ผู้เลี้ยงไก่ขอรัฐช่วยหาแหล่งทุนหนุน หวั่นต้นทุนค่าตรวจสอบฟาร์มสูงถึงปีละ 3-5 หมื่นบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 2694 ครั้ง

ผู้เลี้ยงไก่ขอรัฐช่วยหาแหล่งทุนหนุน หวั่นต้นทุนค่าตรวจสอบฟาร์มสูงถึงปีละ 3-5 หมื่นบาท

รายงานพิเศษจากสื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' อากาศร้อนจัดไก่ตายเป็นเบือ กรมปศุสัตว์เตรียมถกผู้เลี้ยงไก่ไข่-พ่อค้าคนกลางและโรงงานคัดแยกบรรจุไข่ไก่รอบใหญ่ปลายเดือนนี้ ก่อนประกาศบังคับใช้มาตรฐานสุขอนามัยอุตสาหกรรมไก่ไข่ทั้งระบบ ด้านผู้เลี้ยงขอรัฐช่วยหาแหล่งทุนหนุน หวั่นต้นทุนค่าตรวจสอบฟาร์มสูงถึงปีละ 3-5 หมื่นบาท ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2562 ว่าจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ทำให้ไก่ไข่ยืนกรงของผู้เลี้ยงรายย่อยฟาร์มละ 1 หมื่นกว่าตัว ต้องตายลงถึงวันละ 20-30 ตัว จากปกติตายวันละ 1-2 ตัวเท่านั้น ทั้งที่มีการฉีดน้ำช่วงบ่ายแก้ปัญหาอากาศร้อนจัด ขณะเดียวกันภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์ก็เตรียมจะบังคับใช้มาตรฐานฟาร์ม ส่งผลให้เอกชนหลายรายหวั่นวิตกว่าจะไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาเลี้ยงในระบบปิดที่ได้มาตรฐานได้ตามแผน

นายจอมพงษ์ ชูทับทิม ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ฉะเชิงเทรา เปิดเผยถึงกรณีกรมปศุสัตว์จะจัดประชุมเรื่อง ยุทธศาสตร์การเลี้ยงไก่ไข่ในอนาคตช่วงปลายเดือน เม.ย. 2562 นี้ว่าประเด็นหลักคงเน้นเรื่องการปรับตัวหรือการปรับปรุงการเลี้ยงไก่ไข่ให้ได้มาตรฐานถูกสุขอนามัย ซึ่งกรมจะขอให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ รายกลางและรายย่อย ได้เสนอข้อคิดเห็นในการแก้ปัญหาก่อนที่กรมปศุสัตว์จะออกประกาศบังคับใช้ ซึ่งปัญหาใหญ่คือ การที่กรมจะให้เอกชนมาดำเนินการตรวจฟาร์มไก่ไข่ทั้งระบบ ทั้งน้ำที่ใช้เลี้ยง โรงเรือน วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยง และเชื้อโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบปีละ 3-5 หมื่นบาทต่อปี จะทำให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่เดือดร้อน เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จะมีทางออกโดยให้เจ้าของฟาร์มเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการหรือแล็บแทนได้หรือไม่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งขอความเห็นจากพ่อค้าคนกลาง (ล้ง) โรงงานด้วยในการออกมาตรฐานบังคับโรงคัดแยกบรรจุไข่ไก่ และมาตรฐานสถานที่เก็บไข่ไก่ของล้ง

“หากออกประกาศบังคับใช้มาตรฐาน ควรเริ่มที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2 แสนตัวขึ้นไปก่อน ปีถัดไปให้ใช้บังคับกับฟาร์มเลี้ยงขนาด 1 แสนตัวขึ้นไป เป็นต้น เพราะที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงขาดทุนกันมาก ในขณะที่ต้องลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ ทั้งที่ดิน โรงเรือน อุปกรณ์ พันธุ์สัตว์เฉลี่ยแล้วตกตัวละ 500 บาท ยกตัวอย่าง ฟาร์มเลี้ยงขนาด 1 แสนตัว ต้องเดินไฟฟ้า 3 เฟสแรงดัน 200 KVA เพื่อป้องกันไฟตก ต้องลงทุนสูงถึง 1 ล้านบาทเศษ เพราะต้องเลี้ยงในระบบปิด (อีแวป)”

ทางด้านนายสุเทพ สุวรรณรัตน์ ประธานสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่าการยกระดับมาตรฐานโรงเรือนฟาร์มไก่ไข่ทั่วประเทศให้มีสุขอนามัยที่ดี เพื่อให้ประเทศผู้นำเข้าสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) เข้ามารับรองฟาร์มก่อนส่งออกไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ เพราะกลัวไข่ไก่ติดเชื้อซัลโมเนลลานั้น ในส่วนของภาคใต้ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยยังประสบปัญหาในการยกระดับมาตรฐานโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ให้มีสุขอนามัยที่ดีประมาณ 30 ราย โดยเฉพาะการเลี้ยงในระบบปิดหรือระบบอีแวป ที่ต้องลงทุนติดตั้งหม้อแปลงและการเดินสายไฟฟ้า 3 เฟสเข้าโรงเรือนมีต้นทุนสูงถึง 1 แสนกว่าบาท และการติดตั้งระบบอีแวปกับพัดลมขนาดใหญ่ 3-5 ตัว การปรับปรุงโรงเรือน ระบบปั๊มน้ำอีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนกว่าบาท

เรื่องนี้ตัวแทนผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศจะนำเรื่องเข้าหารือกรมปศุสัตว์ปลายเดือนนี้ด้วยว่าจะมีแหล่งสินเชื่อหรือเงินทุนมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้มากน้อยเพียงใด เพราะที่ผ่านมา สถานการณ์ไก่ไข่ไม่ดี แต่หลังจากนี้ ที่มีการจำกัดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ ปู่ย่าพันธุ์และแม่ไก่ยืนกรงที่จะเลี้ยง สถานการณ์น่าจะดีขึ้น และจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ทำให้ไก่ไข่ยืนกรงของผู้เลี้ยงรายย่อยฟาร์มละ 1 หมื่นกว่าตัว ต้องตายลงถึงวันละ 20-30 ตัว จากปกติตายวันละ 1-2 ตัวเท่านั้น ทั้งที่มีการฉีดน้ำช่วงบ่ายแก้ปัญหาอากาศร้อนจัด ดังนั้น การหาแหล่งเงินทุนมาเลี้ยงในระบบปิดที่ได้มาตรฐานจึงมีความจำเป็นมาก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: