เผยงบประมาณรายจ่ายปี 2563 อาจจะล่าช้า 3 เดือน

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 2624 ครั้ง

เผยงบประมาณรายจ่ายปี 2563 อาจจะล่าช้า 3 เดือน

ครม. เห็นชอบการปรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ใหม่ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ น่าจะเริ่มต้นใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2563 เนื่องจากต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาก่อน ที่มาภาพประกอบ: Nation TV

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2562 ว่านายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ใหม่ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากจะมีความล่าช้าออกไปประมาณ 3 เดือน โดยให้ทุกหน่วยงานทบทวน เพิ่มเติม และยืนยันคำของบประมาณให้สำนักงบประมาณในเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นจึงรวบรวมเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1 ปลายเดือน ก.ย.2562 และในวาระที่ 2-3 ต้นเดือนธ.ค.2562 ก่อนเสนอให้วุฒิสภากลางเดือน ธ.ค.2562 จากนั้นจึงนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณฉบับใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

นายอภิศักดิ์ ตันติวงวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่างบประมาณปี 2563 น่าจะเริ่มต้นใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2563 เนื่องจากต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาก่อน โดยระหว่างนี้สำนักงบประมาณได้รายงาน ครม. รับทราบว่า หน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้งบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อนได้ ซึ่งตั้งไว้ไม่เกิน 50% ของวงเงินงบประมาณปี 2562โดยสามารถใช้ได้ในส่วนของบรายจ่ายประจำของแต่ละหน่วยงาน ส่วนโครงการลงทุนใหม่ยังไม่สามารถใช้ได้ เพราะต้องรองบประมาณปี 2563 ประกาศใช้เท่านั้น

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า หลังจากที่มีรัฐบาลใหม่แล้ว สำนักงบประมาณจะเริ่มทำกรอบวงเงินงบประมาณปี 2563 ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้รัฐบาลใหม่ได้วางแผนการใช้จ่ายเงินตามนโยบายที่ได้หาเสียงกับประชาชนแต่จะต้องอยู่ภายในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ขณะที่ 4 หน่วยงานซึ่งประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนำงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะต้องมีการหารือเพื่อร่วมกันกำหนดกรอบรายได้อีกครั้ง หลังจากรัฐบาลปัจจุบันได้เห็นของกรอบวงเงินงบประมาณราย จ่ายปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 2แสนล้านบาท

“ปัจจุบันโครงการลงทุนที่มีระยะเวลาลงทุนและก่อสร้างไม่เกิน 1 ปี เริ่มมีการทำสัญญาและก่อหนี้มากขึ้นซึ่งหากเริ่มก่อหนี้ และทำสัญญาในช่วงนี้ จะสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณในช่วงเดือนต.ค.2562 เป็นต้นไป ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่น่ารุนแรงมากนัก โดยในปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลมีงบลงทุน 6.4 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้สำนักงบประมาณตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายได้สูงสุดประมาณ 90% เนื่องจากส่วนราชการได้เร่งรัดทำสัญญาและก่อหนี้ผูกพันได้จำนวนมากแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 10% คาดว่า จะก่อหนี้ผูกพันไม่ทัน สำนักงบประมาณก็จะพับไป หรือตัดทิ้ง” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 2 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ โดยมีวงเงินปรับลดลงสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1.85 ล้านล้านบาท เป็น 1.83 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ปรับลดสุทธิ 1.79หมื่นล้านบาท แยกเป็นการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ลดลง 1.69 หมื่นล้านบาท จาก โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทาสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คล้องสิบเก้า-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง 3 แห่ง ,โครงการระบบรถไฟชานเมืองสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ,รถไฟทางคู่ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ และรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ที่เหลือเป็นการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ ปรับลดลง 1 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี ที่ประชุม ครม. ยังรับทราบการรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2562 โดยอยู่ที่ระดับ 41.78% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน ก.ย. 2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 41.70% ต่อจีดีพี โดยส่วนสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปี ณ สิ้นเดือน มี.ค.2562 อยู่ 27.16% เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน ก.ย. 2561 19.17%, สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะโดยรวม อยู่ที่ 3.59% ลดลงจากเดือน ก.ย.2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.86% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ อยู่ที่ 0.21% ลดลงมาจาก 0.22%

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: