เปิดตัวระบบฐานข้อมูลชนเผ่ากลุ่มเปราะบาง หวังดึงความร่วมมือจากรัฐและองค์กรภาคี เพื่อบูรณาการระบบฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ของแต่ละหน่วยงานให้ทันสมัยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่มาภาพ: ศูนย์ภูมิวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
เว็บไซต์ IPF Foundation รายงานเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพมหานคร มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย ร่วมกันนำเสนอเว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลของตนเองต่อหน่วยงานภาครัฐ
กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่มาร่วมประชุมในวันนี้ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่หนึ่ง “ผู้ผลิตข้อมูล” เช่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ดำเนินการเก็บข้อมูลและจัดทำระบบฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อมพร้อมด้วยองค์กรภาคี และตัวแทนกลุ่มเปราะบางทั้งสิบกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนกลุ่มที่สอง “ผู้ใช้ข้อมูล” ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานรัฐ เช่น ผู้แทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้แทนจากกรมพัฒนาสังคม สวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายพีรมน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ศูนย์มานุษยวิทยาฯ เป็นองค์การที่บริหารจัดการระบบฐานข้อมูลด้านมานุษยวิทยา และข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทันสมัยมากที่สุดองค์กรหนึ่ง ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลหลัก ๆ 3 กลุ่ม คือ 1) นักวิชาการ ใช้ในการศึกษาและอ้างอิงงานวิชาการ 2) นโยบาย ใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจระดับนโยบายหรือออกแบบการบริหารงานกับประชาชนกลุ่มเฉพาะ และ 3) สาธารณะชน ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกลุ่มชาติพันธุ์ มองเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่มองกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยความหวาดระแวง เป็นตัวตลกหรือมีอคติ”
ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ผู้อำนวยการมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การเก็บข้อมูลชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเปราะบาง เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย มีชุมชนที่นำร่องการเก็บข้อมูล 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ภาคเหนือ – ชนเผ่าบีซู มละบริ และก่อ (อึ้มปี้) ภาคอีสานและภาคกลาง มีชนเผ่าไทแสก ชนเผ่าญัฮกุร และชอง จันทบุรี ส่วนภาคใต้ ประกอบด้วย มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย และมานิ โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์ภูมิวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย”
ระบบฐานข้อมูลของแต่ละชนเผ่า จะประกอบด้วย 4 หมวดหมู่ คือ หมวดประวัติศาสตร์ การกระจายตัวและจำนวนประชากร วิถีชีวิตและเศรษฐกิจ รวมทั้งสถานการณ์และปัญหาที่แต่ละกลุ่มเผชิญอยู่ เป็นต้น นอกจากจัดทำข้อมูลเพื่อให้สาธารณะชนได้เข้าใจตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้นแล้ว ชุดข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อออกแบบการจัดการตนเองของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ขาดสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐจัดให้ เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน เช่น ชนเผ่ามอแกน ในจังหวัดระนอง
เนาวนิตย์ แจ่มพิศ จากเกาะเหลา จังหวัดระนอง ซึ่งผูกพันธ์ใกล้ชิดกับมอแกน เล่าถึงความเป็นอยู่ของมอแกนว่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ได้บัตรประชาชนทั้งที่เป็นคนดั้งเดิม ทำให้ไม่สามารถเข้าไปรับจ้างทำงานในเมืองได้ ส่วนวิถีชีวิตพื้นบ้าน เช่น การดำปลิง ก็ถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามเนื่องจากแหล่งอาหารถูกประกาศเป็นอุทยานทางทะเล
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพที่ดูแลเรื่องข้อมูลของชาติพันธุ์โดยเฉพาะ มีเพียงบางหน่วยงานที่ติดตามดูแลเฉพาะประเด็น เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสวัสดิการ บางหน่วยงานรับผิดชอบด้านความมั่นคง ส่วนสถาบันการศึกษาก็เน้นทำเรื่องงานวิชาการเป็นต้น ดังนั้นเป้าหมายอีกประการหนึ่งของการประชุมในวันนี้ เพื่อหาความเป็นเป็นได้ในการสร้างความร่วมมือระยะยาวและบูรณาการระบบฐานข้อมูลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูล
เยี่ยมชมเว็บไซต์
1. ศูนย์ภูมิวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
2. ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ