'พัชณีย์ คำหนัก' แปลบทสัมภาษณ์จากนิตยสาร Jacobin สัมภาษณ์ 'Au Loong Yu' นักสังคมนิยมและนักเขียนชาวฮ่องกง เกี่ยวกับการประท้วงที่เข้มข้นขึ้น องค์ประกอบทางอุดมการณ์ของขบวนการประท้วง บทบาทของสหภาพแรงงาน และผลกระทบจากความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ที่กำลังคุกรุ่น ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org
การเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงต้องการกดดันรัฐบาลระงับร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่ผู้ประท้วงยังคงอยู่บนถนนเพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงลาออก
การประท้วงอย่างต่อเนื่องในฮ่องกงเป็นเครื่องเตือนใจว่า การประท้วงบนท้องถนนของคนจำนวนมากสามารถเอาชนะร่างกฎหมายที่ดูท่าว่าจะไม่สามารถเอาชนะได้
ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2019 ผู้ชุมนุมนับล้านคนกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงระงับร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของจีน ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่าเป็นการอนุญาตให้รัฐบาลปักกิ่งปิดปากเสียงผู้ที่คิดต่างในอดีตอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายอย่างเบ็ดเสร็จและให้นางแครี่ แลม ผู้บริหารสุงสุดของฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง
การประท้วงครั้งนี้แตกต่างจากขบวนการร่ม เมื่อปี 2014 คือ มีผู้ปราศรัยหลายคน ผู้ประท้วงเป็นคนหนุ่มสาวปฏิเสธการนำและไม่สนใจที่จะแสดงออกผ่านกลไกการเลือกตั้ง พวกเขาเน้นยกระดับการปฏิบัติการโดยตรง ต่อสู้อย่างแหลมคมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกยึดสภานิติบัญญัติชั่วขณะ และประท้วงในสนามบินนานาชาติ
รัฐบาลจีนได้เตือนผู้ประท้วงที่กำลังล้ำเส้นของหลักการ "หนึ่งประเทศสองระบบ" (หลักการบริหารของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งถือว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน แต่ให้ความเป็นอิสระในการปกครอง) ปักกิ่งได้บอกใบ้ถึงการแทรกแซงทางทหารที่อาจเป็นไปได้ และใช้วิธีการปราบปรามและปะทะกับผู้ประท้วงรุนแรงมากขึ้น ซึ่งได้จับกุมผู้ประท้วงไปแล้ว 44 คน ด้วยข้อหาจลาจลในรอบสองเดือนของการประท้วง
ทั้งรัฐบาลฮ่องกงและปักกิ่งและผู้ประท้วงต่างไม่ยอมถอย และด้วยความโกรธในหมู่ประชาชนฮ่องกงอย่างกว้างขวางที่ไม่มีสิทธิเลือกผู้บริหารระดับสูงโดยตรง - ก็ไม่แน่ใจว่า การเรียกร้องการลาออกของนางแครี่ แลม จะแก้ไขปัญหาทางตันนี้ได้
ผู้สัมภาษณ์จากนิตยสาร Jacobin โดย Kevin Lin สัมภาษณ์นักสังคมนิยมและนักเขียนชาวฮ่องกง Au Loong Yu เกี่ยวกับการประท้วงที่เข้มข้นขึ้น องค์ประกอบทางอุดมการณ์ของขบวนการประท้วง บทบาทของสหภาพแรงงาน และผลกระทบจากความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ (ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและฮ่องกง, สหรัฐอเมริกาและจีน) ที่กำลังคุกรุ่น
ตั้งแต่การชุมนุมในเดือน มิ.ย. เราได้เห็นการประท้วงที่เข้มข้นมากขึ้น โดยกลุ่มผู้ประท้วงมุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลฮ่องกง เราควรทำอย่างไรกับการขยายการปฏิบัติการนี้?
ภายในค่าย "ริบบิ้นสีเหลือง" คือค่ายผู้สนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตย ประกอบด้วยสองกลุ่มคือ กลุ่มเยาวชนหัวก้าวหน้า (ผู้เล่นบทบาททัพหน้า) และผู้สนับสนุนที่เป็นผู้ใหญ่ สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยเสรี (ฝ่ายค้านนับตั้งแต่ปี 1980 ที่สนับสนุนสิทธิการเลือกตั้งของพลเมืองทุกคน แต่ยังคงรักษา "ลัทธิตลาดเสรี" ของฮ่องกง) คนรุ่นใหม่มีความมุ่งมั่นมากกว่าคนรุ่นเก่า ที่ต้องการให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของจีน เนื่องจากพวกเขารู้สึกกังวลและขมขื่นอย่างมาก – และกลัวว่าหากพวกเขาไม่สามารถเอาชนะในครั้งนี้ พวกเขาจะพ่ายแพ้ตลอดไป
นับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. มีการประท้วงใหญ่ 3 ครั้งในเขตต่างๆ เราได้เห็นวัฏจักรของการใช้ความรุนแรงระหว่างทั้งสองฝ่าย แม้ว่าตำรวจจะเป็นฝ่ายที่ยั่วยุและใช้ความรุนแรงมากกว่า คนหนุ่มสาวยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากค่ายริบบิ้นสีเหลือง ค่ายริบบิ้นสีเหลืองมีขนาดใหญ่แค่ไหน? ดูจากจำนวนผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 9 มิ.ย., 16 มิ.ย. และ 1 ก.ค. 2019 คือ 1 ล้าน, 2 ล้านและครึ่งล้านตามลำดับ ในทางตรงกันข้ามค่าย “ริบบิ้นสีฟ้า” ที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งระดมคนได้ไม่เกิน 150,000 คน
นอกจากนี้ ในหมู่ผู้สูงอายุโกรธมากขึ้น ณ ขณะนี้ ไม่เพียงแต่พวกเขาที่เคยหลงเชื่อคำมั่นสัญญาของรัฐบาลปักกิ่งในเรื่องสิทธิการเลือกตั้ง แต่ลูก ๆ ของพวกเขาก็ผิดหวังเช่นเดียวกันและกำลังเผชิญกับสภาพสังคมที่แย่ลง
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับฮ่องกงเป็นอย่างไร?
เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่งี่เง่ามากที่สุด: คือทุกคนต่างรู้ว่านี่เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลปักกิ่งที่รีบเร่งออกกฎหมาย แต่ทั้งรัฐบาลปักกิ่งและนางแครี่ แลม แสร้งทำเป็นว่าเพิ่งตัดสินใจครั้งหลังสุด ที่ผ่านมาในตอนแรกเป็นแค่การสนับสนุน
มันเป็นความผิดของรัฐบาลปักกิ่งและนางแครี่ แลม ตั้งแต่นายสี จิ้นผิง ขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2012 สำนักงานประสานงานของเขาในฮ่องกงได้ฝ่าฝืนนโยบายก่อนๆ ที่ระบุว่าจีนต้องไม่แทรกแซง แต่ปรากฏว่า จีนค่อยๆ เข้าไปยุ่งเรื่องการเมืองท้องถิ่นในฮ่องกง รวมทั้งเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง นางแครี่ แลมให้การสนับสนุนการแทรกแซงของรัฐบาลปักกิ่งอย่างเปิดเผยนับตั้งแต่เข้ามาบริหารเมื่อสองปีก่อน ยิ่งกว่านั้นร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของจีนเกี่ยวข้องกับไต้หวันและอยู่นอกเหนือเขตอำนาจศาลปกติของรัฐบาลฮ่องกง จะเป็นไปได้อย่างไรที่ร่างกฎหมายนี้จะถูกผลักดันโดยนางแครี่ แลมเพียงผู้เดียว
เชื่อกันว่า รัฐบาลปักกิ่งจะใช้ร่างกฎหมายนี้ต่อรองกับประธานาธิบดีทรัมป์ เรื่องสงครามทางการค้า จึงมีการเร่งรีบร่างกฎหมาย กระนั้นรัฐบาลปักกิ่งพยายามทำให้สถานการณ์สงบลงด้วยการให้นางแครี่ แลมระงับร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. แต่ก็ไม่ต้องการให้ถอยอีกหนึ่งก้าวด้วยการถอนร่างกฎหมายอย่างเบ็ดเสร็จ
ตอนนี้ฮ่องกงกำลังอยู่ในภาวะชะงักงัน นางแครี แลมประกาศแล้วว่า “ร่างกฎหมายนี้ตายแล้ว” แต่เนื่องจากการบริหารของเธอไม่มีความชอบธรรมและทุกคนรู้ดีว่ามันเป็นการตัดสินใจของสำนักงานประสานงานของจีน ไม่ใช่เธอ ไม่มีใครเชื่อเธอจนกว่าเธอจะถอนร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการ
แต่จากรายงานของสื่อ เธอทำไม่ได้เพราะมันมีนัยยะว่า รัฐบาลปักกิ่งทำผิดพลาดด้วย - และสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง ก็จำเป็นต้องรักษาหน้าไว้ จนขาดความยืดหยุดในหมู่ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ และเนื่องจากปักกิ่งขาดความโปร่งใส แต่ฮ่องกงยังคงรักษามาตรฐานของการปกครองอย่างเสรี – มีความรับผิดชอบต่อประชาชน, มีเสรีภาพในการพูด, กระบวนการยุติธรรม, ความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม - ซึ่งทำให้ชาวฮ่องกงสามารถคาดเดาได้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างสำนักงานประสานงานกับสำนักงานของผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง
ดังนั้น การที่รัฐบาลปักกิ่งและฮ่องกงโกหก จึงดูงี่เง่าและน่าดูถูกอย่างยิ่ง คนหนุ่มสาวจึงไม่ลังเลที่จะแสดงความรังเกียจต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อเย็นวันที่ 21 ก.ค. พวกเขาจึงไปพ่นสเปรย์สีบนสัญลักษณ์ประจำชาติของสำนักงานประสานงานของจีน การเมืองของ“การรักษาหน้า” สำนักงานประสานงานและนางแครี่ แลมยังคงยึดติดกับนโยบายเก่า ปราบปรามคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้า
เป็นที่คาดเดาได้อย่างสมเหตุสมผลว่า รัฐบาลปักกิ่งกำลังวางกับดักผู้ประท้วง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่มีการยึดสภานิติบัญญัติเป็นอะไรที่น่าสงสัย – ตำรวจยอมถอยให้เด็ก ๆ บุกเข้าไป และอีกครั้งหลังจากเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันที่ 21 ก.ค. มีการเรียกร้องให้เดินขบวนไปยังสำนักงานประสานงานของจีน กระนั้นก่อนที่ขบวนจะมาถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อพยพออกจากสำนักงานเพื่อให้ผู้ประท้วงพ่นสีและกราฟฟิตี้บนผนังของตึก ในคืนเดียวกันนั้น ก็มีพวกมาเฟียบุกทำร้ายผู้โดยสารในรถไฟสายตะวันตก และมีการฆ่าตัวตายอีกครั้งในคืนนั้นด้วย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้ค่ายริบบิ้นสีเหลืองกลายเป็นศัตรูกันมากขึ้นและอาจทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวรุนแรงยิ่งขึ้น
พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีประวัติอันยาวนานในการยั่วยุให้มีการลุกฮือก่อนถึงเวลาอันควร เพื่อทำให้การปราบปรามชอบธรรมตามกฎหมาย เราควรจับตากรณีนี้ ด้านที่น่าเป็นห่วงมาก คือ หากระบอบการปกครองของปักกิ่งยังคงมีเสถียรภาพ การลุกฮือของคนฮ่องกงอาจไม่จบลงด้วยดี
หนึ่งในปฏิบัติการที่สนับสนุนขบวนการประท้วงคือ การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน แต่น่าเสียดายที่ไม่ประสบความสำเร็จในการชักชวนให้คนงานนัดหยุดงาน ช่วยอธิบายความล้มเหลวนี้?
สหภาพแรงงานของฮ่องกงในปี 2017 มีจำนวน 25% ซึ่งไม่ต่ำ แต่ ณ ระดับนี้ สหภาพเก็บค่าสมาชิกได้ต่ำอย่างน่าขัน เพราะสหภาพแรงงานไม่พึ่งพาค่าสมาชิก แต่รับทุนจากรัฐบาลดำเนินกิจกรรม หรือรับเงินทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา มีสมาชิกเพียงไม่กี่คนที่กระตือรือร้น แม้ว่าจะมี "สหภาพแรงงานอุตสาหกรรม" หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมากหรือเป็นแค่สหภาพแรงงานสถานประกอบการ
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกใจที่การเรียกร้องนัดหยุดงานไม่ประสบความสำเร็จ ในวันที่มีการนัดหยุดงาน สมาพันธ์แรงงานฮ่องกง (HKCTU) จัดชุมนุมใกล้กับสำนักงานใหญ่ของรัฐบาล แต่มีคนไม่กี่ร้อยเข้าร่วม
การนำของสมาพันธ์แรงงานฮ่องกงในช่วงเวลาสองทศวรรษ สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเสรี ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง (The Basic Law) โดยไม่วิจารณ์ใด ๆ แม้ผู้นำสมาพันธ์ฯ คือนาย Lee Cheuk-yan จะก่อตั้งพรรคแรงงานขนาดเล็กในปี 2011 พรรคของเขายังคงใช้แนวการเมืองแบบเสรีนิยม
ในแง่ของการต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงาน ทั้งพรรคแรงงานและสมาพันธ์แรงงานฮ่องกง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ขยับเข้าไปใกล้ความเป็นซ้ายขึ้นมาหน่อย ทว่าแนวการเมืองเดิมของพวกเขาที่ผ่านมา ยากที่จะเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังลุกฮือ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดูแคลนค่ายประชาธิปไตยเสรี พวกเขาไม่สามารถดึงการต่อสู้นัดหยุดงานที่ประสบความสำเร็จในช่วงการปฏิวัติร่มในปี 2014 ได้ ในที่สุด ลีและสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรคแรงงานคนอื่น ๆ ก็สูญเสียที่นั่งในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเมื่อปี 2016 และลีแพ้การเลือกตั้งในปี 2018 ความพ่ายแพ้เหล่านี้ หมายความว่าทั้ง HKCTU และพรรคแรงงานมีบทบาทเพียงเล็กน้อยในขบวนการต่อสู้ปัจจุบัน
ขบวนการประท้วงได้จุดประกายให้มีการถกเถียงในฮ่องกงมากขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เรียกว่า "คนท้องถิ่น" ซึ่งเป็นคนที่มองจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยความชิงชัง – ที่กำลังมีบทบาทสำคัญ การเมืองของพวกเขาเป็นอย่างไร และพวกเขามีอิทธิพลในขบวนการประท้วงนี้เพียงใด?
สื่อกระแสหลักของตะวันตกมีแนวโน้มที่จะมองคนท้องถิ่นในฮ่องกงในทางบวก โดยมองว่าพวกเขาเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่แท้จริง มันซับซ้อนกว่านั้น คำว่า “ท้องถิ่นนิยม” ในภาษาจีน ถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งแรกโดยพวกฝ่ายซ้าย อย่างไรก็ตาม แท้จริงคือฝ่ายขวาที่กำลังเติบโตมากขึ้น คนท้องถิ่นเหล่านี้เป็นคนในชุมชน - เกลียดกลัวชาวต่างชาติมาก
หลายปีก่อนเกิดขบวนการปฏิวัติร่ม กระแสท้องถิ่นนิยมเริ่มได้รับความสนใจในหมู่คนหนุ่มสาว นักปราศรัยมี 3 คนคือ เรย์มอนด์ หว่อง, ฉิน วัน-คัน นักวิชาการ กับ หว่อง เหยิง-ทัด เด็กฝึกงานของเรย์มอนด์ หว่อง พวกเขาแท็คทีมเป็นกลุ่มเกลียดชาวต่างชาติ ปฏิบัติการของพวกเขาในพื้นที่ที่ยึดครองในช่วงปฏิวัติร่มคือ ปิดปากฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ใช้ความรุนแรงหรือคุกคามให้เกิดการแบ่งแยกเชื้อชาติกับคนจีน (เรียกคนจีนว่า "ตั๊กแตน" ที่ควรต้องถูกกำจัด) และโจมตีผู้อพยพชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในฮ่องกง เพราะมองว่าเป็นพวกขโมยสวัสดิการของรัฐ
ทั้งสามคนนี้ยังเข้าไปโจมตีสหพันธ์นักศึกษาฮ่องกง (HKFS) อย่างดุเดือดในระหว่างการปฏิวัติร่ม เมื่อวันที่ 12 ต.ค. จากการปลุกระดมของ ฉิน วัน-คัน คนท้องถิ่นเข้าไปพื้นที่มงกกเพื่อขัดขวางการชุมนุมบนถนนของสหพันธ์นักศึกษาทำลายเวที และในที่สุดรื้อถอนที่ชุมนุมของสหพันธ์นักศึกษา
กลุ่มสามคนเป็นพวกเหยียดชาวต่างชาติ เป็นพวกหัวรุนแรงกว่าพวกแนวคิดอื่น สโลแกนของพวกเขาคือ “สหพันธ์นักศึกษาฮ่องกงไม่ใช่ตัวแทนของเรา” และพวกเขาต่อต้านเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของความเป็นผู้นำทั้งหมด เวที ธงและความพยายามที่จะเรียกประชุมสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขากระตือรือร้นที่จะเรียกร้องให้ “รื้อเวที” เมื่อใดก็ตามที่สหพันธ์นักศึกษาจัดเวทีอภิปราย
อาจเป็นเพราะพวกเขาหยาบคายเกินไป ทั้งสามคนจึงแพ้การเลือกตั้งในปี 2016 แต่กลุ่มคนท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่เกลียดชาวต่างชาติได้รับเลือกตั้งคือ กลุ่ม Youngspiration กลุ่มหลังแม้ว่าจะซับซ้อนมากขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ได้รับแนวคิดพื้นฐานมาจากสามคนนี้ แนวคิด “การรื้อเวที” ยังส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ในการรณรงค์ต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของจีนซึ่งกลุ่มคนหนุ่มสาวชื่นชอบขบวนการ “ไร้ผู้นำ” “ไม่มีเวทีกลางที่จะออกคำสั่ง” (และใช้โซเชียลมีเดียปลุกระดม)
มีการสนับสนุนกระแสท้องถิ่นฝ่ายขวาในหมู่ชนชั้นทางสังคม ในเดือน เม.ย. 2016 สองปีหลังจากการปฏิวัติร่ม มีการศึกษาวิจัยพบว่า "พวกท้องถิ่นนิยม" ได้รับการสนับสนุนร้อยละ 8.4 โดยได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่เยาวชนอายุระหว่าง 18-29 ปี
กระนั้นผู้คนที่นิยมคำว่า "ท้องถิ่นนิยม" ไม่ได้ตีความเหมือนกันกับสิ่งที่มันหมายถึงแต่แรก ขบวนการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของจำนวนคนที่เกลียดชาวต่างชาติลดน้อยลง น้อยกว่าการปฏิวัติร่มที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะทั้งสามคนดูล้าสมัย และสมาชิกสภานิติบัญญัติสองคนจากแนวท้องถิ่นนิยม Youngspiration นี้ถูกรัฐบาลตัดสิทธิ์และไม่มีกิจกรรมตั้งแต่นั้นมา แม้ว่าบางคนมีอคติต่อชาวจีนแผ่นดินใหญ่ แต่สิ่งนี้ไม่ได้ถูกทำให้เป็นโครงการทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์จากภายนอก ฝ่ายซ้ายควรมีส่วนร่วมและพยายามเอาชนะทางความคิดของคนหนุ่มสาวเหล่านี้
มีการสนับสนุนการประท้วงของคนฮ่องกงในจีนแผ่นดินใหญ่หรือไม่?
การกดขี่ประชาชนในจีนแผ่นดินใหญ่ถือเป็นปัจจัยในการแยกและทำลายความสมานฉันท์กับผู้ประท้วงในฮ่องกง ระบอบการปกครองของจีนเก่งเรื่องการบิดเบือนความคิดเห็นของประชาชน มีการเลือกรายงานหรือข่าวที่เกี่ยวกับฮ่องกงซึ่งเป็นกลอุบายที่เลวที่สุด
รัฐบาลปักกิ่งพยายามมากขึ้นที่จะแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างชาวฮ่องกงและชาวจีนแผ่นดินใหญ่ บางคนถึงกับคิดว่ากลุ่มสามคนที่เกลียดกลัวชาวต่างชาติและผู้สนับสนุนหลักของพวกเขาเป็นสายลับของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 2016 สมาชิกสภานิติบัญญัติรุ่นเยาว์สองคนจากฝ่าย Youngspiration แก้ไขคำสาบานของพวกเขา – ออกเสียงคำว่า “China” เป็น “Chi-na” ซึ่งดูหยาบคายต่อคนจีน – รัฐบาลปักกิ่งจึงตัดสิทธิ์พวกเขา พร้อมด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติแนวทาง self-determination อีก 4 คน การกระทำที่โง่เขลาและเหยียดเชื้อชาติได้จุดประกายการถกเถียงเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่แท้จริงของทั้งสองชาติ
เป็นการยากที่จะทราบว่า มีผู้ยั่วยุแทรกซึมเข้าไปในขบวนการประท้วงมากแค่ไหน แต่ประเด็น “ท้องถิ่นนิยม” ช่วยให้ปักกิ่งกระชับมิตรกับฮ่องกง เป็นการยั่วยุจีนโดยไม่จำเป็น ด้วยการเมืองเหยียดเชื้อชาติและโจมตีคนจีนแผ่นดิน ใหญ่ที่เข้ามาเที่ยว รวมถึงผู้อพยพชาวจีน พวกท้องถิ่นนิยมยังช่วยรัฐบาลปักกิ่งแบ่งแยกชาวจีนแผ่นดิน ใหญ่ให้เหินห่างจากชาวฮ่องกงยิ่งขึ้น
คู่อริระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลต่อการชุมนุมประท้วงอย่างไร และอะไรคือรากฐานเชิงโครงสร้างของการเป็นคู่อริของประเทศทั้งสอง?
เหตุผลหนึ่งที่ปักกิ่งตัดสินใจให้แครี่ แลม ระงับร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. เพราะจีนไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของสี จิ้น ผิง ดูแย่ในที่ประชุมสุดยอด G20 ที่เมืองโอซาก้าในอีกสองสัปดาห์ต่อมา สำหรับสหรัฐอเมริกา มีเหตุผลเพียงพอที่จะถามคำถามยากเกี่ยวกับร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากมันมุ่งเป้าทุกคนในฮ่องกง รวมถึงนักลงทุนต่างชาติหรือผู้มาเยือนจากต่างประเทศที่เดินทางผ่านเกาะ
แม้ว่าการตัดสินใจระงับร่างกฎหมายจะช่วยให้สี จิ้นผิงได้ต่อรองการค้ากับทรัมป์ แต่ก็พิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถทำให้การประท้วงในฮ่องกงสงบได้ โดยทั่วไปรัฐบาลสหรัฐฯ เห็นอกเห็นใจผู้ประท้วง ในหมู่สื่อเสรีที่นี่โดยเฉพาะ Apple Daily ช่วยส่งเสริมมุมมองของฝ่ายประท้วง แต่ก็สนับสนุนรัฐบาลสหรัฐฯ และบางครั้งก็สนับสนุนทรัมป์ ตรรกะ“ศัตรูของศัตรูของฉันคือเพื่อนของฉัน” แบบนี้อาจผลักขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงไปในทิศทางที่ไม่พึงประสงค์
ทุนนิยมของจีนนั้นเป็น "ทุนนิยมระบบราชการ" ที่ชนชั้นปกครองใช้อำนาจบีบบังคับทั้งจากรัฐและทุน ทุนนิยมประเภทนี้เป็นทุนที่ขูดรีดสูงสุด แสวงหาประโยชน์ ผูกขาดเบ็ดเสร็จและที่สำคัญคือขยายอาณาจักร ดังนั้นการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เราต้องเข้าใจว่า จีนยังห่างไกลจากการมีมาตรฐานเดียวกับสหรัฐอเมริกาในหลาย ๆ ด้าน
ครั้งล่าสุดที่สหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกคือญี่ปุ่นในช่วงปี 1980 ซึ่งจบลงหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ทำข้อตกลงพลาซ่า (Plaza Accord) บังคับให้เงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น ตามมาด้วยอัตรากำแพงภาษี 100% เพื่อต่อต้านสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่พันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ - ญี่ปุ่นยังคงปกติ
ในครั้งนี้แตกต่างบางส่วนเนื่องจากปักกิ่งได้เรียนรู้จากกรณีญี่ปุ่น นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา กรณีญี่ปุ่นเป็นประเด็นถกเถียงกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์จีน นักยุทธศาสตร์และชาตินิยม และเหตุผลของพวกชาตินิยมรุนแรงที่สุดคือ จีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาไม่อาจพ่ายแพ้ในแบบญี่ปุ่นได้ จีนจะต้องต่อต้านสหรัฐฯ หากรัฐบาลวอชิงตันเริ่มแยกเขี้ยว นี่เป็นสิ่งที่สี จิ้นผิงทำมาแล้ว
มีบทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่เข้าใจยากของจีนคือ วิธีเดียวที่ประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองจะหลีกเลี่ยงการถูกคุกคามหรือรังแกได้คือ ต้องมุ่งที่จะเป็นมหาอำนาจสูงสุด ซึ่งแตกต่างจากญี่ปุ่น พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้สี จิ้นผิง จะไม่ยอมรับตำแหน่งที่สอง สีต้องการแทนที่โลกาภิวัตน์แบบ "ตะวันตก" ด้วยเวอร์ชั่น "จีน" ของเขาที่นี่และตอนนี้
เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ วิจารณ์จีนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อเข้าสู่อำนาจ ทรัมป์อาจบิดและเปลี่ยนยุทธวิธีมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะเมื่อจะมีการเลือกตั้งในปี 2563 แนวโน้มอาจมีการแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เพราะตอนนี้ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันเห็นพ้องกันเกี่ยวกับนโยบายของจีน
กล่าวคือสงครามการค้านี้ไม่ใช่สงครามการค้าปกติ มันเป็นการต่อสู้ครั้งแรกของคู่อริที่เป็นมายาวนานระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและเป็นสิ่งที่จะนำภัยพิบัติมาสู่โลก
คนก้าวหน้าในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ ควรทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงและลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน?
คู่อรินี้จะทำให้ผู้คนเลือกข้างระหว่าง “วอชิงตันกับปักกิ่ง” คนก้าวหน้าทุกคนไม่ว่าจะในฮ่องกงหรือที่อื่น ๆ ควรปฏิเสธตัวเลือกทั้งสองนี้ มันไม่ใช่ตัวเลือกที่แท้จริงสำหรับคนทำงานในฮ่องกง จีนหรือสหรัฐอเมริกา แรงงานไม่มีอะไรต้องชนะในเวทีการแข่งขันของคู่อรินี้
นโยบายของทรัมป์คือ ทำให้กองทัพอเมริกันและบรรษัทยิ่งใหญ่อีกครั้งและในกระบวนการนั้น คนทำงานต้องเสียสละ รวมทั้งทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา จีนและส่วนอื่น ๆ ของโลกต้องแลกกับการสร้างความยิ่งใหญ่ ส่วนนโยบายของสีคือ ทำให้ประเทศจีนทันสมัยซึ่งดำเนินการในนามของประชาชนของเขา แต่ไม่ตรงกับผลประโยชน์ของคนทำงาน เขากำลังปกป้องผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้ และพร้อมที่จะสูญเสียอนาคตของจีน นั่นคือ ทรัพยากรธรรมชาติ ความสมดุลทางนิเวศวิทยาและสุขภาพของประชาชน เขากำลังปกป้องทรัพย์สินและตำแหน่ง ในขณะที่ทำลายวิถีชีวิตของผู้คน ฮ่องกงมีความสำคัญในการสร้างความรุ่งเรืองของจีน และ ณ ขณะนี้ ปักกิ่งกำลังใช้หนี้คืนให้ฮ่องกงเพราะทำผิดสัญญาที่บอกว่าจะให้คนฮ่องกงมีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป
เราต้องไม่ตกอยู่ในกับดักลัทธิชาตินิยมที่สนับสนุนการรุกรานของสหรัฐฯ หรือการรุกรานของจีน นี่จะเป็นก้าวแรกในการต่อต้านการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและป้องกันไม่ให้เกิดสงคราม
แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.jacobinmag.com/2019/08/hong-kong-protest-china-carrie-lam-umbrella-movement-extradition-bill-xi-jinping
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ