รัฐจูงใจให้คนใช้ดีเซล B10 มากขึ้น โดยทำราคาถูกกว่า B7 ถึง 2 บาทต่อลิตร

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ต.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4678 ครั้ง

รัฐจูงใจให้คนใช้ดีเซล B10 มากขึ้น โดยทำราคาถูกกว่า B7 ถึง 2 บาทต่อลิตร

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จูงใจให้คนหันมาเติมน้ำมันดีเซล B10 มากขึ้นแทนการใช้ดีเซล B7 เดิม โดยมีมติปรับเงินกองทุนน้ำมันฯ ทำให้ราคาดีเซล B10 ถูกลงกว่าดีเซล B7 ที่ 2 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซล B20 มีการปรับเพิ่มราคา อีก 2 บาทต่อลิตร เพื่อให้ส่วนต่างราคาดีเซล B20 ต่ำกว่าดีเซล B7 เหลือ 3 บาทต่อลิตร จากเดิมที่ต่างกันอยู่ 5 บาทต่อลิตร มีผล 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2562 ว่านายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกยกฐานะขึ้นใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน (ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานแทนในครั้งนี้) ซึ่งประชุมเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังการจัดตั้ง กบน.ขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2562 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิง มีมติปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 ซึ่งจะส่งผลให้น้ำมันไบโอดีเซล B10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ทุกลิตร) มีราคาถูกกว่า น้ำมันไบโอดีเซล B7 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ทุกลิตร) หรือน้ำมันดีเซลมาตรฐานปัจจุบัน ในอัตรา 2 บาทต่อลิตร จากเดิมถูกกว่าเพียง 1 บาทต่อลิตร และน้ำมันไบโอดีเซล B20 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% ทุกลิตร) มีราคาถูกกว่า น้ำมันไบโอดีเซล B7 เหลือเพียง 3 บาทต่อลิตร จากเดิมถูกกว่า 5 บาทต่อลิตร โดยมีผล 1 ต.ค. 2562 นี้

โดย กบน. ได้ใช้วิธีปรับเพิ่มการอุดหนุนดีเซล B10 จากเดิมอุดหนุนอยู่ 95 สตางค์ต่อลิตร เป็นอุดหนุน 1.80 บาทต่อลิตร, ส่วนดีเซล B20 ลดการอุดหนุนจาก 4.80 บาทต่อลิตร เหลือ 2.55 บาทต่อลิตร และดีเซล B7 ให้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เป็น 0.05 บาทต่อลิตร จากเดิมชดเชยอยู่ 10 สตางค์ต่อลิตร ส่วนสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ หลังปรับอัตราเงินดังกล่าวแล้ว จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบน้อยลงจาก -813 ล้านบาทต่อเดือน เป็น -392 ล้านบาทต่อเดือน และเมื่อรวมกับก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 186 ล้านบาทต่อเดือน จะทำให้กองทุนน้ำมันฯมีเงินไหลออก 206 ล้านบาทต่อเดือน โดยปัจจุบันฐานะของกองทุนน้ำมันฯมีเงินสะสมสุทธิ อยู่ที่ 38,748 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 44,327 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 5,579 ล้านบาท

นายวีระพล กล่าวว่า มติดังกล่าวจะส่งผลให้แนวโน้มการใช้ ดีเซล B20 ชะลอตัวลง จากข้อมูลเดือน ก.ค. 2562 มียอดใช้อยู่ 6.71 ล้านลิตรต่อวัน และทำให้การขยายปั๊ม ดีเซล B20 น้อยลงตามไปด้วย ขณะที่การใช้ ดีเซล B10 จะเพิ่มขึ้น เพราะราคาถูกลง (ดีเซล B10 เดือน ก.ค. 2562 มียอดใช้อยู่ 1.3 หมื่นลิตรต่อวัน) โดยคาดว่าประชาชนที่เคยใช้ดีเซลB7จะเปลี่ยนมาใช้ดีเซล B10 แทน (ก.ค. 2562 มียอดใช้ B7 อยู่ที่ 54 ล้านลิตรต่อวัน) ซึ่งทาง กบน. จะติดตามข้อมูลการใช้น้ำมันดังกล่าวระหว่าง ต.ค.-ธ.ค. 2562 ต่อไป

อย่างไรก็ตามจากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันพบว่า ราคาน้ำมันเบนซินตลาดโลกปรับลดลงมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิฤติโจมตีโรงกลั่นน้ำมันที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย แต่ราคาดีเซลตลาดโลกยังสูงกว่าก่อนเกิดวิกฤติ ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินของผู้ค้าน้ำมันสูงขึ้นมากกว่า 2 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของค่าการตลาดที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พิจารณาว่าเหมาะสมในช่วงนี้ที่ 1.80 บาทต่อลิตร ดังนั้นคาดว่าวันที่ 1 ต.ค. 2562 ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินมีโอกาสปรับลดลง

ทั้งนี้ PTT Station (ปั๊ม ปตท.เดิม) ได้แจ้งปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดลดลง 0.40 บาทต่อลิตร เว้น E85 ลดลง 0.20 บาทต่อลิตร และดีเซล B10 ปรับลดลง 1.00 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซล B20 ปรับขึ้น 2.00 บาทต่อลิตร ส่วน ดีเซล ดีเซลพรีเมี่ยม คงเดิม มีผล 1 ต.ค. 2562 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป โดยราคาขายปลีกจะเป็นดังนี้ ULG = 34.56, GSH95 = 27.15, E20 = 24.14, GSH91 = 26.88, E85 = 19.79, ดีเซล = 25.99, ดีเซลพรีเมี่ยม = 29.84, HSD-B10 = 23.99, HSD-B20 = 22.99 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: