ในภาพรวมระดับโลก ‘สื่อเก่า’ ในตลาดมีปริมาณที่‘ทรงตัวและลดลง’ ส่วนเม็ดเงินรายได้ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้องค์กรสื่อเก่าต้องปรับลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร การจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับ ‘งานข่าว’ มีแนวโน้มลดลง มีการเลิกจ้าง ‘พนักงานประจำ’ และหันใช้ ‘ฟรีแลนซ์’ มากขึ้น
ดังที่นำเสนอไปในตอนที่แล้วว่าปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อได้เปลี่ยนเคลื่อนออกห่างออกจาก ‘สื่อดั้งเดิม’ (Traditional Media) ที่คุ้นเคยมานานอย่าง สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ หันมาบริโภค ‘สื่อใหม่’ (New Media) ทั้ง ‘สื่อออนไลน์’ และ ‘โซเชียลมีเดีย’ มากขึ้น ปรากฏการณ์นี้กระทบต่อองค์กรสื่อโดยตรงในด้านรายได้ ทำให้องค์กรสื่อต้องปรับตัว มีการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนทำงานด้านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนสภาพการจ้าง รวมถึงการเลิกจ้าง
การหายไปของ ‘สื่อเก่า’ ทั้ง ‘จำนวนและเม็ดเงิน’
ข้อมูลจากรายงานของ PwC ระบุว่ารายได้จากโฆษณาของหนังสือพิมพ์ทั่วโลกในปี 2010 มีมูลค่าประมาณ 77,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนถึงปี 2018 ลดลงแต่ไม่มากนักอยู่ที่ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจหนังสือพิมพ์ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ แต่รายได้จากการโฆษณาทั่วโลกก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ส่วนรายได้จากการขายหนังสือพิมพ์ทั่วโลกปี 2010 มียอดขายประมาณ 62,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจนถึงปี 2018 อยู่ที่ 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่คาดว่าหลังจากนี้ก็จะค่อยๆ ลดลง [1]
ในรายงาน World Press Trends 2018 ระบุว่าระหว่างปี 2013-2017 ยอดพิมพ์หนังสือพิมพ์ก็ยังทรงตัว ในปี 2013 ทั่วโลกมีหนังสือพิมพ์จัดจำหน่ายรวมกันประมาณ 538.90 ล้านฉบับ ปี 2014 ประมาณ 541 ล้านฉบับ ปี 2015 ประมาณ 542.40 ล้านฉบับ ปี 2016 ประมาณ 537.30 ล้านฉบับ และในปี 2017 ทั่วโลกมีหนังสือพิมพ์จัดจำหน่ายรวมกันประมาณ 536.60 ล้านฉบับ [2] [3]
ในด้านรายได้ พบว่าการที่ผู้อ่านทั่วโลกยอมควักเงินซื้อหนังสือพิมพ์ ถือเป็นแหล่งรายได้หลักมากกว่าเงินโฆษณาที่หนังสือพิมพ์ได้รับ แนวโน้มนี้เริ่มเห็นเด่นชัดตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา โดยในปี 2013 หนังสือพิมพ์ทั่วโลกมีรายได้ประมาณ 164.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นยอดขายหนังสือพิมพ์ 81.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรายได้จากโฆษณา 82.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2014 รายได้ที่เป็นยอดขายของหนังสือพิมพ์ก็แซงรายได้จากโฆษณา โดยหนังสือพิมพ์ทั่วโลกมีรายได้ประมาณ 160.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นยอดขายหนังสือพิมพ์ 82.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรายได้จากโฆษณา 77.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2015 หนังสือพิมพ์ทั่วโลกมีรายได้ประมาณ 157.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นยอดขายหนังสือพิมพ์ 84.20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายได้จากโฆษณา 72.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2016 หนังสือพิมพ์ทั่วโลกมีรายได้ประมาณ 153.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นยอดขายหนังสือพิมพ์ 85.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายได้จากโฆษณา 67.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2017 หนังสือพิมพ์ทั่วโลกมีรายได้ประมาณ 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นยอดขายหนังสือพิมพ์ 87.20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายได้จากโฆษณา 62.80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ [4]
จากภาพรวมในระดับโลกที่ PwC และ World Press Trends 2018 ประเมินนั้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา โดยข้อมูลจาก Pew Research Center ระบุว่าธุรกิจหนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วงกลางทศวรรษที่ 2000 จากการเปลี่ยนแปลงการรับข้อมูลข่าวสารของคนอเมริกันที่หันไปใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ตัวเลขที่เห็นได้ชัดคือเม็ดเงินและฐานสมาชิกที่ลดลงเรื่อยๆ ของหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทั้งนี้ พบว่ายอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวัน (ทั้งการซื้อจากแผงหนังสือและการจ่ายเงินเพื่ออ่านในฉบับออนไลน์) ในปี 2018 สำหรับฉบับวันธรรมดาอยู่ที่ 28.55 ล้านฉบับ ส่วนฉบับวันอาทิตย์อยู่ที่ 30.81 ล้านฉบับ [5]
ส่วนข้อมูลจาก Newspaper Association of America ระบุว่าระหว่างปี 1990-2011 รายได้จากโฆษณาของหนังสือพิมพ์ฉบับพิมพ์เคยพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 48,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2000 จากนั้นจึงลดลงมาเรื่อยๆ และแม้ว่าจะเริ่มมีการเก็บข้อมูลรายได้จากโฆษณาของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ตั้งแต่ปี 2003 แต่ก็พบว่าสัดส่วนของรายได้โฆษณาหนังสือพิมพ์ออนไลน์ยังเทียบไม่ติดกับฉบับสิ่งพิมพ์ หนำซ้ำเมื่อรวมรายได้ทั้งฉบับสิ่งพิมพ์และออนไลน์เข้าด้วยกัน มีเพียงปี 2004 2005 และ 2006 (48,244 49,435 และ 49,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เท่านั้น ที่เม็ดเงินโฆษณาดูจะสูสีกับปี 2000 ซึ่งหลังจากปี 2006 เป็นต้นมาเม็ดเงินโฆษณาก็ลดลงเรื่อยๆ อีกครั้ง [6]
สถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง ‘นิตยสาร’ เองก็มีชะตากรรมคล้ายๆ กับสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ หนำซ้ำพบว่ารายได้จากการพิมพ์นิตยสารทั่วโลกต่อไปจะลดลงชัดเจนกว่าหนังสือพิมพ์ เนื่องจากผู้อ่านชอบอ่านฟรีมากกว่าทั้งทางเว็บไซต์และกระดาษ ที่มาภาพประกอบ: Wesley Fryer (CC BY-SA 2.0)
ส่วนสถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง ‘นิตยสาร’ เองก็มีชะตากรรมคล้ายๆ กับหนังสือพิมพ์ โดยรายได้จากนิตยสารทั่วโลกค่อย ๆ ลดลงปีละประมาณ 0.5% โดยปี 2015 อยู่ที่ 68,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าปี 2020 จะอยู่ที่ 66,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่คาดว่ารายได้จากการพิมพ์นิตยสารทั่วโลกต่อไปจะลดลงชัดเจนกว่าหนังสือพิมพ์ เนื่องจากผู้อ่านชอบอ่านเนื้อหาฟรีมากกว่าทั้งทางเว็บไซต์และกระดาษ
ทางด้านรายได้จากธุรกิจนิตยสารทางดิจิทัล แม้ว่าภาพรวมทั่วโลกเม็ดเงินจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปจากการลดลงของนิตยสารฉบับพิมพ์ได้ PwC ประเมินว่าปี 2020 รายได้จากนิตยสารดิจิทัลทั่วโลกจะกินสัดส่วนเพียง 30% ของธุรกิจนิตยสาร เพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2015 ทั้งนี้เป็นเพราะราคาสำหรับลงโฆษณานิตยสารฉบับออนไลน์นั้นยังต่ำกว่านิตยสารฉบับพิมพ์อยู่มาก โดยในปัจจุบันพบว่าเม็ดเงินโฆษณาในอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ ‘ถูกกำหนด’ และ ‘ไหลเข้าสู่กระเป๋า’ ของ 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Facebook เป็นหลัก ทำให้เว็บไซต์หนังสือพิมพ์และนิตยสารออนไลน์ไม่สามารถพึ่งพารายได้จากโฆษณาดิจิทัลได้เพียงอย่างเดียว [7]
สำหรับธุรกิจวิทยุ บริษัทวิจัยตลาดโฆษณา Borrell Associates ซึ่งวิจัยตลาดถึงระดับท้องถิ่นในสหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร ชี้ว่า นับแต่เข้าสู่ยุคดิจิทัลซึ่งกินเวลาอย่างน้อย 20 ปีมาแล้ว ธุรกิจวิทยุเจออุปสรรคเรื่องการตรึงความสนใจของผู้คนให้ได้เป็นเวลานาน มีสถานีวิทยุน้อยรายที่ทำได้ดี แต่วิทยุส่วนใหญ่ยังมองว่าหน้าที่หลักคือการขายพื้นที่โฆษณาสั้น ๆ ในวิทยุประกอบกับพื้นที่โฆษณาในเว็บไซต์ ซึ่ง Borrell Associates มองว่าไม่ได้เป็นที่ต้องการของนักโฆษณามากนัก โดยบริษัทวิจัยนี้มองว่า หากวิทยุจะมีรายได้ที่ดีจากโฆษณาในยุคนี้ ควรสร้างช่องทางบริการในเว็บไซต์ให้ตรงกับแคมเปญในวิทยุ รวมถึงการจัดอีเวนต์ ส่วนรายได้ที่หายไปของวงการธุรกิจวิทยุในภาพรวมเนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัล บริษัทนี้มองว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปีข้างหน้า ถึงจะชดเชยเม็ดเงินที่หายไปได้ [8]
การจ้างงานคนทำงาน ‘โต๊ะข่าว’ ลดลง
ปัจจุบันการเลิกจ้างคนทำงานภาคสื่อสารมวลชนมีให้เห็นทั่วโลก โดยเฉพาะตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับงานข่าว ที่มาภาพประกอบ: Washington Post
ดังที่กล่าวแล้วว่า เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้รายได้ของอุตสาหกรรมสื่อเก่าทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้แล้ว เจ้าของกิจการสิ่งพิมพ์ดังกล่าวโดยรวมก็ยังคงทำกำไรได้จากการลดค่าใช้จ่ายขององค์กร การใช้เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ลดจำนวนการพิมพ์ ลดการรายงานข่าวจากท้องถิ่นหรือการรายงานจากต่างประเทศ ควบรวมกิจการ มีการเลิกจ้าง รวมทั้งการลด ‘ตำแหน่งงานประจำ’ หันไปจ้างงานแบบ ‘ฟรีแลนซ์’ มากขึ้น ส่งผลให้ชีวิตของคนทำงานภาคสื่อสารมวลชนจำนวนมากขาดความมั่นคง
ที่สหรัฐฯ ในปี 2004 โครงการเพื่อความเป็นเลิศทางสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นหน่วยงานของคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เผยผลศึกษาภาพรวมของหนังสือพิมพ์ในสหรัฐประจำปี 2004 พบว่าสื่อต่างๆ มีการลงทุนไปในเรื่องของการเผยแพร่ข่าวมากกว่าการรวบรวมข่าว โดยในปี 2004 หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ มีพนักงานประจำกองบรรณาธิการน้อยกว่าปี 1990 ถึง 2,200 คน ขณะที่สถานีโทรทัศน์ลดนักข่าวภาคสนามลง 1 ใน 3 นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา [9] ส่วนข้อมูลในปี 2018 ที่ Pew Research Center รวบรวมจากสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ (Occupational Employment Statistics: OES) ระบุว่าการจ้างงานผู้สื่อข่าว, บรรณาธิการ, ช่างภาพ และคนตัดต่อ ที่เกี่ยวข้องกับงานข่าว (newsroom employment) ในอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ มีทั้งหมด 37,900 คน ซึ่งลดลง 14% จากปี 2015 และลดลงถึง 47% จากปี 2004 โดยค่าจ้างเฉลี่ยสำหรับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในปี 2018 อยู่ที่ประมาณ 49,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์อยู่ที่ประมาณ 35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี [10]
นอกจากนี้ ข้อมูลที่รวบรวมโดย Pew Research Center ยังชี้ให้เห็นถึงการจ้างงานคนทำงานสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวมีแนวโน้มลดลงจากปี 2008-2018 ลดลง 25% ในปี 2008 คนทำงานสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวมีทั้งหมดประมาณ 114,000 คน ทั้งนักข่าว, บรรณาธิการ, ช่างภาพ และคนตัดต่อ ทำงานใน 5 อุตสาหกรรมที่ผลิตข่าว ได้แก่ หนังสือพิมพ์, สถานีโทรทัศน์, สื่อออนไลน์, วิทยุ และเคเบิลทีวี แต่ในปี 2018 เหลือเพียง 86,000 ตำแหน่ง ซึ่งเท่ากับว่ามีตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับการทำข่าวนี้หายไปประมาณ 28,000 ตำแหน่งเลยทีเดียว โดยตำแหน่งงานที่หายไปมากที่สุดนั้นอยู่ในภาคหนังสือพิมพ์ [11]
ทั้งนี้ ปี 2018 ถือว่าเป็นปีที่คนทำงานภาคสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ ถูกเลิกจ้างมากที่สุดในรอบหลายปี โดยถูกเลิกจ้างมากถึง 11,878 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับการเลิกจ้างในปี 2017 ปีที่เลิกจ้าง 4,062 คน ปี 2018 มีสัดส่วนการเลิกจ้างมากกว่าถึง 281% และนับเป็นการเลิกจ้างมากที่สุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2009 [12]
ส่วนที่ประเทศออสเตรเลีย ยุคดิจิทัลได้ส่งผลให้มีการปลดคนทำงานในแวดวงสื่อมวลชน โดยองค์กร Media, Entertainment & Arts Alliance ประเมินว่านับจากปี 2011 จำนวนนักข่าวออสเตรเลียถูกเลิกจ้างไปแล้วอย่างน้อย 3,000 ตำแหน่ง โดยปัจจุบันเหลือนักข่าวอยู่ 3 ใน 4 [13]
ตัวอย่างการเลิกจ้างคนทำงานสื่อที่น่าสนใจระหว่างปี 2008-2018 ปี 2008 เนื่องด้วยผลประกอบการของค่าย New York Times ที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในวอลล์สตรีต โดยเฉพาะรายได้จากโฆษณาของสิ่งพิมพ์ในเครือ งวดไตรมาส 2 ลดลงถึง 11% ส่งผลให้กำไรดิ่งฮวบ 82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับ กลุ่ม Gannett ค่ายหนังสือพิมพ์รายใหญ่สุดของสหรัฐ และเป็นต้นสังกัดของ ‘USA TODAY’ และหนังสือพิมพ์รายวันอื่นๆ รวม 85 ฉบับทั่วอเมริกา มียอดจำหน่ายรวมกันเกือบ 7 ล้านฉบับต่อวัน ก็มีผลประกอบออกมาน่าผิดหวังไม่แพ้กัน กำไรตกฮวบ 36% ล้วนเป็นหลักฐานเด่นชัดที่ตอกย้ำ แนวโน้มอันอับแสงลงเรื่อยๆ ของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์สหรัฐฯ สอดรับไปกับภาพรวมทั่วโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคมืด ดังที่ The Observer ของอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตว่าปี 2008 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์สมัยใหม่ การเลิกจ้างนักข่าวหรือพนักงานประจำกองบรรณาธิการในสหรัฐฯ มีให้เห็นแทบทุกวัน เฉพาะในสัปดาห์นับถึง 18 ก.ค. 2008 มีนักข่าวประจำกองบรรณาธิการต่างๆ ทั่วสหรัฐ 400 คน ต้องตกงานหลังจากที่ต้นเดือน ก.ค. 2008 Los Angeles Times ประกาศเลิกจ้างบุคลากร 250 ตำแหน่ง ในจำนวนนั้นเป็นนักข่าว 150 คน ส่งผลให้พนักงานประจำกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ลดลงจาก 1,200 คน ในปี 2001 เหลือ 700 คน ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่นับคำประกาศเลิกจ้างที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ Tampa Tribune, Baltimore Sun, Hartford Courant และ Milwaukee Journal Sentinel เป็นต้น [14] ปี 2013 Chicago Sun-Times ประกาศเลิกจ้างช่างภาพทั้งหมด 28 คน ที่เป็นพนักงานประจำ จากนั้น Chicago Sun-Times มีนโยบายใหม่ที่ให้นักข่าวต้องเข้าร่วมการอบรมภาคบังคับเรื่องการถ่ายภาพด้วย iPhone เบื้องต้น แถลงการณ์ของ Chicago Sun-Times ระบุว่าธุรกิจสื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผู้อ่านก็มองหาเนื้อหาข่าวในรูปแบบวิดีโอมากขึ้น โดยองค์กรต้องก้าวไปข้างหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการนี้และได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสามารถในการรายงานข่าวด้วยวิดีโอและมัลติมีเดียอื่นๆ ทั้งนี้หนึ่งในผู้ที่ถูกปลดออกครั้งนั้นคือ John H. White ช่างภาพรางวัล Pulitzer สาขาภาพสารคดี ในปี 1982 ด้วย [15] ปี 2014 New York Times หนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศแผนปลดผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการเพิ่ม 7.5% หรือประมาณ 100 คน จากทั้งหมดที่มีอยู่ 1,330 คน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเดินหน้าแผนลงทุนด้านดิจิทัล ขณะที่รายได้จากค่าโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง และผลิตภัณฑ์ใหม่มีรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาด ทั้งนี้ บริษัทจะหันไปเน้นการลงทุนด้านโทรศัพท์มือถือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล การโฆษณาและสื่อสิ่งพิมพ์ในบางภาคเท่านั้น [16] ปี 2017 Fairfax Media บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลีย ประกาศว่าจะเลิกจ้างพนักงานประจำในกองบรรณาธิการข่าว 125 คน แผนการเลิกจ้างครั้งนี้ฝ่ายบริหารระบุว่าจะช่วยทำให้บริษัทฯ ประหยัดเงินไปได้ 30 ล้านดอลลาร์ออสเตรียเลีย โดยการเลิกจ้างครั้งนี้จะเป็นการเปิดให้เป็นการเลิกจ้างโดยสมัครใจ 125 คนในกองบรรณาธิการข่าว การเลิกจ้างที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของกองบรรณาธิการข่าวนี้ ทำให้พนักงานในสังกัดของ Fairfax Media อย่าง Sydney Morning Herald และ The Age ขอมติประกาศนัดหยุดงานไปจนถึงสัปดาห์หน้าตอบโต้ทันที การประท้วงจะเริ่มในช่วง 15.00 น. ของทุกวัน โดยมีสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ (IFJ) และแนวร่วมคนทำงานสื่อ ภาคบันเทิง และศิลปะ (Media, Entertainment & Arts Alliance หรือ MEAA) ประกาศให้ความสนับสนุนการนัดหยุดงานประท้วงครั้งนี้ กลุ่มพนักงาน Fairfax Media ยังได้ตกลงและเรียกร้องร่วมกันว่าจะไม่รับข้อเสนอการเลิกจ้างที่มีการบังคับของบริษัทฯ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการให้ผู้บริหารระดับสูงลดค่าแรงของตนเองลง 25% แทนการเลิกจ้างพนักงาน ก่อนหน้านี้เมื่อปี Fairfax Media ได้เลิกจ้างครั้งใหญ่กว่า 200 คนมาแล้ว [17] ปี 2018 ในเดือน ธ.ค. Thomson Reuters ผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงินและรายงานข่าวต่างๆ ให้แก่สำนักข่าวต่างๆ ของโลก ได้ประกาศปลดพนักงานในสำนักข่าวและแผนกข้อมูลทางการเงิน ทั้งหมด 3,200 ตำแหน่ง ซึ่งคิดเป็น 12% ของพนักงานทั้งหมด 27,000 คน และปิดสำนักงานทั่วโลกอีกหลายสิบแห่งภายในปี 2020 ข้างหน้า นอกจากนี้ Reuters ยังจะปรับลดสำนักงานทั่วโลกลงอีก 30% ให้เหลือ 133 แห่งเท่านั้น โฆษกของ Reuters ระบุว่าพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว ซึ่งการปรับปรุงองค์กรให้กระชับขึ้น เป็นสิ่งที่ Reuters ทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยบางครั้งอาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากร เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการบริหารทรัพยากรในองค์กรกับความต้องการของลูกค้าท่ามกลางสภาพการแข่งขันที่สูง ทั้งนี้ Reuters เป็นสำนักข่าวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่สำนักข่าวสร้างรายได้เพียง 6% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ย. 2018 Reuters เพิ่งเลิกจ้างนักข่าวในฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี และเมื่อเดือน ต.ค. สำนักข่าว AFP เพิ่งประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานรวม 125 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 5 % ของพนักงานทั่วโลกเพื่อยุติการขาดทุนของบริษัท [18] นอกจากนี้ยังมีการประเมินกันว่าในปี 2018 เป็นปีที่มีการเลิกจ้างพนักงานในบริษัทสื่อสารมวลชนมากที่สุดตั้งแต่ปี 2009 มา โดยปี 2018 มีการเลิกจ้างประมาณ 15,474 ตำแหน่ง เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2017 ถึง 281% และสัดส่วน 3 ใน 4 ของการเลิกจ้างนี้นั้น (ประมาณ 11,878 ตำแหน่ง) เป็นการเลิกจ้างพนักงานในองค์กรข่าวอีกด้วย [19] |
วงการสื่อจ้างงานฟรีแลนซ์เพิ่มมากขึ้น
การจ้างงานนักข่าวฟรีแลนซ์ เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในวงการสื่อมวลชนทั่วโลกในขณะนี้ เนื่องจากช่วยสร้างความยืดหยุ่นและลดต้นทุนให้กับองค์กรสื่อ ที่มาภาพประกอบ: IBC
ข้อมูลของสหภาพนักข่าวสหราชอาณาจักร (National Union of Journalists) พบว่าจำนวนสมาชิกสหภาพโดยรวม (ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นพนักงานประจำ) ได้ลดลงจากปี 2005 ที่มีสมาชิก 28,678 คน เหลือ 26,521 คนในปี 2012 แต่ช่วงเวลาดังกล่าวกลับมีสมาชิกของสหภาพที่เป็นนักข่าวฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นจาก 24.3% ของจำนวนสมาชิกในปี 2005 เพิ่มเป็น 27.6% ในปี 2012 [20]
สอดคล้องกับงานศึกษาที่ปรากฏใน Oxford Research Encyclopedias ปี 2019 ที่พบว่าการจ้างนักข่าวประจำได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ท่ามกลางการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ที่เพิ่มขึ้นในหลายๆ ธุรกิจรวมถึงองค์กรสื่อมวลชน และทั่วโลก องค์กรสื่อที่ทำกำไรได้มีน้อยลง โดยมีการเพิ่มขึ้นของนักข่าวฟรีแลนซ์ที่รับจ้างองค์กรสื่อมากกว่าหนึ่งราย, นักข่าวฟรีแลนซ์ที่รายได้ไม่มีความมั่นคง, และการเผชิญความเสี่ยงด้วยตนเองมากขึ้น เช่น ปัญหาทางกฎหมายจากการรายงานของนักข่าวฟรีแลนซ์
ทั้งนี้ งานศึกษาดังกล่าวพบรายงานที่ชี้ว่า ยุคดิจิทัลเอื้อให้นักข่าวทำงานได้สะดวกมากขึ้น เช่น ความมีอิสระ ความ สามารถที่จะสร้างสรรค์ ความคล่องตัว การใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า การมีส่วนร่วมกับหัวหน้างาน เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีหลายรายงานที่ชี้ว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล นักข่าวมีความยากลำบากในการทำงานมากขึ้น จากการต้องนั่งอยู่กับโต๊ะทำงานมากขึ้น ออกไปทำข่าวข้างนอกได้น้อยลง นอกจากนี้ยุคดิจิทัลยังมาพร้อมกับรูปแบบของรายได้แบบใหม่ ตั้งแต่นักข่าวที่ยังไม่ได้ทำเป็นอาชีพซึ่งจะทำงานฟรีไปก่อน เพื่อแสดงความสามารถให้เป็นที่รู้จัก โดยหวังจะได้รับการจ้างงานอย่างต่อเนื่องในอนาคต หรือการที่องค์กรสื่อใช้เงินโบนัสเป็นสิ่งจูงใจนักข่าวสำหรับการทำงานที่วัดผลได้ อย่างสถิติการคลิกของผู้เสพข่าวที่เข้าไปยังหน้าผลงานของนักข่าวคนนั้น ๆ หรือตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่แสดงถึงความนิยมที่มีต่อผลงาน โดยปัญหาของการจ่ายค่าจ้างลักษณะนี้ที่พบก็คือ จากเดิมก่อนยุคดิจิทัลที่นักข่าวต้องทำงานเพียงให้เสร็จทันเวลาที่กำหนด แต่พอเข้าสู่ยุคดิจิทัล นักข่าวที่รับค่าจ้างประเภทนี้ต้องประสบกับความกดดันอย่างต่อเนื่อง จากการต้องเป็นผู้สร้างความนิยมของชิ้นงานด้วยตนเอง ทำให้เกิดการทำงานนอกเหนือจากเวลางานและนอกสถานที่ทำงาน อันรวมถึงที่บ้าน โดยการสร้างความนิยมนั้น นักข่าวก็ต้องทำงานอื่นที่นอกเหนือจาการทำข่าวและต้องคอยรักษาชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์
อย่างไรก็ดี มีงานศึกษาที่ระบุว่าความยากลำบากที่มากขึ้นของนักข่าวที่เป็นผลพวงของยุคดิจิทัล เป็นผลจากกลยุทธ์การบริหารจัดการขององค์กรสื่อเพื่อใช้ต้นทุนอย่างคุ้มค่าและการสร้างผลผลิตให้ได้มากที่สุดมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งการสำรวจความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีกับการทำงานของนักข่าว ได้ชี้ให้เห็นว่าความยากลำบากที่เพิ่มขึ้นของนักข่าว เป็นผลจากการที่องค์กรสื่อต้องการควบคุมกระบวนการผลิตข่าวมากขึ้น มากเสียกว่าจะเป็นผลจากเทคโนโลยีโดยตรง แต่การควบคุมก็ไม่ทำให้พบว่าผลงานข่าวมีคุณภาพมากขึ้นแต่อย่างใด [21]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] Newspapers & Magazines Transitioning from a print past to a digital future – triggering new strategies and wide divergences between markets (Global Entertainment & Media Outlook 2016-2020, PwC, 2016)
[2] World Press Trends 2018: Facts and Figures Global newspaper industry revenues (wptdatabase.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1 September 2019)
[3] Print daily newspaper circulation worldwide from 2013 to 2017 (Amy Watson, statista.com, 19 November 2018)
[4] World Press Trends 2018: Facts and Figures Global newspaper industry revenues (wptdatabase.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1 September 2019)
[5] Newspapers Fact Sheet (Pew Research Center, 9 JULY 2019)
[6] TRENDS & NUMBERS > ADVERTISING EXPENDITURES > ANNUAL (ALL CATEGORIES) (Newspaper Association of America, 14 March 2012)
[7] Newspapers & Magazines Transitioning from a print past to a digital future – triggering new strategies and wide divergences between markets (Global Entertainment & Media Outlook 2016-2020, PwC, 2016)
[8] Radio's Big Challenge: Finding Its Way Forward In This New Digital World (Gene Ely, forbes.com, 30 March 2018)
[9] เผยสื่อมะกันอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังผู้อ่านไม่ไว้ใจสื่อมากขึ้น (คมชัดลึก, 16 มี.ค. 2004)
[10] Newspapers Fact Sheet (Pew Research Center, 9 JULY 2019)
[11] U.S. newsroom employment has dropped by a quarter since 2008, with greatest decline at newspapers (ELIZABETH GRIECO, Pew Research Center, 9 JULY 2019)
[12] Worst Year for Media Since Recession ANNUAL MEDIA SECTOR JOB CUTS UP 281 PERCENT (Challenger, Gray & Christmas, 14 February 2019)
[13] IFJ Blog: MEAA's new campaign: Good Jobs in Digital Media (Mark Phillips, International Federation of Journalists, 14 February 2019)
[14] สิ่งพิมพ์มะกัน รับ "ยุคมืด" ชู "Super Bureau" -เบรกกิ้ง นิวส์ สู้ (ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 28 - 30 ก.ค. 2008)
[15] น.ส.พ.ชิคาโก ปลดช่างภาพ-ปรับแผนให้ ผสข.ใช้ไอโฟน (สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น., 4 มิ.ย. 2013)
[16] นิวยอร์กไทมส์ปลดนักข่าว 100 (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, 3 ต.ค. 2014)
[17]คนทำสื่อออสเตรเลียประท้วง ให้ผู้บริหารลดเงินเดือนตัวเองแทนการเลิกจ้างพนักงาน (ประชาไท, 4 พ.ค. 2017)
[18]Thomson Reuters announces 3,200 job cuts over 2 years (ABS-CBN, 5 December 2018)
[19]2018 was the worst year of media layoffs since 2009 (Yahoo Finance, 14 February 2019)
[20] Precarious E-Lancers: Freelance Journalists’ Rights, Contracts, Labor Organizing, and Digital Resistance (Errol Salamon, The Routledge Handbook of Developments in Digital Journalism Studies, 2018)
[21] Employment Conditions in Journalism (Mirjam Gollmitzer, Oxford Research Encyclopedias, March 2019)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ