เผยโฉม ‘ศูนย์ป้องกันข่าวปลอม’ ระบุอยู่ในขั้นตอนติดตั้งอุปกรณ์ และทดลองใช้งาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3076 ครั้ง

เผยโฉม ‘ศูนย์ป้องกันข่าวปลอม’ ระบุอยู่ในขั้นตอนติดตั้งอุปกรณ์ และทดลองใช้งาน

รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยโฉม ‘ศูนย์ป้องกันข่าวปลอม’ ระบุอยู่ในขั้นตอนติดตั้งอุปกรณ์ และทดลองใช้งาน ตั้งเป้าเปิดไว้ไม่เกินวันที่ 1 พ.ย. 2562 นี้ ที่มาภาพ: เพจพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้โพสต์ภาพของ ‘ศูนย์ป้องกันข่าวปลอม’ พร้อมกับระบุว่า

[ เมื่อผมเป็นคนเริ่มต้น ก็ต้องทำให้ได้ และทำให้ดี ]
ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนชนต่างเฝ้าติดตามมาตรการปราบปรามข่าวปลอม ที่ผมประกาศออกไป และแจ้งข่าวปลอมเข้ามามากมาย ผมได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมรายงานผลให้ทราบเป็นระยะ หลายๆ คดีอยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างรัดกุม ไม่ให้เกิดความผิดพลาด เพื่อให้ได้กระทำผิดตัวจริง จึงอาจต้องใช้เวลาดำเนินการ ไม่สามารถทำได้ทันทีทันใด และได้มีการแบนเว็บไซต์หลายๆ แห่งตามคำสั่งศาล ขอให้ทุกคนมั่นใจ หากมีความคืบหน้า จะรีบแจ้งให้ทราบครับ
.
ขณะนี้ส่วนของ ‘ศูนย์ป้องกันข่าวปลอม’ อยู่ในขั้นตอนติดตั้งอุปกรณ์ และทดลองใช้งาน ซึ่งมีทั้งการใช้ AI และทีมผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ข่าวปลอมจากทุกแหล่งในสื่อออนไลน์ สืบหาต้นตอผู้กระทำผิด ตรวจสอบแหล่งข่าวจริง ซึ่งจะแถลงเปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ครับ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2562 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายพุทธิพงษ์ โดยมีการระบุว่ามีการตั้งเป้าเปิด ‘ศูนย์ป้องกันข่าวปลอม’ ไว้ไม่เกินวันที่ 1 พ.ย. 2562 นี้

"การเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี แต่ใจผมนั้น อยากให้เรียกว่า ดีอีเอส เพราะ “เอส” มันหมายถึงการมองภาพรวมของสังคมที่จะต้องเติบโตไปควบคู่กับดิจิทัล"

“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีกระทรวงดีอี ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า เข้ามารับตำแหน่งได้ราว 2 เดือนนับตั้งแต่ 11 ก.ค. 62 และวันนี้ (16 ก.ย) ครบรอบกระทรวงดีอี 3 ปี (หลังเปลี่ยนชื่อจากกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร) ภารกิจ เร่งด่วนของกระทรวงนี้ยัง “มีอีกหลายเรื่อง” แต่ช่วงที่เกิดการหลั่งไหลของข้อมูล ความแพร่หลายในการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์กของประชาชนคนไทย ปัญหาที่แทรกซึมเข้ามาคือ “เฟค นิวส์” มีการเผยแพร่ข่าวปลอม ข่าวที่สร้างความตื่นตระหนก รวมถึงข่าวที่แสดงความเกลียดชังด้วยเรื่องที่ไม่จริง

ในตำแหน่งของรัฐมนตรีที่ดูแลตรงนี้ จึงได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อหนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (แอนตี้ เฟค นิวส์ เซ็นเตอร์) ครอบคลุมการแก้ไขข่าวปลอมที่อยู่ในกระแสสังคมออนไลน์ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภัยพิบัติ , เศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร-หุ้น , ผลิตภัณฑ์สุขภาพ-สินค้า และบริการที่ผิดกฎหมาย กลุ่มนโยบายรัฐบาล-ข่าวสารที่กระทบสังคม และความมั่นคงในประเทศ

1 พ.ย.ศูนย์เฟคนิวส์ครบเครื่อง

การทำงานของศูนย์มีกรอบเวลาเต็มรูปแบบ คือ ตั้งเป้าไว้ไม่เกินวันที่ 1 พ.ย.นี้ ระหว่างนั้นเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าปลอม ระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และเพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และให้การติดต่อสื่อสาร และการยืนยันผลกระทบถึงประชาชน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สื่อสารถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างกระชับ ได้ใจความ และรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมงด้วย

กระทรวงดีอี เป็นหนึ่งในกระทรวงที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลต่างๆ มีหน่วยงานในสังกัดหลายหน่วยงาน หลายความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับดิจิทัลในหลากหลายมิติ การนำไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ การสื่อสารยุคใหม่ การต่อยอดดิจิทัล เพื่อให้เกิดมูลค่าในระบบเศรษฐกิจ เขาในฐานะผู้ขับเคลื่อนกระทรวงจึงไม่สามารถมองข้ามความรับผิดชอบไปได้แม้แต่เรื่องเดียว

2.1หมื่นล.เคลื่อนดิจิทัลประเทศ

อีกหนึ่งในเรื่องสำคัญของการเคลื่อนทัพดิจิทัลประเทศ คือ “งบประมาณ” พุทธิพงษ์ เผยว่า การของบประมาณประจำปี 2563 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะเป็นนำเงินลงไปป้อนหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงรวมๆ 21,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสำนักงานปลัดฯ 3,200 ล้านบาท กรมอุตุนิยมวิทยา 3,800 ล้านบาท สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2,000 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สดช.) 2,500 ล้านบาท สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) 6,900 ล้านบาท และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) 1,900 ล้านบาท ส่วนของแอนตี้ เฟค นิวส์ เซ็นเตอร์นั้น ในเบื้องต้นจะเป็นการทำงานร่วมกันภายในสำนักปลัดฯ ซึ่งยังไม่ได้มองงบในส่วนนี้

“การทำงานของกระทรวงฯ ผมอยากมองในมิติเชิงลึก เพราะดิจิทัลมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และคงต้องมุ่งเน้นภาคสังคม ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย และพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 30 ล้าน เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาเราวางโครงสร้างบรอดแบรนด์และใช้เทคโนโลยี เอื้อประโยชน์กับคนชั้นกลาง ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศจะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าทัน ทั่วถึง และเท่าเทียม”

จุดพลุ "บิ๊กดาต้า ภาครัฐ"

พุทธิพงษ์ บอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามทำข้อมูล "บิ๊กดาต้าภาครัฐ" เพื่อให้การเกิดนำข้อมูลไปใช้โดยสมบูรณ์และให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะมีการกำหนดกรอบการจัดทำที่กว้างเกินไป ประกอบกับข้อมูลมีความหลากหลายจึง "ยาก" ในการจัดการ

ในความเห็นส่วนตัวเลยมองว่า การจัดข้อมูลบิ๊กดาต้า ต้องเริ่มทำทีละด้านจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น และทำให้การจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้าภาครัฐเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมได้

“ช่วงแรกน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ เพื่อรวบรวมข้อมูล ซึ่งการทำงานของดีอีต้องสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ผมมองไปที่บิ๊กดาต้าด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เชิงลึกโดยนักวิเคราะห์ข้อมูล ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านนี้อย่างมาก จึงมีการประสานไปยังหลายหน่วยงานเพื่อขอความร่วมมือ เบื้องต้นมีนักวิเคราะห์จำนวน 4-5 ราย จะทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ และจากนี้จะมอบให้เอ็ตด้า ทำหน้าที่ค้นหาและพัฒนาบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขึ้นมารองรับความต้องการที่มีอยู่อย่างมาก”

ทั้งนี้ การจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้าด้านการท่องเที่ยว จะเกิดประโยชน์กับ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ภาครัฐ ที่ใช้ในการวางแผนการจัดสรรงบประมาณ อาทิ จังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยว ก็จะสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้มีการบริการจัดการที่ดีขึ้น

ส่วนในจังหวัดที่ไม่มีนักท่องเที่ยว หรือมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปน้อย รัฐบาลสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาเพิ่มงบประมาณ เพื่อให้แต่ละจังหวัดนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าตราบใดที่ไม่มีการจัดสรรงบประมาณลงไปกระตุ้น จังหวัดนั้นๆ ก็จะกลายเป็นแค่เมืองรองหรือเป็นเมืองทางผ่านต่อไป

2.ภาคธุรกิจ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการดำเนินธุรกิจ และ 3.ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการท่องเที่ยวและคำนวณค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: