สพฐ.พอใจภาพรวมผลสำรวจ เด็ก ป.1 อ่านออกเขียนได้ 70%

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2451 ครั้ง

สพฐ.พอใจภาพรวมผลสำรวจ เด็ก ป.1 อ่านออกเขียนได้ 70%

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เผยผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ทุกสังกัด ได้แก่ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ซึ่งภาพรวมได้ผลเป็นที่น่าพอใจกว่า 70%

เว็บไซต์แนวหน้า รายงานเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2562 ว่า ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าที่ประชุมได้รับทราบผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้ ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ทุกสังกัด ได้แก่ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ซึ่งภาพรวมได้ผลเป็นที่น่าพอใจกว่า 70%

ทั้งนี้ตนได้กำชับให้ไปโฟกัสเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก โดยให้ไปวิเคราะห์ผลการอ่านรวมถึงคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาว่าเป็นเช่นไร

โดยให้ตั้งคำถามถึงปัจจัยในความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และถอดบทเรียนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งโรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีกว่า 30,000 โรง จะมีรูปแบบการจัดการที่ต่างกันไป เช่น ระดับมัธยมศึกษา บางโรงเรียนใช้หลักสูตรสากล โรงเรียนกลุ่มจุฬาภรณราชวิทยาลัย ก็มีรูปแบบอีกอย่างหนึ่ง หรือโรงเรียนที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆตั้งอยู่ในพื้นที่สูง ตั้งอยู่ในภาคใต้ ก็มีปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ต่างกัน และในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ให้รายงานมาที่ตนเพื่อจะนำผลมอบให้ทางสำนักทดสอบฯสพฐ. ไปวิเคราะห์รายละเอียดอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาคำตอบ

“งานที่ สพฐ.ทำไปไม่ได้ตั้งเป้าแค่ได้ทำแล้ว หรือทำเสร็จแล้ว เราต้องการผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวนักเรียน ซึ่งถ้าพบว่าสิ่งที่ได้ทำด้วยงบประมาณของราชการนั้น ปรากฎว่าไม่เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงเลยก็ต้องทบทวนว่าจะทำต่อหรือไม่ หรือทำแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องทบทวนวิธีการ หรืองวิธีที่ทำแต่ใช้งบฯมาก อย่างการจัดการอบรม ซึ่งเสียค่าพาหนะการเดินทาง ตรงนี้ก็อาจจะต้องหาวิธีการใหม่ให้อบรมทางไกล เปลี่ยนที่จัดกิจกรรมในเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อครูจะได้ไม่ต้องเดินทาง เป็นการสร้างความเข้มแข็ง เงินที่เหลือก็นำไปให้โรงเรียนซื้อสื่ออุปกรณ์เพื่อจัดการเรียนการสอนแก่เด็ก ซึ่งผลการวิเคราะห์เหล่านี้จะออกมาภายในเดือน เม.ย. 2562 นี้ ซึ่งต่อไปหาก รมว.ศึกษาธิการ ท่านใหม่เข้ามา หากต้องการอยากรู้ข้อมูล สพฐ.ก็พร้อมนำเสนอได้ ขณะเดียวกัน ข้อมูลนี้ยังสามารถใช้ตอบคำถามสังคมได้ โดยเฉพาะกับหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นักเรียน ก็สามารถโฟกัสการช่วยเหลือได้ตรงจุดว่าโรงเรียนยังต้องการสนับสนุนอะไร เชื่อว่าสิ้นปีการศึกษา 2561 สพฐ.จะใช้ประโยชน์จากการประเมินให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น ครั้งนี้จึงไม่ใช่ประเมินเพียงรู้ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ แต่ประเมินเพื่ออนาคตที่ดีกว่า” ดร.บุญรักษ์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: