ม.หอการค้าไทย ชี้ธุรกิจชุมชนไทยขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง SME D Bank ประกาศเสริมแกร่งดันถึงความรู้คู่ทุน 30,000 ล้านบาท ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2562 ว่านายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผล “การสำรวจสถานภาพธุรกิจชุมชน” จาก 795 ตัวอย่างว่า ส่วนใหญ่ 56.12% ยังดำเนินการโดยใช้แรงงานเป็นหลัก ตามด้วย 35.59% ใช้แรงงานร่วมกับเครื่องจักรขนาดเล็ก มีเพียง 0.13%เท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ขณะที่ 46.70% มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การจัดส่งสินค้า รับคำสั่งซื้อ จัดหาวัตถุดิบ รับชำระเงิน เป็นต้น และ 53.30% ไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ให้เหตุผลว่า ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จำเป็น ไม่มีเงินทุนเพียงพอ ธุรกิจขนาดเล็กไม่มีความจำเป็น เป็นต้น
ทั้งนี้ ธุรกิจชุมชนส่วนใหญ่ 63.14% ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และ 87.60% ใช้แรงงานในพื้นที่ จึงเป็นการสร้างประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นในระดับมาก เฉลี่ยถึง 3.72% จากเต็ม 5% ทั้งก่อให้เกิดการจ้างงาน การใช้วัตถุดิบ สร้างรายได้ และการออม เป็นต้น ส่วนสถานภาพของธุรกิจชุมชนในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่บอกว่า ใกล้เคียงเดิม เช่น ด้านยอดขาย กำไร จำนวนลูกค้า เป็นต้น ส่วน 6 เดือนข้างหน้า เชื่อยอดขายยังอยู่ในระดับเดิม ส่วนต้นทุน และกำไรจะดีขึ้น
เมื่อสำรวจการจัดทำบัญชีของธุรกิจชุมชน พบว่ามีการทำเป็นกิจจะลักษณะ 45.59% ที่เหลือ 54.41% ทำบ้างไม่เป็นกิจจะลักษณะ โดย 45.21% ทำบัญชีแบบง่ายๆ 35.5% จดแค่รายรับรายจ่ายและเงินเหลือในแต่ละวัน และ 19.28% เป็นบัญชีมาตรฐาน เมื่อเจาะลึกจะพบว่า กลุ่มธุรกิจชุมชนที่มีการทำบัญชีเป็นกิจจะลักษณะโดดเด่น คือ ร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างธุรกิจชุมชน 16.9% บอกว่า มีภาระหนี้สิน วงเงินเฉลี่ย 1,055,929.13 บาท อัตราผ่อนชำระ 14,884.35 บาทต่อเดือน ซึ่ง 79.32% บอกว่า ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ส่วนความต้องการเข้าถึงแหล่งทุน 52.93% เชื่อว่า ตัวเองมีศักยภาพเข้าถึงได้มาก และภายใน 1 ปีนับจากนี้ จำนวน 50.9% ต้องการสินเชื่อ โดยวัตถุประสงค์หลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ พัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ พัฒนาและออกแบบกระบวนการผลิต และปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้ได้มาตรฐาน โดยวงเงินที่ต้องการส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 100,000-500,000 บาท
กลุ่มธุรกิจชุมชนยังได้สะท้อนปัญหา และอุปสรรค ที่ต้องการได้รับการปรับปรุง ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ เงินทุนขยายกิจการ การยกเว้นภาษี เงินทุนการผลิต สร้างเสริมโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน ปริมาณวัตถุดิบ คุณภาพวัตถุดิบ ระบบขนส่งสินค้า คู่แข่งขนาดใหญ่ในประเทศ และสภาพคล่องทางการเงิน
ส่วนการได้รับประโยชน์และเข้าถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐนั้น ส่วนใหญ่บอกว่า ไม่ทราบถึงมาตรการต่างๆ แต่เมื่อเข้าถึงแล้ว ช่วยสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างมาก โดยสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ความรู้ส่งเสริมนวัตกรรมทันสมัย ลดหย่อนภาษีและปรับลดความซับซ้อน ปรับลดกฎข้อบังคับความยุ่งยากด้านการจ้างงาน เป็นต้น ส่วนข้อเสนอแนะและสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank คือ ความง่ายในขั้นตอนขอและเข้าถึงสินเชื่อ พนักงานบริการอย่างเต็มใจ รวดเร็ว อบรมให้ความรู้ด้านบัญชี หรือการขอสินเชื่อ และสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรการทางการเงินให้กิจการ
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงการสำรวจดัชนีเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Index) ประจำเดือนเมษายน 2562 ว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีเศรษฐกิจชุมชน ด้านบวก เช่น การใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ราคาสินค้าเกษตรบางตัวปรับตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยด้านลบ เช่น รายได้ของเกษตรกรในเดือน เม.ย. 62 ลดลง เพราะผลผลิตปรับลดจากสถานการณ์ภัยแล้ง กำลังซื้อประชาชนชะลอตัว ราคาน้ำมันปรับขึ้น การส่งออกลดลงจากปัญหาสงครามการค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ดัชนีเศรษฐกิจชุมชน ประจำเดือนเม.ย.62 อยู่ที่ 48.3 ลดลง 2 จุด เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.62 ที่ผ่านมา โดยสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่ พัฒนาสินค้าชุมชน เพื่อให้มีช่องทางการตลาดมากขึ้น ลดราคาต้นทุนวัตถุดิบ เพิ่มเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ กระตุ้นใช้จ่ายในประเทศ ให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลดการเก็บภาษีซ้ำซ้อน และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
ส่วนข้อเสนอแนะที่ต้องการได้รับจาก SME D Bank ในการพัฒนาธุรกิจชุมชน ได้แก่ ลดขั้นตอนหรือผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น ให้ความรู้ ทักษะการประกอบธุรกิจชุมชน ให้คำแนะนำด้านการเงิน พัฒนาศักยภาพธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมช่องทางตลาด
ด้านนายวรมิตร ครุฑโต รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่าจากการสำรวจดังกล่าว บ่งบอกได้ดีว่า ธุรกิจชุมชนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่ใช้แรงงานและวัตถุดิบในท้องถิ่น ทั้งนี้ หากธุรกิจชุมชนมีการยกระดับ และเข้าถึงมาตรการสนับสนุนภาครัฐ จะช่วยให้เพิ่มมูลค่าและมีศักยภาพธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น ต่อยอดสู่กระจายการเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากอย่างกว้างขวาง ดังนั้น SME D Bank จึงมุ่งตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในบทบาทสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพื่อยกระดับธุรกิจชุมชน ด้วยการเติมความรู้คู่เงินทุนต่อเนื่อง เช่น อบรมความรู้การทำบัญชีให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น จัดอบรมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมปรับปรุงบ้านพักเป็นบูติกโฮเทลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เสริมแกร่งปรับปรุงโชห่วย ขยายช่องทางตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Thailandpostmart.com ซึ่งเน้นนำสินค้าชุมชนมาขายผ่านออนไลน์ รวมถึง จัดงานแสดงสินค้าชุมชนเป็นประจำทุกเดือน ณ สำนักงานใหญ่ SME D Bank ในชื่อ “ตลาดสุดยอด SMEs ของดีทั่วไทย” เพื่อเป็นช่องทางขายสินค้าให้แก่ธุรกิจชุมชน ปีนี้จัดมาแล้ว 5 ครั้ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 150 ราย สร้างรายได้กว่า 1.6 ล้านบาท เป็นต้น
ตามด้วยเติมทุนให้ธุรกิจชุมชนในกลุ่มต่างๆ เช่น เกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวชุมชน และโชห่วย เป็นต้น นำไปลงทุน ขยาย ยกระดับธุรกิจ ผ่าน "สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน" (Local Economy Loan) คิดดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี บุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ตั้งเป้าปีนี้ (2562) จะอนุมัติได้ถึง 30,000 ล้านบาท ผลักดันธุรกิจชุมชนเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 30,000 ราย เกิดการเชื่อมโยงกับธุรกิจชุมชนกับธุรกิจภายนอก เช่น ท่องเที่ยง ขนส่ง สินค้าที่ระลึก ฯลฯ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 145,500 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ง่ายและสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชัน SME D Bank
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ