คนไทยนิยมกิน‘ผัก-ผลไม้’เพิ่ม ครัว รพ.ผ่านเกณฑ์ 77.8 % ‘ส้ม’สารพิษตกค้างสูงสุด

ทีมข่าว TCIJ: 3 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 5773 ครั้ง

พบคนไทยมีแนวโน้มการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอัตราการบริโภครวมในปี 2552-2557 ที่ 17.70% เพิ่มขึ้นเป็น 25.90% ก.สาธารณสุข-ก.เกษตรและสหกรณ์ เก็บตัวอย่าง ‘ผัก-ผลไม้’ ปี 2561 พบว่าตัวอย่างจาก ‘ห้างสรรพสินค้า’ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผ่านเกณฑ์ 86.4% (ส่วนสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานผ่านเกณฑ์ 71.8%) ‘ครัวโรงพยาบาล’ ผ่านเกณฑ์ 77.8% ‘ตลาดค้าส่ง-ตลาดสด’ ผ่านเกณฑ์ 64.9% พบ ‘ส้ม’ เป็นผักผลไม้ที่มีปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ที่มาภาพประกอบ: falco (CCO)

ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการบริโภคผักและผลไม้ที่เพียงพอตามข้อแนะนำเพิ่มมากขึ้น โดยมีอัตราการบริโภครวมในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 17.70 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.90 ในปี 2557 นอกจากนี้ยังพบว่าในปี 2557 เพศหญิงมีอัตราการบริโภคผักและผลไม้ในปริมาณที่มากกว่าเพศชายเล็กน้อย คือ เพศหญิง ร้อยละ 27.60 และเพศชายร้อยละ 24.10 โดยประชากรไทยบริโภคผักและผลไม้รวมในปริมาณเฉลี่ย 3.7 ส่วนต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าข้อแนะนำมาตรฐานที่ให้บริโภค 5 ส่วนต่อวัน โดยเกือบ 1 ใน 2 ของประชากรไทยบริโภคผักน้อยกว่า 2 ส่วนมาตรฐานต่อวัน และบริโภคผลไม้น้อยกว่า 1 ส่วนมาตรฐานต่อวัน และมีแนวโน้มการบริโภคผักและผลไม้ลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปบริโภคผักและผลไม้เพียงพอ มีเพียงร้อยละ 29.10 [1]

ปี 2561 ผัก-ผลไม้ไม่ผ่านมาตรฐานสารพิษตกค้าง 11.2%

ข้อมูลจากโครงการตรวจสอบเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินโครงการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สด ตามเกณฑ์มาตรฐานของไทย ซึ่งการดำเนินงานในปี 2561 มีการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดทั้งหมด 41 ชนิดพืช รวม 7,054 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ ผ่านมาตรฐานร้อยละ 88.8 ไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 11.2 และเมื่อนำปริมาณที่ตรวจพบในผักและผลไม้สดมาประเมินความเสี่ยงของผู้บริโภค พบว่าร้อยละ 99.86 อยู่ในระดับที่ปลอดภัย

ผัก-ผลไม้จากแปลงเกษตรกรที่ได้การรับรอง GAP ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 93.7%

ปี 2561 ตัวอย่างผัก-ผลไม้จากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จำนวน 2,007 ตัวอย่าง และแปลงที่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร (GAP) จำนวน 2,372 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบว่าตัวอย่างที่เก็บจากแปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 93.7% ส่วนแปลงที่อยู่ระหว่างขอรับการรับรอง GAP ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 91% ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้ การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2561 กรมวิชาการเกษตรได้เก็บตัวอย่างจากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จำนวน 2,007 ตัวอย่าง และแปลงที่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร (GAP) จำนวน 2,372 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบว่าตัวอย่างที่เก็บจากแปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 93.7 ส่วนแปลงที่อยู่ระหว่างขอรับการรับรอง GAP ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 91 ซึ่งทั้งสองแหล่งมีผลการวิเคราะห์ใกล้เคียงกัน เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP โดยจะมีเกณฑ์ที่ควบคุมดูแลการใช้สารเคมีอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ อาจยังมีเกษตรกรรายที่พบการใช้สารเคมีไม่ถูกอยู่บ้าง ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจพบที่เกินมาตรฐานและแจ้งเตือนเกษตรกรให้ปรับปรุง พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา หากแนวทางแก้ไขปรับปรุงไม่ได้ผลและตรวจพบปัญหาซ้ำ กรมวิชาการเกษตรจะพิจารณาให้พักใช้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช และหากเป็นแปลงใหม่ผลการตรวจประเมินไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด กรมวิชาการเกษตรจะไม่ออกใบรับรอง GAP ให้เกษตรกรรายนั้น ๆ หรือหากตรวจพบวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามนำเข้า-ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง จะสั่งเพิกถอนใบรับรองและสารวัตรเกษตรจะเข้าติดตามตรวจสอบร้านค้าจำหน่ายสารเคมี ทางการเกษตรในพื้นที่ หากพบการกระทำผิดจะแจ้งเรื่องส่งฟ้องดำเนินคดีต่อไป

นอกจากนี้ มกอช. จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรและปรับปรุงมาตรฐานให้เป็นปัจจุบันตามข้อมูลการใช้สารเคมีของไทยและตามมาตรฐานสากล รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ในกรณีที่ตรวจพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน เพื่อร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดต่อไป

ผัก-ผลไม้จากครัวโรงพยาบาล ผ่านเกณฑ์ 77.8%

ปี 2561 จากการเก็บตัวอย่างจากครัวโรงพยาบาล 162 ตัวอย่าง พบผักผลไม้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 77.8% ที่มาภาพประกอบ: thaihealth.or.th

กระทรวงสาธารณสุขมีการเก็บตัวอย่างจากโรงคัดบรรจุผักผลไม้ ทั้งหมด 715 ตัวอย่าง ผลการตรวจผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 85.6 และสำหรับการเก็บตัวอย่างในจุดจำหน่ายและจุดบริโภค กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า 1,317 ตัวอย่าง ตลาดค้าส่งและตลาดสด 481 ตัวอย่าง และจากครัวโรงพยาบาล 162 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบว่า ตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้านั้น สินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผ่านเกณฑ์ร้อยละ 86.4 สินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานผ่านเกณฑ์ร้อยละ 71.8 ตลาดค้าส่งและตลาดสด ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 64.9 ครัวโรงพยาบาล ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 77.8 ทั้งนี้ ในปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข จะมีการพัฒนาและยกระดับโรงคัดบรรจุ ให้มีมาตรฐานและระบบตามสอบย้อนกลับให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 386 ซึ่งจะเป็นการเสริมความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้บริโภคมากขึ้น และในส่วนของตลาดสดจะมีการบูรณาการเพื่อพัฒนาให้ถูกอนามัยและปลอดภัย รวมทั้งโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยจะมีมาตรการการจัดทำเมนูล่วงหน้า และมีการประสานกลุ่มบริษัทประชารัฐเพื่อรวบรวมวัตถุดิบ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ เพิ่มแหล่งวัตถุดิบที่ได้การรับรองมาตรฐาน

‘ส้ม’ มีปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการตรวจของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าผักและผลไม้สดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 100% มีจำนวน 6 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง มังคุด ผักกาดขาวปลี ถั่วแขก และข้าวโพดหวาน  พบสารพิษต่ำมาก โดยผักและผลไม้สดที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด 6 อันดับแรก ได้แก่ พริก ถั่วฝักยาว คะน้า ส้ม มะเขือ และมะเขือเทศ แต่ทั้งนี้ยังมีความปลอดภัยในการบริโภค เนื่องจากสารตกค้างนี้จะเกิดอันตรายต่อเมื่อผู้บริโภค บริโภคในปริมาณมากเท่านั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคอาหารที่หลากหลายไม่บริโภคอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำ ๆ มากเกินไป ส่วนส้มซึ่งเป็นพืชที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หากปอกเปลือกแล้วจะทำให้ปริมาณสารพิษตกค้างลดลงกว่าร้อยละ 90 หรือหากจะนำส้มไปคั้นน้ำ ควรล้างเปลือกด้านนอกให้สะอาดก่อน อีกทั้งก่อนการบริโภคผักและผลไม้สด ผู้บริโภคควรล้างผักและผลไม้สดให้สะอาด เพื่อลดการตกค้างสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] สถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้ในประเทศไทย คนไทยมีแนวโน้มการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 1/1/2562)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ผักผลไม้ที่ปลอดสาร 100% และมีสารพิษตกค้างมากที่สุด ในปี 2561
พบสารเคมีตกค้าง ‘อาหารกลางวัน’ สูงถึง 63% หวั่นส่งผลต่อไอคิวเด็กนักเรียน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: