“ชาติหน้าฉันใด ขออย่าได้เกิดเป็นโสเภณีอีกเลย”
เรื่องจริงของหญิงโสเภณีชรา วัย 71 ปี กับชีวิตที่ไม่สมดั่งใจ
1.
ดวงอาทิตย์เลือนลับหายไประหว่างซอกตึกกลางเมืองหลวง แสงสุดท้ายลากรุงเทพมหานครเมืองฟ้าอมรแล้ว แสงไฟนีออนถูกปลุกขึ้นมาแทนที่ สัญญาณแห่งรัตติกาลได้มาถึง บรรดาแหล่งแสวงหาความรื่นรมย์เริ่มเปิดทำการ
ถนนข้าวสาร แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของประเทศไทยที่ต่างชาติรวมถึงคนไทยนิยมมาท่องเที่ยวย่ำราตรี ประกอบไปด้วย ผับ บาร์ สตรีทฟู้ด ร้านนวด ต่างทำหน้าที่ให้ความรื่นรมย์แก่ผู้มาเยือน เสียงเพลงหลากหลายท่วงทำนองถูกเปิดเรียกลูกค้า นำเม็ดเงินมาสู่ถนนแห่งนี้หลายสิบล้านบาทต่อคืน
อีกฟากฝั่งของถนนข้าวสาร มีตรอกซอยเล็กๆ เงียบๆ ผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก บรรยากาศตรงข้ามกับถนนข้าวสาร
มีพ่อค้าของเก่าทยอยเอาสินค้ามือสองออกมาวางขายบนฟุตบาท สินค้าดูเก่าคร่ำ จวนจะพังบ้าง ปลดระวางบ้าง เช่น วิทยุเก่าที่แหลือแต่แผงวงจร กล้องถ่ายรูปที่ใช้ไม่ได้แล้ว วางเรียงอยู่บนผืนผ้าพลาสติก รอคอยช่างหรือนักสะสมของเก่ามาเลือกสรร
หญิงสูงวัยคนหนึ่งกำลังลากเก้าอี้สีน้ำเงินมาวางไว้ตรงมุม ติดกับสี่แยกเล็กๆ เธอแต่งตัวดูดี ทาลิปสติกสีแดง แต่งหน้าสวย และใส่ต่างหูเม็ดแวววาวสีเงิน
และเช่นเดียวกันกับเก้าอี้พลาสติกอีกหลายตัวที่ถูกนำมาวางไว้ตามข้างทางในมุมต่างๆ เพื่อให้เหล่าบรรดาหญิงสาวมานั่งเฝ้ารออะไรบางอย่าง
ไม่นานนักก็เห็นหญิงสาวคนหนึ่ง มีชายหนุ่มเดินเข้ามาพูดคุยไม่ถึง 1 นาที แล้วทั้งสองก็เดินตามกันไป ทิ้งไว้แต่เก้าอี้ คนแล้วคนเล่า ใช่แล้ว ! พวกเธอเหล่านี้กำลังขายบริการทางเพศ
แต่หญิงสูงวัยคนนั้น เธอยังคงนั่งอยู่ ใช้สายตาเฝ้ามองผู้คนที่เดินผ่านไปมา ทำไม ? ผู้หญิงสูงวัยอย่างเธอไม่อยู่บ้านเลี้ยงหลานและดูทีวี
2.
เธอชื่อ ‘สมใจ’ เธอให้เรียกว่า ‘ป้าสมใจ’ หลังจากผู้เขียนเฝ้ามองดูอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ได้เวลาเข้าไปหาทำความรู้จักกับเธอ เธอยิ้มแย้มพูดจาฉะฉาน ยินดีคุยด้วยหลังจากแนะนำตัว
“เดี่ยวนี้เด็กผู้หญิงมาใหม่กันเยอะ ทำกันเยอะมาก ไม่น่าเชื่อเลย” เป็นประโยคแรกที่เธอเล่าเมื่อถามถึงว่า แถวนี้เป็นอย่างไรบ้าง
เธอเล่าต่อ “ก่อนหน้านี้ 2 วันไม่ได้แขกเลย แขกน้อยมาก เดี๋ยวนี้เงินมันฝืด ไม่มีเงินกินข้าวเลย แล้วจะไปเอาตังค์ที่ไหนล่ะ ก็ต้องมานั่งเเบบนี้ เผื่อได้ผู้ชายได้แขกบ้างก็ยังดี ”
ป้าสมใจ เกิดปี พ.ศ. 2491 ปัจจุบัน อายุ 71 ปี เธอเริ่มต้นเข้าสู่อาชีพขายบริการตั้งแต่อายุ 22 ปี หลังจากเเต่งงานครั้งแรก ตอนนั้นเธอมีลูกเล็กหนึ่งคนป่วยเป็นโรคโปลิโอ ส่วนสามีของเธอก็ไม่ค่อยขยันทำมาหากิน ทำให้เธอต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อรักษาลูกที่ป่วย ในตอนนั้นเพื่อนคนหนึ่งชวนไปทำงานขายบริการที่จังหวัดสุดเขตชายเเดนใต้ เธอจึงตัดสินใจไป เพื่อนำเงินมารักษาลูก
“ ป้าสงสารลูกมาก ป้าเองก็ร้องไห้ ต้องฝากลูกไว้กับแม่ให้ช่วยเลี้ยง เพื่อไปหาเงินมารักษาเขา ”
ด้วยความขมขื่นใจแต่ต้องฝืนทน เธอกลับมาบ้านทุก 2 เดือน บางครั้งก็พาลูกนั่งรถไฟไปด้วย เดินทางไปมาระหว่างบ้านและที่ทำงานด้วยระยะทาง 1,166 กิโลเมตร หลังจากนั้นเธอก็ผันตัวมาเป็นแม่เล้า พาเด็กไปขายด้วยอีก 2 คน ทำงานอยู่ที่นั่นไม่นาน ป้าสมใจก็กลับบ้านพร้อมเงินก้อนหนึ่งเริ่มต้นชีวิตใหม่และได้หย่าขาดกับสามีคนแรก
แต่แล้วชีวิตกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง แม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกป่วยโรคเรื้อรัง ต้องแบกรับภาระมากมาย เงินที่ได้มาก็หมดลง เธอทำงานโรงงานแต่อยู่ได้ไม่นานนัก เงินที่ได้ไม่เพียงพอต่อการรักษาลูกของเธอ เธอจึงกลับเข้าไปสู่วังวนเดิม เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะหาเงินมารักษาลูกเธอได้เพียงพอ สำหรับคนที่ไม่มีวุฒิการศึกษาอย่างเธอ
3.
เธอย้ายเข้ามาขายบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่นานก็พบรักกับสามีคนที่ 2 ซึ่งก็เป็นคนมาซื้อบริการเธอนั่นเอง “เขามาชอบเราเเล้วก็บอกว่าเป็นครู เราก็เชื่อเขา สุดท้ายโดนเขาหลอก เขาไม่ได้เป็นครูจริงๆ แต่เขาถีบสามล้อ เราก็ชํ้าอกชํ้าใจมาก” น้ำเสียงของเธอเศร้าสร้อยเมื่อเล่าเรื่องราวความหลัง แววตาดูว่างเปล่าอย่างคนมีอดีตขมปร่า
ใช้ชีวิตด้วยกันอยู่ 2 เดือน ก็มีลูกอีก 1 คน ในสมัยนั้นไม่มีถุงยางคุมกำเนิดเหมือนปัจจุบัน ทำให้มีลูกง่าย ครอบครัวของของเธอทั้งพ่อและแม่ไม่ยอมรับ เธอจึงตัดสินใจไปทำแท้งและเอาเด็กออกได้สำเร็จ แต่ก็ยังคบหากับสามีคนที่ 2 อยู่ หลังจากนั้นไม่นานเธอท้องอีกครั้งและไปเอาออกอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่สำเร็จ ลูกคนที่ 2 ของเธอจึงได้ลืมตาออกมาดูโลก สามีของเธอบอกว่าจะกลับบ้านที่อีสาน แล้วก็ไม่หวนกลับมาอีกเลย... ชีวิตหญิงวัยกลางคน พร้อมภาระหน้าที่เลี้ยงดูอีก 2 ชีวิต เธอเลือกที่จะทำอาชีพขายบริการต่อไปเพื่อหารายได้จุนเจือ แล้วมรสุมลูกใหญ่ก็พัดพาเข้ามาในชีวิตเธออีกครั้ง ลูกคนแรกของเธอที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอ เสียชีวิตตอนอายุได้ 25 ปี และคนที่สองฆ่าตัวตายตอนอายุได้ 37 ปี สิ่งที่เคยยึดเหนียวชีวิตและเป็นดั่งแก้วตาดวงใจของเธอ หายไปหมดจากชีวิตของเธอ
ขณะกำลังเล่าเรื่องราวชีวิตให้ฟัง ชายคนหนึ่งเดินผ่านมา แซวป้าสมใจว่า “วัตถุโบราณมีลูกหลานด้วยหรือเนี่ย” เธอได้แต่ยิ้มทักทายแล้วปล่อยให้ความเงียบตอบคำถามนั้น
4.
ข้อมูลจาก ‘มูลนิธิอิสรชน’ ที่ทำงานให้ความช่วยเหลือคนเร่รอนและผู้ขายบริการทางเพศในเขตพระนคร ระบุว่า พนักงานขายบริการอิสระรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีทั้งชาย-หญิงและเพศที่สาม ประมาณ 800 - 1,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุถึงร้อยละ 60 โดยเพศหญิงอายุสูงสุดที่พบคือ 83 ปี ต่ำสุด 12 ปี ส่วนเพศชายพบอายุสูงสุด 46 ปี ต่ำสุด 8 ปี สาเหตุหลักมาจากความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและรายได้ มูลนิธิอิสรชน ยังพบข้อมูลว่า การขายบริการในไทย มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่อาบอบนวดราคาสูงถึง 5,000 -10,000 บาทต่อครั้งของการใช้บริการ ไปจนถึงผู้ขายบริการอิสระ 300 - 1,000 บาท
“อยากให้สังคมส่วนใหญ่มองเขาเป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่ง มันก็คืออาชีพของเขา ไม่ว่าจะเป็นคนเร่ร่อนหรือคนขายบริการ ไม่ต้องไปพูดว่าเขาป่วยทางจิตหรือเปล่า ” อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน บอกถึงแกนกลางปัญหาที่สังคมยังมองผู้ขายบริการว่าเป็นจุดด่างพร้อยของสังคม
“ผู้สูงอายุที่มาขายบริการมันมีหลายเหตุหลายปัจจัย ทั้งถูกขายให้นายหน้าตอนเด็กๆ หรือปัญหาครอบครัว ปัญหาหนี้สิน ซึ่งเราก็พบว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาหลักของคนที่ทำอาชีพนี้ การใช้แรงงานหรืออาชีพที่มีอยู่มันไม่ได้หลากหลาย การศึกษาเขามีจำกัด ความสามารถทักษะก็ด้วย งานนี้งานเดียวที่ไม่ถามหาวุฒิการศึกษา งานนี้เป็นงานเดียวที่ทำงานแล้วได้เงินทันที สามารถตอบปัญหาเรื่องรายได้... มันเป็นเหมือนกันแบบนี้ทั่วโลก”
“เราต้องมองเขาให้เป็นคนธรรมดาปกติก่อน มองเขาว่าเขาทำมาหากินสุจริต แล้วปัญหามันจะจบ ทุกวันนี้ทุกอย่างก็ผิดไปหมด กฎหมายที่มีอยู่ก็ไปตีตราเขาว่ามีความผิด”
อัจฉราเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันผู้ขายบริการทางเพศมีแนวโน้มที่อายุมากขึ้น ประเทศไทยมีกฎหมายการค้าประเวณี 2 ฉบับ ฉบับแรกปี พ.ศ.2503 และฉบับปี พ.ศ.2539 ทั้งสองฉบับยังมองการค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อ่านเพิ่มเติมได้ที่ (https://ilaw.or.th/node/2863)
5.
เวลาล่วงเลยไปถึงเที่ยงคืนแล้ว บรรยากาศเริ่มเงียบสงัดมากขึ้น แต่เหล่าบรรดาผู้ขายบริการยังคงทำหน้าที่นั่งรอแขกอยู่บนเก้าอี้ วันนี้ ‘ป้าสมใจ’ ยังไม่มีแขกหรือลูกค้าเลยแม้แต่คนเดียว
“บางวันก็ไม่ได้ลูกค้าเลย ป้าก็นั่งซึมเซาไปทั้งคืน...วันนี้กินกาแฟมา ค่อยยังชั่วหน่อย บางครั้งถ้าไม่ไหวก็จะดื่มเครื่องดื่มชูกำลังไป 2 ขวดเพื่อให้มีเเรงขึ้น”
เธอเล่าให้ฟังว่าบางวันนั่งนานๆ จนดึก บางครั้งก็ท้อ ง่วง รู้สึกอยากกลับบ้าน แต่พยายามอดทนนั่งไปจนกว่าจะมีลูกค้าและมีเงินกลับบ้าน คนที่มาซื้อบริการเธอส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่และคนวัยเดียวกัน บ้างก็เป็นคนขับแท็กซี่ บ้างก็เป็นคนทำงานก่อสร้างหรือคนในละแวกนั้น ในระหว่างบทสนทนา มีชายวัยกลางคนเดินเข้ามาท่าทางสงสัยและอยากคุยด้วย เธอบอกเขาให้ออกไปก่อน “ไม่มีอะไรหรอก ผู้หญิงเขาจะคุยเรื่องผู้หญิงกัน”
เธอเล่าว่า ในการขายบริการต้องใส่ถุงยางทุกครั้ง ไม่ใส่ไม่ได้ เป็นผู้หญิงต้องรู้จักป้องกันตัวเอง ต้องตกลงกันทุกครั้งว่าจะทำอะไรบ้าง ถอดและสอดใส่ได้แค่ไหน สำหรับคุณป้าสมใจเอง เธอต้องใช้เจลล่อลื่นช่วยทุกครั้ง
“ป้า 70 กว่าปีแล้ว ป้าเจ็บมดลูกนะ ป้าพยายามที่จะดึงตัวเองออกไปว่าจะไม่ทำอีกแล้ว ความหวังก็เดือนต่อเดือน ยังไม่รู้ว่าเดือนหน้าจะมีเงินรึเปล่า ป้ากู้มา 1000 บาท ต้องจ่ายเขาเป็นรายวัน วันนี้ยังไม่ได้จ่ายเขาเลย กลางวันก็ว่าจะกลับไปขายกุ้งทอด เพราะพรุ่งนี้้จะได้เงินชื้อวัตถุดิบจากบัตรสวัสดิการรัฐ ก็พอมาทำกุ้งทอดขายได้”
หญิงชุดดำเดินผ่านมาส่งสัญญาณว่า “ระวังจะลงนะ” ซึ่งหมายถึงระวังตำรวจจะมา ในชีวิตการทำงานขายบริการป้าสมใจเธอเคยถูกจับเพียงแค่สองครั้ง “ป้าไม่ได้มาขายบริการทุกวัน วันไหนที่ไม่มีเงินป้าก็มา ป้าเคยมาสองวันต่อกันแล้วไม่มีเงินกินข้าวเลย ต้องกินนํ้าเปล่าประทั่งชีวิต”
เรื่องราวของเธอถูกเล่าผ่านบทสนทนาเป็นกันเอง ก่อนที่เวลาจะล่วงเลยไปอีก ผู้เขียนได้ขออนุญาตไปหาเธอที่ที่พักในวันรุ่งขึ้น เพื่อทำความรู้จักเธอให้มากขึ้นและเธอก็ยินดี
ป้าบอกตำแหน่งที่อยู่เพียงแค่ว่าเช่าห้องอยู่ติดกับสถานีรถไฟชานเมือง แห่งหนึ่ง เลี้ยงแมวอยู่หลายตัว ถามคนแถวนั้นก็คงรู้จัก เมื่อถามถึงเบอร์โทรศัพท์ ป้าสมใจตอบว่า “ไม่มี”
เธอมาให้บริการตั้งแต่แสงไฟเริ่มส่องสว่าง นั่งยาวจนฟ้าเริ่มสางประมาณตี 5 เพื่อรอรถเมล์วิ่งและนั่งกลับบ้าน ป้าสมใจนอนพักในตอนกลางวันและกลางคืนก็มาขายบริการ ราวกับว่าเมื่อฟ้าเริ่มมืดเเสงไฟส่องสว่าง นั่นคือเวลาตอกบัตรเข้างานสำหรับเธอ แต่เหตุใด ผู้หญิงในวัย 71 ปี ยังคงต้องนั่งตบยุงริมทางเท้าเฝ้ารอลูกค้า เพื่อจะขายเรือนกายแลกกับธนบัตรไม่กี่ใบ ท่ามกลางเมืองหลวงอันศิวิไลซ์แห่งนี้
6.
รถไฟจากใจกลางกรุงเทพฯมุ่งหน้าสู่สถานีชานเมือง ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงที่หมาย ตามข้อมูลที่ป้าสมใจให้ไว้ ผู้เขียนลงสถานีปลายทางและมองหาห้องเช่า ภาพห้องเช่าเล็กๆ ประมาณ10 ห้อง ประตูไม้เก่าๆ แนบชิดติดรางรถไฟปรากฏขึ้น มองดูสักพักไม่เห็นมีคน แต่ห้องถูกเปิดอยู่ ได้ยินเสียง “เงี้ยว เงี้ยว” ใช่ห้องนี้แน่นอนเพราะเธอบอกว่าเธอเลี้ยงแมว
“ป้าสมใจ” เธอตื่นขึ้นมาทันทีจากเสียงเรียก มองเข้าไปภายในห้องที่ปูพื้นไม้อัด ในห้องเล็กๆ มีเพียงเสื้อผ้าและที่นอน ฝาไม้อัดแผ่นบางๆ ใช้กั้นระหว่างห้อง ถาดอาหารถูกวางไว้ระเกะระกะ เสียงร้องเงี้ยวง้าวของลูกแมวตัวเล็ก 7 ตัววิ่งหยอกล้อกันไปมา แม่ของมันนอนเจ็บจากการโดนรถไฟทับอยู่ด้านใน ป้าสมใจอุ้มลูกแมวขึ้นมากอดและลูบหัวทีละตัว เธอบอกว่ามีแมวเป็นเพื่อน อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความเหงาให้เธอได้
ยามแสงแดดส่องแสงละไม ชีวิตของป้าสมใจก็ดำเนินไปเฉกเช่นคนธรรมดา ในช่วงสาย ป้าจะต้องออกไปรับถังแก๊สที่เอาไปจำนำไว้กับร้านขายของชำเมื่อสองอาทิตย์ก่อน เรานั่งรถไฟจากหน้าบ้านป้าแล้วไปลงที่สถานีแห่งหนึ่งซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 20 นาที ป้าสมใจเล่าให้ฟังว่า ในอดีตเธอเคยเช่าห้องอยู่แถวร้านชำนี้มาก่อน แต่ระยะหลังไม่สามารถสู้ราคาค่าเช่าได้จึงต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น นั่นก็คือห้องเช่าปัจจุบันของป้าซึ่งคิดราคาเช่า 1000 บาท ระหว่างทางเดินเข้าไปในซอยแคบๆ เธอทักทาย ถามไถ่ผู้คนในชุมชนแห่งนั้นด้วยท่าทีเป็นกันเอง ราวกับเป็นคนที่คุ้นเคยกันมาก่อน เธอชี้แมวที่นอนอยู่ริมทางเดินให้ดู “นี่แมวที่ป้าเอามาเลี้ยงตอนนั้น มันโตหมดแล้ว ดูสินี่เจ้าดำ นี่เจ้าขาว” เมื่อก่อนเธอเคยนำแมวมาเลี้ยงกว่า 30 ตัว เวลาผ่านไปลูกแมวเหล่านั้นก็ค่อยๆ หายตายจาก จนตอนนี้เหลืออยู่กับป้าเพียง 9 ตัว
อากาศวันนี้ค่อนข้างร้อน ป้าสมใจจึงแวะซื้อโอเลี้ยงเจ้าประจำ หลังจากที่ได้เอาเงินไปไถ่ถังแก๊สคืน ป้าบอกว่าวันนี้คงทำนํ้าจิ้มไว้รอและซื้อวัตถุดิบต่างๆ เพื่อใส่รถเข็นไปขายในวันพรุ่งนี้ ผู้เขียนมาส่งป้ากลับที่สถานีรถไฟและเราต่างลากันด้วยคำว่า “ขอให้โชคดี”
ประโยคหนึ่งที่ป้าสมใจพูดไว้ก่อนตัดบทสนทนาที่ยังคงค้างอยู่ในใจของผู้เขียน “ถ้าป้าเลือกเกิดได้ชาติหน้า อย่าได้เกิดมาเป็นแบบนี้อีกเลย เกิดเป็นหมาเป็นแมวยังดีกว่า”
รถไฟเคลื่อนออกจากชานชาลามุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ แล้ว ผู้เขียนได้แต่ครุ่นคิดว่าชีวิตฉากต่อไปของป้าสมใจจะเป็นอย่างไร ในความไม่แน่นอนของชีวิตและการดิ้นรนปากกัดตีนถีบในโลกทุนนิยม บ้างก็ต่อสู้อยู่รอดปลอดภัย บ้างก็พ่ายแพ้ ป้าสมใจกับความเป็น 'มนุษย์ปุถุชน' ที่ถูกสังคมดูหมิ่นเหยียดหยาม แท้จริงแล้วไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเรา ไม่ว่าจะเป็นความต้องการความรัก ความอบอุ่น ความสุข ความหวัง หรือการสูญเสีย เราเพียงแต่ต่างกันที่ ’โอกาส’ ของแต่ละชีวิตเท่านั้น ทำอย่างไรให้เราได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างเท่าเทียมกัน ?
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Gaertringen (CC0 Public Domain)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ