตั้งใจหยุดให้ทุกคนมองและคิดต่อกันเอาเอง

แม้ว่าประเด็นหลักของนิทรรศการจะย้อนกลับไปถึงสถานการณ์ในช่วงสงครามเย็นกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคนั้น การเดินทางของธาดาที่กลับมาศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา บ้านเกิดของเขา ข้อดี (หรือจะบอกว่าโล่งอกก็ได้) คือ การกลับไปสู่รากเหง้าหรือบ้านเดิมของเขาไม่ได้เป็นพยายามผูกโยง(ประวัติศาสตร์)ตัวเองเข้ากับประวัติศาสตร์ชาติจนมั่วซั่วอีรุงตุงนัง จนงานออกมาเป็นศิลปะการเมืองที่ดูสะดุดตาเพียงช่วงสั้นๆ เหมือนที่ศิลปินกำลังดังทำกันอยู่ แต่งานของธาดาก้าวเลยจุดนั้นที่ไม่ได้มองชีวิตของศิลปินเป็นศูนย์กลาง แต่เผยเรื่องราวชีวิตของตัวละครต่างๆ ที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ส่วนหนึ่งของโครงสร้าง ส่วนหนึ่งของระบบ (หรืออาจเรียกว่าเป็น “กรรม” น่าจะถูกต้องกว่า) ได้ออกมามีเสียงแผ่วเบาๆ ว่า ทุกคนล้วนต่างเจ็บปวดกับประวัติศาสตร์และความทรงจำที่ยังคงหลอกหลอนกันอยู่ 

ยังมีตัวตนหลงเหลืออยู่หรือเปล่า

 

ความชื่นชมในงานของธาดาที่ผมเลือกมองพิจารณาเป็นอย่างแรกคือ “ภาพถ่าย” มันเป็นเนื้อหนังอย่างเดียวที่สนทนากันผ่านเงาสะท้อนของใต้พื้นมหาสมุทร เป็นสภาวะที่จมน้ำ เสียงรายรอบที่ฟังไม่เป็นศัพท์ เป็นเสียงงึมงำที่ตั้งคำถามว่ามันถูกนับว่าเป็นเสียงหรือไม่ ภาพถ่ายในความคิดของผมถือเป็นจุดเล่าเรื่องเริ่มต้นในการเข้าใจสิ่งที่ธาดาต้องการนำเสนอ การเปลือยของบุคคลเหล่านั้นคือสิ่งที่ต้องการบอกกับเราว่า เราต่างไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวหรืออัตลักษณ์อันใดมานิยามบอกว่า เราเป็นใคร ชนชั้นไหน เพศอะไร เชื่อในการเมืองหรือศาสนาแบบไหนในท้ายที่สุด เป็นเหมือนกับร่างกายนั้นไม่เคยถูกห่อหุ้มด้วยสิ่งต่างๆ ในความเป็นจริงที่ปรากฏในสังคม

 

ความว่างเปล่าที่ปรากฏในภาพคือ สิ่งภายนอกของพื้นที่กายภาพ เป็นร่างกายและสังคมที่บ่งบอกถึงความว่างเปล่าของคนในสังคม สิ่งแวดล้อมทางการเมืองจึงเป็นเงื่อนไขที่เลี่ยงไม่ได้ว่าเป็นส่วนสำคัญต่อชีวิตจิตใจของคน เมื่อมันถูกพรากไปแล้ว มันจึงไม่ต่างจากการถูกทำให้เปลือยเปล่าโดยอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของรัฐ ในยุคสมัยปัจจุบันที่อำนาจนิยมยังปรากฎร่องรอยเป็นมรดกที่ตกทอดไปยังเหยื่อรายอื่นๆ

มหาสมุทรจึงเป็นเสมือนพื้นที่นามธรรม เป็นสิ่งภายในของสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ดีๆ มีสิ่งแปลกปลอม เป็นรถถังมาหย่อนลงทิ้งในก้นบึ้งของทะเล รถถังจึงเป็นก้อนอะไรหนักๆ ที่ถ่วงเอาความอึดอั้นต่างๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคม ตัวคนที่ต้องแบกรับเอาไว้และสยบยอมแต่โดยดี

ต้องอยู่กับซากต่างๆ ที่ระบบผลิตไว้

 

หากจะพูดให้ยุติธรรม งานส่วนหลักของธาดา วิดีโอและภาพถ่าย คือส่ิงที่บอกว่า “กายา” ของนำ้ทะเลที่เทียบเคียงเช่นเดียวกับร่างกายของมนุษย์ที่ปลดเปลื้องด้วยอาภรณ์ ทำให้เราไม่รู้ว่า ที่จริงแล้วตัวตนเราคือใคร หรือเราเป็นอะไรในระบบเหล่านั้น ซากรถถังที่ดูไม่ออกว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ดำรงอยู่อย่างแปลกแยกอย่างไรในระบบนิเวศน์ รวมถึงร่างกายเปลือยที่แปลกแยกด้วยเช่นกัน มันรายล้อมด้วยระบบทุนและชนชั้นทางสังคม

สุดท้ายการตั้งคำถามว่า เครื่องมืออะไรที่สถาบันในสังคมยังคงผลิตขึ้นมาทำงานกับพื้นที่ที่ต้องยอมรับตัวเองให้เสียสละ ยอมเป็นเหยื่อให้อำนาจยังคงอยู่ ท้ายที่สุดหลายๆ พื้นที่ในประวัติศาสตร์ช่วงสงครามระหว่างรัฐหรือภายในรัฐที่ปรากฏในงานธาดาคือ “ร่องรอยอดีต” บันทึกที่เห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเรื่องที่ถูกเรียกว่าประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่คือจุดที่ผมอยากเน้นให้เห็นในงานของธาดาคือ “สถานการณ์” เป็นปัจจุบันที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ความบอบบางและเปล่าเปลือยของชีวิตคนยุคสมัยใหม่ สุสานของสัญญะทางอำนาจที่รัฐไทยจงใจให้ชายแดนใต้สุดเป็นพื้นที่เก็บซากต่างๆ ทั้งรถถัง ทหาร อำนาจรัฐ ให้ยังคงสืบทอดต่อไปเรื่อยๆ อาจจะนานกว่าสิ่งที่เรารอคอยให้สังคมเป็นประชาธิปไตยเสียอีก

 

นิทรรศการ YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN เป็นนิทรรศการเดี่ยวโดย ธาดา เฮงทรัพย์กูล คิวเรทโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ จัดแสดงระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน - 31 กรกฎาคม 2562 ที่ Nova Contemporary

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: